โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๓. มหาเสวกตรี พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ)

ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

๒๖ มีนาคม ๒๔๖๐ - ๑๖ เมษายน ๒๔๖๙

ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

๑๖ เมษายน ๒๔๖๙ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๙

๔ พฤษภาคม ๒๔๗๖ - ๑ สิงหาคม ๒๔๗๘

 

 

          พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๑๓๒๘ เป็นบุตรหลวงพินิจโภคัย (พัฒน์ ศรีวรรธนะ) และนางพินิจโภคัย (น้อย ศรีวรรธนะ) เมื่อยังเยาว์บิดาได้นำไปฝากศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักพระศรีสมโพธิ (แพ ติสฺสเทวะมหาเถระ - ต่อมาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) ณ วัดสุทัศนเทพวราราม

 

          ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ สอบไล่ได้ประโยค ๒ แผนกภาษาอังกฤษแล้ว จึงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จบการศึกษาจากโรงเรียนราชวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อวิชาอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) จบการศึกษาแล้วได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษากลับถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘

 

          พระยาบรมบาทบำรุงเริ่มรับราชการครั้งแรกที่กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งเปิดสอนอยู่ที่โรงเรียนราชกุมารเก่า ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เริ่มจาก นายราชบริรักษ์ หลวงเชษฐกาโรวาท และพระบรมบาทบำรุงตามลำดับ

 

          ในระหว่างที่รับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. นั้น นอกจากพระยาบรมบาทบำรุงจะได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าที่ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ฝ่ายต่างประเทศ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๕๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล่วเสร็จจึงพ้นจากหน้าที่ดังกล่าว คงเป็นอาจารย์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.ต่อมาแล้ว ยังได้ใช้เวลาว่างเรียบเรียงตำรามูลบทภาษาอังกฤษสำหรับผู้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และโรงเรียนอื่นๆ ต่อมาได้ร่วมกับนาย บี. โอ. คาทไรท์ (B. O. Cartwright) อาจารย์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เรียบเรียงตำราภาษาอังกฤษขึ้นชุดหนึ่ง เรียกว่าแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษ (The English Practice Book) หนังสือชุดนี้มี ๓ เล่ม ทั้งยังได้รับคำยกย่องจากนายดับลยู. ยี. ยอนสัน (W. G. Johnson) ที่ปรึกษากระทรวงธรรมการได้ให้ความเห็นไว้ดังคำแปลต่อไปนี้

 

 

          "ข้าพเจ้าเห็นว่าหนังสือหัดภาษาอังกฤษทั้งสามเล่มนี้ คงจะเป็นประโยชน์มาก เนื้อเรื่องที่เลือกสรรมาเรียบเรียงไว้ ก็ล้วนแต่ดีๆ และเหมาะกับเด็กไทย ส่วนแบบฝึกหัดทั้งหลายเหล่านั้นก็ย่อมจะเป็นที่ช่วยเหลือแก่ครูบาอาจารย์มากด้วยเหมือนกัน เช่น แบบฝึกหัด D.2 ในบทที่ ๘ แห่งเล่ม ๓ เป็นต้น ขอยกขึ้นชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง แบบฝึกหัดที่ดีพิเศษของหนังสือชุดนี้ อนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยวิธีฝึกสอนไวยากรณ์ ตามลักษณะที่ได้เรียบเรียงไว้ในเล่มหนังสือนั้น เป็นวิธีสอนให้เด็กรู้ไปในการเรียนภาษานั้นเอง หาใช่ยกไวยากรณ์ขึ้นสอนเป็นบทๆ ไป ตามวิธีที่ได้เคยใช้กันมาแต่เดิมนั้นไม่ วิธีนี้เป็นวิธีที่ข้าพเจ้าอยากจะให้ได้แพร่หลายมากขึ้น ยิ่งกว่าที่เป็นมาแล้ว ในที่สุดขอสรุปความว่า หนังสือชุดนี้เป็นแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษอย่างดีมีประโยชน์มากได้ชุดหนึ่ง"

 

 

          หนังสือดีอีกเล่ม ๑ ที่พระยาบรมบาทบำรุงได้เรียบเรียงไว้ คือ หนังสือสังเขปเทศนาเสือป่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกระแสพระราชดำรัสทรงชมเชยว่า "ของมันดีมาก" หนังสือเล่มนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เพิ่มเติมอีก ๑๐,๐๐๐ เล่ม แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แจกจ่ายลูกเสือที่เข้าร่วมการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ พระราชอุทยานสนราญรมย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อน หัวหมื่น พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมบาทบำรุงอาจารย์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระราชทานยศเป็นรองหัวหมื่น แล้วเลื่อนขึ้นเป็น หัวหมื่น พระยาบรมบาทบำรุงเป็นลำดับ กับได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นบำเหน็จความชอบ

 

          การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุงไปดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น พระประทัตสุนทรสาร (เหล่ง บุณยัษฐล) อดีตรองผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยได้บันทึกไว้ว่า "การที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดไปเป็นผู้บังคับบัญชาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ก็จำต้องทรงเลือกเฟ้นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นผู้ที่ทรงรู้จักดี ทั้งจะต้องเป็นผู้ที่ซาบซึ้งในพระบรมราโชบายด้วย พระยาบรมบาทบำรุงก็ได้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งนี้ โดยความอุตสาหะและวิริยะภาพ เป็นที่พอพระราชหฤทัยตลอดมา"

 

          ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ พระยาบรมบำรุงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งเสด็จประพาสรอบโลก กลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้วได้เข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมตราบจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการให้จัดระเบียบราชการกรมมหาดเล็กด้วยการยุบเลิกส่วนราชการลงบางส่วน เมื่อพระยาบรมบาทบำรุงทราบข่าวว่า จะโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนพรานหลวงในการจัดระเบียบราชการคราวนั้น ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นั้นมีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ยุบเลิกไปก่อนหน้านั้นแล้ว พระยาบรมบาทบำรุงจึงได้ถวายฎีกาขอพระราชทานดำรงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงต่อไป เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างโรงเรียนนั้นขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล หากยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไปก็จะเท่ากับยุบวัดประจำรัชกาลไปด้วย เมื่อพระบทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรฎีกาเรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวงทั้งของพระยาบรมบาทบำรุง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ และพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัยแล้ว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุงคงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยต่อมา ส่วนโรงเรียนพรานหลวงคงถูกยุบเลิกไปพร้อมกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

          พระยาบรมบาทบำรุง คงสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยมาได้ไม่นาน ก็เกิดมีความคิดเห็นขัดแย้งกับมหาเสวกโท พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (รื่น ศยามานนท์) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและกรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย ในเรื่องที่พระยาบรมบาทบำรุงมีความเห็นว่า วชิราวุธวิทยาลัยควรจะมีคณะเด็กรุ่นเล็ก โดยรับเด็กตั้งแต่อายุ ๖ ขวบขึ้นไปไว้อบรมสั่งสอน แล้วจึงทยอยส่งเข้าโรงเรียนเด็กใหญ่ ในทำนองเดียวกับ Preparatory School ของอังกฤษ ที่เป็นโรงเรียนสำหรับเตรียมเด็กเข้าศึกษาต่อในพับลิคสกูล (Public School) เพื่อที่จะได้อบรมและดัดนิสัยใจคอเด็กเสียตั้งแต่ยังเยาว์ หากรอไปรับเข้าเรียนตอนเป็นเด็กโตจะดัดนิสัยได้ยากกว่า แต่ภากรรมการจัดการหรือคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยในเวลานั้นเห็นต่างไปว่า ตามหลักของพับลิคสกูลอังกฤษแล้วโรงเรียนจะรับนักเรียนอายุตั้งแต่ ๑๔ ปี ขึ้นไป ฉะนั้นวชิราวุธวิทยาลัยจึงควรรับนักเรียนตาแบบพับลิคสกูลของอังกฤษ

 

 

พระยาบรมบาทบำรุง (นั่งกลางแถวบน) เมื่อครั้งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเยาวกุมาร

 

 

          เมื่อสถานการณ์เป็นดังนั้น พระยาบรมบาทบำรุงจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เหตุที่ขัดแย้งกันนั้นเป็นเรื่องของหลักการ และโดยส่วนพระองค์นั้นทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยความเห็นของพระยาบรมบาทบำรุง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระยาบรมบาทบำรุงไปรับราชการเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ กับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเยาวกุมาร ซึ่งโปรดให้ตั้งขึ้นเป็นสถานศึกษาสำหรับเจ้านายและบุตรข้าราชบริพารที่ตึกกรมบัญชาการกองเสนาหลวงรักษาพระองค์เดิม ใกล้กับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยแทน

 

          ในระหว่างที่พระยาบรมบาทบำรุงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์และอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเยาวกุมารนั้น นอกจากจะได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นมหาเสวกตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการศึกษา ณ ประเทศต่างๆ ในยุโรปโดยทุนส่วนพระองค์เป็นเวลาราวปีหนึ่ง และเมื่อพระยาปรีชานุสาสน์ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยไปรับราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงธรรมการในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๖ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาบรมบาทบำรุงกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยอีกครั้ง ในคราวหลังนี้พระยาบรมบาทบำรุงได้มีโอกาสจัดตั้งโรงเรียนเด็กเล็ก เริ่มจากการจัดสร้างตึกคณะเด็กเล็กซึ่งปัจจุบันคือ ตึกคณะสนามจันทร์ ในที่ดินฝั่งตรงข้ามโรงเรียนใหญ่ซึ่งเดิมพระราชทานให้เป็นที่ปลูกสร้างบ้านพักครูชาวต่างประเทศ จัดเป็นโรงเรียนชั้นประถมสำหรับเด็กเล็กแยกไปจากโรงเรียนใหญ่โดยเด็ดขาด จะมีไปร่วมกิจกรรมกับเด็กโตก็แต่เฉพาะในเวลามีงานพิธีสำคัญของโรงเรียนหรือในการประชุมฟังเทศน์ประจำเดือน กิจการโรงเรียนคณะเด็กเล็กนี้ได้รับความนิยมจากผู้ปกครองเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจนต้องขยายคณะเพิ่มอีก ๒ คณะในสมัยที่พระยาภะรตราชาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

 

          อนึ่ง ในสมัยที่พระยาบรมบาทบำรุงกลับมาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยอีกครั้งนั้น เป็นเวลาที่วชิราวุธวิทยาลัยประความขับคันทางการเงินเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลได้ปรับลดเงินอุดหนุนที่เคยจัดถวายปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท ลงไปกว่าครึ่ง พระยาบรมบาทบำรุงจึงได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยปรับลดรายจ่ายของโรงเรียนลง ดังที่พระประทัตสุนทรสารได้บันทึกถึงมาตรการในครั้งนั้นไว้ว่า

 

 

          "เมื่อท่านมาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยครั้งหลัง งบประมาณที่โรงเรียนได้รับยอบแยบเต็มที จำเป็นต้องกระเหม็ดกระแหม่ทุกทาง ในสมัยนั้นไฟฟ้าและน้ำประปาที่ใช้ตามคณะต่างๆ ในโรงเรียนมีหม้อเครื่องวัดรวมแห่งเดียว ท่านก็จัดการแยกหม้อเครื่องวัดออกเป็นคณะๆ ไป และขอร้องให้ผู้กำกับคณะกวดขันนักเรียนให้ประหยัดการใช้น้ำใช้ไฟ มิให้สาดเสียเทเสียโดยใช่เหตุดังเช่นที่ได้เป็นมาแต่ก่อน พอสิ้นเดือนหนึ่งๆ ท่านจะส่งค่าไฟฟ้าและค่านำประปาของทุกๆ คณะรวมทั้งคณะของท่านให้ผู้กำกับคณะทราบ และขอร้องให้พยายามประหยัดให้ยิ่งขึ้น ท่านได้กระทำดังนี้อยู่เป็นเวลาหลายเดือนจนได้ตัวเลขที่ต่ำที่สุดที่ทุกคณะพอจะปฏิบัติตามได้ ท่านจึงออกคำสั่งว่าหากคณะหนึ่งคณะใดใช้น้ำและไฟเกินอัตราที่กำหนดให้ ผู้กำกับคณะจะต้องออกเงินส่วนตัวชดใช้ วิธีที่แต่ละคณะต่างช่วยกันประหยัดเช่นนี้ทำให้รายจ่ายค่าน้ำค่าไฟของโรงเรียนลดลงได้ถึงสามเท่าของแต่เดิม"

 

 

          นอกจากนั้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ที่ยุโรปครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ก่อนจะสละราชสมบัติในปลายปีเดียวกันนั้น กล่าวกันว่า ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพฯ นั้น มีเฉพาะนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเท่านั้นที่ไปส่งเสด็จ ในวันนั้นมีนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยหลายคนที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำพระเนตรขณะทรงโบกพระหัตถ์ลานักเรียน การที่พระยาบรมบาทบำรุงนำนักเรียนไปส่งเสด็จคราวนั้นเองจึงทำให้ต้องถูกปลดจากตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ และถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ สิริอายุ ๖๑ ปี

 

          พระยาบรมบาทบำรุง ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดและบำเหน็จความชอบในพระองค์ ดังนี้

               ทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมพานทองเครื่องยศ

               ตริตาภรณ์ช้างเผือก

               ตริตาภรณ์มงกุฎไทย

               เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

               Légion de Honneur (ประเทศฝรั่งเศศ)

 

               แม้พระยาบรมบาทบำรุงจะถึงอนิจกรรมไปแล้ว แต่หลักการสอนที่ท่านเคยกล่าวแก่ผู้ใกล้ชิดอยู่บ่อยๆ ว่า การที่ครูจะสอนให้ได้ผลดีนั้นจะต้องยึดหลักว่า "สอนให้ทำ นำให้คิด" มิใช่แต่เพียง "สอนให้จำ นำให้ฟุ้ง" นั้นยังคงเป็นหลักการสอนที่สำคัญสืบมาจนถึงปัจจุบัน สมกับที่ท่านได้รับการยกย่องว่า เป็นทั้งผู้ชำนัญการศึกษา (Educationist) และครูโรงเรียน (School - master)

 

 

*******************

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |