โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

 

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๔ สัญญาจ้างผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษสิ้นสุดลง ทรงพระราชดำริว่า พระยาภะรตราชาเป็นผู้มีความรู้ความสามารถพอที่จะสนองพระเดชพระคูณในตำแหน่งดังกล่าวได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระยาภะรตราชาออกไปเป็นผู้ปกครองนักเรียนไทยที่กรุงลอนดอน นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ และในระหว่างที่รับราชการอยู่ทีประเทศอังกฤษนี้ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นมหาอำมาตย์ตรี (เทียบเท่านายพลตรี ทหารบก)

 

          หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของท่านที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และนักเรียนในความปกรองสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ปกครองนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ จนได้กลับมารับราชการร่วมกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้บังคับบัญชาในฐานะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ได้กล่าวถึงพระยาภะรตราชาในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษไว้ว่า

 

 

          "พระยาภะรตราชาเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยที่ประเทศอังกฤษอยู่ ๕ ปี ท่านเอาใจใส่และกวดขันมาก นักเรียนทั้งกลัวท่านและรักท่าน บ้านของท่านอยู่ที่พัทนี่ (Putney) ที่ชายกรุงลอนดอน ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ตามลำดับคือ ที่

 

               ๑. 58 Upper Richmond Road

               ๒. 19 Chartfield Avenue

               ๓. 7 Carlton Ioad

 

          บ้านของท่านเปิดประตูรับนักเรียนไทยเสมอ ใครไปเยี่ยมท่าน ย่อมจะได้รับประทานอาหารกับท่าน มักจะเป็นอาหารไทยที่มีรสชาติ ผู้ใดจะไปเยี่ยมท่านบ่อยๆ ท่านก็ยินดี

 

          ท่านมีวิธีการช่วยนักเรียนที่  "กระเป๋าแห้ง" เช่น ส่งธนบัตรวานให้ขับรถไปเติมนำมันให้ท่าน แล้วไม่รับเงินทอน เรื่องนี้เกิดกับตัวผู้เขียนเองครั้งหนึ่ง

 

          นักเรียนเคารพรักใคร่ท่านเพียงใด จะเห็นได้จากภาพล้อที่พิมพ์อยู่ในสามัคคีสาร ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

 

          การไปรับราชการในต่างประเทศนั้น ย่อมได้เงินเดือนสูง ถ้าเก็บหอมรอมริบไว้ ก็คงจะมีตัวเลขอยู่ในธนาคารสูงพอดู แต่มีข่าวที่พอจะเชื่อได้ว่า เมื่อท่านขนข้าวของลงเรือกลับประเทศไทย ท่านเกือบจะไม่มีเงินเหลือกลับมาเลย"

 

 

          พระยาภะรตราชาคงรับราชการอยู่ที่ประเทศอังกฤษตราบจนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงได้ย้ายกลับมารับราชการในตำแหน่งเลขานุการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ แล้วได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มจัดสอนอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาครูในมหาวิทยาลัย แล้วจึงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการ (อธิการบดี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคงรักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อจากนั้นยังได้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน (คณบดีคณะรัฐศาสตร์) อีกตำแหน่งหนึ่ง

 

          ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว พระยาภะรตราชาได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ และต่อมาในการประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้พิจารณาถึงคุณูปการที่พระยาภะรตราชาในฐานะบุพการีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ริเริ่มวางรากฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์และวิชาครูรวมตลอดทั้งวิชาอื่นๆ ในระยะเริ่มแรกไว้เป็นอันมาก จึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นเกียรติยศ

 

          พระยาภะรตราชากราบถวายบังคมลาออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ได้ไปสอนพิเศษที่วชิราวุธวิทยาลัย ครั้นมีการจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ที่เกษตรกลางบางเขนขึ้นแล้ว จึงได้ลาออกจากวชิราวุธวิทยาลัยไปสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่สองปี ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๗ มีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ก็ได้รับแต่ตั้งให้เป็นสมชิกสภาเทศบาลนครกรุงเทพฯ และเป็นปลัดเทศบาลนครกรุงเทพฯ ในสมัยที่ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกเทศมนตรี

 

          ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยเห็นสมควรที่จะปรับปรุงกิจการของวชิราวุธวิทยาลัยให้ได้สมรรถภาพและเหมาะสมแก่เหตุการณ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงได้เห็นชอบพร้อมกันเชิญพระยาภะรตราชาเข้ารับตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ และในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนี้ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นเทศมนตรี (ปัจจุบันคือ รองนายกเทศมนตรี) เทศบาลนครกรุงเทพฯ และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๔๙๔

 

          เมื่อแรกที่พระยาภะรตราชาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น เป็นเวลาที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ วชิราวุธวิทยาลัยก็ถูกบอมบ์ด้วยลูกระเบิด จนตึกคณะดุสิตถูกระเบิดพังไปสองหลัง ครุภัณฑ์และเครื่องใช้ไม้สอยของโรงเรียนถูกระเบิดทำลายไปไม่น้อย ทั้งยังถูกหยิบยืม และสูญหายไปเกือบหมด เพื่อให้การเรียนของนักเรียนเป็นไปโดยต่อเนื่อง พระยาภะรตราชาจึงได้ขออนุญาตย้ายโรงเรียนไปเปิดสอนเป็นการชั่วคราวที่พระราชวังบางปะอิน แต่เปิดสอนอยู่ได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง บางปะอินก็ถูกบอมบ์ทางอากาศอีกครั้ง จึงต้องปิดโรงเรียนเป็นการชั่วคราว ส่งนักเรียนแยกย้ายกันกลับบ้านหมดแล้ว พระยาภะรตราชาก็นำคณะครูและพนักงานย้ายกลับมาดูแลรักษาทรัพย์สินของโรงเรียน ซึ่งในเวลานั้นมีส่วนราชการต่างๆ มาอาศัยทำการอยู่ในโรงเรียนเต็มทุกอาคาร

 

          ครั้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพอังกฤษได้ขอยืมเครื่องนอนของโรงเรียนไปใช้อำนวยความสะดวกแก่เชลยศึกชาวอังกฤษ จนถึงเวลาที่จะเปิดโรงเรียนในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ รัฐบาลอังกฤษได้เสนอจะชดใช้เงินค่าเครื่องนอนให้แก่โรงเรียนเป็นจำนวนเงินที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับความเสียหายที่โรงเรียนได้รับ พระยาภะรตราชาจึงได้มีหนังสือทวงถามไปยังสำนักงานกลางแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (G.H.Q. of SEAC) โดยอ้างถึง Spirit แห่ง Fair Play ซึ่งชาวอังกฤษยึดถือกันนักหนา ในที่สุดทางรัฐบาลอังกฤษได้จัดการชดใช้ความเสียหายให้ตามที่โรงเรียนเรียกร้อง

 

          เมื่อโรงเรียนเปิดสอนอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้น พระยาภะรตราชาก็ได้เริ่มดำเนินการอบรมสั่งสอนนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยตามพระบรมราโชบายสำคัญ ๓ ประการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ คือ

 

               ๑) สอนให้เป็นผู้มีศาสนา

               ๒) สอนให้เป็นผู้ดี และ

               ๓) ให้เป็นผู้มีความรู้พอที่จะประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัว

 

          หลักทั้ง ๓ ประการนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือว่าเป็นการให้การศึกษาที่สมบูรณ์ ทรงพระราชดำริว่า การที่มีแต่วิชาอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ เพราะเมื่อมีทางจะปฏิบัติทุจริตย่อมทำได้ง่าย และยิ่งเป็นผู้เรียนเก่งแล้ว เมื่อกระทำการทุจริตย่อมจับได้ยาก เพราะมีความเก่งกาจทางวิชา แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจแล้ว ย่อมรู้จักเกรงกลัวต่อบาป และถ้าได้รับการอบรมให้เป็นผู้ดีแล้ว การศึกษาที่ได้รับมาย่อมสร้างประโยชน์ให้ทั้งตนเอง หมู่คณะและประเทศชาติ

 

          ในการจัดอบรมนักเรียนให้ถึงพร้อมตามแนวพระบรมราโชบายดังกล่าว ครูจิต พึ่งประดิษฐ์ อดีตรองผู้บังคับการและอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งได้ปฏิบัติงานร่วมกับพระยาภะรตราชาตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยได้กล่าวไว้ว่า

 

 

          "การอบรมนักเรียนที่ลึกซึ้งของท่านผู้บังคับการอีกประการหนึ่งที่คนอื่นมักจะมองไม่เห็น แต่มีความสำคัญเป็นอันมาก คือการรู้จักประสานงานกัน อันกิจการที่ใหญ่ๆ และสำคัญนั้นจะสำเร็จได้ก็ด้วยการรู้จักประสานงานกัน, รู้จักการร่วมมือร่วมใจร่วมแรงกัน, ไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน การอบรมให้มีจิตใจอย่างนี้นั้น ท่านใช้วิธีนำเอากีฬาที่เล่นกันเป็นทีมฝ่ายละหลายๆ คนเล่นกัน เช่น รักบี้ฟุตบอล, แอสโซซิเอชั่นฟุตบอล, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล, ดนตรีที่มีคนเล่นพร้อมกันหลายๆ คนประกอบเป็นวงใหญ่ๆ ยิ่งมากคนยิ่งดี วงดนตรีบางวงของวชิราวุธวิทยาลัยมีคนตั้งร้อยกว่า เช่นวงเมโลดิกา วงโยธวาทิต วงปี่สก๊อต เล่นวงเดียวไม่มากพอเอาสองวงมาบรรเลงพร้อมๆ กันก็ยังได้ การฝีมือต้องใช้คนหลายๆ คนทำหรือที่ต้องแบ่งงานกันทำคนละชิ้นคนละอันแล้วนำมาประกอบกันเข้าเป็นส่งเดียวกันในภายหลัง ท่านว่าสิ่งเหล่านี้สอนให้รู้จักการประสานงานกัน จะเอาดีเอาเด่นคนเดียวไม่ได้ ในการเล่นกีฬาที่เล่นเป็นทีมเช่นรักบี้ฟุตบอล ซึ่งท่านว่าเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยทีมเวิคมากที่สุด ท่านจะต้องคุมการเล่นด้วยตนเองเป็นประจำ ถ้าคนไหนเล่นลูกคนเดียว หวงลูกฟุตบอลไม่ส่งให้คนอื่น ท่านจะตะโกนเตือนให้ส่ง และท่านจะตักเตือนไม่ให้ประพฤติเช่นนั้นอีกเป็นอันขาด ท่านไม่ถือว่าคนที่เอาลูกไปวางทรัยคนเดียว หรือเลี้ยงลูกคนเดียวยิงประตูว่าเป็นคนเก่ง คนเก่งนั้นคือคนที่รู้จักหน้าที่ของตนและไม่หวงลูก ฉะนั้นคนเก่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนวางทรัยหรือคนเตะเข้าประตู ในการที่วชิราวุธวิทยาลัยมีกีฬาประเภทต่างๆ, วงดนตรีวงต่าง, การฝีมือศิลปหัตถกรรมนานาชนิดไม่ใช่ทีไว้เพื่อความสนุกสนานสำราญหรรษาเพียงอย่างเดียว จุดประสงค์สำคัญนั้นก็ด้วยมุ่งหมายจะอบรมบ่มนิสัยให้นิสัยให้นักเรียนควรรวมกำลังกัน, รู้จักการประสานงานกัน, ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เอาดีเอาเด่นแต่คนเดียว สิ่งเหล่านี้จะสอนกันแต่ตัวหนังสือตามตำราในห้องเรียนย่อมไม่สัมฤทธิ์ผล"

 

 

          ตลอดระยะเวลาเกือบ ๓๓ ปี (หย่อนเพียง ๓ วัน) ที่พระยาภะรตราชาได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยมานั้น ท่านได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวละพระบรมวงศ์มาโดยตลอด ท่านเล่าว่า เคยกราบถวายบังคมทูลพระกรุณาขอลาออกจากตำแหน่งเพราะเหตุสูงอายุ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า "หาคนมาแทนยาก"  จึงไม่โปรดเกล้าฯ ให้ออกจากตำแหน่ง และแม้ว่าท่านจะได้เสนอให้คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บังคับหารวชิราวุธวิทยาลัยไว้ในข้อบังคับกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยให้ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ปี แต่เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยก็ยังคงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ท่านคงอยู่ในตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย พระยาภะรตราชาจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยต่อมา และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินวชิราวุธวิทยาลัยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗ ก่อนที่จะประทับรถยนต์พระที่นั่ง ยังได้เสด็จพระราชดำเนินย้อนกลับมาพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเป็นการส่วนพระองค์แก่พระยาภะรตราชาที่รอส่งเสด็จว่า “ปีนี้ดูเจ้าคุณแข็งแรงดี อยู่ช่วยกันไปก่อนนะ”  พระยาภะรตราชาจึงได้รับพระราชกระแสใส่เกล้าฯ และคงสนองพระเดชพระคุณในหน้าที่ผู้บังคับกาวชิราวุธวิทยาลัยต่อมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน

 

          ในระหว่างที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่นั้น พระยาภะรตราชาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญ และเสมาเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ คือ

 

               มหาวชิรมงกุฎ

               ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

               ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

               วชิรมาลา

               รัตนาภรณ์ ว .ป.ร. ชั้นที่ ๕

               รัตนาภรณ์ ภ.ป.ร. ชั้นที่ ๓

               เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

               เสมา ว.ป.ร.ชั้นที่ ๓

               แหนบสายนาฬิกา ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑

               ดุมทองคำลงยา ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑

               เข็มอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ว.ป.ร. ชั้นที่ ๒

 

          พระยาภะรตราชากราบถวายบังคมลาถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่เรือนพักในวชิราวุธวิทยาลัย สิริอายุ ๘๙ ปี ๙ วัน แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศพิเศษเสมอด้วยองคมนตรี โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศพที่ศาลาบัณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมของหลวงมีกำหนด ๗ คืน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมมีกำหนด ๗ คืน และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมอีก ๑ คืน แล้วทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๕๐ และ ๑๐๐ วันพระราชทานตามลำดับ ถึงกำหนดพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์เป็นกรณีพิเศษ

 

          พระยาภะรตราชา ได้สมรสกับท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา ท.จ.ว. (ขจร ทับเป็นไทย) คุณข้าหลวงในสมเด็จ พระศรีพัชินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ โดยจอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงพระกรุณาสวมมงคลและพระราชทานน้ำสังข์ แล้วคู่สมรสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสนี้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานเงินทุนแก่คู่สมรสเป็นจำนวน ๑๐๐ ชั่ง (๘,๐๐๐ บาท) พระยาภะรตราชาและท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา มีบุตรธิดารวม ๕ คน คือ

 

               ๑) ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

               ๒) เด็กชายอี๊ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๙ เดือน)

               ๓) นายอายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา

               ๔) นางสุคนธา โบเออร์

               ๕) ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |