โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๗. ชิราวุธวิทยาลัยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (๒)

 

          เมื่อโรงเรียนที่บางปะอินต้องปิดลงแล้ว ท่านผู้บังคับการ ผู้กำกับคณะและคุณครูต่างก็อพยพกลับสู่เคหสถานของตน แต่ท่านผู้บังคับการและครอบครัว กับครูสนั่น แพทยานนท์ นายบุญมี สังขศิริ หม่อมหลวงจรัส และครูจิต พึ่งประดิษฐ์ คงอยู่เฝ้ารักษาสถานที่และคอยจับขโมย เพราะเมื่อโรงเรียนย้ายไปเปิดสอนที่บางปะอินนั้น ทางราชการได้เข้ามาใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน โดยจัดให้ส่วนราชการหลายแห่งเข้าใช้อาคารต่างๆ ของโรงเรียนเป็นที่ทำการ คือ

               ๑. กองตำรวจสันติบาลฝ่ายอารักขา

               ๒. หน่วยเสรีไทยซึ่งเล็ดลอดมาจากต่างประเทศ

               ๓. สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ

               ๔. กองเงินเดือน กรมบัญชีกลาง

               ๕. กองบัญชีโรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต

               ๖. กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

               ๗. กองบัญชาการคณะเสรีไทย

               ๘. กรมทางใช้เป็นที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากมาย

               ๙. การไฟฟ้านครหลวงตั้งโรงงานจำหน่ายกระแสไฟฟ้า เมื่อโรงไฟฟ้าหลวงสามเสนถูกระเบิดทำลาย

               ๑๐. ค่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรู

 

 

ตึกคณะดุสิตที่ถูกระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

 

          ในระหว่างที่โรงเรียนปิดทำการเพราะภัยสงครามนั้น วันหนึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ เครื่องบินรบของชาติสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดในพระนคร ระเบิดลูกหนึ่งตกถูกตึกคณะดุสิตพังไป ๒ หลัง คือ ตึกใหญ่และตึกเล็กด้านทิศเหนือ คงเหลือเฉพาะตึกเล็กด้านทิศใต้เพียงหลังเดียว

 

 

ตึกคณะดุสิตหลังใต้ที่เหลือรอดจากการถูกระเบิดทำลายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

 

          เมื่อคณะดุสิตถูกระเบิดทำลายไปแล้ว ตึกคณะดุสิตหลังทิศใต้ที่ยังเหลืออยู่คงจะอยู่ในสภาพที่ไม่น่าเฉียดกรายเข้าใกล้ จึงพบพบความตอนหนึ่งใน "งานใต้ดินของพันเอกโยธี" ซึ่งพลเอกเนตร เขมะโยธิน ได้บันทึกไว้ว่า ทางราชการได้นำเสรีไทยที่กระโดดร่มลงมาในราชอาณาจักรมาซ่อนตัวและได้จัดตั้งสถานีวิทยุสนามติดต่อกับกองบัญชาการสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา จนสงครามสงบลง

 

 

เรือนไม้หลังคาจาก (ในวงกรอบสีแดง) ซึ่งใช้เป็นค่ายกักกันเชยศึกและชนชาติศัตรูในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

 

          อนึ่ง เนื่องจากทางราชการได้ย้ายค่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรูจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มกาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - วรชาติ) ท่าพระจันทร์มาปลูกเป็นเรือนไม้หลังคาจากยาวตลอดจากหลังคณะจิตรลดาไปจนจรดสระน้ำด้านโรงสควอช (เก่า) เมื่อสงครามสงบลงใน พ.ศ. ๒๔๘๘ และโรงเรียนกลับมาเปิดสอนอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๙ เรือนไม้หลังคาจากซึ่งเคยเป็นต่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรูนั้นก็ได้กลายมาเป็นคณะดุสิตชั่วคราว จนการสร้างตึกคณะดุสิตทดแทนอาคารเดิมที่ถูกระเบิดแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงย้ายนักเรียนเข้าไปอยู่ตึกที่สร้างใหม่นั้นและรื้อเรือนไม้หลังคาจากนี้ทิ้งไป

 

 

พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา)

เมื่อครั้งเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ

 

 

          แต่การที่ทางราชการได้มาอาศัยสถานที่ของโรงเรียนเป็นค่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรูนั้น ปรากฏว่าข้าวของของวชิราวุธวิทยาลัยสูญหายไปเป็นอีนมาก เพราะถูกขโมยบ้าง ถูกคนอื่นขอยืมบ้าง หยิบเอาไปเฉยๆ บ้าง พอสงครามยุติโรงเรียนจึงต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการหาเงินมาจับจ่ายซื้อสิ่งของ เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องเรือน เครื่องครัว เพราะเหตุที่วชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนประจำ จะต้องมีที่นอนหมอนมุ้ง หม้อข้าวหม้อแกง จิปาถะ แต่การแสวงหาสิ่งของดังกล่าวไม่ใช่ของง่าย ท่านผู้บังคับการต้องใช้ความสามารถในการเรียกร้องเอาเงินจากผู้ที่ยืมของของโรงเรียนไป ในการนี้ท่านผู้บังคับการต้องใช้ไหวพริบจิตวิทยาอย่างสามารถ ดังความในจดหมายที่ท่านผู้บังคับการส่งถึงสำนักงานกลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (G.H.Q. of SEAC) ว่า

 

 

 

 

          จดหมายฉบับนั้นครูสุชา ณ พัทลุง อดีตครูวิชาภาษาอังกฤษได้แปลความเป็นภาษาไทยไว้ว่า

 

 

 

วชิราวุธวิทยาลัย

กรุงเทพฯ

 

๑๗ กรกฎาคม ๒๔๙๐

 

เรียน คุณโลมา

 

          ตามที่สำนักงานกลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (G.H.Q. of SEAC) ได้ตกลงจะจ่ายเงินให้แก่โรงเรียนวชิราวุธเพียง ๘,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ให้แก่โรงเรียนนั้น ทางโรงเรียนเห็นว่าเงินจำนวนนี้ยังห่างไกลจากจำนวนเงินที่โรงเรียนต้องจ่ายไปจริงอยู่เป็นอันมาก แสดงว่าทางสำนักงานกลางคงจะได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนในการประเมินราคาของที่ได้รับไปจากโรงเรียนเป็นแน่ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนี้ให้ท่านทราบดังนี้คือ

 

          ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลง พันตรี เลมิ่ง และสุภาพสตรีชาวอังกฤษที่ข้พเจ้ารู้จักจำนวนหนึ่งได้มาติดต่อขอยืมที่นอนและหมอนของโรงเรียนเป็นจำนวนเท่าที่โรงเรียนจะจัดหาให้ได้ในขณะนั้น เพื่อนำไปใช้อำนวยความสะดวกสบายให้แก่เชลยศึกชาวอังกฤษที่เพิ่งพ้นจากการทารุณกรรมของทหารญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ที่จริงทางโรงเรียนวชิราวุธไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำขอนั้นแต่อย่างใด แต่เพื่อมนุษยธรรมและมิตรภาพเราก็ได้จัดที่นอน ๑๖๕ ที่ และหมอน ๑๐๐ ใบ ซึ่งเป็นจำนวนทั้งหมดที่เราจะหาได้ในขณะนั้นให้ยืมไปด้วยตามคำขอ ต่อมาเมื่อโรงเรียนเปิดทำการสอนเป็นปกติจึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดหาที่นอนและหมอนมาทดแทนจำนวนที่ได้ให้ท่านขอยืมไป โดยโรงเรียนต้องจ่ายเงินค่าที่นอนที่ละ ๒๘๐ บาท และค่าหมอนใบละ ๔๐ บาท รวมเป็นเงิน ๕๐,๒๐๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เราหวังจะได้รับชดใช้จากท่านแทนที่จะเป็นเงินเพียง ๘,๐๐๐ บาท ตามที่ท่านได้เสนอมา

 

          สำนักงานกลางได้คิดราคาของให้ตามราคาในแคตตาล็อกในประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ตรงกับราคาที่เป็นอยู่ในเมืองไทย ซึ่งสูงกว่าราคาในแคตตาล็อกดังกล่าวเป็นอันมาก ยิ่งกว่านั้นข้าพเจ้าใคร่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สิ่งของเหล่านี้ เราได้ให้ฝ่ายท่านขอยืมโดยคำนึงถึงมนุษยธรรมและมิตรภาพระหว่างประเทศทั้งสองเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นเมื่อถึงคราวที่ท่านจะชดใช้ให้แก่เรา ท่านน่าจะได้แสดงความใจกว้างให้ปรากฏ ให้สมกับที่ได้รับการอนุเคราะห์จากมิตรในยามยากของท่านทีเดียว

 

          แม้ว่าโลกทุกวันนี้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก และเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมลงก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่าภาวะเช่นนี้คงไม่มีผลทำให้ความสำนึกในความถูกต้องและยุติธรรมของคนอังกฤษซึ่งเป็นคุณธรรมที่ข้าพเจ้ายกย่องและเทิดทูนเสมอมานั้น ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย และข้าพเจ้ายังเชื่อมั่นอีกว่าที่ข้าพเจ้าคิดว่าคนอังกฤษมีคุณธรรมข้อนี้นั้น เป็นความคิดที่ถูกต้องและหวังว่าคงจะไม่มีสิ่งใดมาทำให้ความ เชื่ออันนี้ของข้าพเจ้าต้องเปลี่ยนไปเป็นอันขาด

 

          อนึ่งข้าพเจ้าใคร่ขอบอกให้ท่านทราบว่าทางโรงเรียนไม่มีความปรารถนาที่จะขอร้องให้ท่านจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่เราในทำนองเป็นเงินบริจาคเพื่อการกุศลเป็นอันขาด เราเพียงแต่ต้องการให้ท่านปฏิบัติในสิ่งที่สมเหตุสมผลและยุติธรรมเท่านั้น ฉะนั้นขอให้ท่านได้โปรดนำเร่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของทางการอังกฤษเป็นการด่วนด้วย

 

 

ขอแสดงความนับถือ

พระยาภะรตราชา

(ผู้บังคับการ)

 

 

 

          กล่าวกันว่า เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงอังกฤษในฐานะผู้ชนะสงครามได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยซึ่งเรียกกันว่า ข้อตกลงเบ็ดเสร็จ ที่บังคับให้รัฐบาลไทยจ้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่อังกฤษเป็นจำนวนมากด็ตาม แต่เมื่อสำนักงานกลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับหนังสือของท่านผู้บังคับการแล้ว ก็รายงานเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาลอังกฤษ จนในที่สุดวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้รับเงินชดเชยเต็มตามจำนวนที่เรียกร้องไปทุกประการ

 

 
 
 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |