โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๓. เครื่องแบบวชิราวุธวิทยาลัย (๒)

 

          ต่อมาในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ บรรดา พนักงาน ครู อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัยใช้เครื่องแต่งกายอย่างในพระราชสำนัก โดย "ครูและอาจารย์นั้น ให้ใช้เครื่องแต่งกายเหมือนข้าราชการกรมวังทุกประการ ตามลำดับชั้นยศของตน ๆ แต่สีเครื่องหมายให้ใช้สีขาวแทนสีบานเย็น"  []

 

          ส่วนเครื่องแบบนักเรียนนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ "หมวกแก๊ปสักหลาดสีดำพันแถบกำมะหยี่สีขาว กระบังน่าและสายรัดคางเปนหนังดำ มีตราพระมหาพิไชยมงกุฎเพ็ชราวุธทองติดที่น่าหมวก มีเสื้อผ้าขาวแบบข้าราชการ มีดุมตราพระมหาพิไชยมงกุฎเพ็ชราวุธทอง มีแผ่นผ้าเครื่องหมายยศสีขาวติดที่คอเสื้อ และมีแถบทองกว้าง ๑ เซ็นติเมเตอร์พาดกลาง มีผ้านุ่งไหมสีน้ำเงิน มีกางเกงสะกหลาดสีดำรูปกางเกงไทยขาสั้น แลกางเกงสักหลาดสีดำขายาว ติกแถบทองกว้าง ๑ เซ็นติเมเตอร์ที่ขา ถุงเท้าสีขาวหรือดำ มีรองเท้าสีขาวหรือสีดำ สีน้ำตาล"  []

 

 

นักเรียนมหาดเล็กหลวงแต่งเครื่องแบบปกติ ถือหมวกหนีบสีขาวขอบพับสีน้ำเงิน

 

 

นักเรียนมหาดเล็กหลวงแจ่ม สุนทรเวช (จมื่นอมรดรุณารักษ์)

แต่งเครื่องแบบเต็มยศนักเรียนมหาดเล็กหลวงสวมหมวกหนีบสีน้ำเงินขาว

 

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการในพระราชสำนักใช้หมวกหนีบในเวลาแต่งเครื่องสโมสร ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงเปลี่ยนมาใช้หมวกหนีบสีขาวขอบพับสีน้ำเงิน ติดดุมพระมหามงกุฎเงินขนาดเล็กที่หน้าหมวก กับมีตราพระมหามงกุฎเงินที่ขวาหมวกแทนหมวกแก๊ปทรงหม้อตาล ทั้งในเวลาแต่งเต็มยศ ครึ่งยศ และปกติ

 

          นักเรียนมหาดเล็กหลวงคงใช้เครื่องแบบเต็มยศ ครึ่งยศ และปกติตามพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก ร.ศ. ๑๒๙ มาจนถึงวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ "ข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวง" ซึ่งมีผลให้เปลี่ยนแปลงเครื่องแบบนักเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นดังนี้

 

 

          " ข้อ ๑ เครื่องแต่งกายปรกติ

 

             . หมวกหนีบแบบข้าราชการในกรมมหาดเล็ก ติดพระมหามงกุฎเงินที่หน้าหมวกข้างขวา

 

 

นักเรียนมหาดเล็กหลวง สมัค วีระไวทยะ

แต่งเครื่องแบบนักเรียนมหาดเล็กหลวง ติดอักษร ม ที่กลางแผ่นคอ

 

 

             ๒. แผ่นกำมะหยี่ติดคอสีน้ำเงิน มีแถบเงินพาดกลาง กว้าง ๑ เซนติเมเตอร์ กับมีอักษร ม. ทำด้วยเงินติดกลางแถบ

             ๓. เสื้อขาวแบบราชการ

             ๔. ดุมพระมหาพิไชยมงกุฎเงิน

             ๕. กางเกงสีน้ำเงินสั้นเสมอเพียงข้อเข่า

             ๖. ถุงเท้าสีดำยาว

             ๗. รองเท้าผูก บู๊ตหรือชูหนังดำ

 

          ข้อ ๒ เครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวงให้ใช้ได้เฉภาะแต่ผู้ที่เปนนักเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งอยู่ในระหว่างเวลาศึกษา เมื่อพ้นเวลาศึกษาออกจากโรงเรียนแล้ว แต่งเครื่องนักเรียนมหาดเล็กหลวงอีกไม่ได้เปนอันขาด เว้นแต่ได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษ

 

          ข้อ ๓ ระหว่างที่ผู้ใดเปนนักเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ออกจากนอกบริเวณโรงเรียนก็ดี ออกจากบ้านก็ดี เพื่อไปยังที่ประชุมชนและสาธารณะสถานใดๆ ให้แต่งกายด้วยเครื่องนักเรียนมหาดเล็กหลวงเสมอ

 

          ข้อ ๔ ถ้านักเรียนมหาดเล็กหลวงคนใด ได้เปนนักเรียนเสือป่าและเสือป่า ก็อนุญาตให้ใช้เครื่องแต่งกายชนิดนั้นได้ เมื่อมีความประสงค์จะไปในสถานที่ประชุมชนและสถานที่ต่างๆ

 

          ข้อ ๕ เมื่อมีพระราชประสงค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดแต่งเครื่องนักเรียนมหาดเล็กหลวงก็แต่งได้ แล้วแต่พระราชอัทยาศรัย แต่ให้ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณานั้น ไปลงทะเบียนทางโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เปนหลักฐานไว้"  []

 

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงฉายที่ร้านหลวงในงานฤดูหนาว ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ พ.ศ. ๒๔๖๖

รองหุ้มแพร หลวงวิจิตรพัสตราภรณ์ (เพี้ยน แสงรุจิ) เจ้าของร้านวิวิธภูษาคาร

กับนักเรียนราชวิทยาลัยอุทัย แสงรุจิ และธิดา

 

 

          ถัดมาวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว ต่อมาวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศ "ข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนราชวิทยาลัย" โดยมะระราชปรารภว่า "บัดนี้โรงเรียนราชวิทยาลัย ได้เข้ามารวมอยู่ในสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว ฉะนั้นควรจะให้เปนระเบียบเดียวกันเสีย นักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย ก็เปนผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตำแหน่งเฝ้าอยู่ในขณะเมื่อเปนนักเรียน อย่างเช่นเดียวกับนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง"  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนราชวิทยาลัยเปลี่ยนมาใช้เครื่องแต่งกายเหมือนนักเรียนมหาดเล็กหลวง แต่เปลี่ยนอักษรหมายนามโรงเรียนที่กึ่งกลางแผ่นคอเป็น ร.

 

          อนึ่ง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ขึ้นที่ตำบลห้วยแก้ว เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ใช้เครื่องแต่งตัวเฉกเช่นนักเรียนมหาดเล็กหลวง แต่เปลี่ยนอักษรนามโรงเรียนเป็น ช.

 

          ส่วนโรงเรียนพรานหลวงซึ่งเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อีกโรงเรียนหนึ่งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เครื่องแต่งกายอนุโลมตามเครื่องแบบนักเรียนมหาดเล็กหลวง แต่เปลี่ยนหมวกหนีบเป็นสีน้ำเงิน แผ่นกำมะหยี่ติดคอเสื้อเป็นสีเขียวพาดแถบแถบขาว ติดอักษร พ.ที่กึ่งกลางแผ่นคอทั้งสองข้าง และเปลี่ยนกางเกงเป็นกางเกงขาสั้นสีเขียว

 

          เครื่องแต่งกายสำหรับนักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ โรงเรียนนี้ได้ใช้มาจนยุบเลิกกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 
 

 
 

 
[ ]  "ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการ ครู อาจารย์ และนักเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย ใช้เครื่องแต่งกายอย่างในพระราชสำนัก", ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ (๒๕ มกาคม ๒๔๕๖), หน้า ๒๕๑๒ - ๒๕๑๔.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  "ข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวง", ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๑๘ มิถุนายน ๒๔๕๙), หน้า ๙๓ - ๙๔.

[ ]  "ข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนราชวิทยาลัย", ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๑๘ มิถุนายน ๒๔๕๙), หน้า ๒๑๐ - ๒๑๑.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |