โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๙. สโมสร สมาคม และชมรม

 

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายระหว่างประทับทรงศึกษา

ที่วิทยาลัยไครสต์เชิช (Christ Church) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University)

ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๔๔๔

 

 

          เมื่อแรกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษใน พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น ทรงเจริญพระชันษาเกินกว่าที่จะเสด็จไปทรงศึกษาในพับลิคสกูลหรือในโรงเรียนสามัญเช่นเยาวชนอังกฤษแล้ว นายเบซิล ทอมสัน (Basil Thompson) [] ซึ่งราชาธิปไตย [] มอบหมายให้มาจัดการถวายพระอักษรร่วมกับพระมนตรีพจนกิจ ได้ตกลงเลือกแนวทางการถวายพระอักษรโดยวิธีจัดหาครูมาถวายการสอนที่ตำหนักที่ประทับ ในรูปแบบที่เรียกกันในปัจจุบันว่า Home School จนทรงสำเร็จการศึกษาวิชาชั้นต้นแล้ว จึงเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ (Royal Military Academy, Sandhurst) ทรงสำเร็จการศึกษาและฝึกหัดวิชาทหารในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๔๒ แล้ว จึงเสด็จไปทรงศึกษาวิชาพลเรือนที่วิทยาลัยไครสต์เชิช (Christ Church) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๔๔๔

 

 

ทรงเครื่องสโมสรเวลาเย็น (Evening Dress) ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์

พร้อมด้วยสมาชิกสโมสร Cosmopolitan ที่วิทยาลัยไคร์สเชิช มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

 

 

          ในระหว่างประทับทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้น นอกจากจะเสด็จไปประทับ ณ วิทยาลัยไครส์เชิชเฉกเช่นนิสสิตทั่วไปแล้ว ในระหว่างที่ประทับทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้น ได้ทรงจัดตั้งสโมสร Cosmopolitan ขึ้นเป็นสโมสรแรกที่ทรงจัดตั้งขึ้นในพระชนม์ชีพ สโมสรนี้มีอาจารย์และนิสสิตมหาวิทยาลับออกซ์ฟอร์ดเป็นสมาชิก และทรงเป็นสภานายกของสโมสรนี้ด้วยพระองค์เอง

 

 

ประทับเป็นประธานในการเลี้ยงดินเนอร์ครั้งแรกของสโมสร Cosmopolitan ณ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓

 

 

          การเลี้ยงดินเนอร์ครั้งแรกของสโมสร Cosmopolitan ณ มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด โปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ “มีบรรดาอาจารย์และคนที่ได้ดีกรีมาประชุมในการนี้หลายคน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชซึ่งเป็นสภานายกของสโมสรได้ทรงเป็นประธานในการเลี้ยงนี้ เมื่อเลี้ยงแล้วมีสปิ๊ชดีๆ หลายหน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงกล่าวสองครั้ง ครั้งหนึ่งประทานพร Guests อีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงตอบคำกล่าวของแขกคนหนึ่งซึ่งกล่าวสรรเสริญสโมสร ประชุมอยู่ตั้งแต่เวลาทุ่มครึ่งจนถึง ๕ ทุ่มครึ่งเลิก” []

 

 

เรือนกระจกในพระราชอุทยานสราญรมย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งทวีปัญญาสโมสร

 

 

          ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัติพระนครในตอนปลายปี ๒๔๔๕ แล้ว ก็ทรงจัดตั้ง “ทวีปัญญาสโมสร” ขึ้นที่พระราชอุทยานสราญรมย์ และ “จิตรลดาสโมสร” ที่พระตำหนักจิตรลดา ริมพระลานพระราชวังดุสิต และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงพิจารณาวางระเบียบ หน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยได้กำหนดหน้าที่ของหมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนกสอนวิชา โดยในระเบียบหน้าที่และความรับผิดชอบดังกล่าวดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา [] ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหมวดหน้าที่และความรับผิดชอบพะแนกสอนวิชา ให้มีการจัดตั้งสโมสรต่างๆ อันจะให้ประโยชน์แก่การวิชา เช่นสโมสรอ่านหนังสือ และสโมสรสักรวาทีปรวาทีเปนต้น วางระเบียบข้อบังคับและรักษาการให้เปนไปโดยสม่ำเสมอและได้ประโยชน์จริงในโรงเรียน

 

          แต่ในชั้นนี้ยังไม่พบหลักฐานว่า มีการจัดตั้งสโมสรใดบ้างในยุคโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อเนื่องมาจนสมัยรวมโรงเรียนเป็นวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว เพิ่งจะพบหลักฐานว่า มีการจัดตั้งสมาคมในวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดการสอนอีกครั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการในเวลานั้นได้จัดตั้งสมาคมขึ้นก่อน ๔ สมาคมในปีการศึกษา ๒๔๙๐ ประกอบด้วย

                    สมาคมกีฬา

                    สมาคมโต้วาที

                    สมาคมบันเทิง

                    สมาคมหนังสือพิมพ์

 

ต่อมาในปีการศึกษา ๒๔๙๔ มีการจัดตั้งสมาคมถ่ายรูปเพิ่มขึ้นอีก ๑ สมาคม

 

          ในระยะแรกจัดตั้งสมาคมทั้ง ๕ นั้น แต่ละสมาคมมีผู้บังคับการเป็นนายก และมีคุณครูที่มีทักษะความชำนาญเป็นรองนายก ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและแนะนำการปฏิบัติงานของคณะกรรมการแต่ละสมาคมมีนักเรียนเป็นกรรมการสมาคมละ ๘ คน โดยนักเรียนเลือกกันเองเป็นประธานกรรมการ ๑ คน เลขานุการ ๑ คนและกรรมการอื่นอีก ๖ คน ต่อมาจึงมีการกำหนดให้กรรมการแต่ละสมาคมเลือกกันเองเป็นรองประธานกรรมการอีกสมาคมละ ๑ คน

 

          สำหรับสมาคมหนังสือพิมพ์ซึ่งมีหน้าที่จัดทำวชิราวุธานุสาส์น อันเป็นแถลงการณ์ของวชิราวุธวิทยาลัยนั้น เรียกตำแหน่งประธานและรองประธานกรรมการแตกต่างไปจากสมาคมอื่นๆ ว่า บรรณาธิการและรองบรรณาธิการ และต่อมาเมื่อมีการจัดสร้างหอสมุดภะรตราชาขึ้นในปีการศึกษา ๒๕๐๖ แล้ว ได้มีการเพิ่มอนุกรรมการสมาคมหนังสือพิมพ์เพิ่มเติมอีก ๑๒ คน โดยอนุกรรมการมีหน้าที่ช่วยเหลือคณะกรรมการในการจัดเตรียมต้นฉบับวชิราวุธานุสรณ์ และเป็นเวรช่วยบรรณารักษ์หอสมุดในการบริการยืมคืนและจัดเก็บหนังสือในหอสมุด

 

          ส่วนสมาคมกีฬานั้น เนื่องจากวชิราวุธวิทยาลัยมีการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะเป็นหลายชนิดกีฬา กรรมการสมาคมทั้ง ๘ คนจึงต่างมีหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกกีฬาต่างๆ ๘ แผนก เฉพาะประธานกรรมการสมาคมกีฬานนอกจากจะมีหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกกีฬารักบี้ฟุตบอล และเป็นหัวหน้าชุดรักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนโดยตำแหน่งแล้ว ยังถือกันว่า ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกัปตันทีมรักบี้ฟุตบอลของโรงเรียนนั้นเป็นหัวหน้าโรงเรียนต่อเนื่องกันมาโดยตลอด

 

          คณะกรรมการสมาคมบันเทิงมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการกระจายเสียงบนหอประชุมในเวลาสวดมนต์ไหว้พระประจำวัน รวมทั้งคัดเลือกและจัดฉายภาพยนต์ใหนักเรียนชมในคืนวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนสมาคมถ่ายรูปนั้นมีหน้าที่สำคัญคือ การสอนถ่ายรูปและอัดขยายภาพในห้องมืด กับมีหน้าที่ถ่ายภาพกิจกรรมและเหตุการณ์ต่างๆ ของโรงเรียน สำหรับสมาคมโต้วาทีนั้นมีหน้าที่สำคัญคือ การจัดโต้วาทีแสดงวาทะและความคิดของนักเรียน

 

          เนื่องจากเมื่อครั้งที่โรงเรียนกลับมาเปิดสอนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น นักเรียนทั้งโรงเรียนยังมีจำนวนน้อย ในยุคแรกจัดตั้งสมาคมทั้ง ๕ จึงได้อาศัยกำลังนักเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมปลาย) ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นโตของโรงเรียน แบ่งกันเป็นคณะกรรมการสมาคมต่างๆ แต่เพราะเหตุที่ในเวลานั้นนักเรียนชั้นโนมีจำนวนจำกัด จึงมีนักเรียนหลายคนที่เป็นกรรมการในสมาคมต่างๆ ซ้ำกันหลายสมาคม ต่อมาเมื่อมีนักเรียนชั้นมํธยมปลายเพิ่มขึ้น จึงมีการจัดให้กรรมการแต่ละสมาคมประกอบไปด้วยผู้แทนนักเรียนจากคณะโต ๔ คณะ คือ คณะผู้บังคับการ ดุสิต จิตรลดา พญาไท คณะละ ๒ คน สำหรับอนุกรรมการสมาคมหนังสือพิมพ์นั้นเป็นนักเรียนชั้นมัธยมต้นคณะละ ๓ คน

 

          ต่อมาในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในช่วงปีการศึกษา ๒๕๓๙ - ๒๕๕๐ ได้ปรับเปลี่ยนให้วันเสาร์ซึ่งแต่เดิมเป็นวันเรียนวิชาการในห้องเรียนมาเป็นวันกิจกรรม โดยให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจของนักเรียนแต่ละคน ในยุคนี้จึงมีการจัดตั้งสมาคมอีก ๒ สมาคม คือ สมาคมศิลปวัฒนธรรม และสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งชมรมกิจกรรมวันเสาร์ทั้งคณะเด็กโตและเด็กเล็กเพิ่มเติมอีกกว่า ๔๐ ชมรม

 

          สมาคมและชมรมต่างๆ ล้วนมีกิจกรรมต่างๆ ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

 
 
 

 

[ ]  ท่านผู้นี้เป็นบุตรของอาร์ชบิชอพแห่งยอร์ค (Archbishop of York) ซึ่งมีอาวุโสเป็นลำดับที่สองของศาสนจักรอังกฤษ (Church of England) รองจากอาร์ชบิชอพแห่งแคนเตอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นอัศวินของประเทศอังกฤษ มีนามว่า Sir Basil Thompson

[ ]  หมายถึงรัฐบาลอังกฤษ คำว่าราชาธิปไตยนี้ เป็นคำที่รัฐบาลสยามใช้ในเอกสารต่างๆ เมื่อกล่าวถึงประเทศอังกฤษหรือรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้น

[ ]  ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์. “จดหมายหม่อมราชวงศ์สิทธิ์”, วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่๕ ฉบับที่ ๓ (๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘), หน้า ๔๐.

[ ]  เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ยกตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็น “ผู้บังคับการ” ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว ตำแหน่งนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา ปัจจุบันคือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |