โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๒. โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ (๓)

 

รองหัวหมื่น พระวิเศษศุภวัตร (เทศสุนทร กาญจนศัพท์ - พระยาวิเศษศุภวัตร) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่
ถ่ายภาพพร้อมด้วยครูกำกับคณะ ครูแม่บ้าน หัวหน้าและนักเรียนคณะเด็กเล็ก

 

 

          ในส่วนตัวนักเรียนนั้น นอกจากจะได้รับการศึกษาอบรมตามหลักสูตรหลวงของกระทรวงธรรมการ รวมทั้งได้รับการฝึกหัดสั่งสอนวิชามหาดเล็กเพิ่มพิเศษจากวิชาสามัญแล้ว ยังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องแบบข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักเช่นเดียวกับนักเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ ต่างกันแต่เฉพาะที่แผงคอที่เปลี่ยนจากอักษร "ม" (มหาดเล็กหลวง) เป็นอักษร "ช" (เชียงใหม่) ดังที่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ ชียงใหม่ ได้บรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า "...ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง การแต่งกายสุดหล่อมาก ใครเห็นแล้วก็อยากสวมใส่และอยากเรียนด้วย..."  []

 

          นอกจากนั้นนักเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ทุกคนยังต้องเป็นนักเรียนเสือป่าเช่นเดียวกับนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อื่นอีก ๓ โรงเรียน นักเรียนเสือป่ามีการฝึกต่างไปจากลูกเสือ กล่าวคือ นักเรียนเสือป่านั้นถือปืนแทนไม้พลองลูกเสือ ปืนนั้นเป็นปืนพระราม ๖ จำลอง ทำด้วยไม้เหมือนปืนจริงทุกอย่าง ส่วนที่เป็นเหล็กนั้นทาสีดำ แม้กระทั่งลูกเลื่อนก็หมุนได้ เวลาฝึกซ้อมยิงปืนก็ทำท่าเหมือนยิงจริงๆ แต่ไม่มีเสียงปืน ถ้าจะให้มีเสียงปืนก็ต้องร้องว่า "ปัง" หรือในเวลาซ้อมรบภาคสนามก็ใช้วิธีจุดประทัดแทน นอกจาก นั้นยังมีมีไม้ตะขาบซึ่งสมมติเป็นปืนกลหมุนดังแก๊กๆ สำหรับนักเรียนชั้นโตนั้น การฝึกส่วนใหญ่จะเป็นการทำนองรบโดยเข้าไปฝึกกันในป่าจริงๆ เน้นหนักที่การฝึกลาดตระเวณ ฝึกอยู่ยามคอยเหตุ รวมทั้งการตั้งรับและเข้าตี ส่วนนักเรียนชั้นเล็กซึ่งก็ยังเป็นเด็กเล็กๆ นั้นก็ได้แต่ฝึกท่าอาวุธอยู่แต่ในโรงเรียน พอถึงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี ครูและนักเรียนต้องลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานประจำปีที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ และร่วมซ้อมรบเสือป่าประจำปีที่จังหวัดนครปฐมและราชบุรีพร้อมกับทหาร เสือป่าและลูกเสือในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ของทุกปี นอกจากนั้นนักเรียนเสือป่ายังมีภารกิจพิเศษต้องทำหน้าที่จุกช่องล้อมวงถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่า ในทำนองเดียวกับทหารรักษาพระองค์อีกด้วย

 

          ในส่วนการปกครองและอำนวยการจัดการศึกษานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูและนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงทั้งหมดเป็นข้าราชการสังกัดกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นส่วนราชการหนึ่งในกรมมหาดเล็ก นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนิน งานของโรงเรียนให้เป็นไปตามพระบรมราโชบายที่ได้โปรดพระราช- ทานไว้เช่นเดียวกับโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้งหลาย แต่ในส่วนของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีกรรมการตรวจการและกรรมการพิเศษเฉพาะโรงเรียนนี้ขึ้นอีกคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

 

 

(จากซ้าย) เจ้าแก้วนวรัฐฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่  นายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช)

นายพลตรี เจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง นายพันเอก เจ้าอุปราชมหาพรหม (เจ้ามหาพรหมสุรธาดา) อุปราชนครเมืองน่าน

เมื่อคราวลงมาเฝ้าฯ ในงาน "๓ รอบ มโรงนักษัตร" ๑ มกราคม ๒๔๕๙

 

 

นายพลโท หม่อมเจ้าบวรเดช

กรรมการตรวจการพิเศษ

มหาเสวกโท พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย []

กรรมการตรวจการพิเศษ

พระราชชายาเธอ เจ้าดารารัศมี

กรรมการพิเศษ

มหาอำมาตย์โท เจ้าแก้วนวรัฐ []

กรรมการพิเศษ

มหาอำมาตย์โท เจ้ามหาพรหมสุรธาดา []

กรรมการพิเศษ

มหาอำมาตย์ตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ []

กรรมการพิเศษ

มหาอำมาตย์โท เจ้าบุญวาทวงศมานิต []

กรรมการพิเศษ

 

 

นายพลตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา

 

 

          อนึ่ง เมื่อครั้งที่นายพลตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา [] เสด็จขึ้นมาตรวจราชการมณฑลภาคพายัพเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้น ได้ทรงกล่าวถึงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ไว้ในรายงานการตรวจราชการเมืองนครเชียงใหม่ที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

 

          "...โรงเรียนที่จังหวัดนี้ที่ดีที่สุดนั้น คือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง มีระเบียบแบบแผนที่มั่นคง ทั้งเจ้าหน้าที่ต่างๆก็ บริบูรณเหมือนกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในกรุงเทพฯโดยมาก แต่สถานที่ยังเป็นเรื่องที่กำมะลอคือเสาและพื้นไม้ ฝาผนังแผงทั้งสิ้น แต่ที่ทางมีมาก และวางท่วงทีเหมาะงดงามทุกอย่าง น้ำใช้ที่โรงเรียนนี้บริบูรณเหลือเกิน มีท่อแลร่องน้ำไหลหลั่งไปทุกแห่ง ทั้งนี้เพราะอยู่ใกล้ห้วยแก้ว น้ำในลำห้วยมีใช้บริบูรณตลอดทั้งปี และเป็นน้ำสะอาดดีนักด้วย นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเวลานี้ว่ามีอยู่ ๑๐๖ คน พวกเจ้านายและผู้ดีในเมืองนี้นิยมส่งลูกหลานไปอยู่มาก แต่ที่เป็นคนสามัญก็มีมากเหมือนกัน ออกจะน่าเสียใจหน่อยที่ปรากฏว่าบุตร์หลานคนสามัญมักจะเป็นผู้ที่เล่าเรียนดีกว่าผู้ที่มีตระกูล เด็กผู้ที่มีตระกูลที่ประพฤติเหลวไหลมีบ้าง เช่นที่ว่าที่เป็นหลานของเจ้าผู้ครองจังหวัด ซึ่งเคยถึงกับหลบหนีและวุ่นวาย ผู้ปกครองทำโทษเฆี่ยนตีกันมากมายมีอยู่คนหนึ่ง การเล่นกีฬาของโรงเรียนนี้เห็นจะเก่งกาจมาก มีของรางวัลต่างๆที่ตั้งอวดเป็นหลายสิ่ง วันที่ข้าพระพุทธเจ้าไปดูโรงเรียนนี้ก็มีการเล่นฟุตบอลสู้กับโรงเรียนปรินซรอยแยลให้ดู โรงเรียนมหาดเล็กหลวงชนะอย่างงดงามมาก เด็กทั้งปวงดูหน้าตาแจ่มใสแลประเปรียว เป็นที่น่าชม ในน่าที่ราชการส่วนมหาดเล็กคราวนี้ เขาตั้งให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นตัวจำลองพระองค์ จัดครูแลเด็กมาให้รับใช้ต่างๆ ในน่าที่มหาดเล็กตลอดเวลาที่อยู่ที่เชียงใหม่นี้ สังเกตดูความรู้ตามหลักที่จะฝึกหัดไว้ได้นั้นบริบูรณดี แต่เพราะตามปรกติไม่ได้ปฏิบัติจริงก็มีการประหม่า ความคล่องแคล่วน้อยกว่ามหาดเล็กหลวงในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยปฏิบัติจริงๆอยู่เสมอนั้นเป็นธรรมดา..."  []

 

          โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ได้เปิดการเรียนการสอนต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยมีอุปสรรคสำคัญคือ มี "...ไข้ชุกชุม แลเปนไข้ที่ออกจะมีอาการร้ายแรง..."  []  ซึ่งทำให้ทั้งครูและนักเรียนป่วยเจ็บกันเป็นประจำ บางรายที่เป็นหนักก็ถึงแก่เสียชีวิต นอกจากนั้น "...บางฤดูลมแรงเหลือเกิน สถานที่ได้ถูกลมพัดพังหลายหน..."  [๑๐]  ดังนั้นเมื่อมีพระราชดำริให้ตรวจตัดรายจ่ายในพระราชสำนักลงในตอนปลายรัชสมัย ประจวบกับ "...ความเจริญแห่งมณฑลพายัพได้ก้าวน่าไปเปนลำดับ ตลอดจนการคมนาคมก็ได้สดวกขึ้นเปนอันมาก โดยมีรถไฟติดต่อกับกรุงเทพพระมหานครแล้ว การเดิรทางมีเวลาเพียง ๒๖ ชั่วโมงเท่านั้น... จึงทรงพระราชดำริห์เห็นว่า...ไม่ควรที่จะต้องมีโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ไว้ให้เปลืองพระราชทรัพย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ เสียตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘..."  [๑๑]

 

 

โล่รางวัลการแข่งขันคริกเก็ตระหว่างคณะของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี กรรมการพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ประทาน

ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอประวัติวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          การยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นั้น นอกจากจะช่วยให้ประหยัดพระราชทรัพย์ในการดำรงโรงเรียนไปได้ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ที่กระทรวงธรรมการทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเงินอุดหนุนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่มาสมทบเป็นเงินค่าใช้จ่ายของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่กรุงเทพฯ ส่วนทรัพย์สินต่างๆ ของโรงเรียนนั้น ได้ขนกลับลงมาเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง และตกทอดมาเป็นสมบัติของวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน อาทิ ถ้วยและโล่รางวัลการแข่งขันต่างๆ แต่ทรัพย์สินบางรายการ เช่น รถจักรยานและเครื่องใช้สำนักงานนั้นได้มอบให้โรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลพายัพ และโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ไว้ใช้ในราชการต่อมา

 

 
 

 

[ ]  อำนาจ จงยศยิ่ง. "เกร็ดประวัติ", เจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่, หน้า ๖๐.

[ ]  นามเดิม พร จารุจินดา ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย อุปราชมณฑลภาคพายัพ

[ ]  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

[ ]  เจ้าผู้ครองนครน่าน

[ ]  เจ้าผู้ครองนครลำพูน

[ ]  เจ้าผู้ครองนครลำปาง

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา.

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ม.๒๗/๑๐ เรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาเสด็จมณฑลพายัพ (๑๓ ตุลาคม ๒๔๖๓ – ๒๙ มีนาคม ๒๔๖๗)

[ ระยะทางไปมณฑลพายัพ พระพุทธศักราช ๒๔๖๕, หน้า ๔๘.

[ ๑๐ ]  ที่เดียวกัน.

[ ๑๑"ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก เรื่อง ยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่", ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๒ (กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘), หน้า ๒๗๐ - ๒๗๑.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |