โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๙. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๑๔)

 

ไหว้ครู

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงจัดการตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่โรงเรียนราชกุมารเก่า ในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น ก่อนจะเริ่มการเล่าเรียนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีก็ได้จัดให้นักเรียนไหว้ครูเป็นครั้งแรก ดังมีความปรากฏในหนังสือที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกราบบังคมทูลพระกรุณาเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ความตอนหนึ่งว่า

 

 

ตึกยาวริมประตูพิมานไชยศรี (ทางขวาของภาพ)

ที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อแรกสถาปนาใน พ.ศ. ๒๔๕๓

 

 

          “จำเดิมแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ให้เปิดการสอนที่โรงเรียนราชกุมาร ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้เลือกและรับครูจากกรมศึกษาธิการ ๓ คน คือ นายสอน [] นายสนั่น [] นายทองอยู่ ซึ่งเปนครูมีประกาศนียบัตร์ทั้ง ๓ คน เริ่มการสอนในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๒๙ ธันวาคม ซึ่งเปนวันพฤหัศบดีวันครู ข้าพระพุทธเจ้าได้ประชุมนักเรียนทั้งหมดเวลา ๔ โมงเช้า กล่าวเตือนใจให้รู้สึกพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ และให้เข้าใจหน้าที่ที่จะต้องตั้งใจสวามิภักดิ์จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และตั้งใจแสวงความอบรมอันดี ทำตัวให้สมควรแก่ที่จะรับราชการใกล้ชิดสนองพระเดชพระคุณสืบไปเบื้องหน้า ให้สมแก่ที่ได้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงมีพระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ เมื่อชี้แจงเสร็จแล้ว ครูและนักเรียนทั้งหลายได้บ่ายหน้าสู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพร้อมกันกระทำใจระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายคำนับแล้วนั่งลงยังที่ ต่อนี้ไปได้ทำพิธีไหว้ครูตามธรรมเนียมของกรมศึกษาธิการ คือให้นักเรียนจุดธูปเทียนบูชาที่โต๊ะหนังสือ ซึ่งจัดตั้งไว้โดยเฉภาะ แล้วให้นักเรียนอ่านคำไหว้ครูด้วยกิริยาเคารพ ต่อนั้นไปก็ได้เริ่มการสอนเปนลำดับมา”  []

 

 

          บทไหว้ครูของกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการที่นักเรียนมหาดเล็กหลวงได้อ่านในพิธีไหว้ครูเมื่อแรกเปิดโรงเรียนในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ มีเนื้อความดังนี้

 

ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุตฺตรานุสาสกา

          อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุณ
โดยเอื้อและเจือจุน อนุสาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
          ยังบทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอัตถ์ให้ชัดเจน
          จิตต์มากด้วยเมตตา และกรุณาบเอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
          ขะจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตต์มืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
          คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตต์น้อมนิยมชม

ปญฺญญาวุฑฒิกเร เต เต ทินฺวาเท นมามิหํ

 

 

ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา เป็นประธานในพิธีไหว้ครู

(แถวหน้าจากซ้าย) ๑. คุณครูอรุณ แสนโกศิก ผู้ช่วยผู้บังคับการและผู้กำกับคณะจิตรลดา
  ๒. คุณครูจิต พึ่งประดิษฐ์ รองผู้บังคับการและผู้กำกับคณะพญาไท
  ๓. ท่านผู้บังคับการ
  ๔. คุณครูจำรัส จันทรางศุ

ในภาพนักเรียนกำลังหมอบกราบรำลึกพระคุณครู

 

 

          การไหว้ครูของนักเรียนมหาดเล็กหลวงและวชิราวุธวิทยาลัยในเวลาต่อมา จะมีรูปแบบและวิธีการอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่เมื่อพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ได้รับพระมหากรุณาให้มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว ได้ริเริ่มจัดให้มีพิธีไหว้ครูขึ้นอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

          พิธีไหว้ครูของนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มจากคนงานตีระฆังใหญ่ที่หอนาฬิกาเป็นสัญญาณเรียกประชุมครูและนักเรียนทุกคนบนหอประชุม เมื่อนักเรียนซึ่งแต่งเครื่องแบบนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการชิราวุธวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๖๙ เข้านั่งประจำที่บนหอประชุมพร้อมกัน แล้ว ผู้บังคับการและคณาจารย์ซึ่งแต่งเครื่องแบบปกตาวหรือสากลนิยม สวมเสื้อครุยตำแหน่งหรือครุยวิทยฐานะขึ้นนั่งประจำที่พร้อมกันบนหอประชุมรอเวลาที่ประธานในพิธีจะเสด็จหรือเดินทางมาถึงในเวลา ๙.๐๐ น.

 

          ประธานในพิธีไหว้ครูนั้น บางปีก็ได้รับพระกรุณาจากพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี และอดีตนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย หรือบางปีก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

หัวหน้านักเรียนทั้ง ๗ คณะ นำสวดสรรเสริญพระคุณครูในพิธีไหว้ครู

 

 

          เมื่อประธานในพิธีเสด็จมาถึง หรือเดินทางมาถึงหอประชุมแล้ว พิธีไหว้ครูก็เริ่มขึ้นตามกำหนดการ เริ่มจากนักเรียนร้องเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดีเปิดพระวิสูตร เป็นสัญลักษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับทรงเป็นประธานในพิธีในวันนั้นแล้ว จากนั้นหัวหน้านักเรียนทั้งเจ็ดคณะ (ปัจจุบันเพิ่มเป็นเก้าคณะ) ออกมานำสวดบูชาพระรัตนตรัย จบแล้วหัวหน้านักเรียนทั้ง ๗ คณะ หรือปัจจุบันมี ๙ คณะ นำพานดอกไม้ธูปเทียนออกมาวางบนโต๊ะหน้าที่นั่งคณาจารย์ แล้วพร้อมกันจุดธูปเทียนบูชาพระคุณครู เสร็จแล้วหัวหน้าผู้เป็นผู้แทนนักเรียนทุกคณะนำสวดสรรเสริญพระคุณครูบท “ปาเจรา จริยาโหนฺตุ” ของกระทรวงธรรมการ หรือบางปีก็เปลี่ยนไปใช้บท “ไหว้คุณครูอาจารย์” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือบทประพันธ์ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ซึ่งมีพิมพ์อยู่ในตอนท้ายหนังสือสวดมนต์

 

          เมื่อสวดสรรเสริญพระคุณครูจบแล้ว หัวหน้าคณะที่นำสวดนั้นลงนั่งคุกเข่ากราบแสดงความสำนึกพระคุณครู แล้วนักเรียนทุกคนทยอยกันเดินออกมาจากที่นั่งตรงมาคุกเข่ากราบคุณครูทีละแถวที่นั่งจนครบแล้ว ต่อจากนั้นเป็นพิธีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะ โดยนักเรียนที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าคณะกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระพุทธรูป พระบรมรูป ท่านผู้เป็นประธาน ครู และเพื่อนนักเรียนที่ประชุมพร้อมกันบนหอประชุมแล้ว เข้าไปรับมอบเข็มหัวหน้าจากท่านผู้บังคับการแล้วส่งให้คุณครูผู้กำกับคณะประดับให้ที่แกเสื้อเบื้องซ้ายเรียงกันไปจนครบทุกคน

 

 

ท่านผู้บังคับการ ศาสตารจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

ให้โอวาทในพิธีไหว้ครู

 

 

          ต่อจากนั้นประธานประทานพระโอวาทหรือให้โอวาท สมควรแก่เวลาแล้ววงจุลดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบิน (สรรเสริญเสือป่า) ปิดพระวิสูตร เป็นสัญญาณว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นแล้ว เป็นเสร็จพิธีไหว้ครูประจำปี เมื่อประธานเสด็จและเดินทางกลับ คณาจารย์และนักเรียนแยกย้ายกันลงจากหอประชุม

 

 
 
 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง แล้วเลื่อนเป็นพระอภิรักษ?ราชฤทธิ์ อาจารย์ใหญ่ และเป็นพระยาบริหารราชมานพ ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วเป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนอนุสิษฐดรุณราช เมื่อกระทรวงธรรมการขอตัวคืน จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น ขุนนิพันธ์นิติสิทธิ์ แล้วเลื่อนเป็น หลวงนิพันธ์นิติสิทธิ์ และพระนิพันธ์นิติสิทธิ์ ตามลำดับ

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑๑ มกราคม ๒๔๕๓ – ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗).

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |