โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

 

๔๙. กีฬากับวชิราวุธวิทยาลัย (๔)

 

          ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากพระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในสมัยนั้นจะได้ฟื้นฟูการเล่าเรียนและการดนตรีของนักเรียนแล้ว การกีฬาก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอบรมบ่มเพาะนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในยุคนี้ได้มีการจัดแบ่งนักเรียนคณะโตทั้ง ๔ คณะเป็น ๓ รุ่น คือ

รุ่นเล็ก ความสูงไม่เกิน ๑๕๕ เซนติเมตร
รุ่นกลาง ความสูงไม่เกิน ๑๖๕ เซนติเมตร
รุ่นใหญ่ ไม่จำกัดความสูง

 

          การวัดส่วนสูงเพื่อจำแนกรุ่นนี้กระทำกันปีละครั้ง ทุกวันอาทิตย์แรกของภาควิสาขะภายหลังจากนักเรียนสวดมนต์ทำวัตรเช้าบนหอประชุมเสร็จแล้ว และคงใช้ความสูงที่วัดได้ในตอนต้นปีนี้ไปจนจบปีการศึกษานั้นๆ

 

          กีฬาที่จัดให้นักเรียนเล่นกันนั้นมีทั้งกีฬาประเภททีม เช่น รักบี้ฟุตบอล บาสเกตบอล แอสโซซิเอชั่นฟุตบอล และประเภทบุคคล เช่น ลอนเทนนิส สควอช และแบดมินตัน การเล่นกีฬาประเภทต่างๆ กำหนดให้เล่นและแข่งขันกันตลอดทั้งปีตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ เช่น รักบี้ฟุตบอล ในภาควิสาขะ บาสเกตบอล ว่ายน้ำ ในภาคปวารณา และแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลในภาคมาฆะ กีฬาแต่ละชนิดมีการจับสลากแข่งขันระหว่างคณะ แล้วจึงให้คณะที่ชนะในรอบแรกไปชิงชนะเลิศกันในรอบถัดไป

 

 

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล

 

 

          ก่อนการแข่งขันกีฬาทุกชนิดจะเริ่มขึ้น นักกีฬาและกองเชียร์จะเดินร้องเพลงเชียร์จากคณะของตนไปยังสนามแข่งขัน เมื่อท่านผู้บังคับการหรือผู้กำกับคณะที่เป็นประธานการแข่งขันเดินทางมาถึง นักกีฬาและกองเชียร์ของทั้งสองทีมจะเดินลงสู่สนามโดยร้องเพลง “จรรยานักกีฬา” บทประพันธ์ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ไปพร้อมกัน เพลงนี้ร้องกันไปได้ราวครึ่งเพลงแถวนักกีฬาและกองเชียร์ก็จะเดินกันไปถึงขอบสนามที่จะนั่งเชียร์ก็เป็นอันเลิกร้อง จึงมักจะร้องกันได้เพียงครึ่งเพลงเท่านั้น

 

          เนื้อร้องของเพลงจรรยานักกีฬานี้เริ่มต้นด้วย "เมื่อแมวหมาเล่นกีฬามันท้ากัด" จึงเรียกเพลงนี้กันติดปากว่า "เพลงแมวหมา" ซึ่งรวมถึงท่านผู้ประพันธ์เพลงนี้ด้วย ครั้งที่ผู้เขียนยังทำงานอยู่ที่มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น วันหนึ่งท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล มาประชุมที่หอวชิราวุธานุสรณ์ พอท่านเห็นหน้าผู้เขียนท่านก็กระเซ้าว่า เธอเป็นนักเรียนวชิราวุธ เธอร้องเพลงที่ฉันแต่งได้ไหม เมื่อผู้เขียนกราบเรียนว่า ร้องได้ครับ เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดีใช่ไหมครับ ท่านกลับตอบว่า “ไม่ใช่ ! เพลงแมวหมากัดกันไง” พอกราบเรียนว่าร้องได้ครับ ท่านก็เลยเล่าว่า "เจ้าคุณภะรต มาขอให้ฉันแต่งเพลงให้ ฉันก็ไม่รู้จะแต่งอย่างไร พอดีเหลือบไปเห็นหมากับแมวกัดกัน ฉันก็เลยแต่งว่า เมื่อแมวหมาเล่นกีฬามันท้ากัด จงใจฟัดเหวี่ยงปล้ำขม้ำหมาย" นี้คือที่มาของเพลงจรรยานักกีฬาจากคำบอกเล่าของท่านผู้ประพันธ์

 

 

พระยาภะรตราชา ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

ขณะนั่งชมการแข่งขันวอลเลย์บอลระหว่างคณะดุสิตกับคณะพญาไท พ.ศ. ๒๕๑๖

 

 

          เมื่อนักกีฬาและกองเชียร์เดินเข้าสู่ที่นั่งเรียบร้อยแล้ว นักกีฬาทั้งสองทีมจะเดินมาตั้งแถวและรับโอวาทจากท่านผู้เป็นประธาน แล้วจึงเริ่มการแข่งขันไปเป็นลำดับ จบการแข่งขันแล้วนักกีฬาทั้งสองทีมจะมาตั้งแถวพร้อมกองเชียร์ ประธานกีฬาประเภทนั้นๆ จะกล่าวรายงานผลการแข่งขันต่อท่านผู้เป็นประธาน แล้วหัวหน้าชุดที่ชนะในวันนั้นจะกล่าวนำนักกีฬาและกองเชียร์เปล่งเสียง "ชโย" ให้แก่คู่แข่งขัน ข้างฝ่ายนักกีฬาและกองเชียร์อีกฝ่ายก็จะเปล่ง "ชโย" ตอบ แล้วจึงแยกย้ายกันกลับคณะ แต่สำหรับรอบชิงชนะเลิศนั้น เมื่อประธานกีฬากล่าวรายงานผลการแข่งขันแล้ว จะเชิญท่านผู้เป็นประธานมอบถ้วยรางวัลการแข่งขันกีฬานั้นๆ ให้แก่หัวหน้าชุดที่ชนะเลิศ เมื่อได้รับถ้วยจากท่านผู้เป็นประธานแล้ว คณะที่ชนะเลิศได้ครองถ้วยในวันนั้นจะเดินแห่ถ้วยนั้นผ่านไปยังคณะต่างๆ ทั้งเด็กโตและเด็กเล็ก แล้วไปสิ้นสุดที่คณะของตน เวลาที่แห่ถ้วยผ่านคณะไหนก็จะมีการเปล่งเสียง "ชโย" ให้แก่นักเรียนในคณะนั้นๆ ข้างฝ่ายนักเรียนในคณะนั้นก็จะเปล่งเสียง "ชโย" ตอบรับ

 

 

คณะพญาไท แห่ถ้วยรักบี้ฟุตบอลรุ่นใหญ่ (ไม่ทราบปี)

 

 

          ธรรมเนียมการแห่ถ้วยนี้ว่ากันว่าได้แบบอย่างมาจากอังกฤษ แต่จะเริ่มมีขึ้นในประเทศไทยเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในชั้นนี้คงพบแต่การแห่ถ้วยฟุตบอลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีบันทึกในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันประจำวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ว่า

 

 

          "เวลาบ่าย ๔ โมง ทรงรถยนตรพระที่นั่ง เสด็จสนามฟุตบอลสโมสร(กลาง)เสือป่า ประทับบนพลับพลายก ทอดพระเนตร์ฟุตบอลสำรับขาวคล่องเล่นจนเลิก ฝ่ายขาวได้ ๓ ฝ่ายแดงได้ ๑ แล้วโปรดพระราชทานถ้วยของหลวงในการแข่งขันแก่นักเรียนนายเรือซึ่งเป็นพวกชนะ โปรดพระราชทานรางวัลที่ ๑ แลแหนบสายนาฬิกาลงยามีพระมหามงกุฎ แก่นักเรียนนายเรือพวกชนะทุกคน กับพระราชทานรางวัลที่ ๒ ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลก แก่กรมราบหลวง ร.อ. รางวัลที่ ๓ ของพระยาประสิทธิ์ศุภการ แก่กองม้าหลวง ร.อ. แล้วเสด็จประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ถ้วยทองของทหารเรือ กระบวนที่ ๑ มีรถยนตรสีทองแดงหลังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์เคยทรง แต่งด้วยดอกไม้สด แห่ถ้วยทอง มีรถตามประมาณ ๒๐ คัน กับแตรวงทหารเรือบรรเลงอีกคันหนึ่ง กระบวนที่ ๒ ทหารม้าแตรหมู่นำ รถเทียมม้าเทศ ๔ มีรถเทียมม้าเทศ ๒ อีก ๔ - ๕ หลัง คณะฟุตบอลม้าหลวงนั่ง กับอีกคันหนึ่งเป็นรถพิณพาทย์ กระบวนที่ ๓ ของกรมราบหลวง ร.อ. เป็นกระบวนเดินท้าว มีแตรวงนำกรมราบหลวง กองพรานหลวง กองเดินข่าวหลวง กองพันพิเศษ กรมนักเรียนเสือป่าหลวงแลนักเรียนมหาดเล็กเดินเป็นลำดับ กระบวนกลองยาวของกรมพรานหลวงอยู่รั้งท้าย"  []

 

 

รวิน (กฤษฎา) ยันตดิลก หัวหน้าคณะพญาไท

รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกรีฑา

วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๗

 

 

          แม้จะมีการแข่งขันและมอบถ้วยรางวัลแก่คณะที่ชนะเลิศการแขงขันในแต่ละชนิดกีฬาในระหว่างปีแล้ว ต่อมาในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยในตอนสิ้นปีการศึกษานั้น เมื่อการแข่งขันกรีฑาและการแสดงหน้าพระที่นั่งจบลงแล้ว หัวหน้าคณะที่ชนะเลิศการแข่งขันกีฬาประเภทและรุ่นต่างๆ ในปีนั้นจะไปตั้งแถวที่หน้าพลับพลายกที่ประทับที่ด้านข้างหอประชุม ท่านผู้บังคับการกราบบังคมทูลเบิกหัวหน้าคณะเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานถ้วยรางวัลตามลำดับ เริ่มจากถ้วยพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำหรับการแข่งขันกรีฑา ไปจนครบทุกชนิดกีฬาที่มีการแข่งขันในปีนั้นๆ

 
 

 
 

 
[ ]  หอวชิราวุธานุสรณ์. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๔๑  |  ๔๒  |  ๔๓  |  ๔๔  |  ๔๕  |  ๔๖  |  ๔๗  |  ๔๘  |  ๔๙  |  ๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |