โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๑. พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ()

 

          ในระหว่างรอสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะประดิษฐาน ณ วชิราวุธวิทยาลัยอยู่นั้น สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย โดยนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง นายเรือเอก หลวงประดิยัตินาวายุทธ (เฉียบ แสง - ชูโต) ได้มีหนังสือไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจัดการแข่งขันฟุตบอลการกุศลระหว่างทีมกระทรวงต่างๆ เพื่อจัดหารายได้สมทบการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ดังรายละเอียดปรากฏในหนังสือของสมาคมนักเรียนเก่าฯ ดังนี้

 

 

 

 

 

 

          ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ทราบวัตถุประสงค์ของสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยแล้วไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปประทับรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ แล้วทรงขัดแย้งกับรัฐบาลในหลายเรื่องจึงทรงตัดสินพระราชฤทัยสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ โครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ในโรงเรียนจึงต้องหยุดชะงักลงเพราะความผันผวนทางการเมืองในประเทศ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติแล้ว วชิราวุธวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้รับผลร้ายจากพายุการเมือง เริ่มจากรัฐบาลมีมติให้สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นนายกกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แล้วตั้งสภากรรมการชุดใหม่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นนายกรรมการฯ แทน จากนั้นสภากรรมการฯ มีคำสั่งปลดพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งไว้ออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งพระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนฑาตุผลิน) จากกระทรวงศึกษาธิการมาดำรงตำแหนงผู้บังคับการแทน รวมทั้งปรับลดเงินอุดหนุนที่กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดสรรให้เป็นเงินอุดหนุนวชิราวุธวิทยาลัยโดยพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ลงเหลือเพียงปีละ ๓๕,๐๐๐ บาท เพื่อให้วชิราวุธวิทยาลัยประสบปัญหาการเงินจะได้เลิกล้มไปเอง

 

 

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม

นายกกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย

๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ - ๒๖ มีนาคม ๒๔๘๒

 

 

          แต่เมื่อนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ - จอมพลแปลก พิบูลสงคราม) ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ แล้ว นายกรัฐมนตรีในตำแหน่งนายกกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยได้ทราบเรื่องราวที่คณะวชิราวุธวิทยาลัยมีดำริที่จะจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ในโรงเรียน ประกอบกับมีผู้คัดค้านว่า การประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ภายในโรงเรียนนั้น จะเป็นการกีดกันและปิดกั้นมิให้พสกนิกรผู้จงรักภักดีได้มีโอกาสเข้าไปกราบถวายบังคมได้โดยสะดวก รัฐบาลในเวลานั้นจึงได้ตกลงขอรับโอนโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ไปเป็นธุระของรัฐบาล และเห็นว่า พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ควรจะได้ประดิษฐานในสถานที่สาธารณะ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว จึงมี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องสร้างพระบรมรูปเป็นอนุสสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ มีความตอนหนึ่ง ดังนี้

 

          "โดยเหตุที่ได้มีคณะบุคคลผู้จงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังดำเนินการรวบรวมทุนเพื่อสร้างพระบรมรูปถวายเป็นอนุสสาวรีย์แด่พระองค์อยู่บ้างแล้วประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเทศบาลนครกรุงเทพกำลังจะบูรณะสวนลุมพินี ซึ่งได้สร้างขึ้นในการฉลองรัชชกาลของพระองค์ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอันสมบูรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัดพระนคร ซึ่งถ้าได้พระบรมรูปของพระองค์ท่านประดิษฐานเป็นสง่าอยู่ที่สวนลุมพินีในขณะนี้แล้ว ก็ย่อมเหมาะแก่กาลเทศะอย่างยิ่ง โดยเหตุนี้คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติให้ดำเนินการสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปฐม

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากที่ได้ทรงพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกิจปกติเยี่ยงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมในกาลก่อนแล้ว ยังทรงพระปรีชาสามารถ และทรงเห็นการณ์ไกลในการบริหารราชการแผ่นดินให้ผ่านพ้นอุปสรรคทั้งภายในและภายนอกประเทศสำเร็จไปด้วยดียิ่ง ซึ่งไม่มีบุคคลใดในสมัยนั้นดีทัดเทียมพระองค์ท่าน นับว่าทรงเป็นอัจฉริยกษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งประเทศไทย แม้จะกล่าวเพียงพระราชกิจบางตอนที่ได้ทรงปฏิบัตินับเนื่องในรัฏฐประศาสโนบายครั้งกระนั้น ที่อำนวยผลตามหลังมาจนกระทั่งทุกวันนี้ก็มีอยู่มากด้วยกัน อาทิ เช่นการตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พระราชบัญญัติขนานนามสกุล ตั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ตั้งกองลูกเสือ เปิดหอสมุดแห่งชาติ ตั้งโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแทนการสร้างวัดตามขัตติยราชประเพณี เปิดจุฬาลงกรณพยาบาล เปิดสถานเสาวภา การเข้าเป็นสมาชิกสมาคมกาชาดระหว่างประเทศของสภากาชาดไทย เปิดการประปา เปิดการไฟฟ้าหลวงสามเสน เปิดอากาศไปรษณีย์ เปิดวิทยุโทรเลขและโทรศัพท์ กำหนดเวลาให้ตรงกับสากลอุทกศาสตร์นิยม ตั้งคลังออมสิน อุดหนุนการธนาคารไทย เชื่อมทางรถไฟสายใต้กับสหรัฐมะลายู สร้างสะพานพระราม ๖ เพื่อเชื่อมและโยงทางรถไฟสายใต้กับสถานีกรุงเทพฯ เปิดเขื่อนและการทดน้ำตำบลท่าหลวง เริ่มการสหกรณ์และการสถิติพยากรณ์

 

          ในส่วนที่เกี่ยวกับพระปรีชาญาณเห็นการณ์ไกลนั้นเล่า พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจเหมาะสมความต้องการของสมัย ยังให้ประเทศไทยดำรงความเป็นปกติสุข และอิสสรภาพตามควรแก่ฐานะในสมัยนั้น อาทิ เช่นในการประกาศความเป็นกลางของประเทศไทยในสถานะมหาสงครามแห่งโลก และในที่สุดได้ทรงนำประเทศเข้ามหาสงคราม ซึ่งทั้งนี้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาอันล้าสมัยกับนานาประเทศ และได้มาซึ่งอิสสรภาพยิ่งกว่าสนธิสัญญาในสมัยก่อนๆ เป็นบางส่วน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำต่อเนื่องจากสนธิสัญญาในสมัยนั้นก็ได้เริ่มกระทำในชั้นต้นมาตั้งแต่ปลายรัชชสมัยของพระองค์ ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ นับตั้งแต่การสุดสิ้นมหาสงครามตั้งแต่รัชชสมัยของพระองค์เป็นต้นมา อนึ่ง เพื่อความไม่ประมาท ได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ซึ่งใช้บังคับอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประวัตินับเนื่องในการประกาศเกียรติ์ของประเทศไทยให้แพร่หลายในนานาประเทศเป็นอันมาก อาทิ เช่นในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศกสมโภช ซึ่งเป็นการออกงานครั้งใหญ่ของชาติ และครั้งแรกในทวีปอาเซีย ที่มีเจ้านายและผู้แทนรัฐบาลนานาชาติ ได้เข้ามาร่วมมหาสันนิบาต พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประเทศไทย และในทวีปอาเซียที่ได้ทรงรับยศเป็นนายพลเอกพิเศษของทหารบกอังกฤษ และในรัชชสมัยแห่งพระองค์ท่านก็เป็นครั้งแรกที่ได้มีนักบินต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมประเทศไทย และแสดงความพอใจในความเจริญก้าวหน้าของการบินไทย มีแขกเมืองต่างประเทศผู้มีเกียรติ์เข้ามาเชื่อมทางสัมพันธไมตรี มีการประชุมสันนิบาตกาชาดระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงเทพพระมหานคร และพระองค์ท่านเอง ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยทางรถไฟสายใต้ไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสหรัฐมะลายู

 

          แต่พระราชกรณียกิจที่เป็นคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ และที่จะเป็นอนุสสาวรีย์ถาวรเชิดชูพระเกียรติคุณพระองค์ท่านก็คือ การปลุกชาติ เพื่อให้คนไทยตื่นตัวในความรักชาติ และบำเพ็ญกรณียกิจ อันพึงมีพึงกระทำต่อชาติ ซึ่งในการนี้ ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือร้อยแก้ว คำประพันธ์ และบทละคร ทั้งในภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางปลุกชาติเป็นส่วนใหญ่ พระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านเป็นแบบฉบับในทางอักษรศาสตร์ และเป็นที่นิยมแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้"  []

 

 
 
 

 

[ ]  "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สร้างพระบรมรูปเป็นอนุสสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว", ราชกิจจานุเบกษา ๕๖ (๑๕ มกราคม ๒๔๘๒), หน้า ๒๘๙๘ - ๒๙๐๔.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |