โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๐. พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑)

 

          ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีของโรงเรียนและทรงเปิด
หอนาฬิกาที่เนินดินริมสระน้ำในโรงเรียนเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้วไม่นาน จดหมายเหตุพระราชกิจประจำ
วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้บันทึกไว้ว่า

 

 

พระวิสูตรและพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

บนหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          "เวลา ๑๙.๓๐ น. เกิดเพลิงไหม้หอประชุมของวชิราวุธวิทยาลัย ประมาณ ๕ นาที จึงสงบ คงไหม้พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับม่านไข เสียหายประมาณ ๒๕๐ บาท สอบสวนได้ความว่านักเรียนจุดธูปเทียนบูชาพระบรมรูปลมคงพัดม่านไปติดกับธูปเทียนจึงลุกลามขึ้น"  []

 

 

          เหตุที่เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในครั้งนั้น นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงและวชิราวุธวิทยาลัย เรือเอก โรจน์ ไกรฤกษ์ รน. เล่าว่า เวลานั้นท่านผู้เล่าเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๘ วันที่เกิดเพลิงไหม้นั้นเป็นช่วงเวลาใกล้สอบไล่ประจำปี นักเรียนจึงพากันขึ้นไปจุดธูปเทียนถวายบังคมพระบรมรูปที่พระวิสูตรบนหอประชุม ในระหว่างนั้นมีลมกระโชกทำให้พระวิสูตรปลิวไปถูกเปลวเทียนที่หน้าพระวิสูตร เมื่อท่านผู้บังคับการพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ทราบเหตุ ได้มีบัญชาให้ตีระฆังใหญ่ที่หอนาฬิกาเป็นสัญญาณเรียกครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนมาประชุมพร้อมกัน แล้วท่านได้มีบัญชาให้นักเรียนยืนต่อแถวกันจากหอประชุมไปถึงสระน้ำ (เวลานั้นตึกขาวยังมิได้เริ่มก่อสร้าง) ให้นักเรียนตักน้ำจากในสระส่งต่อกันขึ้นไปดับไฟ เดชะพระบารมัปกเกล้าฯ สามารถดับเพลิงได้ในเวลาอันรวดเร็ว

 

 

กระถางธูปที่สนามหน้าหอประชุม

 

 

          จากเหตุเพลิงไหม้หอประชุมคราวนั้น ท่านผู้บังคับการจึงมีคำสั่งห้ามเป็นเด็ดขาดมิให้นักเรียนขึ้นไปจุดธูปเทียนถวายบังคมที่หน้าพระวิสูตรบนหอประชุมอีกต่อไป และได้จัดให้มีกระถางธูปศิลาตั้งไว้ที่สนามในวงเวียนหน้าหอประชุม ให้นักเรียนจุดธูปเทียนถวายบังคมที่กระถางนี้แทน

 

          เนื่องจากโรงเรียนตระหนักว่า การที่เกิดเพลิงไหม้หอประชุมนั้น เกิดมาจากความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวของนักเรียน ท่านผู้บังคับการพระยาปรัชานุสาสน์จึงได้ปรึกษากับคณะนักเรียนเก่าที่ร่วมกันจัดสร้างหอนาฬิกาในนามคณะไทยเขษมซึ่งมีนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หลวงสรรสารกิจ (เคล้า คชนันทน์) อดีตปลัดกรมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นหัวหน้าคณะ และได้มีดำริร่วมกันที่จะจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ที่เนินหอนาฬิกาภายในโรงเรียน

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

เสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย

วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑

 

 

          เมื่อสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยให้ความเห็นชอบแล้ว โรงเรียนได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ประดิษฐานไว้ในโรงเรียน เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมจำนวน ๑,๐๐๐ บาท โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และผู้จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้ายู่หัวร่วมกันบริจาคสมทบ ณ วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นเงินรวม ๑๑,,๑๙๗.๒๘ บาท []

 

          ในเวลาเดียวกันนั้นหลวงสรรสารกิจ หัวหน้าคณะไทยเขษม ก็ได้จัดรวบรวมนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงและนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากจากวชิราวุธวิทยาลัยจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อระดมทุนสมทบจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พร้อมกันไปด้วย

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

 

          อนึ่ง เพื่อให้การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นไปโดยถูกต้องสมพระเกียรติยศ คณะของวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้พร้อมกันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานิศรานุวัดติวงศ์ ขอประทานพระกรุณาให้ทรงออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ให้ จึงพบความใน "สาสน์สมเด็จ" ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานิศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีไปมากับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวม ๔ ฉบับ ดังนี้

 

 

 

"วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๗๖

 

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ทราบฝ่าพระบาท

 

          ...

 

          เรื่องที่เขาบอกเรี่ยไรสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นเขาลงหนังสือพิมพ์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัสโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันบาท จำนวนเท่านั้นน่าจะเป็นสกัดหน้า แต่ว่ายังมีข้อไขที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ ว่าภายหลังถ้าบกพร่องก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานเติม

 

          เรื่องสร้างพระบรมรูปรายนั้น เกล้ากระหม่อมจะได้กราบทูลฝ่าพระบาทแล้วยังจำไม่ได้ เขาเชิญเกล้ากระหม่อมให้ช่วยคิดออกแบบ เกล้ากระหม่อมแม้จะชราทุพพลภาพแล้วก็ต้องรับทำ ด้วยเกี่ยวแก่การสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เขาต้องการให้ทำพระบรมรูปยืน ทรงเครื่องอย่างเมื่อสรงมุรธาภิเษกแล้วในปางประกาศสงคราม ด้วยเขาเข้าใจว่าเป็นเครื่องทรงอย่างโบราณราชประเพณี แต่ความจริงเข้าใจผิด เป็นเครื่องทรงใหม่ทั้งนั้น มีของเก่าแต่สังวาลย์นพรัตน์ กับพระแสงดาบคาบค่ายเท่านั้น เกล้ากระหม่อมชี้แจงแก่เขา เขาก็ยอมถอนความคิดเดิม อนุญาตให้เกล้ากระหม่อมก็คิดจะทำให้สมความประสงค์เขาทั้งสองอย่าง จะย่อกะเปาะฐานพระบรมรูปออกสองข้างทั้งรูปหุ่นฐานพระบรมรูปด้านหลังจะเป็นรูปภาพนูน ด้านหน้าจะฝังอักษรจารึกสิ่งเหล่านี้ ใคร่จะหารือฝ่าพระบาทว่า

                    ๑. จะทำทรงเครื่องอย่างไรดี

                    ๒. รูปภาพหุ่นจะทำรูปคนจำพวกใดดี มีพวกที่ได้ทรงจัดขึ้นหลายพวก แต่น่าจะต้องเอาพวกนักเรียนวชิราวุธนั้นเองกะเปาะหนึ่ง อีกกะเปาะหนึ่งเอาลูกเสือดีกระมัง

                    ๓. รูปภาพนูนเห็นจะควรทำปางประกาศสงคราม หรือฉลองชัยชำนะสงคราม อันจะเป็นพระเกียรติยศใหญ่ยิ่งกว่าอื่นหมด

 

          แต่เวลานี้ฝ่าพระบาทเพิ่งเสด็จกลับจากเที่ยวผ่อพักพระกายพระทัยใหญ่ๆ ยังไม่ควรทรงพระดำริอะไรมากนัก นี่

 

          เป็นแต่กราบทูลไว้ให้ทรงทราบเรื่องก่อนเท่านั้น แล้วจึงจะกราบทูลรบกวนจู้จี้ทีหลัง...

 

 

นริศ

 

 

 

 

วันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

 

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

 

         ที่ตรัสหารือมา ถึงเรื่องพระบรมรูปสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสร้าง ณ โรงเรียนวชิราวุธนั้น เข้าใจว่าไม่เป็นการเร่งร้อน ขอประทานเวลาตริตรองไว้ทูลเสนอเมื่อเสด็จลงมาหัวหิน

 

 

ดำรง

 

 

 

 

วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
 

กราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

 

          ... เกล้ากระหม่อมหมู่นี้ก็มีใจมุ่นเข้าไปข้องอยู่แต่เรื่องอนุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ด้วยว่าจะทำพระบรมรูปวางบนหลักตั้งไว้กลางสนาม ตามที่กรรมการเขาต้องการเช่นนั้น ให้นึกหวั่นใจกลัวจะไม่ชนะโมนุเมนต์มองซิเออปาวี ซึ่งเขาเปิดที่เมืองหลวงพระบางเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งในทางทำรูปที่เคารพตั้งกลางหาวตากแดดตากฝน ฝจก็ยังไมเป็นฝรั่งพอที่จะหายรำคาญ อีกประการหนึ่งการสร้างรูปบุคคลตั้งบนหลักเป็นอนุสรณ์นั้นก็ติดจะพ้นสมัย ฝรั่งเขาก็เบื่อใจกันแล้ว เที่ยวนี้เขาเลิกหนีไปทำกันเป็นรูปอะไรต่ออะไรแผลงๆ แต่ให้เห็นปรากฏเป็นแสดงคุณของผู้ตายเท่านั้น ก็เราจะไปเดินหง่าวๆ ให้ผิดสมัยนิยม และตัวเราเองก็ไม่นิยมด้วยจะเอาดีที่ไหนมา อีกประการหนึ่งดูบัญชีเงินซุ่งมีคนส่งเข้าเรี่ยไรเขาลงพิมพ์ ตามที่ตัดถวายมาทอดพระเนตรนี้ก็ให้ท้อใจ จึงคิดหาทางอยู่ว่าจะทำท่าไรดี ให้ท่วงทีปรากฏเป็นไม่ใช่คนโง่คิด และไม่ให้เปลืองเงินมากนักด้วย ...

 

 

นริศ

 

 

 

 

วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

 

ทูลสมเด็จกรมพระนริศฯ

 

          ... ตั้งแต่หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ตรัสปรึกษาถึงแบบที่จะทำพระบรมรูปอนุสรณ์สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โรงเรียนวชิราวุธก็ได้ตริตรองสนองพระประสงค์มา มีความเห็นดังจะทูลต่อไปนี้

 

          ๑. การที่ทรงรับประกอบการอันใดให้แก่ผู้ใด ตามพระเกียรติคุณที่เคยปราก(ฏมาแต่ก่อน หม่อมฉันเห็นว่าในเวลานี้  ควรจะถือหลักว่าต่างกันเป็น ๒ สถาน คือ เป็นการของรัฐบาลสถาน ๑ เป็นการของบุคคลสถาน ๑ มีอุทาหรณ์ เช่น นายประยูร ภมรมนตรี มาทูลขอให้ทรงคิดแบบตู้ใส่รัฐธรรมนูญอันเป็นการของรัฐบาล ที่กรรมการสร้างอนุสาวรีย์มาทูลขอให้ทรงคิดแบบอนุสาวรีย์ครั้งนี้ เป็นการของบุคคลทั้ง ๒ สถานผิดกันดังนี้คือ ถ้ารับทำการของรัฐบาลย่อมจะจิดพระองค์ "เป็นธรรมเนียม" และขึ้นชื่อว่ายังทำราชการ ฝ่ายการส่วนบุคคลนั้นถึงจะทำให้ใครก็แล้วแต่พระหฤทัย ไม่ผูกพันและไม่จำต้องพยายามคิดอ่านจนกระทั่งเขาชอบใจ เปรียบว่าพระบรมรูปอนุสรณ์ที่กล่าวนี้ทรงคิดเป็นอย่างใด ถ้ากรรมการไม่ชอบจะทูลขอให้ทรงคิดใหม่ หรือให้ทรงแก้ไขไปตามความนิยมของเขาจะบอกปัดเสียก็ได้ ผิดกันดังนี้

 

          ๒. เรื่องแบบเครื่องแต่งพระองค์นั้น หม่อมฉันนึกว่าความประสงค์ของกรรมการหรือความนิยมของผู้อื่นในสมัยนี้  เห็นจะไม่ต้องการหลักฐานอันใดที่เกี่ยวกับแบบแผนและประเพณีโบราณ เห็นแต่จะให้แปลก เพราะฉะนั้นจะทำทรงเครื่องที่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐ์ขึ้นเอง อย่างฉายพระรูปไว้ก็คงไม่ขัดข้องกับความนิยมของบุคคลในสมัยนี้ ถ้าหากจะมีผู้คัดค้านก็คงน้อยตัว แต่ถ้าว่าตามใจหม่อมฉัน เห็นว่าเครื่องทรงซึ่งสมควรกับอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎนั้น ควรจะทำทรงฉลองพระองค์ครุยปริญญา ด้วยเป็นของพระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นและยังใช้อยู่เป็นแบบแผน หรือถ้าว่าอีกนัยหนึ่งทำเป็นนักเรียนสมเกียรติกว่าเป็นนักรบ

 

          ๓. เรื่องฐานที่จะตั้งพระบรมรูปนั้น ถ้าจะหนีฐานอย่างฝรั่งก็จะต้องมีเครื่องประกอบ เช่นซุ้มจรนำหรือสิ่งอื่นอันต้องสิ้นเปลืองยิ่งขึ้นกว่าฐานอย่างสามัญไม่ น่าวิตกอยู่ด้วยทุนจะไม่พอทำ

 

          ๔. รูปภาพที่จะประกอบฐาน ๓ ด้านนั้น การที่จะทรงพระดำริมาหม่อมฉันก็เห็นชอบด้วย คือเป็นรูปลูกเสือด้าน ๑
รูปนักเรียน (จะเป็นนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธหรือนักเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้) ด้าน ๑ อีกด้าน ๑ ทำรูปทหารอาสาไปสงครามในยุโรป (อย่าทำรูปการพิธีที่ท้องสนามหลวงจะดีกว่า) หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้ ...

 

 

ดำรง

 

 

 
 
 

 

[ ]  จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคปลาย วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๑ - วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๗๕, หน้า ๘๔๒.

[ ]  "แจ้งความวชิราวุธวิทยาลัย เรื่อง รับเงินสมทบทุนจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ ๑", ราชกิจจานุเบกษา ๕๐ (๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖), หน้า ๒๒๒๑ - ๒๒๓๐.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |