โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒. ระเบียบการวชิราวุธวิทยาลัย

 

          เมื่อตอนปลายรัชกาลพระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเหตุคับขันทางด้านรายจ่ายในพระราชสำนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนักซึ่งส่งผลให้จำต้องยุบเลิกหน่วยงานในพระราชสำนักที่ตั้งอยู่ในต่างจังหวัดลงเพื่อให้ปรับลดงบประมาณสู่สมดุล ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกกองพันที่ ๓ กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงก่อน ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ที่ห้วยแก้ว เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่นั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกลงเมื่อนักเรียนสอบไล่ประจำปีเสร็จสิ้นในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว และให้โอนนักเรียนที่สมัครใจมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ

 

 

นักเรียนคณะเด็กเล็กโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ถ่ายภาพร่วมกับพระวิเศษศุภวัตร (เทศสนุนทร กาญจนศัพท์ – ต่อมาเป็นพระยาวิเศษศุภวัตร)
ผู้บังคับการโรงเรียน (สวมครุยอาจารย์) พร้อมด้วยนางวิเศษศุภวัตร (ศวงษ์ กาญจนศัพท์) และหลวงสมัคสารภาร (แรม ปุรณด๙ติ) ครูกำกับคณะ
ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ตำบลห้วยแก้ว เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

 

 

          แต่ยังไม่ทันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่จะได้ยุบเลิกไปตามที่ได้มีกระแสพระบรมราชโองการไว้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มาด่วนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ประกอบกับเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติสืบต่อมานั้น มีพระราชประสงค์ให้รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายเงินปีเพื่อทรงใช้จ่ายในพระราชสำนักเพียงปีละ ๖ ล้านบาท ในขณะที่ตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นรัฐบาลเคยถวายเงินปีเพื่อทรงใช้สอยถึงปีละ ๙ ล้านบาท

 

          เมื่อมีการปรับลดเงินปีที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายลงเช่นนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการดุลยภาพข้าราชการในพระราชสำนักลงให้สอดคล้องกับจำนวนเงินปีที่รัฐบาลจัดถวาย กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อีก ๓ แห่งคือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนพรานหลวง จึงอยู่ในข่ายที่จะต้องถูกยุบเลิกไปพร้อมกับส่วนราชการอื่นๆ ในสังกัดกรมมหาดเล็กและกระทรวงวัง

 

 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

พระยาบรมบาทบำรุง
(พิณ ศรีวรรธนะ)

 

 

          เมื่อข่าวการยุบเลิกกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์และโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้งสามนั้นแพร่สะพัดออกไป เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และอดีตกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ  ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย ต่างก็ได้ถวายฎีกาคัดค้านการยุบเลิกโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น

 

 

พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์)

 

     

          ในฎีกาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และพระยาบรมบาทบำรุงนั้น ได้กราบบังคมทูลถวายความเห็นว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล ฉะนั้นหากยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็เท่ากับเป็นการยุบพระอารามหลวงประจำรัชกาล ซึ่งเป็นการผิดโบราณราชประเพณี ในขณะเดียวกันพระราชธรรมนิเทศก็ถวายฎีกาว่า โรงเรียนราชวิทยาลัยนั้นได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นประจำทุกปีๆ ละ ๙๐,๐๐๐ บาทอยู่แล้ว หากจะไม่พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เช่นในรัชกาลก่อน โรงเรียนก็คงจะอาศัยเงินจำนวนดังกล่าวเลี้ยงตัวต่อไปได้

 

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรฎีกาทั้ง ๓ ฉบับ และทรงหารือกับอภิรัฐมนตรีสภาแล้ว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้ยุบรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พร้อมกันนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนเงินที่กระทรวงศึกษาธิการทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท แยกเป็นเงินอุดหนุนโรงเรียนราชวิทยาลัยปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ปีละ ๓๐,๐๐๐ บาท มาเป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ส่วนครูซึ่งเดิมเป็นข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักสังกัดกรมมหาดเล็กก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วต่อมาวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เพื่อให้ปรากฏนามเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติยศแห่งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบไป และในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้วชิราวุธวิทยาลัยคงเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นเดียวกับในรัชกาลก่อน กับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นตรงต่อสภากรรมการจัดการเช่นเดียวกับเมื่อครั้งยังเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ส่วนสภากรรมการนั้นได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นใหม่ในเวลาต่อมา

 

          ในส่วนของนักเรียนนั้นเมื่อมีการยุบรวมโรงเรียนแล้ว จึงเป็นอันว่านักเรียนของทุกโรงเรียนต่างก็หมดสภาพความเป็นนักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ลงทั้งหมด ผู้ที่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อในวชิราวุธวิทยาลัยต้องยื่นใบสมัครเข้าเรียนใหม่ทุกคน ในการลงทะเบียนเข้าเรียนใหม่ครั้งนี้จึงมีทั้งนักเรียนมหาดเล็กหลวง นักเรียนราชวิทยาลัย นักเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ รวมทั้งนักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆ สมัครเข้าเรียน แต่เมื่อลงทะเบียนนักเรียนในสมุดทะเบียนนักเรียนนั้นคงปรากฏพระนาม หม่อมเจ้ารัชนีพัฒน์ รัชนี และหม่อมเจ้าจันทรพัฒน์ รัชนี ทรงเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเลขทะเบียน ๑ และ ๒ ตามลำดับ

 

          อนึ่ง เนื่องจากการยุบรวมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น ประกอบกับระเบียบการของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ นั้น มีความบางตอนที่ล่วงพ้นสมัยไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยยกร่าง “ระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” ขึ้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้เป็นระเบียบการของโรงเรียนมาตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙

 

          ระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น มีเนื้อความดังนี้

 

"ประกาศ
ระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
(สังเขป)

 

-------------------------

 

          เนื่องด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ กับโรงเรียนราชวิทยาลัยเปนโรงเรียนเดียวกัน ยกมาตั้ง ณ สถานที่ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เปนพระราชอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมดังที่ได้ตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่าให้เสมือนหนึ่งพระอารามหลวงประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเปนโรงเรียนนักเรียนอยู่ประจำ จัดการสอนสามัญศึกษาขึ้นไปจนถึงชั้นสูง และทำการอบรมกุลบุตร์ กล่าวคือให้ประกอบด้วยมนุษยธรรมอย่างดีที่สุดที่จะได้ ทำนองพับลิกสกูลของอังกฤษ และโปรดเกล้าฯ ให้มีกรรมการเปนเจ้าหน้าที่จัดการให้สำเร็จตามพระราชประสงค์

 

          เพื่อให้ผู้ปกครองทราบวิธีการแห่งโรงเรียนนี้ก่อนเวลาเปิดโรงเรียนภาคต้น กรรมการจึงพร้อมกันวางระเบียบสังเขปไว้ดังต่อไปนี้

 

          การสอน อนุโลมตามหลักสูตร์สามัญศึกษาของกระทรวงธรรมการ แต่ให้จัดเปนพิเศษขึ้นกว่าโรงเรียนของกระทรวงธรรมการที่ปฏิบัติอยู่โดยปรกติ คือเมื่อนักเรียนได้เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ ซึ่งเปนวิชชาสามัญกลางๆ แล้ว ผู้ใดมีนิสัยหนักไปในทางอักษรศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ก็ให้มีโอกาศเรียนหนักไปในทางนั้นได้ ในการสอบไล่ประโยคมัธยมบริบูรณ์ (มัธยมปีที่ ๘) กระทรวงธรรมการก็จะเปิดโอกาสให้เลือกวิชชาตามที่จะได้กำหนดให้ทดแทนกันได้ต่อไป

          อาจารย์ผู้สอนตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นไป เปนอาจารย์ชาวต่างประเทศ และอาจารย์ไทยที่เสร็จการศึกษาจากต่างประเทศ มีผู้บังคับการเปนหัวหน้า

 

          การอยู่กิน จัดเปน ๔ คณะ มีอาจารย์ไทยที่เสร็จการศึกษาจากต่างประเทศเปนเจ้าคณะ มีอาจารย์ชาวต่างประเทศเปนอนุสาสกคณะละคน

          ใน ๔ คณะนี้ จัดเปนคณะเด็กเล็กคณะหนึ่ง และด้วยเหตุที่โรงเรียนนี้มีความประสงค์ที่จะทำการอบรมให้ได้ผลเต็มที่ จึงกำหนดไว้เปนระเบียบว่า ให้นักเรียนอยู่ประจำโรงเรียนตลอดภาค แต่ถ้าผู้ปกครองมีกิจจำเปนที่จะขอร้องให้กลับจะยอมผ่อนผันให้กลับได้ไม่เกินกว่าภาคละ ๒ ครั้ง

 

          เกณฑ์ที่จะรับนักเรียนนั้น ดังนี้

               (ก) เด็กที่มีอายุพ้น ๖ ปี แต่ไม่เกิน ๘ ปีบริบูรณ์ ยังไม่รู้หนังสือก็รับ

               (ข) เด็กที่มีอายุพ้น ๘ ปี แต่ไม่เกิน ๑๒ ปีบริบูรณ์ จำพวกนี้ต้องมีพื้นความรู้มาบ้างแล้วพอสมควรแก่อายุ

               (ค) เด็กที่มีอายุเกิน ๑๒ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกิน ๑๔ ปี ให้ผู้บังคับการวินิจฉัยการรับเปนรายตัว ถ้าเห็นว่ามีพื้นความรู้และความประพฤติดีพอ ก็ให้ผู้บังคับการรับเข้าได้ตามแต่เห็นสมควร

               (ง) นักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัย เมื่อศกก่อน ทุกคนถ้าอายุและความรู้ทันกัน ตามกำหนดหลักสูตร์คือ อายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ สอบไล่ชั้น ๖ ได้แล้ว อายุ ๑๖ ปีบริบูรณ์สอบไล่ชั้น ๗ ได้แล้ว เขตอายุนับเพียงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม

 

          เวลาเรียน ปีหนึ่งแบ่งเปน ๓ ภาค

               ภาคต้น เรียกว่าภาควิสาขะบูชา เปิดวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ปิดวันที่ ๒๙ สิงหาคม รวมเวลาเรียน ๑๕ สัปดาห แล้วหยุด ๒ สัปดาห

               ภาคกลาง เรียกว่าภาคปวารณา เปิดวันที่ ๑๓ กันยายน ปิดวันที่ ๒๖ ธันวาคม รวมเวลาเรียน ๑๕ สัปดาห แล้วหยุด ๒ สัปดาห

               ภาคปลาย เรียกว่าภาคมาฆะบูชา เปิดวันที่ ๑๐ มกราคม ปิดวันที่ ๒๖ มีนาคม รวมเวลาเรียน ๑๑ สัปดาห แล้วหยุด ๗ สัปดาห"  []

 

(ยังมีต่อ)

 

 

 

[ "ประกาศระเบียบการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (สังเขป)", ราชกิจจานุเบกษา ๔๓ (๓๐ เมษายน ๒๔๖๙), หน้า ๑๑๕ - ๑๒๓.

 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |