โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๙. สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย (๖)

 

รายงานการประชุมกรรมการจัดการ

โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๔

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

 

*****************

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

 

พระยาไพศาล

สำหรับที่จะแก้นั้นจะรอไว้หรือจะแก้ทันที

   

พระราชดำรัส

รอไว้เสียปีหนึ่งก่อนหรือ จะเอาเสียทีเดียวไม่ได้หรือ

   

พระยาไพศาล

จะโปรดเกล้าฯ ให้ใครเป็นกรรมการบ้าง

   

พระราชดำรัส

อย่างเดิม เดี๋ยวนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ออกแล้ว ขาดนายก พระองค์ธานีไม่ต้อง เพราะเป็นอยู่ในตัวแล้ว นอกนั้นตามเดิม มีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์จะต้องออกจากกรรมการ แต่ไม่ได้พูดเลย

   

พระยาไพศาล

กรรมการตามตำแหน่ง

พระราชดำรัส

ต้องตั้งใครแทนคนหนึ่ง พระองค์เจ้าธานีเป็นกรรมการอยู่เดิมแล้ว ยังขาดอยู่คนหนึ่งจะเอาใคร จะเอาหัวฝรั่งหรือหัวไทย

   

พระองค์เจ้าศุภโยค

ฝรั่งเห็นจะดีกว่า เพราะจะช่วยได้มากกว่า

   

พระราชดำรัส

ยังนึกไม่ออก กรมพิทยา เอาไหม อยู่ทางราชบัณฑิตย์สภาถ้าจะเหมาะดี ยังมีอะไรอีก

   

พระยาไพศาล

มีตำแหน่งเลขานุการ ถ้าหาผู้บังคับการเป็นเลขานุการเป็นการสะดวก ไม่ต้องเพิ่มคน
พระราชดำรัส น่าจะเหมาะ หน้าที่เลขานุการเจ้าตัวจะรับรองไหวหรือ เอาครูเข้ามาเสียคนหนึ่งเห็นจะไม่ขัดข้อง

   

พระองค์เจ้าไตรทศ

ควรจะมีเลขานุการเป็นคนนอกกรรมการ เอาครูคนใดคนหนึ่ง

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

จะเอาครูมาอย่างไร

   

พระราชดำรัส

เลขานุการไม่ต้องพูด ตั้งใจแต่จะจดอย่างเดียวเท่านั้น

   

พระยาไพศาล

เลขานุการต้องเป็นคนวิ่งเต้นด้วย และจะต้องใช้เสมียนในกองบังคับการ อาจไม่ใคร่สะดวก

   

พระยามโนปกรณ์

ครูอยู่ในอำนาจผู้บังคับการอยู่แล้ว

   

พระยาสุพรรณ

ถ้าจะโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุงเป็นกรรมการ Ex Officio แล้ว ก็น่าจะให้เป็นเลขานุการด้วย

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ใช้ครูรองน่าจะไม่เหมาะ เพราะอาจมารู้เรื่องราวที่ไม่ต้องการเปิดเผย

   

พระองค์เจ้าไตรทศ

นอกจากผู้บังคับการแล้วต้องหาคนอื่น

   

พระราชดำรัส

ที่จริงกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นเสียเองดีกว่าให้ผู้บังคับการเป็น

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

เห็นจะดีกว่า การที่ผู้บังคับการนั่งในที่ประชุมด้วย ไม่สะดวกแก่การประชุม

   

พระยาจินดา

เป็นเลขานุการลำบาก เพราะเลขานุการต้องตั้งหน้าจด ไม่ควรต้องพูดอะไร

   

พระองค์เจ้าไตรทศ

ที่จริงที่นอก เมื่อเขาต้องการอาจารย์ใหญ่ให้มาชี้แจงอะไรก็เชิญมาเท่านั้น

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ลองทำดู เพราะว่าผู้บังคับการมาติดต่อเป็นประโยชน์แก่กรรมการ

   

พระราชดำรัส

ถ้าอย่างนั้นต้องมีเลขานุการอีกคนหนึ่ง

   

พระยาจินดา

จำเป็นอยู่แล้ว

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ใครเป็นนายกก็หาเลขานุการมาเอง ถ้าทำอย่างนั้นจะใช้เสมียนก็ได้

   

พระราชดำรัส

ก็ดีเหมือนกัน

   

พระยาไพศาล

ใครถูกเลือกเป็นนายกเป็นอันรับผิดชอบในงานแผนกนี้ทั้งหมด

   

พระราชดำรัส

คือให้หาคนใช้เอาเอง

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ควรหาเสร็จ คนเขียน Short hand หามาเองด้วย (ถามพระองค์เจ้าไตรทศว่า ที่กระทรวงต่างประเทศมีไม่ใช่หรือ)

   

พระองค์เจ้าไตรทศ

มี คือนายวงศ์ คนนี้ดีมาก จด Short hand ได้ทั้งไทยและฝรั่ง

   

พระยาไพศาล

สำหรับดำเนินการต่อไปจะควรเลือกนายกทีเดียวหรือไม่

   

พระยามโนปกรณ์

เวลานี้กรรมการยังขาด กล่าวคือ ตามกระแสพระราชดำริที่จะตั้งกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ก็ยังไม่มีตัวกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์อยู่ในที่นี้ เห็นจะยังไม่ควรเลือกในเวลานี้

   

พระราชดำรัส

ต้องประกาศเสียก่อน

   

พระยาจินดา

ต้องแก้ประกาศตรงที่ว่าเป็นนายกและอุปนายกโดยตำแหน่ง

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

เรื่องอายุกรรมการจะต้องคิดด้วย

   

พระราชดำรัส

ประกาศตั้งกรรมการเป็นคนละส่วนกับประกาศวางโครงการ

   

พระยาจินดา

ประกาศที่ออกไปแล้วมี ๒ ฉบับ คือประกาศพระบรมราชโองการวางโครงการโรงเรียนวชิราวุธฉบับหนึ่ง อีกฉบับหนึ่งเป็นประกาศตั้งสภากรรมการ (อ่านประกาศตั้งกรรมการ) ในประกาศตั้งสภากรรมการนั้นควรยกเลิกความตอนที่ให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการเป็นนายกและอุปนายกโดยตำแหน่งนั้นเสีย แล้วแก้เป็นว่าให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นกรรมการจัดการโดยตำแหน่ง

   

พระยามโนปกรณ์

กับเติมชื่อกรรมการอีกสองคน คือ กรมหมื่นพิทยา และพระยาไพศาล

   

พระราชดำรัส

ดีแล้ว ส่วนนายกให้กรรมการเลือกกันทุกปีหรือ

   

พระยาจินดา

ข้อนี้กรรมการเลือกกันเองได้ ไม่ต้องมีกล่าวในประกาศ ส่วนจะเลือกกันอย่างไร กรรมการควรเป็นผู้วางระเบียบ

   

พระยาไพศาล

เกี่ยวกับการประชุมคราวหน้า ถ้ายังไม่มีนายก หรือเลขานุการผู้ใดจะเรียกประชุม

   

พระราชดำรัส

อุปนายกต้องทำไปก่อน เพราะนายกที่ออกไปแล้วก็โดยตำแหน่ง

   

พระยาจินดา

กรรมการจะต้องประชุมวางระเบียบการประชุม

   

พระราชดำรัส

วิธีเลือกนายกจะไม่เอาก็ได้ ประชุมกันใหม่ก็แล้วกัน ถ้าในพวกกรรมการมีชั้นเสนาบดีคนเดียวก็ไม่ต้องเลือก นี่เรามีเสนาบดีหลายคนจำเป็นต้องเลือก ถ้ามีเสนาบดีกระทรวงธรรมการคนเดียวก็ไม่ต้องเลือก

   

พระองค์เจ้าศุภโยค

ถ้าเลือกเสนาบดีทั้งหมดแล้ว คนชั้นต่ำๆ ก็ไม่ต้องเลือก

   

พระยาไพศาล

เรื่องทำรั้วโรงเรียนมีเงินในงบประมาณแล้ว เห็นด้วยเกล้าฯว่าเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยของถาวร จึงนำมาเสนอที่ประชุม เงินสำหรับรายนี้ที่ประชุมได้อนุญาตไว้แล้ว ๕,๐๐๐ บาท แต่เมื่อเรียกประมูลแล้วได้เพียง ๔,๘๐๐ บาทเท่านั้น (ถวายแบบเพื่อทรงทอดพระเนตร และให้กรรมการดู)

   

พระราชดำรัส

เกี่ยวด้วยพระยาบรมบาทจะลาออกจะว่าอย่างไร ที่จริงต้องเป็นเรื่องของกรรมการทั้งนั้น เพราะมีกรรมการแล้ว ฉันคิดอย่างเดียวที่จะให้กรรมการดำเนินตามหลักการเป็นข้อสำคัญ

   

พระองค์เจ้าไตรทศ

ถ้าเช่นนั้นแปลว่ากรรมการเอาผู้บังคับการออกได้

   

พระราชดำรัส

ด้

   

พระยามโนปกรณ์

ใบลาของพระยาบรมบาทคราวก่อนตามเหตุที่ลานั้น เหตุนิดเดียว เหตุอายุเด็กเท่านั้น

   

พระราชดำรัส

ที่มีเรื่องพระยาบรมบาทก็เกี่ยวด้วยอายุเด็ก แต่สำหรับความเห็นของฉันเองนั้น ยังเสียดายพระยาบรมบาท แต่แล้วแต่กรรมการ ฉันไม่อยากมัดมือกรรมการ ถ้ากรรมการเห็นควรจะเอาออกก็ตามใจ เพราะกรรมการต้องรับผิดชอบ ให้ดำเนินไปตามเรื่องที่ทำกันนั้น

   

พระยามโนปกรณ์

คือการที่จะเอาพระยาบรมบาทไว้นั้นเป็นกิจของกรรมการ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าการลาก็ระงับไปเองตามเรื่อง แปลว่าพระยาบรมบาทยังไม่หลุด

   

พระราชดำรัส

ยังไม่หลุด ตั้งแต่ผู้บังคับการลงมาถึงครูทั้งหมดอยู่ในอำนาจกรรมการ ถ้าไม่อย่างนั้นจะบังคับบัญชากันอย่างไร กรรมการมีอำนาจเต็มที่ จะเอาใครออกได้ทั้งหมด

   

พระองค์เจ้าไตรทศ

แต่ต้องนำความกราบบังคมทูล แปลว่าปรึกษาแล้วก็นำความกราบบังคมทูล

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

ที่พระยาบรมบาทลาออกก็เกี่ยวด้วยเรื่องอายุนักเรียน ถ้าจะรับเด็กใหญ่ก็เป็นการขัดกันกับที่กราบบังคมทูลไว้

   

พระยามโนปกรณ์

คิดด้วยเกล้าฯ ว่าใจความที่ยังอยู่เกี่ยวด้วยที่คัดนักเรียนออก

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

พระยาบรมบาทประสงค์จะไม่รับนักเรียนรุ่นใหญ่ เมื่อกรรมการให้รับแล้วก็จะลาออก เหตุผลคงเป็นเช่นนี้

   

พระราชดำรัส

ฉันต้องการไม่ให้เด็กปนกันเลอะเทอะเท่านั้นเอง

   

พระยามโนปกรณ์

อายุเท่านั้นมีความรู้เท่านั้นจึงเข้าได้

   

หม่อมเจ้าบวรเดช

แปลว่าระเบียบที่จัดการมาแล้วต้องพิจารณาใหม่

   

พระราชดำรัส

เด็กที่จะเข้าต้องมีความรู้เท่านั้นจึงจะเข้าได้ ถ้าความรู้ต่ำกว่านั้นเข้าไม่ได้ เมื่อเด็กอายุเกินขีดตามชั้นแล้วต้องออก เมื่อตัดเป็นตอนๆ อายุไม่ควรผิดกันเกิน ๔ ปี อายุ ๑๓ กับ ๑๕ อยู่ด้วยกันได้ ๑๕ กับ ๑๘ อยู่ด้วยกันได้ เช่นกับอายุ ๑๕ กับ ๑๗ งดงามกว่า อายุ ๑๓ ควรจะอยู่ในชั้นไหนต้องถามพวกที่ได้ทำมามาก ที่กระทรวงธรรมการอายุยังผิดกันอยู่มาก บางคนเริ่มเรียน ๘ ขวบ บางคน ๑๐ ขวบ แต่การศึกษาของเราเพิ่งเริ่มต้น เพราะฉะนั้นความรู้ต่างกันมาก ที่โรงเรียนกระทรวงธรรมการทำไม่ได้ โรงเรียนอย่างของเราทำได้ ในเมืองไทยทั้งหมดต่อไปคงเข้ารูปเอง อยู่ที่เด็กเริ่มเรียนเมื่อไร บางทีเริ่มเมื่ออายุ ๑๔ ปีก็มี ในโรงเรียนอย่างของเราต้องระวังให้เด็กได้เรียนได้จริงๆ ถ้าเหลวไหลให้ออกจัดเป็นไปรเวตจริงๆ จะต้องแบ่งเป็นสองตอน จะเป็นอะไรก็เป็นเสียอย่างหนึ่งจึงจะดี อย่างของเราน่าจะเป็น Public School

   

พระยาจินดา

โรงเรียนสำหรับเด็กขนาดเล็กก็พึงรับแต่เด็กเล็ก ส่วนโรงเรียนสำหรับเด็กขนาดใหญ่ก็ควรรับแต่เด็กใหญ่ ไม่ควรให้เด็กเล็กปนกับเด็กใหญ่

   

พระราชดำรัส

เรื่องโรงเรียน ฉันเห็นโรงเรียนนายร้อยมา ๓ ปี แล้วพอจะรู้ได้ ถ้าเกี่ยวด้วยสถานที่แล้วจะหาให้ได้

   

พระยาจินดา

ให้โรงเรียนราชวิทยาลัยเป็น Public School ก็ได้

   

พระยาไพศาล

โรงเรียนควรพยายามตัดชั้นเด็กเล็กทุกที

   

พระราชดำรัส

ที่ Public School อายุตั้งแต่ ๑๓ ปีขึ้นไปของเขาถูก ข้อนี้ยุ่งมาก จึงเห็นว่าควรจะ
ให้ทำเป็นโรงเรียนไปรเวตเสียก่อน

   

พระยาจินดา

คิดด้วยเกล้าฯ ว่าถ้าสามารถจะทำได้ ควรแยกเป็น Preparatory School อีกโรงเรียน หนึ่ง และเป็น Public School อีกโรงเรียนหนึ่ง กล่าวคือควรมีสองโรงเรียนเป็นคู่ กันไป เมื่อเรียนจบหลักสูตร Preparatory School (โรงเรียนช้นเตรียม) แล้วก็เข้า Public School ต่อกันไป

   

พระราชดำรัส

ที่จริงที่สำหรับจะทำ Private School นั้นมีเกี่ยวด้วยเงินเท่านั้น

   

พระองค์เจ้าศุภโยค

เห็นจะอีกหลายปีกว่าจะจัดได้

   

พระราชดำรัส

หัวเมืองก็มี เช่นบ้านปืน

   

พระยาจินดา

ถ้าเช่นนั้นที่นี้จะมีโรงเรียนเดียว

   

พระราชดำรัส

ปัญหาว่าโรงเรียนนี้จะจัดเป็น Private School หรือ Public School วางสกีมอย่างนี้

   

พระยาจินดา

คิดด้วยเล้าฯ ว่าโรงเรียนแห่งเดียวจะใช้เป็นทั้ง Preparatory School และ Public School รวมกันน่าจะไม่สำเร็จ ควรแยกเป็นสองโรงเรียน

   

พระยาไพศาล

เวลานี้มีเงินพอทำโรงเรียนเดียว

   

พระราชดำรัส

สถานที่สำคัญมาก บ้านนอกก็มี ในกรุงเทพฯ ก็มี ห้างยอนแซมสันก็ได้ มีคนมาขอทำโรงเรียน แต่ฉันนิ่งไว้ก่อน เดี๋ยวนี้ยังไม่หมดสัญญา

   

พระาบริบูรณ์

จะหมดอยู่แล้ว

   

*****************

   

รวมความ

 

          ๑. ให้จัดโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนพิเศษผิดจากโรงเรียนสามัญทั่วไป พยายามกวดขันในการสั่งสอนอบรมให้ได้ผลดีที่สุด ให้นักเรียนได้รับการสอนในทางศาสนาและเรื่องที่เป็น Tradition ของไทย ด้วย คือให้ถือ Quality เป็นใหญ่ ในการปกครองให้เด็กใหญ่ได้ปกครองเด็กเล็ก เป็นการทำหน้าที่ช่วยครู เด็กใหญ่อยู่ตามเด็กใหญ่ เด็กเล็กอยู่ตามเด็กเล็ก ให้ Privilege แก่เด็กใหญ่ การที่ จะทำเช่นนี้ ถ้าใน ชั้นเดียวกันมีเด็กอายุผิดกันมากก็ไม่สำเร็จ ควรพยายามให้เด็กในชั้นเดียวกัน มีอายุพอไล่เลี่ยกัน อย่าง มากควรไม่เกิน ๔ ปี ต่อไปถ้าจัดให้ผิดกันเพียง ๒ ปีก็ยิ่งดี ให้กรรมการคิดวางหลักการตามคลองกระแสพระราชดำริ ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะกันนักเรียนเก่าไม่ให้เข้าโรงเรียน ถ้าใครมีอายุกับความรู้ตามเกณฑ์ก็รับได้ เด็กที่จะอยู่ในโรงเรียนได้ก็ต้องมีอายุกับความรู้ตามเกณฑ์เหมือนกัน ใครไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ก็ต้องออก

 

          ๒. ให้กรรมการดำริวางเกณฑ์เกี่ยวด้วยอายุและความรู้ของเด็กที่จะรับ และที่จะให้อยู่ในโรงเรียน

 

          ๓. ให้กรรมการคิดตัดเงินจากงบประมาณโรงเรียนนี้ เพื่อมอบให้กระทรวงธรรมการจัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่ ขาดเหลือทางโรงเรียนนี้จะพระราชทานเจือจานตามสมควร แต่การดำเนินการโรงเรียนนี้ในสวนหลักสำคัญจักต้องเป็นไปตามคลองกระแสพระราชดำริซึ่งปรากฏในรายงานแล้วจึงจะพระราชทาน

 

          ๔. ให้แก้ประกาศตั้งกรรมการ คือแทนที่นายกและอุปนายก เสนาบดีและปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการจะเป็นตามตำแหน่งนั้น ให้เลือกกันเองในวงกรรมการ จะให้อยู่ประจำหน้าที่เพียงรอบปีเดียวหรือกี่ปีแล้วแต่กรรมการจะตกลงกันวางระเบียบ ให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นกรรมการตามตำแหน่ง ปลัดทูลฉลองคือพระยาไพศาลศิลปสาตร์ เป็นกรรมการโดยบุคคล กับให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นกรรมการด้วย

 

          ๕. ให้กรรมการขอความช่วยเหลือกระทรวงธรรมการในหน้าที่ตรวจการ คือการเล่าเรียน การกินอยู่ของนักเรียน การเล่น ตลอดจนการเงิน แล้วทำรายงานยื่นต่อกรรมการเป็นคราวๆ การวินิจฉัยอยู่ที่กรรมการ

 

          ๖. ให้ผู้บังคับการเข้านั่งในที่ประชุมได้แต่เฉพาะเมื่อกรรมการเรียกมาขอคำชี้แจงเกี่ยวด้วยกิจการของโรงเรียน

 

          ๗. ตำแหน่งเลขานุการนั้น ผู้ใดถูกเลือกเป็นนายกให้หาเอง และรับผิดชอบในกิจการแผนกนีโดยเต็ม

 

          ๘. ในส่วนการดำเนินการของโรงเรียน นอกจากที่จะขัดกันกับหลักสำคัญตามกระแสพระราชดำริเดิมแล้ว กรรมการมีอำนาจที่จะดำเนินการของโรงเรียนทั้งสิ้น ตลอดจนถึงการสับเปลี่ยนโยกย้ายและปลดเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนตั้งแต่ผู้บังคับการลงมา เมื่อประชุมกันตกลงอย่างไร ให้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานทุกคราวไป

 

          ๙. การเลือกนายกและอุปนายกนั้น ให้เลือกเมื่อประกาศแก้ไขออกแล้ว การประชุมคราวหน้าให้อุปนายกเดิมเรียก

 

          ๑๐. ให้กรรมการดำริในการที่จะแยกเด็กใหญ่กับเด็กเล็กออกเป็นคนละโรงเรียน

 

          ๑๑. พระยาบรมบาทบำรุงยังไม่หลุดจากตำแหน่งผู้บังคับการ มอบไว้แก่กรรมการที่จะวินิจฉัย

 

          ๑๒. เรื่องทำรั้วโรงเรียนเป็นอันตกลงให้ให้ทำได้ตามราคาอย่างต่ำคือ ๔,๘๐๐ บาท ในวงเงินทีอนุญาตแล้ว

 

เลิกประชุมเวลา ๔.๔๕ ล.ท. 

 

 

*****************

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |