โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

 

๑๓๙. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๔)

 

การถวายบังคมสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลแล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการอบรมนักเรียนในโรงเรียนนี้ไว้หลายประการ ประการหนึ่งที่ทรงเน้นย้ำและทรงให้ความสำคัญมาก คือ การสอนให้นักเรียนมีความ “กตัญญู” ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทเพลง “เราเด็กในหลวง” ซึ่งพระราชทานให้เป็นบทร้องของนักเรียนมหาดเล็กหลวงว่า “กตัญญูฝังจิตติดดวงใจ จนเติบใหญ่ไม่จางไม่บางเบา” และแม้ว่านักเรียนจะจบการศึกษาไปจากโรงเรียนแล้ว ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์คำว่า “กตัญญู” ไว้ที่ตอนล่างของประกาศนียบัตรโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

 

 

          ดังนี้จึงเห็นได้ว่า นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้รับการปลูกฝังให้เป็นผู้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณมาแต่เป็นนักเรียนและตลอดไปจนตราบชีวิตหาไม่

 

 

 

 

          การแสดงความกตัญญูที่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยถูกปลูกฝังมาแต่แรกพระราชทานกำเนิดโรงเรียน คือ การถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าเนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันฉัตรมงคลในพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ถัดมาใน พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ดังมีความตอนหนึ่งในราชกิจจานุเบกษาว่า

 

          “เวลา ๒ ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากพระบรมมหาราชวัง โดยรถยนต์พระที่นั่งไปประทับรถที่พระบรมรูปทรงม้า น่าพระลานพระราชวังสวนดุสิต ทรงวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระบรมชนกาธิราชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระราชวังสวนดุสิต

 

          อนึ่งในวันที่ ๒๓ ตุลาคม นี้ เปนวันอภิลักขิตสมัยประจำปีบันจบรอบวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนจึงได้พร้อมกันนำธูปเทียนพวงมาลามากระทำสักการะบูชาถวายบังคม พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปิยะมหาราช กระทรวงนครบาลได้จัดการสมาคมนี้ เวลาเช้าเลี้ยงอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ เวลาบ่ายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เวลาค่ำมีการมหรศพ แลจุดดอกไม้เพลิงสมโภช พระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการ แลประชาชนล้นหลามเต็มไปทั้งพระลาน มาถวายเครื่องสักการะกราบถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าทั้งกลางวันกลางคืนตลอดวัน”  []

 

          จากนั้นมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาถวายบังคมในวันที่ ๒๓ ตุลาคม และนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยพร้อมด้วยคณะครูได้เดินจากโรงเรียนไปวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุฯเป็นประจำตลอดมาทุกปี

 

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยได้มีดำริที่จะจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดวชิราวุธวิทยาลัย ประดิษฐานไว้ ณ เนินหอนาฬิกาภายในโรงเรียน จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๑,๐๐๐ บาทเป็นทุนประเดิม และมีผู้จงรักภักดีร่วมบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลรวมเป็นเงินกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ยังมิทันได้ดำเนินการอย่างไร พอดีเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์จึงหยุดชะงักลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนถึงสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลในสมัยนั้นได้ขอรับโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปดำเนินการต่อ โดยให้เหตุผลว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหาวีรราชเจ้าผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นเอนกอนันต์ การประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ภายในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ปิดนั้น ประชาชนผู้มีจิตกตัญญูและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณไม่อาจจะเข้าไปถวายบังคมได้เช่นพระบรมรูปทรงม้าซึ่งประดิษฐานในที่สาธารณะ รัฐบาลจึงได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ที่สวนลุมพินีตามคำแนะนำของนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้น

 

 

ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) และนักเรียน

ขณะรอรับเสด็จที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สวนลุมพินี

 

 

          เมื่อการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สวนลุมพินีแล้วเสร็จและเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นฐานแล้ว ก็ประจวบเวลาบ้านเมืองประสบภัยสงคราม จึงยังไม่มีการถวายบังคมพระบรมรูปที่สวนลุมพินี จนสงครามสงบลงและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้ว จึงปรากฏความตอนหนึ่งในวชิราวุธานุสาส์น ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ ภาคปวารณา ปีการศึกษา ๒๔๙๐ ว่า

 

          “เวลา ๑๕.๐๐ น. เคลื่อนขบวนออกจากโรงเรียนไปถวายบังคมพระบรมรูปพระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สวนลุมพินี เวลา ๑๖.๓๐ น. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จมาทรงวางพวงมาลา นักเรียนวชิราวุธไปตั้งแถวคอยรับเสด็จอยู่ที่ลานหน้าพระบรมรูป ถวายบังคมพระบรมรูปแล้วร้องเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี เมื่อร้องเพลงเแล้วท่านประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จกลับเป็นอันเสร็จพิธี”  []

 

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๒ “คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้จัดงานวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระเมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นรัฐพิธี”  [] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบัญชาสั่งให้สำนักพระราชวังจัดรัฐพิฑัถวายบังคม ณ วชิราวุธบรมราชานุสสรณ์ที่สวนลุมพินี ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน โดยมีกำหนดการ ดังนี้

 

          “เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จไปยังวชิราวุธบรมราชานุสสรณ์ ทรงวางพวงดอกไม้ของหลวงและทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วเสด็จกลับ”

 

          เมื่อสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสร้างพระบรมรูปทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธประดิษฐานไว้ที่แท่นฐานหน้าหอประชุมใน พ.ศ. ๒๕๐๘ แล้ว คณะครูและนักเรียนคณะต่างๆ ก็ได้ร่วมกันวางพวงมาลาที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์หน้าหอประชุมในตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘

 

          อนึ่ง เนื่องจากทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่โรงเรียนในตอนเช้าวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน แล้วในตอนบ่ายจึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่พระบรมราชานุสาวรียสวนลุมพินี ในช่วงเวลานั้นเสร็จการพระราชพิธีที่โรงเรียนในตอนเช้าแล้วตอนบ่ายคณะครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนจึงไปถวายบังคมและรอรับเสด็จที่ลานพระบรมราชานุสรณ์สวนลุมพินี และรอรับเสด็จที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นประจำทุกปี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วจึงเดินทางกลับโรงเรียนและปิดภาคปวารณาในวันนั้น

 

          แต่เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดการเป็นเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่โรงเรียน เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่สวนลุมพินีต่อกันในคราวเดียว โรงเรียนจึงได้จัดแบ่งครูและนักเรียนคณะโตคอยรับเสด็จอยู่ที่โรงเรียน แลให้ครูและนักเรียนคณะเด็กเล็กไปรอรับเสด็จที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สวนลุมพินีสืบมา

 

          ต่อมามีการประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้ารัฐสภา แต่เนื่องจากลานพระบรมราชานุสาวรีย์ไม่สามารถรองรับผู้ร่วมพิธีจำนวนมากได้ วชิราวุธวิทยาลัยจึงส่งผู้แทนคณะครูและนักเรียนไปวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ซึ่งเป็นอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต และวางพุ่มดอกไม้ถวายบังคมในวันที่ระลึกการพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี และเมื่อมีการประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ ที่เชิงสะพานพระราม ๘ แล้ว วชิราวุธวิทยาลัยก็จัดให้ผู้แทนครูและนักเรียนคณะเด็กเล็กไปวางพวงมาลาถวายบังคม ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ เชิงสะพานพระราม ๘ ในวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปีด้วย

 

          ใน พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรได้จัดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วชิราวุธวิทยาลัยก็จัดให้ผู้แทนครธครูและนักเรียนไปวางพวงมาลาและถวายบังคมด้วย

 

          อนึ่งในการถวายบังคมเนื่องในอภิลักขิตสมัยวันคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ รัฐบาลได้มีประกาศเชิญชวนให้ข้าราชการและพสกนิกรผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ร่วมในพิธี ร่วมกันถวายบังคมตามแบบที่คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพร้อมกันลงนั่งคุกเข่าพนมมือที่หน้าอก แล้วยกมือที่พนมนั้นขึ้นเหนือศีรษะให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดที่หน้าผากตามโบราณราชประเพณี แทนการยืนถวายความเคารพเช่นที่เคยปฏิบัติมาด้วย

 

 
 
 

[ ]  “การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในอภิลักขิตสมัยประจำปี เดือนตุลาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๑”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๑๐ พฤศจิกายน ๑๓๑), หน้า ๑๗๕๓ - ๑๗๕๖.

[ ]  “กำหนดการ รัฐพิธีวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พฤศจิกายน ๒๔๙๒”, ราชกิจจานุเบกษา ๖๖ (๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๒), หน้า ๕๒๕๙.

[ ]  “กำหนดการ รัฐพิธีวันที่ระลึกวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พฤศจิกายน ๒๔๙๒”, ราชกิจจานุเบกษา ๖๖ (๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๒), หน้า ๕๒๕๙.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |