โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๗. นักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่สยามใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ก็ได้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเด็กๆ ที่บิดามารดาผู้ปกครองนำมาถวายเป็นมหาดเล็กในพระองค์ เด็กๆ เหล่านั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับการเล่าเรียนตามฐานานุรูป

 

          ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้บรรดามหาดเล็กเด็กๆ ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนต่างๆ นั้นย้ายมาเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง และโดยที่ทรงเป็นผู้ปกครองเด็กๆ เหล่านั้นมาแต่ก่อนตั้งโรงเรียน เมื่อย้ายมาเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง เด็กๆ เหล่านั้นจึงมีสถานะเป็นนักเรียนหลวงซึ่งทรงออกค่าใช้จ่ายให้ทุกประการ

 

          อนึ่ง เมื่อทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแล้ว ได้มีพระบรมราชานุญาตให้บิดามารดาผู้ปกครองนักเรียนทั่วไปนำบุตรหลานมาสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ตามใจสมัคร นักเรียนประเภทนี้เรียกว่านักเรียนสมัคร และเมื่อถึงเวลาอันสมควรทางโรงเรียนก็ได้จัดให้นักเรียนสมัครนั้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อทรงรับดอกไม้ธูปเทียนของนักเรียนสมัครแล้ว นักเรียนสมัครนั้นก็แปรสภาพมาเป็นนักเรียนหลวง

 

          ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนพรานหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยมาขึ้นสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ จำนวนนักเรียนที่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานพระมหากรุณาก็ทวีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศกำหนดประเภทของนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีรายละเอียดปรากฏในคำอธิบายถึงนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ประเภทต่างๆ ดังนี้

 

 

          “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตากรุณาต่อข้าราชบริพารแลไพร่ฟาข้าแผ่นดินของพระองค์ ที่ยากจนขัดสนแลที่ได้รับราชการมาด้วยความจงรักภักดีกระทำความดีความชอบเปนพิเศษนั้นอยู่เสมอ เมื่อผู้ที่กล่าวมาแล้วนี้ได้น้อมเกล้าฯ ถวายบุตร์หลานของตนเปนข้าราชบริพาร ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้ศึกษาศิลปวิทยาการโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เปนทุนเล่าเรียนแลเครื่องอุปโภคบริโภคตามสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้นั้นๆ เพราะฉะนั้นนักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์จึงมีประเภทต่างกันเปน ๓ ประเภท ดังกล่าวต่อไปนี้ :

 

          ก. นักเรียนข้าหลวงเดิม

          ข. นักเรียนหลวง

          ค. นักเรียนสมัค

          ง. นักเรียนชั้นใหญ่

 

 

หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์

นักเรียนข้าหลวงเดิม ซึ่งได้ลงทะเบียนเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงเลขประจำตัว ๑

 

 

          นักเรียนข้าหลวงเดิม คือกุลบุตรที่ถวายตัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเปนสมเด็จพระยุพราชเจ้า แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปนนักเรียนหลวง จึ่งพระราชทานทุนเล่าเรียนแลเครื่องอุปโภคบริโภคพร้อมทุกอย่าง

 

 

นายหมู่เอก นักเรียนเสือป่าหลวง หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์

(พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์)

โอรสหม่อมเจ้าอุดมดิเรกลาภในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์

หนึ่งในนักเรียนมหาดเล็กหลวงที่ทรงพระมหากรุณารับเป็น "นักเรียนหลวง"

 

 

          นักเรียนหลวง คือนักนักเรียนที่บิดามารดาหรือญาติได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันนับว่าเปนประโยชน์ยิ่งจนเปนที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับบุตรหรือนัดดาของผู้นั้นไว้เปนนักเรียนหลวงอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปนการพระราชทานเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล นักเรียนหลวงนี้ พระราชทานเงินส่วนพระองค์เปนค่าเล่าเรียนตลอดเวลาเรียน

 

 

แบบพิมพ์ใบรับรองนักเรียนสมัครของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          นักเรียนสมัค คือกุลบุตรที่สมัคเข้าเปนเรียน โดยมีผู้รับรองซึ่งโรงเรียนเห็นว่ามีหลักถานสมควรเชื่อได้ นักเรียนประเภทนี้ต้องเสียค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องเรียนและค่าเครื่องแต่งกายตลอดจนค่าใชสรอยต่างๆ ทุกอย่าง

 

          นักเรียนทั้ง ๓ ประเภทซึ่งได้กล่าวมาแล้วนี้ มีสิทธิและความเสมอภาคเหมือนกันหมดตลอดเวลาอยู่ในโรงเรียน จะต่างกันก็เฉะเพาะนักเรียนข้าหลวงเดิมและนักเรียนหลวงซึ่งได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนแลเครื่องอุปโภคบริโภคส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังกล่าวมาแล้วเท่านั้น และนักเรียนข้าหลวงเดิมกับนักเรียนหลวง ๒ ประเภทนี้มีแต่เฉพาะโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ แห่งเดียว

 

          ครั้นต่อมาทรงพระราชดำริว่า นักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์บางคนที่สำเร็จการศึกษาของโรงเรียนตามหลักสูตร์แล้ว แต่อายุยังย่อมเยาอยู่ มีเวลาพอควรที่จะศึกษาศิลปวิทยาการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ยังมิสมควรที่จะด่วนออกรับราชการในขณะที่อายุยังน้อย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนที่มีอายุดังกล่าวมาแล้วนี้ มีโอกาสสมัคเข้าศึกษาวิชาต่อความรู้ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิชาแพนกต่างๆ ตามความสมัค แลอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดเวลากำลังศึกษาอยู่ พระราชทานนามนักเรียนประเภทนี้ว่า “นักเรียนชั้นใหญ่” ตามประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก ที่ ๒๗/๖๔๘ ลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๑

 

          นักเรียนชั้นใหญ่นี้แบ่งเปน ๒ ประเภท แลพระราชทานทุนเล่าเรียนต่างกัน ดังกล่าวต่อไปนี้

               ก. นักเรียนหลวงพิเศษชั้นใหญ่

               ข. นักเรียนหลวงชั้นใหญ่

 

          นักเรียนหลวงพิเศษชั้นใหญ่ ต้องเปนนักเรียนข้าหลวงเดิมมาแล้วในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ หรือเปนนักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่ ๘ ตามหลักสูตร์หลวง นักเรียนประเภทนี้ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียน ค่าเครื่องเรียน ค่าเครื่องแต่งตัว ค่าซักฟอก ค่าเบี้ยเลี้ยง แลค่าอยู่ในเมื่อเวลาโรงเรียนปิดภาค กับเบ็ดเตล็ดต่างๆ ตามที่กรมบัญชาการกลางมหาดเล็กเห็นสมควรอนุญาต

 

          นักเรียนหลวงชั้นใหญ่ คือนักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้น ๘ ตามหลักสูตร์เดิมของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่มีความสมัครเล่าเรียนต่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเฉพาะทุนเล่าเรียนอย่างเดียว ส่วนการใช้จ่ายอื่นๆ ผู้แกครองนักเรียนนั้นๆ จะต้องเปนผู้จ่ายเองทั้งสิ้น นักเรียนทั้งหมดนี้ได้ยุติลงแล้วในเวลานี้ เพราะหลักสูตร์ของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ลงระเบียบเดียวกันกับหลักสูตร์หลวงแล้ว

 

          นักเรียนทั้ง ๒ ประเภทที่กล่าวมาแล้วนี้ได้เริ่มส่งเข้าเล่าเรียน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิชาแพนกต่างๆ ตามความสมัค ตั้งแต่พระพุทฑศักราช ๒๔๖๑ เปนต้นมาจนกาลบัดนี้ มีจำนวนนักเรียนรวม ๑๔ นาย นักเรียนได้ตั้งใจเล่าเรียนและได้รับผลอย่างงดงามเปนที่น่ายินดีเปนอันมาก ส่วนผู้ที่สอบไล่ได้จบหลักสูตร์และออกฝึกหัดราชการแล้วมีจำนวน ๗ นาย ยังกำลังศึกษาอยู่ ๗ นาย ดังปรากฏนามนักเรียน ผลการเล่าเรียนแลแพนกวิชาต่างๆ ตามบัญชีที่กล่าวต่อไปนี้

 

 

 
 
 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |