โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๘. อนาฬิกา (๑)

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติสืบต่อมา ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบราชการในพระราชสำนัก โดยโปรดเกล้าฯ ให้ยุบส่วนราชการและแปรสภาพกรมมหาดเล็กซึ่งในรัชกาลก่อนเคยเป็นหน่วยงานอิสระเทียบเท่ากระทรวงขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ คงเป็นเพียงกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงวัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นส่งผลให้กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์และโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่คงเหลืออยู่ทั้งสามโรง คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนพรานหลวงต้องถูกยุบเลิกไปพร้อมกัน

 

 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)

 

 

          แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาแต่แรกตั้งโรงเรียน และพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้ถวายฎีกาคัดค้านโดยอ้างว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นประดุจเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาล การที่จะยุบโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นเปรียบเสมือนยุบพระอารามหลวงประจำรัชกาลทิ้ง ส่วนพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัยก็ได้ถวายฎีกาคัดค้านว่า โรงเรียนราชวิทยาลัยนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมกุลบุตรออกไปศึกษาต่อต่างประเทศ ต่อมาในตอนปลายรัชกาล

 

 

พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์)

 

 

          กระทรวงยุติธรรมได้ขอโอนโรงเรียนนี้จากกระทรวงธรรมการไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมเพื่อเตรียมนักเรียนที่รู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมาย แม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกระทรวงยุติธรรมจะถวายโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์คู่กับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้วก็ตาม ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนราชวิทยาลัยคงจัดสอนตามหลักสูตรเพื่อเตรียมนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศและป้อนให้โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมตลอดมา และที่สำคัญเมื่อครั้งกระทรวงธรรมการโอนโรงเรียนราชวิทยาลัยมาขึ้นกระทรวงยุติธรรมนั้น ก็ได้มีการจัดสรรเงินงบประมาณปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนราชวิทยาลัยด้วย และเมื่อโรงเรียนนี้โอนมาเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์สังกัดกรมมหาดเล็กเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เงินอุดหนุนนั้นก็ยังถูกโอนตามมา ฉะนั้นจึงอาจจะดำรงโรงเรียนราชวิทยาลัยต่อไปได้โดยใช้เงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรฎีกาทั้งสามฉบับแล้ว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า เนื่องจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นพระบรมราชานุสรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดสถาปนาไว้แทนพระอารามหลวง จึงจะต้องทรงทนุบำรุงต่อไปตามพระราชประเพณี แต่การดำรงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงต่อไปนั้นจำจะต้องใช้เงินมาก ในขณะที่มีการลดทอนรายจ่ายในพระราชสำนักเพราะโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติลดทอนเงินปีที่จัดถวายลงเหลือเพียงปีละ ๖ ล้านบาท จึงไม่พอเพียงที่จะเจียดมาเป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ ฉะนั้นทางเดียวที่จะคงให้โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ต่อไป จึงต้องโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่ออาศัยเงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย" ในคราวเดียวกันนั้น

 

 

 

 

          ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว บรรดาทรัพย์สมบัติของโรงเรียนราชวิทยาลัยนอกจากอาคารและที่ดินก็ถูกขนมาเก็บรักษาและใช้ประโยชน์ที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน)

ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๙ - ๑๖ เมษายน ๒๔๗๖

 

 

          ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว ก็ได้ตระหนักว่า นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้นมีทั้งนักเรียนจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และนักเรียนราชวิทยาลัย และด้วยความประสงค์จะให้นักเรียนราชวิทยาลัย "...ได้เห็นอะไรๆ ในวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้เขาระลึกถึงราชวิทยาลัยอันเป็นที่รักของเขา..."  [] วันหนึ่งพระยาปรีชานุสาสน์ได้เข้าไปสำรวจทรัพย์สินต่างๆ ในคลังพัสดุของวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

หอประชุมโรงเรียนราชวิทยาลัย

 

 

          "... บังเอิญ...ไปเห็นนาฬิกาเรือนใหญ่ซึ่งวางไว้ในห้องพัสดุของโรงเรียนวชิราวุธฯ นาฬิกาเรือนใหญ่นี้เคยเป็นนาฬิกาติดบนหอประชุมของราชวิทยาลัยมาก่อน ...เห็นทิ้งอยู่โดยใช้การไม่ได้ จึงได้ติดต่อกับเอเย่นต์ผู้สั่งนาฬิกานั้นมาให้ราชวิทยาลัยให้ช่วยติดต่อกับบริษัทเดิมว่า นาฬิกาเดิมที่มีหน้าปัดเดียวนั้น จะทำให้เป็นสี่หน้าปัดจะได้หรือไม่ เพราะตั้งใจว่า จะสร้างหอนาฬิกาบนเนินแห่งหนึ่งในบริเวณโรงเรียน เพื่อประโยชน์ที่จะได้รู้เวลาทั้งสำหรับนักเรียน สำหรับบุคคลภายนอกในละแวกนั้น ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน การติดต่อกับบริษัทต่างประเทศเป็นผลสำเร็จ เขารับจะแก้ให้เป็น ๔ หน้าปัดได้..."  []

 

 
 
 

 

[ ]  "ประวัติวชิราวุธวิทยาลัย", พระยาปรีชานุสาสน์, หน้า ๒.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒. - ๓.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |