โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๖. ชิราวุธวิทยาลัยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (๑)

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยพระอนุชา
และครอบครัวนายคอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard W. Colchester-Wemyss)
ที่พระตำหนักเวสต์เบอรรี่ คอร์ต (Westburry Court) เมืองกลอสเตอร์เชียร์ (Gloustershire) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔

(แถวนั่งจากซ้าย)

๑. นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) ราชองครักษ์  []

๒. นายคอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard W. Colchester -Wemyss)

๓. นางคอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard W. Colchester-Wemyss)

(แถวยืนจากซ้าย)

๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ []

๒. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ []

๔. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ []

๕. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

๘. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ []

๙. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร []

 

 

          เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังนายเมนาร์ด วิลโลบี คอลเชสเตอร์-วีมซ (Maynard Willoughby Colchester-Wemyess) พระสหายชาวอังกฤษ ความตอนหนึ่งว่า

 

          "ที่คุณถามมาในจดหมายฉบับที่ ๓๑๓ เกี่ยวกับฐานทัพเรือที่สิงคโปร์นั้น ฉันเกรงว่าจะไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก คงได้แต่ให้ความเห็นส่วนตัวของฉัน ถ้าจะมีค่าอะไรบ้าง

 

          ฉันคิดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าฐานทัพนี้จำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบริเทนใหญ่ตั้งใจจะเสนอความช่วยเหลือที่ได้ผลจริงๆ ต่อออสเตรเลีย หากว่าทวีปนั้นถูกคุกคามด้วยกองกำลังต่างชาติ โดยไม่ต้องพูดอ้อมค้อมทุกคนรู้ (แม้ว่าน้อยคนจะยอมรับ) ว่า กองกำลังซึ่งอาจคุกคามออสเตรเลียก็คือญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นก็รู้ข้อเท็จจริงดีว่าฐานทัพเรือสิงคโปร์นั้นจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเสมือนเครื่องสกัดกั้นความทะเยอทะยานของตน ในสำนวนไทยของเรา ฐานทัพที่สิงคโปร์ในสายตาของญี่ปุ่นคือ "ก้างขวางคอ" เพราะฐานทัพนี้จะหยุดยั้งการใช้กำลังโจมตีออสเตรเลียโดยฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ถ้าหากญี่ปุ่นเกิดมุ่งหมายจะทำอะไรแบบนั้น แน่นอนที่ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นไม่อยู่ในสภาพที่จะขยายจักรวรรดิออกไปและจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกเป็นเวลานานหลายปีทีเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นได้ล้มเลิกความความทะเยอทะยานทั้งหมด ญี่ปุ่นไม่เคยทำเช่นนั้นเลย คนญี่ปุ่นมีความอดทนที่น่าอัศจรรย์อย่างที่สุด และเขาอาจต้องรอคอยเป็นปีๆ หรือแม้กระทั่งหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะสามารถหวังที่จะทำให้เป็นความจริงขึ้นมา..."  []

 

 

แผนที่แสดงการส่งพลของกองทัพญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทย

เมื่อเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

 

 

          ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นสามารถยึดครองดินแดนแมนจูเรียของจีนและสถาปนาเป็นรัฐแมนจูกัวได้แล้ว ญึ่ปุ่นก็ได้เริ่มเปิดฉากสงครามมหาเอเซียบูรพาด้วยการส่งกำลังเข้าโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา และฐานทัพเรืออังกฤษที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นก้างขวางคอสำคัญในการรุกรานอาณานิคมออสเตรเลียของอังกฤษพร้อมๆ กัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวิจารณ์ไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังพระสหายชาวอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗

 

          ญี่ปุ่นเริ่มส่งกำลังบุกประเทศไทยในเช้ามืดของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกำลังทหารของกองทัพไทยที่ด้อยกว่าแสนยานุภาพทางทหารของญี่ปุ่น ไทยจึงต้องยินยอมให้ญี่ปุ่นดินทีพผ่านประเทศไทยลงไปตีกระหนาบฐานทัพเรือังกฤษที่สิงคโปร์ และเดินทัพผ่านไปโจมตีเมียนมาร์ซึ่งเวลานั้นยังเป็นอาณานิคมจองอังกฤษ และเมื่อรัฐบาลไทยตกลงประกาศสงครมกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาตามคำเรียกร้องของกองทัพญี่ป่นในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ แล้ว ประเทศไทยซึ่งเดิมอยู่ในสถานะประเทศเป็นกลางในสงครามก็เปลี่ยนสถานะมาเป็นประเทศคู่สงครามร่วมรบกับญี่ปุ่นจนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงใน พ.ศ. ๒๔๘๘

 

 

พลเอก ฮิเดกิ โตโจ

 

 

          เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาซึ่งรวมกันเป็นกองทัพสัมพันธมิตรได้ไม่นาน เครื่องบินของกองทัพสัมพันธมิตรก็เริ่มมาทิ้งระเบิดในจังหวัดพระนครและธนบุรี ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องประกาศให้โรงเรียนทั่วประเทศหยุดการเรียนการสอนและงดสอบไล่ โดยอนุโลมให้นักเรียนที่มีเวลาเรียนเกินกว่าที่กำหนดได้เลื่อนชั้นโดยไม่ต้องสอบไล่ จึงมีคำเรียกขานผู้ที่ได้เลื่อนชั้นครั้งนั้นว่า "รุ่นโตโจ" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงนายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้เปิดฉากสงครามโลกครั้งนั้น

 

 

สภาคารราชประยูร

 

 

          เมื่อกรุงเทพฯ ต้องประสบภัยสงคราม คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายโรงเรียนไปเปิดการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวที่พระราชวังบางปะอิน เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ มีพระราชโองการพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว โรงเรียนจึงได้อพยพนักเรียนไปเปิดโรงเรียนชั่วคราวที่พระราชวังบางปะอิน โดยใช้สภาคารราชประยูรซึ่งเดิมเป็นที่ประทับแรมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารและพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเป็นที่อยู่ของนักเรียนคณะเด็กเล็กพร้อมด้วยครูสตรีหลายคนเป็นผู้ดูแล ส่วนนักเรียนรุ่นโตอยู่เรือนไม้อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ คือฝั่งเกาะบ้านเลน ที่ตอนเหนือพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ เวลารับประทานอาหารทุกมื้อนักเรียนทุกคนมารวมกันในโรงเลี้ยงใหญ่หลังคามมุงจาก และเดินไปเรียนที่โรงเรียนประถมบรมราชานุสรณ์ซึ่งขณะนั้นว่างอยู่และไม่ไกลจากที่พัก

 

          อนึ่ง ครูจิต พึ่งประดิษฐ์ ได้เล่าถึงการอพยพครูและนักเรียนไปเปิดการเรียนการสอนที่บางปะอินไว้ว่า

 

          "ในระหว่างสงครามกำลังรบติดพัน โรงเรียนวชิราวุธต้องอพยพหลบภัยไปเปิดสอนที่บางปะอิน ตอนนี้ท่านผู้บังคับการ (พระยาภะรตราชา - วรชาติ) เหมือนพ่อหอบหิ้วลูกและครอบครัวหลบภัยจากนครหลวงไปสู่ชนบท ไฟฟ้าไม่มี น้ำประปาไม่มี ท่านผู้บังคับการนี่แหละหาน้ำมันก๊าสซึ่งแสนจะหายากเพราะต้องปันส่วน ชาวบ้านต้องใช้ตะเกียงน้ำมันมะพร้าว หรือแสงเดือนดาวต่างไฟ แต่วชิราวุธวิทยาลัยสามารถจะคุยได้ว่าเรามีน้ำมันก๊าสใช้อย่างบริบูรณ์ วชิราวุธวิทยาลัยตามไฟด้วยโคมรั้ว ตะเกียงน้ำมันสว่างไสว เพราะผู้บังคับการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ วันเว้นวัน ตอนขากลับท่านจะต้องมีน้ำมันก๊าสหนึ่งป็บติดมือมาด้วยทุกครั้ง ส่วนน้ำประปาท่านผู้บังคับการก็ทำขึ้นใช้ จนเมื่อเราอพยพกลับผู้ที่ไปอยู่ทีหลังเรายังได้ใช้เป็นเวลาช้านาน"

 

 

          วชิราวุธวิทยาลัยคงเปิดสอนอยู่ที่บางปะอินได้เพียง ๔ - ๕ เดือน บางปะอินก็ประสบภัยทางอากาศ โดยเครื่องบินของสัมพันธมิตรได้ยิงกราดลงมา ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเพราะเข้าใจผิดหรือมีเหตุขัดข้องประการใด แต่ด้วยเดชะพระบารมัปกเกล้าฯ ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้รับอันตราย แม้นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ดนัย บุนนาค จะเล่าว่า เมื่อเครื่องบินข้าศึกกราดยิงลงมานั้น คุณครูตลอดจนพระเณรและชาวบ้านในละแวกนั้นล้วนวิ่งลงหลบภัยกันหมด แต่มีนักเรียนวชิราวุธบางคนไปยืนดูเครื่องบินข้าศึกโดยไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ ในที่สุดท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) จึงตัดสินใจปิดโรงเรียนและส่งนักเรียนกลับบ้าน

 

 
 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทาเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทาเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทาเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทาเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทาเฉลิมพระยศเป็น สมเด็๗พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (มาลิทัต พรหมทัตตเวที - แปล). พระราชากับคหบดีแห่งชนบท, หน้า ๑๔๘ - ๑๔๙.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |