โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๗. กีฬากับวชิราวุธวิทยาลัย (๒)

 

          ต่อมาในสมัยที่พระยาภะรตราชาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้มีการติดต่อกับเดอะมาเลย์คอลเลจ (The Malay College) พับลิตสกูลของมาเลย์เซียที่มีอายุใกล้เคียงกับวชิราวุธวิทยาลัย และได้เริ่มจัดให้มีการแข่งขันรักบี้ประเพณีในระหว่างวชิราวุธวิทยาลัยกับเดอะมาเลย์คอลเลจ โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ เริ่มจากวชิราวุธวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๓ และเดอะมาเลย์คอลเลจเป็นเจ้าภาพใน พ.ศ. ๒๕๐๔ สลับกันเป็นเจ้าภาพเช่นนี้แต่แข่งขันกันมาได้ไม่กี่ปี ทางมาเลย์คอลเลจเกิดเหตุขัดข้องภายในการแข่งขันจึงต้องหยุดไป ๒ ปี และมาเริ่มการแข่งขันกันใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ และแข่งขันต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

ทีมรับี้ฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัยชุดชนะเดอะมาเลย์คอลเลจ ๓๓ – ๐

ในการแข่งขันรักบี้ประเพณีครั้งแรก เมื่อวันที่ พ.ศ. ๒๕๐๓

(แถวหลังจากซ้าย)

สมพงศ์ แสงศิริ (ผู้กำกับเส้น), สมบัติ ณ นครพนม, ณรงค์ ไหลมา, สหีส หงส์เหิน, เสน่ห์ ชัยนิยม

สมเกียรติ ตันติผลาผล, สมทบ ลีสวรรค์, ประยุตติ ปริกสุวรรณ, ม.ร.ว.จีริเดชา กิติยากร

(แถวหน้าจากซ้าย)

จิราคม ขจัดสรรพโรค (หัวหน้าชุด), อุดมเดช ชาญชยศึก, เชิดศักดิ์ ธีระบุตร, ภิญโญ จริโมภาส,

จักร จักษุรักษ์, ประทักษ์ ประทีปะเสน, ศรศิลป์ จักษุรักษ์

 

 

          ในการเดินทางไปแข่งขันกับทีมเดอะมาเลย์คอลเลจที่ประเทศมาเลย์เซียนั้น นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้บังคับการนำคณะนักกีฬาเข้าเฝ้าทูลละอองธุบลีพระบาทกราบถวายบังคมลาก่อนออกเดินทางแล้ว เมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะนักกีฬาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลถวายรายงานการแข่งขัน และในคราวเดียวกันนี้ก็จะมีพระราชกระแสให้นักกีฬาที่เดินทางไปแข่งขันเขียนเรียงความเล่าประสบการณ์ที่พบเห็นในการเดินทางไปแข่งขันขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อโรงเรียนคัดเลือกผลงานที่เหมาะสม ๓ ฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ทรงคัดเลือกผลงานนั้นให้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ - ๓ และได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้เขียนเรียงความนั้นแก่นักเรียนผู้ชนะการประกวดในวันเสด็จพระราชดำเนินพระราชประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีตลอดมา

 

 

สืบแสง วงศ์เธียรทอง หัวหน้าทีมรักบี้ฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัย

แนะนำนักกีฬาวชิราวุธวิทยาลัยต่อผู้แทนสุลต่านแห่งรัฐเปรัค

ก่อนการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจ

ที่สนามกีฬาเดอะมาเลย์คอลเลจ กรุงกัวลากังสา รัฐเปรัค สหพันธรัฐมาเลย์เซีย

วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐

 

 

          การที่วชิราวุธวิทยาลัยได้จัดให้มีการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีกับเดอะมาเลย์คอลเลจนี้ ผลที่เกิดขึ้นนอกจากผลแพ้ชนะในเกมกีฬาแล้ว ประโยชน์ใหญ่ยิ่งที่ติดตามมาคือมิตรภาพของนักเรียนทั้งสองโรงเรียน ซึ่งแม้จะจบการศึกษาไปเติบโตในหน้าที่การงานกันแล้วมิตรภาพแต่วัยเยาว์นั้นก็ยังคงยั่งยืนตลอดมา ดังปรากฏว่าเมื่อนักเรียนเก่าของทั้งสองโรงเรียนได้ร่วมการงานกันทั้งในภาครัฐและเอกชน หากได้รู้ว่าต่างก็จบมาจากโรงเรียนทั้งสอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมือนพี่น้องก็เกิดขึ้นเฉกเช่นเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกันมา

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงคล้องพวงมาลัยพระราชทานนักกีฬาวชิราวุธวิทยาลัย

เมื่อจบการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีระหว่างวชิราวุธวิทยาลัยกับเดอะมาเลย์คอลเลจ ที่สนามศุภชลาศัย

 

 

          อนึ่ง เมื่อกีฬารักบี้ฟุตบอลกลายเป็นกีฬาหลักของวชิราวุธวิทยาลัย กีฬาแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลที่เคยเป็นกีฬาหลักของโรงเรียนมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกลายเป็นกีฬารองที่แข่งขันกันภายในระหว่างคณะเท่านั้น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะกีฬาฟุตบอลที่ได้ชื่อว่า “กีฬาของสุภาพบุรุษ” นั้นมักจะมีการกระทบกระทั่งกันรุนแรงในระหว่างผู้เล่นและในระหว่างผู้ชม จนถึงกับมีการทำร้ายกันให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอๆ ผิดกับกีฬารักบี้ฟุคบอลที่กล่าวกันว่า เป็นกีฬาที่ป่าเถื่อน เพราะมีการกระทบกระทั่งกันในเกมอยู่ตลอดเวลา แต่นักกีฬาและผู้ชมล้วนเป็นผู้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย กีฬาชนิดนี้จึงกลายเป็นกีฬาของสุภาพบุรุษ คงจะเป็นด้วยเหตุฉะนี้เองเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว วชิราวุธวิทยาลัยจึงมิได้ส่งทีมฟุตบอลลงแข่งขันกับทีมภายนอกอีกเลย เว้นแต่ได้รับเชิญให้จัดทีมเข้าร่วมการแข่งขันกับทีมโรงเรียนจิตรลดา ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงลงแข่งขันในฐานะหัวหน้าทีมอยู่ราว ๒ - ๓ ปี และเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จไปทรงศึกษาที่ต่างประเทศแล้ว ทีมฟุตบอลวชิราวุธวิทยาลัยก็ไม่เคยไปแข่งขันภายนอกโรงเรียนอีกเลย

 

 

ทีมบาสเกตบอลวชิราวุธวิทยาลัย ที่สนามบาสเกตบอลข้างคณะผู้บังคับการ

 

 

นอกจากกีฬาฟุตบอลทั้งแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลและรักบี้ฟุตบอลแล้ว ในสมัยที่พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยนั้น วชิราวุธวิทยาลัยยังได้ส่งทีมบาสเกตบอลเข้าร่วมการแข่งขันบาสเกตบอลนักเรียนซึ่งกรมพลศึกษาและเทศบาลนครกรุงเทพฯ เป็นผู้จัดแข่งขันอีกหลายปี และแม้ว่าจะต้องเสียเปรียบในเรื่องตัวนักกีฬา แต่ทีมบาสเกตบอลวชิราวุธวิทยาลัยก็ยังสามารถคว้าถ้วยรางวัลทั้งของกรมพลศึกษาและเทศาลาลนครกรุงเทพฯ มาไว้ในครอบครองหลายสมัย

 

 

ฝึกซ้อมบนบกก่อนลงฝึกซ้อมในสระว่ายน้ำ

 

 

          ต่อมาในยุคที่วชิราวุธวิทยาลัยสร้างสระว่ายน้ำขนาด ๒๕ เมตรขึ้นที่ข้างตึกพยาบาลใน พ.ศ. ๒๕๑๐ แล้ว วชิราวุธวิทยาลัยก็เริ่มส่งนักกีฬาว่ายน้ำเข้าร่วมการแข่งขันว่ายน้ำของกรมพลศึกษา และสามารถผูกขาดคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศมาไว้ในครอบครองเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี

 

 
 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |