โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๐. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๕)

 

กฐินหลวงวัดเบญจมบพิตร

 

          สืบเนื่องจากนายแพทย์ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กราบบังคมทูลถวายความเห็นว่า พระราชฐานที่ประทับในพระบรมมหาราชวังนั้น ปลูกสร้างกันอย่างแออัด มีตึกบังอยู่โดยรอบทำให้ขวางทางลมไม่เป็นผลดีแก่พระพลานามัยทั้งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดทั้งข้าราชบิพารทั้งปวง

 

 

แผนที่แสดงแนวเขตพระราชวังสวนดุสิตในรัชสมัยพระบาทสมดุสิตพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

และพระราชวังดุสิตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ทรงพบเห็นว่า บรรดาพระประมุขของประเทศต่างๆ ในยุโรป นอกจากจะทรงมีพระราชฐานที่ประทับในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ ยังทรงมีพระราชฐานสำหรับเป็นที่ประทับที่นอกพระนครกันทุกประเทศ ฉะนั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่จัดซื้อที่ดินด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ระหว่างคลองสามเสนกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นที่สวนและทุ่งนาจากราษฎรในราคาที่มีการศื้อขายเป็นการทั่วไปในท้องตลาดด้วยพระราชทรัพย์พระองค์ พระราชทานนามพื้นที่ส่วนนี้ว่า “วังสวนดุสิต”

 

          อนึ่ง เนื่องจากในพื้นที่สวนดุสิตนั้นมีวัดโบราณและวัดร้างรวมอยู่ ๒ วัดด้วยกัน คือ “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” ซึ่งต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพรักษาพระนครคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์ ได้ทรงตั้งกองบัญชาการทัพที่วัดแหลมนี้ เมื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์สงบราบคาบแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พร้อมพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก ๔ พระองค์ คือ

                    . พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์

                    ๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์

                    . พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงศ์

                    . พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทนิล

 

ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแหลม พร้อมทั้งทรงสร้างพระเจดีย์เรียงรายไว้หน้าวัด ๕ องค์ ต่อมาพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดนี้ให้ใหม่ว่า “วัดเบญจบพิตร” หมายถึงวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มลงมือตัดไม้และปรับพื้นที่ เพื่อก่อสร้างพระราชนิเวศน์ในบริเวณสวนดุสิต จึงได้ทรงทำผาติกรรมวัดเบญจบพิตร ซึ่งเวลานั้นมีภิกษุจำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว กับวัดร้างอีกวัดหนึ่ง โดยโปรดให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างในวัดเดิมทั้งหมด แล้วปรับพื้นที่ก่อสร้างพระอารามขึ้นใหม่ ประกอบด้วยสังฆเสนาสน์สำหรับพระสงฆ์สามเณรอยู่อาศัยจำนวน ๓๓ หลัง เท่าจำนวนปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติ โดยทรงมอบหมายให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช) เป็นผู้รับผิดชอบ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถชั่วคราว เป็นอาคารไม้หลังคามุงจากเพื่อทำสังฆกรรมไปพลางก่อน

 

          ในการสถาปนาพระรามใหม่คราวนั้น มีพระราชประสงค์สำคัญ คือ

 

          . เพื่อแสดงว่า ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เมื่อทรงใช้ที่วัดสร้างพระราชอุทยาน ก็ทรงทำ "ผาติกรรม" สร้างวัดขึ้นทดแทนตามราชประเพณี โดยสร้างเพียงวัดเดียว แต่ทำให้เป็นพิเศษ วิจิตรงดงาม สมควรที่จะเป็นวัดอยู่ใกล้เขตพระราชฐาน

 

          . เป็นที่แสดงแบบอย่างทางการช่างของสยามประเทศ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงามด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ

 

          . เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณสมัยและปางต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่าง ภายในพระระเบียง ซุ้มจระนำหลังพระอุโบสถ และซุ้มจระนำด้านนอกพระระเบียง

 

          . เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาชั้นสูงซึ่งทรงเรียกว่า "คอเลซ" (College) เป็นการเกื้อกูลแก่คณะสงฆ์มหานิกาย

 

          . เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาล และแสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวัดประจำรัชกาลแห่งพระองค์ โดยเมื่อสถาปนาขึ้นแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจมบพิตร" ซึ่งหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ กับได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ว่า เมื่อพระองค์สวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ให้นำพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคารตามพระราชประสงค์

 

 

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

 

 

          วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นวันเสด็จเถลิงพลับพลาประทับแรมที่สวนดุสิตครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตร ทรงประเคนใบประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่วิสุงคามสีมาแก่สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ สมเด็จพระวันรัตอ่านประกาศพระบรมราชูทิศในที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งปรากฏข้อความในประกาศพระบรมราชูทิศตอนหนึ่งว่า "... พระราชทานนามว่า"วัดเบญจมบพิตร" แสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ..."

 

          การก่อสร้างดำเนินการเป็นลำดับมา ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ สังฆเสนาสน์แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ในขั้นแรก จึงโปรดให้แห่พระสงฆ์สามเณร ๓๓ รูป ซึ่งโปรดให้คัดเลือกและให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์มาอยู่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม และในคราวนี้ได้พระราชทานที่วัดเพิ่มเติมและโปรดให้เพิ่มสร้อยนามต่อท้ายว่า "ดุสิตวนาราม" เรียกรวมกันว่า "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม"

 

          เนื่องจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นพระอารามหลวงเพียงวัดเดียวในเขตพระราชวังดุสิต จึงถือกันว่าวัดนี้เป็นพระอารามหลวงประจำพระราชวังมาตั้งแต่แรกสถาปนา และเป็นวัด ๑ ใน ๑๖ พระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐินประจำปีด้วยพระองค์เองตลอดมาถึงปัจจุบัน

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร

ทรงพระดำเนินผ่านแถวครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

ในการเสด็จพระราชดำเนืนถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรรงเรียนมหาดเล็กหลวงแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยในระยะแรกโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กข้าหลวงเดิมจากพระราชวังสราญรมย์มาเปิดการเรียนการสอนที่ตึกยาว ริมประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวังแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา – เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไปเลือกหาสถานที่ตั้งโรงเรียนถาวรที่สวนดุสิต เมื่อเลือกได้ที่ดินสวนพระองค์ที่เรียกว่า “สวนกระจัง” ริมคลองเปรมประชากร พระยาไพศาลศิลปสาตรจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตก่อสร้างอาคารโรงเรียนเป็นอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยให้สอดรับกับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่อยู่ริมคลองเปรมประชากรเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีเขาดินวนารามคั่นกลาง

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กหลวงมาเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนชั่วคราวที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่สวนกระจัง เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ก็ทรงกำหนดให้วัดแบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นพระอารามหลวงประจำโรงเรียน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้าพระกฐินหรือทรงเดินเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามทุกคราว ก็เป็นหน้าที่นักเรียนเรียนมหาดเล็กหลวงต้องไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและตามเสด็จในการทรงเดินเทียนรอบพระอุโบสถตลอดมาจนสิ้นรัชกาล

 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วก็ตาม วชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงจัดให้นักเรียนไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลาเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามตลอดมา

 

          แต่เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สนามหน้าพระอุโบสถไม่พอรองรับจำนวนครูและนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นได้ โรงเรียนจึงได้จัดครูและนักเรียนคณะเด็กโตพร้อมด้วยวงโยธวาทิตไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลแล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการอบรมนักเรียนในโรงเรียนนี้ไว้หลายประการ ประการหนึ่งที่ทรงเน้นย้ำและทรงให้ความสำคัญมาก คือ การสอนให้นักเรียนมีความ “กตัญญู” ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทเพลง “เราเด็กในหลวง” ซึ่งพระราชทานให้เป็นบทร้องของนักเรียนมหาดเล็กหลวงว่า “กตัญญูฝังจิตติดดวงใจ จนเติบใหญ่ไม่จางไม่บางเบา” และแม้ว่านักเรียนจะจบการศึกษาไปจากโรงเรียนแล้ว ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์คำว่า “กตัญญู” ไว้ที่ตอนล่างของประกาศนียบัตรโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

 

 

          ดังนี้จึงเห็นได้ว่า นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้รับการปลูกฝังให้เป็นผู้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณมาแต่เป็นนักเรียนและตลอดไปจนตราบชีวิตหาไม่

 

 

 

 

          การแสดงความกตัญญูที่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยถูกปลูกฝังมาแต่แรกพระราชทานกำเนิดโรงเรียน คือ การถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าเนื่องในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันฉัตรมงคลในพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ถัดมาใน พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ดังมีความตอนหนึ่งในราชกิจจานุเบกษาว่า

 

          “เวลา ๒ ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากพระบรมมหาราชวัง โดยรถยนต์พระที่นั่งไปประทับรถที่พระบรมรูปทรงม้า น่าพระลานพระราชวังสวนดุสิต ทรงวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระบรมชนกาธิราชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระราชวังสวนดุสิต

 

          อนึ่งในวันที่ ๒๓ ตุลาคม นี้ เปนวันอภิลักขิตสมัยประจำปีบันจบรอบวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนจึงได้พร้อมกันนำธูปเทียนพวงมาลามากระทำสักการะบูชาถวายบังคม พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปิยะมหาราช กระทรวงนครบาลได้จัดการสมาคมนี้ เวลาเช้าเลี้ยงอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ เวลาบ่ายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เวลาค่ำมีการมหรศพ แลจุดดอกไม้เพลิงสมโภช พระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการ แลประชาชนล้นหลามเต็มไปทั้งพระลาน มาถวายเครื่องสักการะกราบถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าทั้งกลางวันกลางคืนตลอดวัน”  []

 

          จากนั้นมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาถวายบังคมในวันที่ ๒๓ ตุลาคม และนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยพร้อมด้วยคณะครูได้เดินจากโรงเรียนไปวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุฯเป็นประจำตลอดมาทุกปี

 

          ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยได้มีดำริที่จะจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดวชิราวุธวิทยาลัย ประดิษฐานไว้ ณ เนินหอนาฬิกาภายในโรงเรียน จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๑,๐๐๐ บาทเป็นทุนประเดิม และมีผู้จงรักภักดีร่วมบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลรวมเป็นเงินกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ยังมิทันได้ดำเนินการอย่างไร พอดีเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์จึงหยุดชะงักลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนถึงสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลในสมัยนั้นได้ขอรับโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปดำเนินการต่อ โดยให้เหตุผลว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหาวีรราชเจ้าผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นเอนกอนันต์ การประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ภายในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ปิดนั้น ประชาชนผู้มีจิตกตัญญูและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณไม่อาจจะเข้าไปถวายบังคมได้เช่นพระบรมรูปทรงม้าซึ่งประดิษฐานในที่สาธารณะ รัฐบาลจึงได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ที่สวนลุมพินีตามคำแนะนำของนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้น

 

 

ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) และนักเรียน

ขณะรอรับเสด็จที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สวนลุมพินี

 

 

          เมื่อการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สวนลุมพินีแล้วเสร็จและเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นฐานแล้ว ก็ประจวบเวลาบ้านเมืองประสบภัยสงคราม จึงยังไม่มีการถวายบังคมพระบรมรูปที่สวนลุมพินี จนสงครามสงบลงและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้ว จึงปรากฏความตอนหนึ่งในวชิราวุธานุสาส์น ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ ภาคปวารณา ปีการศึกษา ๒๔๙๐ ว่า

 

          “เวลา ๑๕.๐๐ น. เคลื่อนขบวนออกจากโรงเรียนไปถวายบังคมพระบรมรูปพระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สวนลุมพินี เวลา ๑๖.๓๐ น. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จมาทรงวางพวงมาลา นักเรียนวชิราวุธไปตั้งแถวคอยรับเสด็จอยู่ที่ลานหน้าพระบรมรูป ถวายบังคมพระบรมรูปแล้วร้องเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี เมื่อร้องเพลงเแล้วท่านประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จกลับเป็นอันเสร็จพิธี”  []

 

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๒ “คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้จัดงานวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระเมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นรัฐพิธี”  [] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบัญชาสั่งให้สำนักพระราชวังจัดรัฐพิฑัถวายบังคม ณ วชิราวุธบรมราชานุสสรณ์ที่สวนลุมพินี ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน โดยมีกำหนดการ ดังนี้

 

          “เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จไปยังวชิราวุธบรมราชานุสสรณ์ ทรงวางพวงดอกไม้ของหลวงและทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วเสด็จกลับ”

 

          เมื่อสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสร้างพระบรมรูปทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธประดิษฐานไว้ที่แท่นฐานหน้าหอประชุมใน พ.ศ. ๒๕๐๘ แล้ว คณะครูและนักเรียนคณะต่างๆ ก็ได้ร่วมกันวางพวงมาลาที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์หน้าหอประชุมในตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘

 

          อนึ่ง เนื่องจากทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่โรงเรียนในตอนเช้าวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน แล้วในตอนบ่ายจึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่พระบรมราชานุสาวรียสวนลุมพินี ในช่วงเวลานั้นเสร็จการพระราชพิธีที่โรงเรียนในตอนเช้าแล้วตอนบ่ายคณะครูและนักเรียนทั้งโรงเรียนจึงไปถวายบังคมและรอรับเสด็จที่ลานพระบรมราชานุสรณ์สวนลุมพินี และรอรับเสด็จที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นประจำทุกปี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วจึงเดินทางกลับโรงเรียนและปิดภาคปวารณาในวันนั้น

 

          แต่เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดการเป็นเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่โรงเรียน เสร็จแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาที่สวนลุมพินีต่อกันในคราวเดียว โรงเรียนจึงได้จัดแบ่งครูและนักเรียนคณะโตคอยรับเสด็จอยู่ที่โรงเรียน แลให้ครูและนักเรียนคณะเด็กเล็กไปรอรับเสด็จที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สวนลุมพินีสืบมา

 

          ต่อมามีการประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้ารัฐสภา แต่เนื่องจากลานพระบรมราชานุสาวรีย์ไม่สามารถรองรับผู้ร่วมพิธีจำนวนมากได้ วชิราวุธวิทยาลัยจึงส่งผู้แทนคณะครูและนักเรียนไปวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ซึ่งเป็นอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต และวางพุ่มดอกไม้ถวายบังคมในวันที่ระลึกการพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี และเมื่อมีการประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ ที่เชิงสะพานพระราม ๘ แล้ว วชิราวุธวิทยาลัยก็จัดให้ผู้แทนครูและนักเรียนคณะเด็กเล็กไปวางพวงมาลาถวายบังคม ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ เชิงสะพานพระราม ๘ ในวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปีด้วย

 

          ใน พ.ศ. ๒๕๖๑ รัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรได้จัดให้มีการถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วชิราวุธวิทยาลัยก็จัดให้ผู้แทนครธครูและนักเรียนไปวางพวงมาลาและถวายบังคมด้วย

 

          อนึ่งในการถวายบังคมเนื่องในอภิลักขิตสมัยวันคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ รัฐบาลได้มีประกาศเชิญชวนให้ข้าราชการและพสกนิกรผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ร่วมในพิธี ร่วมกันถวายบังคมตามแบบที่คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพร้อมกันลงนั่งคุกเข่าพนมมือที่หน้าอก แล้วยกมือที่พนมนั้นขึ้นเหนือศีรษะให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดที่หน้าผากตามโบราณราชประเพณี แทนการยืนถวายความเคารพเช่นที่เคยปฏิบัติมาด้วย

 

 
 
 

[ ]  “การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในอภิลักขิตสมัยประจำปี เดือนตุลาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๑”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๑๐ พฤศจิกายน ๑๓๑), หน้า ๑๗๕๓ - ๑๗๕๖.

[ ]  “กำหนดการ รัฐพิธีวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พฤศจิกายน ๒๔๙๒”, ราชกิจจานุเบกษา ๖๖ (๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๒), หน้า ๕๒๕๙.

[ ]  “กำหนดการ รัฐพิธีวันที่ระลึกวันสวรรคตในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พฤศจิกายน ๒๔๙๒”, ราชกิจจานุเบกษา ๖๖ (๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๒), หน้า ๕๒๕๙.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๓๑  |  ๑๓๒  |  ๑๓๓  |  ๑๓๔  |  ๑๓๕  |  ๑๓๖  |  ๑๓๗  |  ๑๓๘  |  ๑๓๙  |  ๑๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |