โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๓. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๘)

 

          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายคำว่า “เข็น” ไว้ว่า “ดันให้เคลื่อนที่ไป” เช่น เข็นรถ. เข็นเรือ.

 

          ประเพณีเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จึงหมายถึงการดันรถยนต์พระที่นั่งให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า

 

          การเข็นรถยนต์พระที่นั่งของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้น น่าจะเริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาในงานวิสาขบูชาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่ง “ข่าวในพระราชสำนัก” ที่พิมพ์เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา ได้บันทึกไว้ว่า เวลาบ่ายวันดังกล่าวเสด็จพระราชกำเนินยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชา แล้วทรงนำสวดคำนมัสการ พระราชทานพระบรมราโชวาท และพระราชทานฉลากรางวัลแก่ครูและนักเรียนแล้ว “พอได้เวลาสมควรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิรกลับ นักเรียนวิ่งตามส่งเสด็จจนสิ้นเขตร์ของโรงเรียนโห่ร้องถวายไชยมงคลด้วยความจงรักภักดี” []

 

          การที่ “นักเรียนวิ่งตามส่งเสด็จจนสิ้นเขตร์ของโรงเรียน” นั้นน่าจะเป็นการเข็นรถยนต์พระที่นั่งซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

          การเข็นรถยนต์พระที่นั่งนี้เท่าที่ตรวจสอบดู ไม่พบว่ามีธรรมเนียมการแสดงความจงรักภักดีด้วยการเข็นรถยนต์พระที่นั่งเช่นที่วชิราวุธวิทยาลัยเลย คงพบแต่เพียงว่า ในยยุโรปมีธรรมเนียมการแสดงความจงรักดีด้วยการปลดม้าลากรถพระที่นั่งทรงออก แล้วเหล่าอัศวินผู้จงรักภักดีเข้าช่วยกันฉุดชักรถม้าพระที่นั่งทรงนั้นแทน

 

 

ทหารบกทหารเรือฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 

 

          สำหรับประเทศสยาม ธรรมเนียมการฉุดชักราชรถนั้นมีมาแต่โบราณกาล ดังจะเห็นได้ในการฉุดชักพระมหาพิชัยราชรถในการพระบรมศพหรือรถวอเชิญพระศพ แต่เมื่อมีการทำสัญญาบาวริงกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ แล้ว นอกจากชาวตะวันตกจะทยอยกันเข้ามาตั้งรกรากทำการค้าในกรุงสยามแล้ว ยังได้นำวิถีชีวิตแบบตะวันตกเข้ามาใชกรุงสยาม มีการนำม้าเข้ามาเป็นพาหนะในการเดินทางก่อน เพราะในเวลานั้นในกรุงสยามยังไม่มีการจัดถนนนทางเป็นเส้นทางคมนาคมเช่นในยุโรป จากนั้นฝรั่งชาติตะวันตกก็ได้กราบบังคมทูลขอให้มีการตัดถนนเป็นเส้นทางสัญจรไปมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเจริญกรุงเป็นถนนสายแรก แล้วจึงมีการตัดถนนเพิ่มเติมเป็นลำดับทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง

 

 

จอมพล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จอมทัพสยาม

และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงรถม้าพระที่นั่ง

ในการทรงตรวจพลสวนสนามทหารในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ ท้องสนามหลวง

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          เมื่อมีการตัดถนนเจริญกรุงขึ้นแล้ว ชาวตะวันตกก็สั่งรถม้าเข้ามาเป็นพาหนะในการสัญจรไปมาในถนนที่ตัดขึ้นใหม่ ในขณะเดียวกันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สั่งรถม้าเข้ามาใช้เป็นพระราชพาหนะแทนการใช้พระราชยานคานหามในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสเป็นการส่วนพระองค์ แล้วเลยกลายเป็นพระราชพาหนะสำคัญในราชสำนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงมีการจัดตั้งกรมรถม้าขึ้นในราชสำนักในเวลาต่อมา ส่วนการฉุดชักรถวอเชิญพระศพพระบรมวงศ์หรือศพขุนนางก็ได้เปลี่ยนมาใช้ม้าแทนการใช้คนฉุดชักตามแบบเดิม

 

 

กระบวนรถปืนใหญ่เทียมม้า ๖ เชิญพระโกศพระศพจอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

จากวังมหานาคไปรับพระราชทานเพลิงพระศพที่พระเมรุวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙

 

          แต่กลับกัน ชาวตะวันตกในกรุงเทพฯ กลับนำธรรมเนียมการแสดงความจงรักภักดีด้วยการฉุดชักรถม้าพระที่นั่งเข้ามาใช้ในกรุงสยาม ดังที่จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้บันทึกไว้ว่า

 

          "เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๕ นาที ทรงเครื่องเสือป่ากรมม้าหลวง ทรงรถม้าพระที่นั่งเทียม ๔ เสด็จสโมสรราชกรีฑาประทุมวัน ซึ่งพระองค์ได้ทรงดำรงค์ตำแหน่งเปนนายกพิเศษมาหลายปีแล้ว เข้าทางโรงเรียนสารวัด นาย เย.โคล ฟิลด์ เยมส์ นายกกรรมการราชกรีฑาสโมสรแลกรรมการคอยเฝ้าอยู่พร้อมกันแล้ว ประทับพลับพลายกซึ่งจัดขึ้นเปนพิเศษ ทำเปนเพิงน่าโขนเล็กๆ ตั้งพระเก้าอี้ทางน่าตะวันออกทอดพระเนตร์การแข่งขันฟุตบอลรหว่างชาติ ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายเข้าแถวรับเสด็จที่น่าพลับพลาแล้ว เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งลงมือเล่น...พอหมดเวลา รวมฝ่ายสยามได้ ๒, ฝ่ายยุโรปได้ ๑ จึงเปนอันว่าฝ่ายสยามชนะได้เห็นแถวเฝ้า อีกครั้ง ๑ คนดูต่างโยนหมวกตบมือโห่ร้องไชโยวิ่งตรงไปน่าพลับพลา โปรดพระราชทานถ้วยทองของราชกรีฑาแก่คณะฟุตบอลสยาม หม่อมเจ้าสิทธิพรรับพระราชทานต่อพระหัดถ์ แลพระราชทานเหรียญที่ระฤกเปนรางวัลแก่ฝ่ายชนะเรียงตัว คนดูซึ่งห้อมล้อมอยู่โห่ร้องไชโยทุกครั้งที่พระราชทาน ครั้นเสร็จแล้วเสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่ง สมาชิกราชกรีฑาสโมสรปลดม้า แล้วพร้อมกันเข้าห้อมล้อมลากเข็นรถพระที่นั่ง ซึ่งกรรมการอัญเชิญเสด็จไปที่สโมสรที่สร้างขึ้นใหม่" []

 

 

ทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ฉุดชักรถปืนใหญ่รางเกวียนทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เวียนพระเมรุมาศในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิรกฤทธิ์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเสด็จกลับจากไปทรงรักษาพระองค์ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ทรงสั่งซื้อรถยนต์เดมเลอร์จากยุโรปเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชพาหนะองค์หนึ่ง ต่อจากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแก็ซโซลีนเข้ามาใช้ราชการในพระราชสำนัก รวมทั้งพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่นับจำนวนได้หลายสิบคัน

 

          จากนั้นมารถยนต์ก็ได้เริ่มมีบทบาทเป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนินสถานที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนรถม้าพระที่นั่งนั้นคงใช้เป็นพระราชพาหนะในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินประจำปี ฯลฯ

 

 

นายพลเสือป่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่า

ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งทุษยันต์ปราสค่ายหลวงพระราชวังสนามจันทร์

มีนักเรียนเสิอป่าหลวงปาณี ไกรฤกษ์ (นายจ่ายวด) นักเรียนเสือป่ารับใช้ประจำพระองค์นายกเสือป่าโดยเสด็จ

 

 

          ล่วงมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจังริมคลองเปรมประชากร และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาเปิดการเรียนการสอนที่สวนกระจังเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) แล้ว พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ  อิศรเสนา) อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเล่าไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรถยนต์พระที่นั่งเสด็จประพาสตามท้องถนนในพระนครในทุกเย็นวันเสาร์ และมักจะเสด็จมาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และเวลานั้นท่านผู้บังคับการยังคงมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ก็ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นประจำ

 

 

นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗

 

 

          อนึ่ง เนื่องจากพระราชพาหนะที่ทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินไปโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นเป็นรถยนต์จตึงไม่สามารถแสดงความจงรักภักดีด้วยวิธีฉุดชักเช่นการฉุดชักรถม้าพระที่นั่งได้ เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนออกจากหอประชุมโรงเรียน นักเรียนมหาดเล็กหลวงจึงพร้อมกันวิ่งตามส่งเสด็จไปจนถึงประตูโรงเรียนด้านถนนราชวิถี (ปัจจุบันคือประตูคณะจิตรลดา) แทนการฉุดชักรถม้าพระที่นั่งตามธรรมเนียมตะวันตก ซึ่งนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในเวลานั้นท่านผู้เล่ายังเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงอยู่และเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จในวันนั้น ท่านเล่าว่า วันรุ่งขึ้นพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ - พระยาบริหารราชมานพ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในเวลานั้น ได้รับพระราชกระแสใส่เกล้าฯ ให้โรงเรียนจัดให้นักเรียนเข็นรถยนต์พระที่นั่งเป็นประเพณีของโรงเรียนสืบไป ด้วยมีพระราชดำริว่า การที่นักเรียนร่วมกันเข็นรถ

 

 

นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยที่จะจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๖ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๙

เข็นรถยนต์พระที่นั่งส่งเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัล ณ วชิราวุธวิทยาลัย

เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐

 

 

          พระที่นั่งส่งเสด็จนั้นเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อเบื้องพระยุคลบาท วชิราวุธวิทยาลับจึงคงรักษาประเพณีการเข็นรถยนต์พระที่นั่งสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

 
 
 

[ ]   “ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๑ (๑๗ พฤษภาคม ๒๔๕๗), หน้า ๓๔๕ - ๓๔๖.

[ ] 

หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |