โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๕. เข็มหมั่นเรียน

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และแม้นว่า จะมีพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาในโรงเรียนนี้ไว้ว่า "ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไมรู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน "คนฉลาด" บ่นอีกว่า "ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี" ก็ตาม แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาในงานประจำปีของโรงเรียน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาประจำปีในทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมของทุกปีนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรรมการโรงเรียนได้ร่วมกันจัดของรางวัลสมทบกับของรางวัลพระราชทาน จัดเป็นรางวัลพระราชทานสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีในแต่ละระดับชั้นและแต่ละรายวิชา

 

 

รางวัลพระราชทานเรียนดี พ.ศ. ๒๔๖๓

 

 

          รางวัลเรียนดีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานในครั้งนั้น มักจะเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสืออื่นๆ จึงมักจะปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีส่วนใหญ่มักจะได้รับพระราชทานหนังสือสูงเป็นตั้ง บางรายเมื่อนำรางวัลพระราชทานมาตั้งซ้อนกันได้ความสูงเกือบถึงเอวผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลนั้นทีเดียว

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ สภาจางวางมหาดเล็กซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาราชการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และโรงเรียนพรานหลวงได้พิจารณาเห็นว่า

 

 

          "การจัดรางวัลสำหรับที่จะพระราชทานแก่นักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ผู้ที่หมั่นเรียนตลอดเวลาในปีหนึ่งๆ, ตามที่ได้ปฏิบัติกันมาแต่ปีก่อนๆ โดยจัดเปนสิ่งของหรือหนังสือนั้น, เห็นว่ายังไม่เหมาะด้วยเหตุที่สิ่งของหรือหนังสือ, เมื่อนักเรียนผู้ใดได้รับพระราชทานไปแล้ว โดยปรกติก็ต้องเก็บไว้ไม่อาจแสดงให้เปนเครื่องระลึกหรือปรากฏแก่นักเรียนผู้อื่นที่ไม่หมั่นเรียนเปนเวลานานแลทั่วถึงกัน, อันปนหนทางจะชักจูงให้นักเรียนที่ไม่หมั่นเรียน มีความพากเพียรอยากจะได้รับพระราชทานรางวัลหมั่นเรียนบ้าง แล้วแลใช้ความอุสาหะวิริยะภาพในการเล่าเรียนให้ยิ่งขึ้น เพราะฉนั้นจึงดำริเปลี่ยนวิธีการให้รางวัลหมั่นเรียนแก่นักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ผู้ที่หมั่นเรียน"  []

 

 

เข็มหมั่นเรียนทั้งสี่ชั้นที่จำลองขึ้นใหม่จากเข็มพระราราชทานเดิม

เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ "วชิราวุธ ๑๐๐ ปี"

 

 

          จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วได้ออกระเบียบการพระราชทานเข็มหมั่นเรียนไว้ ดังนี้

 

 

          "๑. นักเรียนที่จะได้รับรางวัลหมั่นเรียน ต้องเปนผู้ประพฤติดีเล่าเรียนเสมอทุกวันทุกเวลา, แลทำกิจการต่างๆ ตามที่โรงเรียนกำหนดไว้, กับปฏิบัติตามให้สมเปนผู้ที่จะได้รับรางวัลตามคำสั่งกรมมหาดเล็กที่ ๑/๑๘๒ ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ ซึ่งว่าด้วยการให้รางวัลแก่นักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์.

          ๒. เวลาของการหมั่นเรียนกำหนดตั้งแต่วันแรกเปิดเรียนภาคที่ ๑ ไปจนถึงภาคที่สุดซึ่งเปนเวลาสอบไล่ ตลอดจนถึงเวลาประลองยุทธเสือป่า หรือถ้าหากในปีนั้นไม่มีการประลองยุทธ แต่โรงเรียนกำหนดจะเปิดเรียนภาคปลายปี ก็ให้โรงเรียนรวมกิจการเหล่านี้เข้าในเวลาของการหมั่นเรียนด้วย แต่สำหรับ พ.ศ. ๒๔๖๕ นี้ให้นับเวลาของการหมั่นเรียนตั้งแต่วันแรกเปิดเรียนภาคที่ ๑ จนถึงเวลาสอบไล่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. นี้เท่านั้น ส่วนการหมั่นเรียนในการประลองยุทธเสือป่าหรือภาคปลายปีที่กล่าวแล้วนั้น ให้ยกไปรวมใน พ.ศ. ๒๔๖๖ แลปีต่อไปก็ให้ปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกัน

          ๓. รางวัลหมั่นเรียนนี้ทำเปนเข็มรูปพระมนูแถลงสาร มีอักษรว่าหมั่นเรียน พ.ศ. ........ ที่ได้รับพระราชทานอยู่ใต้แท่น มีสักหลาดสีน้ำเงินกรุด้านหลังเปนเครื่องประดับ สำหรับติดที่น่าอกเสื้อเหนือกระเป๋าเบื้องขวา

          ๔. เข็มนี้ได้จัดทำเปน ๔ ชั้น คือชั้นที่ ๑ ทองคำลงยา ชั้นที่ ๒ ทอง ชั้นที่ ๓ เงิน ชั้นที่ ๔ ทองแดง สำหรับพระราชทานแก่นักเรียนผู้ที่หมั่นเรียนตามลำดับปี คือปีที่ ๑ ได้ชนิดทองแดง ปีที่ ๒ ได้ชนิดเงิน ปีที่ ๓ ได้ชนิดทอง ปีที่ ๔ ได้ชนิดทองคำลงยา

          ๕. แม้นักเรียนผู้ใดได้รับพระราชทานรางวัลหมั่นเรียนไปแล้ว แต่ไม่หมั่นในปีต่อไป ก็ต้องนับว่าขาดจากหมั่นเรียนแต่ปีนั้น ต้องนับหนึ่งไปใหม่ ผู้ที่หมั่นเรียนต้องหมั่นเรียนติดต่อกันกันไปทุกปี จึงจะได้รับพระราชทานเข็มได้ตามลำดับชั้นดังกล่าวไว้แล้วในข้อ ๔

          ๖. นักเรียนที่เข้าเล่าเรียนใหม่ หรือนักเรียนใดๆ ที่ไม่เรียนเต็มปีที่กล่าวแล้วในข้อ ๑ แลข้อ ๒ ไม่มีโอกาสได้รับพระราชทานเข็มนี้เปนอันขาด

          ๗. เข็มนี้เปนเครื่องหมายแห่งการหมั่นเรียนในระหว่างที่นักเรียนกำลังเล่าเรียนอยู่เท่านั้น เพราะฉนั้นเมื่อนักเรียนใดออกจากโรงเรียนแล้วห้ามไม่ให้ประดับเข้มนี้เปนอันขาด

          ๘. ให้ผู้บังคับการโรงเรียน ปฏิบัติการหมั่นเรียนนี้ให้เปนไปโดยปราศจากอคติ แล้วให้ส่งรายนามผู้สมควรจะได้รับพระราชทานรางวัลต่อกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามเวลาอันสมควรซึ่งกรมโรงเรียนฯ จะได้แจ้งกำหนดให้ทราบทุกคราวไป"  []

 

 

          การพระราชทานเข็มหมั่นเรียนซึ่งเริมขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ คงมีการพระราชทานต่อเนื่องมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นที่สุด เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ และโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ถูกยุบเลิกไปพร้อมกับการจัดระเบียบราชการกรมมหาดเล็กในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานรางวัลเรียนดี

 

 

          ต่อมาในรัชกาลปัจจุบัน วชิราวุธวิทยาลัยได้จัดรางวัลเรียนดีเป็นหนังสือเช่นเดียวกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่นักเรียนที่สอบไล่ได้คะแนนเป็นที่ ๑ และ ๒ ของแต่ละชั้นในวันเสด็จพระราชดำเนินประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยเป็นลำดับมาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๔๙๐

 
 

 
 

 
[ ]  "ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก เรื่อง การจัดรางวัลหมั่นเรียนแก่นักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์", รายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ (พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมรูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗), หน้า ๔๔.

[ ]  รายงานแสดงกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ (พิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมรูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗), หน้า ๔๕ - ๔๗.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |