โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

 

๑๓๒. ดนตรีในวชิราวุธวิทยาลัย (๓)

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ทรงดนตรีร่วมกับวงหัสดนตรี ในงานเฉลิมพระชนม์พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

 

 

“คุณเสมอ” แซกโซโฟนในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ซึ่งทรงพระมหากรุณาพระราชทานเป็นเครื่องดนตรีประจำวงหัสดนตรี

ปัจจุบันจัดแสดงในหอประวัติโรงเรียน

 

 

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย การดนตรีของวชิราวุธวิทยาลัยก็เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งวงหัสดนตรี (Jazz) เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวง โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพ์ส่วนพระองค์จัดหาเครื่องดนตรีอย่างดีที่สุดในเวลานั้นมาพระราชทาน โรงเรียนจึงได้คัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถจากวงโยธวาทิตมาฝึกหัดบรรเลงเพลง Jazz โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ มาครูดนตรีคนแรกของวงหัสดนตรี และในยามที่ทรงว่างจากพระราชกิจก็มักจะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งมาทรงดนตรีกับวงหัสดนตรีเป็นประจำ นอกจากนั้นยังได้ทรงร่วมบรรเลงดนตรีกับวงหัสดนตรี ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานกางเกงแถบขายาวให้นักดนตรีวงหัสดนตรีใช้แต่งในเวลาออกไปบรรเลงภายนอกโรงเรียนด้วย

 

 

วงหัสดนตรี

 

 

          อนึ่ง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น นักเรียนเก่าพรานหลวงชุบ ยุวนวณิช เล่าว่า มีพระราชปรารภจะให้เสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์ฝึกหัดเป่าปี่สก๊อต เพื่อจัดเป็นวงดนตรีนำแถวเสือป่ากรมพรานหลวงที่เป็นเสือป่าเหล่าเดียวที่โปรดเกล้าฯ ให้วิ่งเหยาะในเวลาสวนสนามแทนการเดินเช่นเสือป่าเหล่าอื่นๆ แต่ปรากฏว่ามีเพียงนักเรียนเก่าพรานหลวงบุญส่ง ซึ่งเวลานั้นรับราชการอยู่ในกรมมหรสพและเป็นเสือป่าพรานเพียงผู้เดียวที่สามารถเป่าปี่สก๊อตได้ แนวพระราชดำริที่จะจัดให้มีวงปี่สก๊อตจึงไม่สำเร็จสมดังพระราชประสงค์

 

          แต่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น รัฐบาลได้ขอใช้สถานที่ของโรงเรียนเป็นสถานที่ทำการของหน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งได้ใช้พื้นที่สนามหลังเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าหลวง จัดจ่ายไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าหลวงสามเสนที่ถูกระเบิดทำลายไป แต่เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดของชาติสัมพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดโดนตึกใหญ่และปีกด้านทิศเหนือของคณะประคอง (คณะดุสิต) พังไปทั้งหลังเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ และมีสะเก็ดระเบิดบางส่วนปลิวไปตกที่หมวดรถยนต์หลวงซึ่งอยู่ติดกับคณะดุสิต ทำให้อาคารและรถยนต์หลวงที่จอดอยู่ได้รับความเสียหายไปบางส่วน ทางราชการจึงได้ย้ายเชลยศึกและชนชาติศัตรูซึ่งเดิมกักขังอยู่ที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มาปลูกเรือนจากให้อยู่เป็นยันต์กันระเบิด และด้วยการประสานงานของเสรีไทยด้วย พื้นที่ตรงนั้นจึงอยู่รอดปลอดภัยมาจนสิ้นสงครามในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘

 

 

นายสจ๊วต  มาร์ (ยืนกลาง) ถ่ายร่วมกับวงปี่สก๊อต

ที่ไปร่วมบรรเลงในงานวันเซนต์แอนดรูว์ (St. Andrew’s Day) ที่ราชกรีฑาสโมสร

 

 

 

          นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย พงษ์ธร พรหมทัตตเวที ได้เล่าว่า ในค่ายกักกันนี้มีเชลยศึกชาว สก๊อตคนหนึ่งชื่อ นายสจ๊วต มาร์ (Stewart Marr) เป็นผู้จัดการสายการเดินเรือของบริษัท บอร์เนียว จำกัด [] นำปี่สก๊อตมาเป่าแก้เหงา เมื่อท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาได้ยินเข้าก็ติดใจ ทาบทามฝรั่งเชลยคนนี้ว่าถ้าสงครามสงบ ขอให้จัดการสอนเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นการสนองพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

วงปี่สก๊อตบรรเลงนำแถวนักเรียนคณะจิตรลดา และคณะพญาไท

 

 

          ด้วยความซาบซึ้งในน้ำใจของท่านผู้บังคับการตลอดจนผู้กำกับคณะและคุณครู ซึ่งผลัดกันลักลอบส่งอาหารข้ามรั้วไปให้เชยศึก เป็นการบรรเทาความทุกข์ยากจนสงตรามสงบลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ แล้ว นายสจ๊วต มาร์ จึงได้นำปี่สก็อตของตนซึ่งประดับด้วยงาช้างและแผ่นเงิน กับจัดหาปี่สก๊อตอีก ๓ เครื่องรวมเป็น ๔ เครื่องมามอบให้โรงเรียน แล้วโรงเรียนได้สั่งซื้อปี่สก๊อตเข้ามาอีก ๘ เครื่อง รวมทั้งจัดหากลองเล็กกลองใหญ่ผสมกันเป็นวงปี่สก๊อตได้ จึงได้เชิญนายมาร์มาสอนนักเรียนเป่าปี่สก๊อต แล้วจัดซื้อปี่สก๊อตเพิ่มเติมเป็นลำดับ จนเป็นวงปี่สก๊อตวงแรกของประเทศไทย (ปัจจุบันมีวงปี่ สก๊อตของกองดุริยางค์สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกวงหนึ่ง แต่ขนาดของวงต่างจากวงของวชิราวุธวิทยาลัยมาก)

 

 
 
 

 

[ ]  บริษัท บอร์เนียว จำกัด เป็นธุรกิจข้ามชาติของอังกฤษมีสาขาในหลายประเทศ ในประเทศไทยนอกจากจะมีธุรกิจค้าไม้ขอนสัก และ ธุรกิจเดินเรือสินค้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักแล้ว ยังประกอบการทั้งนำเข้าและส่งออกสินค้าอีกนานาชนิดอีกด้วย

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |