โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๒. เครื่องแบบวชิราวุธวิทยาลัย (๑)

 

          เมื่อไม่นานมานี้มีนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยปัจจุบันเขียนถึงเครื่องแบบนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย เลยชี้แตงไปให้ทราบแล้วว่าเครื่องแบบนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้นมิใช่เครื่องแบบพระราชทาน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดไว้ในพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักนิ์ ร.ศ. ๑๒๙ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓)

 

          ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องเครื่องแบบขอเท้าความเดิมก่อนว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ก็ได้มีเจ้านายและข้าราชการรวมทั้งบุคคลพลเรือนทั่วไปนำบุตรหลานมาถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อทรงรับเด็กๆ เหล่านั้นไว้เป็นข้าในพระองค์แล้วก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กเด็กๆ ซึ่งทรงเรียกว่า มหาดเล็กนักเรียนไปศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละบุคคล มาวันหนึ่งมีรับสั่งสอบถามความรู้มหาดเล็กที่ทีงชุบเลี้ยงไว้ ปรากฏว่า มหาดเล็กนักเรียนผู้นั้นไม่สามารถกราบบังคมทูลตอบคำถามนั้นได้ จึงได้มีพระราชบัณฑูรย์ให้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่พระราชวังสราญรมย์ซึ่งเป็นที่ประทับในเวลานั้น โรงรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนชั้วคราว มีหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล – ต่อมาเป็นพระยาสุรินทราชา) ราชเลขานุการเป็นครูใหญ่ และเมื่อทรงว่างพระราชกิจในตอนเย็นก็ทรงสอนมหาดเล็กเด็กๆ เหล่านั้นด้วยพระองคเองด้วย

 

          ต่อมาเมื่อทรงรับสิริราชสมบัติสิบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ได้เสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวัง เสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในเดือนพฤศจิกายน และการพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบุรพมหากษัตราธิราชเจ้าที่พระราชวังเดิมกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) แล้ว จึงทรงพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กนักเรียนที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งเสลานั้นยังเป็นพระยาไพศาลศิลปสาตร เจ้ากรมตรวจ กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ผู้เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมได้รับสนองพระราชดำริจัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่โรงเรียนราชกุมารเก่า ริมประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพฤหัสบดีที่ ๒๙ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) เป็นส่วนราชการในสังกัดกรมมหาดเล็ก ขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อสภาจางวางมหาดเล็กซึ่งรับผิดชอบตรงต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          ถัดมาวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้เครื่องแต่งกายข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักนิ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ซึ่งในพระราชกำหนดนี้ได้กำหนดให้ข้าราชการในพระราชสำนักมีเครื่องแบบที่แตกต่างกัน คือ ที่สังกัดกระทรวงวังและกรมขึ้นในกระทรวงวังใช้เครื่องแบบสีดำเครื่องทองเป็นพื้น ส่วนที่สังกัดกรมมหาดเล็กนั้นโปรดให้ใช้เครื่องแบบสีน้ำเงินเครื่องเงินเป็นพื้น

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องครึ่งยศนายกองใหญ่ ผู้บังคับการกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

ทรงม้าพระที่นั่งสยามพันธุ์ นำขวนนายเสกองนายหมู่เสือป่าไปในงานสวนสนามถวายไชยมงคลของเสือป่า

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ สนามสโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต วันเสาร์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

มีนักเรียนมหาดเล็กหลวงแต่งเครื่องแบบครึ่งยศ (สวมกางเกงแถบ) และเครื่องแบบปกติ (สวมกางเกงขาสั้น)

รอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ริมปะรำพิธี

 

 

          สำหรับนักเรียนมหาดเล็กหลวง หรือที่ หรือที่ในพระราชกำหนดนี้เรียกว่า "มหาดเล็กนักเรียน" เพราะนักเรียนในโรงเรียนนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ก่อนเสวยราชสมบัติ และผู้ที่มาเข้าใหม่เมื่อได้เวลาอันสมควรก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กนั้น ทรงกำหนดเครื่องแบบสำหรับมหาดเล็กนักเรียนนี้ไว้ใน "หมวดที่ ๒ ว่าด้วยเครื่องแต่งตัว" ดังนี้

 

 

          "มาตรา ๖ เครื่องแต่งตัวนักเรียนมหาดเล็ก แลมหาดเล็กนักเรียน

 

          ข้อ ๑ มีหมวกแก๊ปทรงหม้อตาลสะน้ำเงิน กระบังน่าหนังดำ ทีสายรัดคางหนังดำ แลมีตราวชิราวุธกับมงกุฎติดที่น่าหมวก

 

          ข้อ ๒ มีเสื้อผ้าขาวรูปแบบราชการ มีดุมเงินตรามงกุฎ มีแผ่นกำมะหยี่สำหรับติดคอเสื้อ ดังกล่าวแล้วในมาตรา ๔ ข้อ ๓ [] แต่มีแถบเงินกว้าง ๑ เซนติเมเตอร์พาดกลางแผ่นกำมะหยี่

 

          ข้อ ๓ มีผ้านุ่งไหมสีน้ำเงิน

 

          ข้อ ๔ มีกางเกง ๒ อย่าง อย่างที่หนึ่ง กางเกงขาสั้นผ้าสีน้ำเงิน อย่างที่สอง กางเกงขายาวสักหลาดสีน้ำเงินมีถบสีขาวกว้าง ๑ เซนติเมเตอร์ติดที่ขากางเกง

 

          ข้อ ๕ มีถุงเท้า รองเท้าดังกล่าวแล้วในมาตรา ๔ ข้อ ๓ []

 

          นักเรียนมหาดเล็กแลมหาดเล็กนักเรียนจะแต่งตัวได้เต็มตามพระราชกำหนดนี้ หรือจะลดจากพระราชกำหนดนี้ เพียงใดในเวลาใด แล้วแต่จางวางมหาดเล็กผู้บังคับบัญชาจะเห็นสมควร"  []

 

 

          เครื่องแบบนี้มีกำหนดให้แต่ง คือ

 

          เต็มยศ และครึ่งยศ หมวกแก๊ป เสื้อแบบราชการผ้าขาว ติดแผ่นกำมะหยี่ที่คอ กางเกงสักหลาดขายาวสีน้ำเงิน รองเท้าดำ

 

          ปกติ หมวกแก๊ป เสื้อแบบราชการผ้าขาว ติดแผ่นกำมะหยี่ที่คอ กางเกงชาสั้นสีน้ำเงิน ถุงเท้าดำ รองเท้าดำ

 

          เครื่องแบบเต็มยศ ครึ่งยศ ประดับเหรียญหรือเข็มที่ได้รับพระราชทาน ใช้ในงานที่มีหมายกำหนดให้แต่งเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่น งานพระราชพิธีเฉลืมพระชนม์พรรษา พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา งานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินประจำปี

 

          เครื่องแบบปกติ ใช้ในงานที่มีหมายกำหนดให้แต่งเครื่องปกติ หรือในเวลาออกนอกโรงเรียนไปยังสถานที่ต่างๆ

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องสนามนายกองใหญ่เสือป่าราบหลวงรักษาพระองค์

ทรงฉายที่เชิงบันไดนาคมณฑปพระพุทธบาทขังหวัดสระบุรี

พร้อมด้วยข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารและพลเรือน กับลูกเสือหลงและนักเรียนมหาดเล็กหลวง

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

 

 

          ในเวลาอยู่ในโรงเรียน สวมเสื้อแบบราชการผ้าขาว ติดแผ่นกำมะหยี่ที่คอ นุ่งผ้าไหมสีน้ำเงิน ถุงเท้าขาวหรือดำ รองเท้าจาวหรือดำ

 

          ต่อมาวันที่ ๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๙ ทรง "เรียกกรรมการผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงประชุมเพื่อกำหนดระเบียบการของโรงเรียนนั้น ตามข้อความที่ได้ปรึกษาตกลงกันแล้วนั้น พระยาไพศาลศิลปศาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ, ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, แล้วเปนเจ้าพระยาในนามเดิม) รับมอบให้ไปเรียบเรียงเปนประกาศสำหรับลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา,"  []

 

          พระยาไพศาลศิลปะสารทได้จัดทำร่างระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้วเสร็จ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๙ และเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

 

          ฝนระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรามหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้วางระเบียบว่าด้วยเครื่องแต่งตัวนักเรียนมหาดเล็กหลวงไว้ดังนี้

 

 

          "นักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องแต่งตัวสำหรับโรงเรียนทุกคน ตามพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือน ซึ่งออกประกาศราชกิจจาเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙ แลจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เปนตัวอย่างคนละสำรับ ต่อนั้นไปถ้าเปนนักเรียนสมัคจะต้องหาของตัวเอง แลเมื่อออกจากโรงเรียนแล้วจะใช้เครื่องแต่งตัวนี้ต่อไปอีกไม่ได้ เว้นไว้แต่ได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษ เวลานักเรียนอยู่ในโรงเรียนตามปรกติแต่งตัวนุ่งผ้าสรวมเสื้อตามธรรมดา"  []

 

 

          นอกจากนั้นในระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เผยแพร่ ยังได้กล่าวถึงเครื่องแต่งตัวนักเรียนที่นักเรียนจะต้องจัดเตรียมมาสำหรับตนเอง ดังนี้

 

๑. เสื้อขาวชั้นนอก []

 ตัว
๒. เสื้อผ้าสีเทาอย่างซูตติงตามตัวอย่างของโรงเรียน []  ตัว
. ผ้าพื้น  ผืน
. กางเกงขาสั้นสีน้ำเงินสำหรับสนาม [] ตามตัวอย่างของโรงเรียน  ตัว
. กางเกงไทย []  ตัว
. เสื้อชั้นใน [๑๐] ๑๒  ตัว
. ถุงเท้าขาวและดำอย่างละ  คู่
. รองเท้าดำ  คู่
. รองเท้าขาว (ถ้าเปนเด็กใหญ่ให้เปนรองเท้ายาง ๑ คู่)  คู่
๑๐. หมวกสักหลาด หรือหมวกแกปก็ได้  ใบ
 
 

 
 

 
[ ]  มาตรา ๔ ข้อ ๑ มีเสื้อผ้าขาว มีดุมเงินตรามงกุฎ ๕ เม็ด มีแผ่นกำมะหยี่กว้าง ๔ เซนติเมเตอร์ครึ่ง ยาวไม่เกินกว่าขอคอเสื้อถึงตะเข็บเสื้อกลางบ่า ทำเปนรูปสี่เหลี่ยมรีปลายเสี้ยม หุ้มกำมะหยี่สีน้ำเงินสำหรับติดที่คอเสื้อ

[ ]  มาตรา ๔ ข้อ ๓ มีถุงเท้าสีขาวหรือดำ มีรองเท้ามีขาว ดำ หรือน้ำตาล

[ "พระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนนำระราชสำนักนิ์", ราชกิจจานุเบกษา ๒๗ (๑๑ มกราคม ๑๒๙), หน้า ๑๐๐ - ๑๒๒.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประวัติรัชกาลที่ ๖, หน้า ๒๔๙.

[ ]  "แจ้งความโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว", ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๒ เมษายน ๑๓๐), หน้า ๑๕ - ๒๐.

[ ]  หมายถึงเสื้อเชิ้ต

[ หมายถึง เสื้อเชิ้ตคอพับแบบที่เรียกกันว่า "เสื้อคอโปโล" แขนยาวสีเทา หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า "เสื้อทรงกระสอบ" มีดุมกลัดที่คอและอกเสื้อรวม ๓ ดุม

[ เป็นกางเกงขาพองยาวลงมาถึงใต้หัวเข่า แล้วรวบชายขากางไว้ที่ใต้หัวเข่า เหมือนกางเกงทหารในสมัยนั้น

[ ]  คือกางเกงขาสั้น ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้คำอธิบายว่า เป็นกางเกงที่สามารถถลกขากางเกงขึ้นมาปัสสาวะได้

[ ๑๐ ]  คือเสื้อกลม ผ่าอกมีดุมกลัด ๑ ดุม

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |