โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๕. ตึกศรเกตุ

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) เจ้ากรมตรวจ กระทรวงธรรมการ ในตำแหน่งกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เพื่อรับพระราชกระแสจัดตั้งโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมนั้น

 

          รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระยาไพศาลศิลปสาตรก็ได้ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่ตึกยาวริมประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหา-ราชวัง ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนราชกุมารที่เวลานั้นว่างลงเพราะพระราชกุมารในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เคยทรงศึกษาที่สถานศึกษานั้น ต่างก็เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อต่างประเทศกันหมดแล้ว ตึกนั้นจึงว่างอยู่

 

 

ตึกยาวริมประตูพิมานไชยศรี (ขวาของภาพ)

สถานที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อแรกสถาปนาใน พ.ศ. ๒๔๕๓

 

 

          เมื่อเปิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ตึกยาวริมประตูพิมานไชยศรีแล้ว พรยาไพศาลศิลปสาตร กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ความตอนหนึ่งว่า

 

          “จำเดิมแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ให้เปิดการสอนที่โรงเรียนราชกุมาร ข้าพระพุทธเจ้าได้เลือกและรับครูจากกรมศึกษาธิการ ๓ คน คือ นายสอน นายสนั่น [] นายทองอยู่ ซึ่งเปนครูมีประกาศนียบัตร์ทั้งสามคน เริ่มการสอนในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๒๙ ธันวาคม ซึ่งเปนวันพฤหัศบดีวันครู...

 

          ในวีกต้นข้าพระพุทธเจ้าได้เอาใจใส่วางรูปการเรียนในห้องเรียนให้ลงที่เสียก่อน แล้วได้เรียกนักเรียนมาสนทนาเรียงตัวครั้งละ ๒ คน ๓ คน ตามแต่จะมีเวลามากและน้อย เพื่อจะได้เปนโอกาสให้ข้าพระพุทธเจ้าได้รู้จักนักเรียนเฉภาะตัวได้ทั่วกัน ครั้นต่อมาพอจะก้าวไปถึงการฝึกหัดและปกครองนอกห้องเรียนได้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หารือกับหลวงพิทักษ์มานพ  [] เห็นพร้อมกันว่า ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ปกครองซึ่งยังว่างอยู่ตำแหน่งหนึ่งนั้น ถ้าเอาครูแซกเข้ามาประจำการในตำแหน่งนี้คนหนึ่งจะเปนกำลังช่วยหลวงพิทักษ์มานพในทางปกครองได้มาก จึงได้รับพระราชทานเลือกนายสอนหัวหน้าในครูทั้ง ๓ คน ให้อยู่ประจำโรงเรียนเปนผู้ช่วยหลวงพิทักษ์มานพ”  []

 

 

พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ)

 

 

          นายสอน หัวหน้าครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “ศรเกตุ” และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองคนแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งแรกเป็นหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ แล้วได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์

 

          ต่อมาเมื่อกระทรวงธรรมการเรียกพระโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน - พระยาโอวาทวรกิจ) ซึ่งกระทรวงให้ยืมตัวมาเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงคนแรกกลับคืนไปรับราชการในกระทรวงธรรมการโดยแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพณิชยการ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร) ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ แล้ว เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกะทรวงธรรมการ ผู้ตรวจพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้กราบบังคมทูลขอโอนหลวงอนุภาณฯ มาเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงแทน แต่มีพระราชกระแสว่า ขอให้คนในคือ พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) ซึ่งเวลานั้นเป็นพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง ลองทำการในหน้าที่ครูใหญ่ไปก่อน พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์จึงได้เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๕

 

 

กองลูกเสือหลวงถ่ายภาพพร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาที่วังวรดิศ

(ยืนกลางแถวหน้าจากซ้าย) นายกองตรี พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง นายหมู่โท พระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นายหมู่เอก หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          ต่อมาวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวงขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวงโดยตำแหน่งแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์เป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงจึงเปลี่ยนมาเป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาแต่บัดนั้น

 

          พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นสภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบริหารราชมานพ เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อีกตำแหน่งหนึ่ง ให้มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาราชการในโรงเรียนทั้งสอง และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง ทำให้ราชการในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นในกรมมหาดเล็ก และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบริหารราชมานพพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์และผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทำหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาราชการในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ โรงเรียน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และโรงเรียนทหารกระบี่หลวง (ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพรานหลวง) ต่อมาตราบจนถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๐๔.๕๕ น.

 

          เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า พระยาบริหารราชมานพ กราบถวายบังคมลาถึงอนิจกรรมแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและหีบทองทึบเป็นเกียรติยศ นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ออกประกาศเชิญชวนสร้าง “ตึกศรเกตุ” ไว้ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ดังนี้

 

“แจ้งความโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

เรื่องชักชวนบรรดาข้าราชการในกรมมหาดเล็ก

และนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ออกแล้ว

และยังเป็นนักเรียนอยู่ช่วยกันบริจาคทรัพย์เข้าเรี่ยราย

เพื่อสร้างตึก ศรเกตุ อุทิศให้แก่พระยาบริหารราชมานพ

------------------

 

          ด้วยในการที่ หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ (สอน ศรเกตุ) ได้ถึงแก่อนิจกรรมลง แต่เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ ย่อมเปนที่เศร้าสลดใจแก่บรรดาข้าราชการในกรมมหาดเล็ก และบรรดาศานุศิษย์ทั่วไป ด้วยพระยาบริหารราชมานพ ได้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ และจริยานุวัตร์อันดีงามหลายประการ กล่าวคือเปนผู้ที่มีใจโอบอ้อมอารีเผื่อแผ่อย่างรอบคอบ ทั้งเปนผู้ที่ได้ตั้งใจรับราชการอย่างไม่เห็นแก่เหน็จเหนื่อย นับจำเดิมแต่พระยาบริหารราชมานพได้เข้ารับราชการเปนครูใหญ่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ก็ได้ตั้งใจปฏิบัติน่าที่ราชการให้ดำเนินขึ้นโดยเรียบร้อยตลอดมาจนกระทั่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ นับได้ว่าพระยาบริหารราชมานพได้ทำประโยชน์ให้กรมมหาดเล็กอยู่มาก อาศรัยเหตุนี้กรมมหาดเล็กจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างตึกไว้ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่อเปนอนุสาวารีย์และอุทิศส่วนกุศลให้พระยาบริหารราชมานพ ทรงพระราชดำริห์เห็นพ้องด้วย จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมมหาดเล็กจัดการแล้ว และพระราชทานนามตึกนี้ว่า ตึกศรเกตุ

 

          เนื่องด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอชักชวนบรรดาข้าราชการในกรมมหาดเล็กแลบรรดานักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งที่ออกแล้วและยังเปนนักเรียนอยู่ช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์เข้าเรี่ยราย เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พระยาบริหารราชมานพ

 

          ฉนั้นถ้าผู้ใดมึวามประสงค์จะบริจาคทรัพย์เข้าส่วนในการนี้แล้ว ขอให้ไปตกลงกับ จางวางตรี พระยาธนรัตน์บดี ปลัดบาญชีกรมมหาดเล็ก ณ พระราชวังสราญรมย์

 

          แจ้งความมา ณ วันที่ ๔ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

 

 

(ลงนาม) พระยาประสิทธิ์ศุภการ

จางวางเอก

ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์”  []

 

          การเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างตึกศรเกตุนี้ จะได้ผลเป็นประการใดไม่มีพบหลักฐานแน่ชัด รวมทั้ง
ไม่พบว่าได้มีการสร้างตึกศรเกตุไว้ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คงพบหลักฐานแต่เพียงว่า ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดการพระราชทานเพลิงศพเป็นของหลวงเป็นเกียรติยศพิเศษ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓

 

 
 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนอนุสาสน์ดรุณรัตน์ แล้วทางราชการขอตัวกลับไปรับราชการในกระทรวงธรรมการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น พระนิพันธ์นิติสิทธิ์

[ ]  นามเดิม ผัน อรชุนกะ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกตรี พระยาพิทักษ์มานพ

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑ มกราคม ๒๔๕๓ - ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗)

[ ]  “เรื่องชักชวนบรรดาข้าราชการในกรมมหาดเล็กและนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ออกแล้วและยังเป็นนักเรียนอยู่ช่วยกันบริจาคทรัพย์เข้าเรี่ยรายเพื่อสร้างตึก ศรเกตุ อุทิศให้แก่พระยาบริหารราชมานพ” ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ (๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๑, หน้า ๑๙๔๒ - ๑๙๔๔.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |