โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๒. หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ)

อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

๘ กันยายน ๒๔๕๕ - ๑๑ เมษายน ๒๔๕๘

ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

๑๑ เมษายน ๒๔๕๘ - ๒๖ มีนาคม ๒๔๖๐

 

 

          หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ในรัชกาลที่ ๕ นามเดิม ศร ได้รับพระราชทานนามสกุล "ศรเกตุ" ในรัชกาลที่ ๖ เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ ๒๐๘ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้ศึกษาเล่าเรียนในสำนักโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ กับโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ สอบไล่ได้จบหลักสูตรตามยุคบัญญัติ แล้วเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณมาตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะมีอายุ ๑๙ ปี สืบมาจนถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๑ เวลา ๐๔.๕๕ น. ในคราวเกิดไข้หวัดใหญ่ระบาด คงได้รับราชการอยู่ ๑๔ ปี อายุได้ ๓๒ ปี

 

          ในระหว่าง ๑๔ ปี ที่ได้รับราชการมานี้ แรกได้เป็นครูโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรเป็นเวลา ๔ ปี แล้วย้ายไปเป็นครูโรงเรียนมัธยมพิเศษวัดปทุมคงคาเป็นเวลา ๒ ปี ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งเวลานั้นยังคงมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไพศาลศิลปสาตร เจ้ากรมตรวจ กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ และกรรมจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้คัดเลือกตัวมาเป็นครูชุดแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ดังมีความปรากฏในหนังสือที่พระยาไพศาลศิลปสาตรกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ว่า

 

 

          "จำเดิมแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ให้เปิดการสอนที่โรงเรียนราชกุมาร ข้าพระพุทธเจ้าได้เลือกและรับครูจากกรมศึกษาธิการ ๓ คน คือ นายสอน นายสนั่น  []  นายทองอยู่ ซึ่งเปนครูมีประกาศนียบัตร์ทั้งสามคน เริ่มการสอนในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๒๙ ธันวาคม ซึ่งเปนวันพฤหัศบดีวันครู ...

 

          ในวีกต้นข้าพระพุทธเจ้าได้เอาใจใส่วางรูปการเรียนในห้องเรียนให้ลงที่เสียก่อน แล้วได้เรียกนักเรียนมาสนทนาเรียงตัวครั้งละ ๒ คน ๓ คน ตามแต่จะมีเวลามากและน้อย เพื่อจะได้เปนโอกาสให้ข้าพระพุทธเจ้าได้รู้จักนักเรียนเฉภาะตัวได้ทั่วกัน ครั้นต่อมาพอจะก้าวไปถึงการฝึกหัดและปกครองนอกห้องเรียนได้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หารือกับหลวงพิทักษ์มานพ [] เห็นพร้อมกันว่า ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ปกครองซึ่งยังว่างอยู่ตำแหน่งหนึ่งนั้น ถ้าเอาครูแซกเข้ามาประจำการในตำแหน่งนี้คนหนึ่งจะเปนกำลังช่วยหลวงพิทักษ์มานพในทางปกครองได้มาก จึงได้รับพระราชทานเลือกนายสอนหัวหน้าในครูทั้ง ๓ คน ให้อยู่ประจำโรงเรียนเปนผู้ช่วยหลวงพิทักษ์มานพ"  []

 

 

          พระยาบริหารราชมานพจึงได้เริ่มรับราชการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง แล้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เมื่อกระทรวงธรรมการจะให้หลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ (เรื่อ หงสกุล) มาทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงแทนพระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) ซึ่งกระทรวงธรรมการขอตัวกลับคืนไปนั้น แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ได้สนองพระเดชพระคุณในหน้าที่ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองมาด้วยดีเป็นเวลานาน สมควรที่จะให้ทดลองทำการในหน้าที่อาจารย์ใหญ่ไปก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาแต่บัดนั้น และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวงขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวง เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวงโดยตำแหน่ง ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นคนแรก

 

          พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นสภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบริหารราชมานพ เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อีกตำแหน่งหนึ่ง ให้มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาราชการในโรงเรียนทั้งสอง และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง ทำให้ราชการในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นในกรมมหาดเล็ก และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบริหารราชมานพพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์และผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทำหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาราชการในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ โรงเรียน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และโรงเรียนทหารกระบี่หลวง (ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพรานหลวง) ต่อมาตราบจนถึงอนิจกรรม

 

          พระยาบริหารราชมานพ ได้รับราชการอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ๖ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่เดือนละ ๖๕ บาท จนถึงเดือนละ ๑๐๐ บาท และได้ย้ายมารับราชการในพระราชสำนักเป็นเวลา ๘ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนท้ายที่สุดได้รับพระราชทานเงินเดือนในตำแหน่งเจ้ากรมชั้น ๑ เดือนละ ๖๐๐ บาท เมื่อถึงอนิจกรรมแล้วยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือนเท่าที่ได้รับพระราชทานในที่สุดเป็นจำนวนอีก ๓ เดือน ให้เป็นกำลังแก่บุตรแลภรรยาต่อมา

 

          การที่ได้มาเป็นข้าในพระราชสำนักนี้ในระหว่าง๘ ปีนั้น หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ ได้รับพระมหากรุณาอีกหลายประการ กล่าวโดยสังเขป คือ

 

 

กองลูกเสือหลวงถ่ายภาพพร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาที่วังวรดิศ

(ยืนกลางแถวหน้าจากซ้าย)

: นายกองตรี พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (ศร ศรเกตุ) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

: นายหมู่โท พระยาไพศาลศิลปสาตร (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

: นายหมู่เอก หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

               ๑.ได้มีโอกาสถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวง เป็นข้าในหลวงที่ได้มีโอกาสเฝ้าใกล้ชิดใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ฟังกระแสพระราชนิยมเป็นทางปฏิบัติราชการแลปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นได้อยู่เสมอ

               ๒.ได้พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์มีนาม “อภิรักษ์ราชฤทธิ์” ตั้งแต่ชั้นหลวงถึงชั้นพระ จนได้เป็นพระยาบริหารราชมานพ มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็กสืบมา

               ๓.ได้รับพระราชทานยศตั้งแต่ชั้น หุ้มแพร จ่า รองหัวหมื่น จนเป็น หัวหมื่น ตามลำดับในกรมมหาดเล็ก

               ๔.ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พร้อมด้วยเครื่องยศโต๊ะทอง กาทอง ตรามงกุฎสยามตั้งแต่ชั้นที่ ๕ ถึงชั้นที่ ๓ ตราช้างเผือกสยามตั้งแต่ชั้นที่ ๕ ถึงชั้นที่ ๔ ตราวชิรมาลา เหรียญบรมราชาภิเษก เหรียญราชจูรี เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๔ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

               ๕.ได้รับพระราชทานเสื้ออาจารย์ กับเหรียญครู เครื่องหมายของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตามตำแหน่งและวุฒิ

               ๖.เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้น ได้สมัครเป็นสมาชิกเสือป่ารับราชการเสือป่าด้วยอีกส่วนหนึ่ง มาตั้งแต่แรก ๆ จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศนายเสือป่าถึงชั้นนายกองโท มีตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เสือป่าด้วย

               หัวหมื่น พระยาบริหาราชมานพ ได้ทำการวิวาหมงคลกับ คุณหญิงทรัพย์ บริหารราชมานพ มีบุตรชายแลหญิง รวม ๗ คน ชาย ๑ หญิง ๖ ส่วนบุตรชาย ๑ กับบุตรหญิง ๓ คนนั้น ได้ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเยาว์ คงเหลืออยู่แต่บุตรหญิง ๓ คน จึงทำให้ขาดผู้ผู้ดำรงสกุลศรเกตุต่อมา

 

               หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ เริ่มล้มป่วยเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลาเช้า ที่บ้านตำบลหลังวัดเทพธิดา ในสมัยเมื่อไข้หวัดใหญ่กำลังแพร่หลาย ชั้นต้นก็ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา แล้วจึงกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ หุ้มแพร หลวงศรีวโรสถ (ศิริ ศิริเวทิน) กับมหาดเล็กวิเศษ บุญรอด โรจนารุณ แพทย์ประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ตรวจอาการและรักษา มีอากาทรงแลทรุดเป็นลำดับมา ครั้นวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ แพทย์เห็นอาการทวีขึ้นทำให้ปอดพิการ จึงได้เชิญนายพันโท พระศักดาพลรักษ์ (ชื่น พุทธิแพทย์) [] ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาช่วยรักษา นายพันโท พระศักดาพลรักษ์ ตรวจดูอาการแล้วแนะนำให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น นายแพทย์ได้พร้อมกันจัดการรักษาด้วยวิธีต่างๆ เต็มตามความสามารถ แต่หากเป็นเวลาที่ หัวหมื่น พระบริหารราชมานพ ได้ถึงกาลกำหนดแห่งอายุ อาการของโรคจึงกำเริบขึ้นสุดวิสัยที่นายแพทย์จะรักษาได้ ครั้นวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๐๔.๕๕ น. ถึงแก่อนิจกรรม ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและหีบทองทึบเป็นเกียรติยศ ภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดการพระราชทานเพลิงศพเป็นของหลวงเป็นเกียรติยศพิเศษ ณ วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแลบ้านเรือนให้บุตรและภรรยาอีกด้วย

 

               หัวหมื่น พระยาบริหาราชมานพ เป็นผู้มีสติปัญญาสุขุมและอัธยาศัยเยือกเย็น โอบอ้อมอารีแก่ผู้น้อย มีกิริยาอันสุภาพ ทั้งประกอบด้วยความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยความสุจริต และดำเนินการตามกระแสพระบรมราโชวาททุกประการ เป็นที่พอพระราชหฤทัยตลอดมา ดังจะเห็นได้จากเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานรางวัลนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ยังได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสถึงพระยาบริหารราชมานพว่า

 

 

          "ข้าพเจ้ารู้สึกอยู่ว่าต้องอาศัยผู้ที่เต็มใจช่วยอยู่มาก การจึงได้สำเร็จเป็นผลได้ถึงเท่าที่เห็นในเวลานี้. เพราะฉะนั้นเมื่อได้มายืนอยู่ในสถานที่ศึกษานี้ จึงทำให้รำพึงถึงผู้ที่ได้รับใช้ในการอันนี้มาแล้วโดยเต็มสติกำลังและความสามารถ รู้สึกขอบคุณผู้ที่ได้รับใช้เหล่านั้นเป็นอันมาก และจะเว้นเสียมิได้ที่จะกล่าวแสดงความอาลัยในส่วนตัวพระยาบริหารราชมานพ ซึ่งได้เคยเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง, เป็นผู้บังคับการ และเป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นคนแรก และได้ตั้งอกตั้งใจที่จะดำเนินการตามราโชบายของข้าพเจ้าอยู่เสมอ เมื่อมาสิ้นอายุลงในเวลาที่ยังไม่ถึงความชราภาพเช่นนี้ ก็เป็นที่น่าเสียดายนัก เชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะเห็นพ้องกับข้าพเจ้าว่า สมควรที่จะรำลึกถึงคุณความดีของพระยาบริหารราชมานพ และถือเป็นตัวอย่างที่จะปฏิบัติการต่อไป" 

 

 

*******************

 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนอนุสาสน์ดรุณรัตน์ แล้วทางราชการขอตัวกลับไปรับราชการในกระทรวงธรรมการ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น พระนิพันธ์นิติสิทธิ์

[ ]  นามเดิม ผัน อรชุนกะ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกตรี พระยาพิทักษ์มานพ

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑ มกราคม ๒๔๕๓ – ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗)

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |