โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

 

๑๕๒. จากปรุงจิตต์ถึงประมนูแถลงสาร (๑)

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาอักขรวืธีจนทรงอ่านออกเขียนได้แล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงจดพระราชบันทึกในสมุดจดรายวัน (Diary) ส่วนพระองค์มาตั้งแต่พระชนมายุได้ ๘ พรรษา และเมื่อพระชันษามากขึ้นก็ได้ทรงเริ่มเขียนบทละครทั้งภาษาไทยและอังกฤษเป็นลำดับมา ต่อมาในระหว่างที่เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ก็ปรากฏว่าได้ทรงใช้เวลาว่างทรงพระราชนิพนธ์หนังสือและบทละครมาเป็นลำดับ และเมื่อทรงจัดตั้ง “สามัคคีสโมสร” ขึ้นเป็นที่ชุมนุมของนักเรียนไทยในอังกฆษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สามัคคีสมาคมจัดการออกวารสาร “สามัคคีสาร” เป็นสื่อกลางของนักเรียนไทยในยุโรป

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยสกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ทรงฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยสภากรรมการทวีปัญญาสโมสร ในการที่สภากรรมการทวีปัญญาสโมสร

จัดการรื่นเริงส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา

เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ ณ พระตำหนักจิตรลดา

เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗

(แถวนั่งจากซ้าย)

๑. นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด  ศุภมิตร)

กรรมการพิเศษที่ปรึกษา

๒. หม่อมเจ้าถูกถวิล  ศุขสวัสดิ์

ปฏิคม

๓. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา

บรรณารักษ์

๔.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

สภานายก
๕. นายหยวก เตมียบุตร เหรัญญิก
๖. นายสอาด  ชูโต เลขานุการ
๗. หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร  เทวกุล  
(ยืนแถวหน้าจากซ้าย) ๑. ขุนวิรัชเวชกิจ (สุ่น  สุนทรเวช)  
๒.นายพงษ์  สวัสดิ์ - ชูโต กรรมการผู้ช่วย
๓. พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรวิสุทธิ  
๔. นายกริ่ม  สุรนันทน์  
๕. พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญโนภาสรัศมี  
๖. หม่อมราชวงศ์โป๊ะ  มาลากุล  
๗. หม่อมเจ้ามรุพรพันธ์  เทวกุล  
๘. หม่อมเจ้าทิณทัต  ศุขสวัสดิ์  
๙. นายจ่ายง (สาย  ณ มหาชัย)  
๑๐. หม่อมเจ้าปิยบุตร  จักรพันธุ์ กรรมการผู้ช่วย
๑๑. นายพันโท พระพิเรนทรเทพ (เย็น  ยมาภัย)  
๑๒. จางวางวร  
๑๓. นายพันเอก หม่อมเจ้าชื่น  กำภู  
๑๔. หม่อมเจ้าพงศ์ทินเทพ  เทวกุล  
(ยืนแถวหลังจากซ้าย) ๑. หลวงบุรีนวราษฐ (จันทร์  จิตรกร)  
  ๒. หม่อมหลวงเฟื้อ  พึ่งบุญ  
  ๓. หม่อมเจ้าเสพโสมนัส  เทวกุล  
  ๔. หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร  กฤดากร กรรมการผู้ช่วย
  ๕. นายฮัก  บุนนาค  
 

๖. หม่อมเจ้าตรีพิเพทพงศ์  เทวกุล

 

 

 

          ครั้นเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ก็ได้ทรงจัดตั้งทวีปัญญาสโมสรขึ้นเป็นสโมสรในพระราชสำนัก มีสมาชิกประกอบไปด้วยพระราชวงศ์และข้าราชบริพารทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเยาว์

 

 

 

 

          ทวีปัญญาสโมสรนี้นอกจากจะจัดให้มีห้องหนังสือให้บริการแก่สมาชิกของสโมสรแล้ว ยังโปรดให้มีการออกวารสาร “ทวีปัญญา” โดยทรงรับเป็นบรรณาธิการและทรงพระราชนิพนธ์บทความต่างๆ พระราชทานไปลงพิมพ์เป็นประจำพร้อมด้วยบทความจากสมาชิกอิ่นๆ ของสโมสรเป็นลำดับมาจนเสด็จขึ้นครองราชย์ ใน พ.ศ. ๒๔๕๓

 

          ต่อมาเมื่อทนงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลแล้ว นักเรียนมหาดเล็กหลวงที่รักการขีดเขียนก็ได้ร่วมกันก่อตั้งวารสาร “ปรุงจิตต์” ขึ้นเป็นวารสารเล่มแรกของโรงเรียน โดยมีรูปเล่มทำนองเดียวกับวารสารทวีปัญญา ปกเป็นรูปพานในกรอบสี่เหลี่ยม มีอักษรระบุนามวารสาร ปรุงจิตต์พิมพ์สีดำ บนพื้นกระดาษสีส้ม

 

          วารสารปรุงจิตต์นี้ไม่พบหลักฐานว่ามีการจัดพิมพ์เผยแพร่กี่ฉบับ แต่เชื่อว่าไม่นานนัก เพราะต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้พบว่า คณะครูและนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ร่วมกันออกวารสารมาอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า “ลูกเสือหลวง”

 

          วารสารลูกเสือหลวงนี้มีเนื้อหาสำคัญประจำทุกฉบับเป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมำนองจดหมายเหตุรายวันของโรงเรียน ประกอบไปด้วย ข่าวโรงเรียน ข่าวลูกเสือ ประกาศและแจ้งความของโรงเรียน นอกจากนั้นก็เป็นงานเขียนของตรูและนักเรียนหมุนเวียนกันไป วารสารลูกเสือหลวงนี้มีการตีพิมพ์ออกมาหลายฉบับ แต่จะเลิกราไปเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทราบจากคำบอกเล่าของนักเรียนมหาดเล็กหลวงหลายท่านว่า คณะครูและนักเรียนมหาดเล็กหลวงได้พร้อมกันออกวารสารอีกเล่มหนึ่งชื่อ “พระมนูประสิทธิ์”

 

 

 

 

          แต่พระมนูประสิทธิ์นั้นน่าจะมีอายุยืนนานมาเพียงสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงไม่พบหลักฐานว่า คณะครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้จัดให้มีการออกวารสารขของโรงเรียนอีกเลย จนหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงและโรงเรียนที่ต้องหยุดการเรียนการสอนไปเพราะภัยสงครามได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้ว ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ได้จัดให้นักเรียนที่สนใจในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมในรูปสมาคมเช่นเดียวกับสโมสรหรือ Club ในสถาบันการศึกษาในประเทศอังกฤษ

 

 

 

 

          ในชั้นนั้นท่านผู้บังคับการได้มอบหมายให้นักเรียนที่สนใจการขีดเขียนและการทำหนังสือรวมกันเป็นสมาคมหนังสือพิมพ์ โดยมีท่านผู้บังคับการเป็นนายก (ผู้แนะนำ) และนักเรียน ๘ คนประกอบกันเป็นคณะกรรมการ คือ

เสถียร  เสถียรสุต บรรณาธิการ  (ประธานกรรมการ)
วิเชียร  บัวพิมพ์ เลขานุการ
กุณฑล  สุนทรเวช กรรมการ
ประสงค์  พจน์พานิช กรรมการ
อำพน  ศิลปี กรรมการ
ไวทยะ  วีระไวทยะ กรรมการ
สมศักดิ์  นฤมิตรเรขการ กรรมการ
สุวัชร  จันทร์ประเสริฐ กรรมการ

 

 

          คณะกรรมการสมาคมหนังสือพิมพ์ชุดแรกนี้คือ ผู้ริเริ่มลงมือจัดทำ “วชิราวุธานุสาส์น” โดยมีรูปเล่มใกล้เคียงกับวารสารลูกเสือหลวง แต่ปกของวชิราวุธานุสาส์นซึ่งเป็นแถลงการณ์ของวชิราวุธวิทยาลัยเป็นสีขาว ปกหน้ามีรูปพระมนูแถงสารและอักษรบอกนาม วชิราวุธานุสาส์น เล่มที่ ฉบับที่ ภาค และปีการศึกษา พิมพ์ด้วยสีน้ำเงิน ปกหลังมีภาพวชิราวุธ (แนวตั้ง) พิมพ์สีน้ำเงินเป็นมาตรฐานทุกเล่ม เนื้อหาภายในมีข่าวโรงเรียน พระธรรมเทศนา บันทึกโอวาทของท่านผู้บังคับการและท่านที่ได้รับเชิญมาแสดงในวันอาทิตย์หลังจากทำวัตรเช้า รายงานการแข่งขันกีฬาต่างๆ กับงานเขียนของคุณครูและนักเรียน

 

          วชิราวุธานุสาส์นมีการจัดพิมพ์เผยแพร่ปีละ ๓ ฉบับๆ ละภาคเรียน คือ ฉบับที่ ๑ ภาควิสาขะบูชา ฉบับที่ ๒ ภาคปวารณา และฉบับที่ ๓ ภาคมาฆะบูชา โดยเริ่มเล่มแรกเป็นฉบับประจำภาควิสาขบูชา ปีการศึกษา ๒๔๙๐ จากนั้นก็มีการจัดพิมพ์ต่อเนื่องกันมาทุกปีๆ ละ ๓ ฉบับ วชิราวุธานุสาสมาจนถึงสมัยผู้บังคับการ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่มีนโยบายปรับเปลี่ยนวชิราวุธานุสาส์นเป็นแถลงการณ์ประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย กับได้มอบหมายให้สมาคมหนังสือพิมพ์ออกวารสาร “พระมนูแถลงสาร” นำเสนอความเคลื่อนไหวต่างๆ ภายในโรงเรียนในรูปแบบจดหมายข่าวแทน

 

 

 

 

          พระมนูแถลงสารมีรูปเล่มขนาดเดียวกับวชิราวุธานุสาส์นต่างกันที่ปกพิมพ์เป็นสี่สีทั้งปกหน้าและปกหลัง เนื้อในแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนรายงานของนักเรียนคณะโต อีกส่วนหนึ่งเป็นรายงานของนักเรียนคณะเด็กเล็ก กำหนดออกเป็นรายภาค เริ่มเผยแพร่ฉบับแรกเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๐ และคงมีการตีพิมพ์ต่อเนื่องโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบปเป็นสี่สีมาจนถึงปัจจุบัน

 

 
 
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |