โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

 

๑๓๔. ชีวิตที่เลือกได้ (๑)

 

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ - ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑

 

 

          จดหมายวชิราวุธวิทยาลัยสองตอนนี้ ขออุทิศพื้นที่ให้แด่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นักเรียนเก่า และอดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑

 

          เมื่อศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช หรือ “ปิ๋ง” หรือ “พี่ปิ๋ง” ของพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ถึงอนิจกรรมนั้น มีนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยหลากรุ่นได้ร่วมกันแสดงความอาลัยทางหน้าสื่อสังคมออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก และในบทความไว้อาลัยหลายๆ บทมีการหยิบยกภาพหนังสือ “ชีวิตที่เลือกได้” มานำเสนอ ซึ่งหนังสือชีวิตที่เลือกได้นี้พี่ปิ๋งได้กล่าวถึงอัตชีวประวัติตั้งแต่เยาว์วัย จนก้าวเข้ามาสู่รั้ววชิราวุธวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ จนออกไปเรียนที่อินเดียชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วกลับมาเรียนต่อจนจบชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ที่วชิราวุธวิทยาลัยในปีการศึกษา ๒๕๐๓

 

          โดยส่วนตัวผู้เขียนเข้าเรียนในวชิราวุธวิทยาลัยไม่ทันพี่ปิ๋ง เพราะท่านจบไปตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๐๓ ส่วนตัวผู้เขียนเพิ่งเข้าเรียนในวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อปีการศึกษา ๒๕๐๗ แต่ก็รู้จักพี่ปิ๋งผ่านหนังสือรุ่น ๓๓ ซึ่งเป็นต้นแบบของการทำหนังสือรุ่นของวชิราวุธวิทยาลัยมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จนจบผู้เขียนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ในปีการศึกษา ๒๕๑๖ แล้ว เวลาว่างจากการเรียนก็มักจะไปขลุกอยู่กับเพื่อนๆ ที่สมาคมนักเรียนเก่าฯ ซึ่งเวลานั้นยังมีที่ทำการอยู่ที่พระราชอุทยานสราญรมย์ จึงได้มีโอกาสพบตัวและได้รับความกรุณาจากพี่ปิ๋งเป็นครั้งแรกก็ในช่วงเวลานั้น

 

          เนื่องจากงานวชิราวุธานุสรณ์ที่เคยจัดที่พระราชอุทยานสราญรมย์ต่อเนื่องกันมาหลายปีต้องล้มเลิกไปตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๗ คณะนักเรียนเก่าฯ ได้หารือกันที่จะจัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นันคล้ายวันสวรรคต ในการหารือกันนั้นพี่ปิ๋งได้เสนอให้จัดแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “ฉวยอำนาจ” โดยออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ หนองแขม เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงกำหนดตัวผู้แสดง ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากนักเรียนเก่าอาวุโสรุ่นอาวุโส คือนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พระมหามหามนตรีศรีองรักษสมุห (ฉัตร โชติกเสถียร) ซึ่งท่านให้เรียกตัวท่านว่าพี่ เพราะเราเป็นลูกพ่อเดียวกันคือ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มาร่วมแสดงกับนักเรียนเก่ารุ่นถัดลงมา เช่น นพ.ยุทธ โพธารามิก ม.ร.ว.พรรธนภณ (ฉัตรโสภณ) สวัสดิวัตน์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช พ.ท.น.พ.ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา (ยศขณะนั้น) พี่ดำรงพันธ์ พูนวัตถุ พี่วิโรจน์ นวลแข ฯลฯ มี “อาจือ” วิจิตร คุณาวุฒิ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเศรษฐีตุ๊กตาทองของเมืองไทยเป็นผู้กำกับการแสดง ส่วนตัวผู้เขียนและเพื่อนนักเรียนเก่ารุ่น ๔๖ อีกสามคนก็ได้รับเกียรติร่วมแสดงเป็นพลทหารซึ่งมีบทบาทเพียงเล็กน้อย

 

 

ภายในโรงละครทวีปัญญาสโมสร ที่พระราชอุทยานสราญรมย์

 

 

          การซ้อมละครเริ่มในตอนเย็นเรื่อยไปจนถึงเวลาค่ำที่โรงละครมุมพระราชอุทยานสราญรมย์ ซึ่งเดิมเป็นโรงละครของทวีปัญญาสโมสรในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำการสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นักแสดงแต่ละท่านแม้จะเป็นเพียงนักแสดงสมัครเล่น แต่ก็ล้วนแสดงกันสุดความสามารถ ส่วนผู้เขียนและเพื่อนอีกสามคนก็มีรับหน้าที่เป็นผู้ชม เว้นไว้แต่บางเวลาที่ถึงบทก็ต้องไปเข้าฉากเป็นทหารยามยืนเฝ้าประตู

 

          ภายหลังจากที่คณะละครสมัครเล่นนี้ไปแสดงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ หนองแขม (ปัจจุบันคือช่อง ๓๓) แล้ว พี่ปิ๋งได้มาแจ้งให้ผู้ร่วมแสดงทราบว่า ศาสตราจารย์สัญญา  ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นได้และดงความชื่นชมผ่านมาทางพี่ปิ๋ง และขอให้สมาคมฯ จัดแสดงออกอากาศอีกครั้งให้ประชาชนที่พลาดการรับชมในการออกอากาศครั้งแรกได้รับชมอีกครั้งทางสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง ๙ อสมท. บางลำพู คณะละครจึงต้องไปแสดงออกกาศซ้ำอีกครั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘

 

 

 

 

          อนึ่ง เมื่อพี่ปิ๋งได้รับพระบรมราชานุมัติให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยต่อจากศาสตราขารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ พี่ปิ๋งได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ชีวิตที่เลือกได้” เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงการเล่าเรียน ชีวิตความเป็นอยู่และเพื่อนๆ ในวชิราวุธวิทยาลัย โดยเล่าว่า ได้เข้เรียนในวชิราวุธวิทยาลัยตั้งแจ่ชั้นประถมปีที่ ๑ เป็นนักเรียนชุดแรกของคณะเด็กเล็ก ๓ ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้น แล้วย้ายไปอยู่คณะพญาไทตอนเป็นเด็กโต แล้วลาออกไปเรียนที่อินเดียชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่วชิราวุธวิทยาลัยจนจบชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ ในปีการศึกษา ๒๕๐๓

 

          ในระหว่างที่กำลังเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา (มัธยมปลาย) นั้น พี่ปิ๋งได้เป็นหัวแรงจัดทำหนังสือรุ่น ๓๓ เป็นหนังสือรุ่นเล่มแรกของวชิราวุธวิทยาลัย และเป็นต้นแบบให้น้องๆ นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้คิดจัดทำหนังสือรุ่นต่อๆ กันมา โดยในการจัดทำหนังสือรุ่นคราวนั้น พี่ปิ๋งได้เป็นผู้สืบค้นว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว มีนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์ (มัธยมปลาย) เป็นรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ พี่ปิ๋งจึงนับรุ่นที่จบการศึกษาใน พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นรุ่นที่ ๑ แล้วนับเรียงปีมาจนถึงรุ่นที่พี่กำลังศึกษาอยู่เป็นรุ่นที่ ๓๓ แล้วจึงนับรุ่นต่อกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบันที่กำลังจะจบการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๑ นี้เป็นรุ่นที่ ๙๑

 

          เมื่อจบชั้นมัธยมปลายจากวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว พี่ปิ๋งสอบเข้าไปเรียนต่อในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนอยู่ได้เพียงปีเดียวก็สอบชิงทุนโคลัมโบได้ไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ จบแล้วจึงไปเรียนต่อปริญญาโท – เอก ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา แล้วกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายไปเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          เนื่องจากแผนการศึกษาชาติซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กำหนดให้โรงเรียนชายที่เปิดสอนชั้นมัธยมปลายหรือชั้นเตรียมอุดมศึกษา ให้เปิดสอนได้เฉพาะแผนกวิทยาศาสตร์ ส่วนโรงเรียนสตรีก็ให้เปิดสอนเฉพาะแผนกอักษรศาสตร์หรือที่ต่อมาเรียกว่าแผนกศิลป นักเรียนสตรีที่สนใจจะเรียนแผนกวิทยศาสตร์ก็ต้องไปฝากเรียนสมทบในโรงเรียนชาย และนักเรียนชายที่ประสงค์จะเรียนแผนกอักษรศาสตร์ ก็ต้องไปเรียนสมทบในโรงเรียนสตรี วชิราวุธวิทยาลัยในฐานะที่เป็นโรงเรียนชายล้วน จึงต้องเปิดสอนเฉพาะแผนกวิทยาศาสตร์ อีกทั้งสถานะเป็นโรงเรียนประจำที่นักเรียนต้องกินนอนอยู่ในโรงเรียน ถ้าจะไปเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกอักษรศาสตร์ก็ต้องลาออกไปเรียนที่โรงเรียนอื่นเพียงสถานเดียว พี่ปิ๋งจึงอยู่ในสถานะ “ชีวิตที่เลือกไม่ได้” ต้องกล้ำกลืนฝืนทนเรียนแผนกวิทยาศาสตร์ไปจนจบการศึกษา ทั้งนี้พี่ปิ๋งเล่าให้ฟังว่า ตอนสอบไล่ชั้นเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๒ (ปัจจุบันคือมัธยมปีที่ ๖) ซึ่งเป็นการสอบข้อสอบรวมของกระทรวง ศึกษาธิการพร้อมกันทั่วประเทศนั้น เมื่อสอบเสร็จในแต่ละวันแล้วพี่ปิ๋งจะจดจำข้อสอบกลับมาเฉลยคำตอบและรวมคะแนนที่ทำได้ในแต่ละวัน เมื่อมั่นใจแล้วว่า เมื่อรวมคะแนนสอบที่ทำได้ในแต่ละวันรวมกันได้มากกว่าร้อยละ ๕๐ ของคะแนนรวมทุกวิชาซึ่งเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าสอบไล่ได้แล้ว ในวันสุดท้ายของการสอบที่เหลือวิชาสอบอีกหนึ่งวิชาในตอนครึ่งวันเช้า พี่ปิ๋งก็เลยไม่เข้าสอบ แต่ก็สามารถสอบไล่ได้ด้วยคะแนนรวมร้อยละ ๕๐ เศษ

 

          อนึ่ง ในหนังสือ “ชีวิตที่เลือกได้” มีความตอนหนึ่งที่พี่ปิ๋งกล่าวถึงผู้เขียนว่า เป็นผู้เสนอความคิดให้จัดงานฉลอง ๕๐ ปีการรวมโรงเรียนเป็นวชิราวุธวิทยาลัย แล้วพี่ปิ๋งจึงได้นำความคิดนี้ไปเสนอต่อคณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าฯ จนได้มีการทำบุญถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บนหอประชุมในตอนเย็นวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙ และมีงานเลี้ยงฉลองกันที่สนามหน้าในค่ำวันนั้น ซึ่งในระหว่างงานเลี้ยงฉลองวันนั้นพี่จักรพันธ์ โปษยกฤต เพื่อนรักของพี่ปิ๋งได้สเก๊ตพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นภาพลายเส้นดินสอ แล้วพี่ปิ๋งได้จัดการประมูลภาพลายเส้นในงานคืนนั้น ซึ่งในที่สุดรุ่น ๓๓ – ๓๔ – ๓๕ เป็นผู้ประมูลได้ และได้มอบภาพดังกล่าวให้เป็นสมบัติของสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเงินรายได้จากการประมูลภาพได้นำไปสมทบกับรายจากการจัดงานและจากการจัดหน่ายหนังสือที่ระลึก ๕๐ ปี วชิราวุธวิทยาลัย เป็นทุนในการจัดสร้างสะพานลอยข้ามถนนสุโขทัยซึ่งยังคงใช้งานกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |