โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๘. หน้าที่และความรับผิดชอบ

ของเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑)

 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

กรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้เปิดดำเนินการมาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา - เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) กรรมการผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ความตอนหนึ่งว่า

 

          "ด้วยราชการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งได้ทรงพระกรุณษโปรดเกล้าฯ ให้วางระเบียบการไว้เปนแบบบรรทัด และพิมพ์ขึ้นเปนเล่มสมุดแจกให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนด้วยนั้น การก็ได้ดำเนินเข้ารูปตามตามระเบียบนั้นตลอดมาตามลำดับ บัดนี้สมควรจะกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบในพะแนกต่างๆ ตามระเบียบการนั้นให้เลอียดเข้า เพื่อให้เปนการแบ่งแรงและชักนำให้เจ้าหน้าที่ถี่ถ้วนในหน้าที่ยิ่งขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้เรียกประชุมครูอาจารย์และหัวหน้าพนักงานโรงเรียนมหาดเล็กหลวงสองครั้ง หารือและรวบรวมทำกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบทุกๆ พะแนก ดังขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายมาพร้อมกับหนังสือนี้ เมื่อชอบด้วยกระแสพระราชดำริห์และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ได้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะได้รับพระราชทานพิมพ์ขึ้นเปนระเบียบภายใน สำหรับให้ทราบกันฉะเภาะเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง"  []

 

          ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรระเบียบการนั้นแล้ว ราชเลขานุการได้อัญเชิญพระราชกระแสแจ้งไปยังพระยาไพศาลศิลปสาตร์ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ความว่า

 

          "ตามหนังสือที่ ๑/๓๗ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ศก ๑๓๑ ว่าตามที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้วางระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไว้เปนแบบบรรทัด แลพิมพ์เล่มแจกให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน บัดนี้สมควรจะกำหนดหน้าที่แลความรับผิดชอบในพแนกต่างๆ ตามระเบียบการนั้นให้เลอียดเข้า ได้รวบรวมส่งมาขอพระราชทานพิมพ์ขึ้นเปนระเบียบภายใน สำหรับให้ทราบกันฉเภาะเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว" []

 

          ระเบียบกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของแผนกต่างๆ ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตในคราวนั้น มีรายละเอียดดังนี้

 

 

พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน)

อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

๑๗ พฤษภาคม ๒๔๕๔ - ๘ กันยายน ๒๔๕๕

 

 

ผู้อำนวยการ อาจารย์ และครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พ.ศ. ๒๔๖๒

(แถวนั่งจากซ้าย) ๑. มิสเตอร์ ซี. เอ. เอส. สิเวล หัวหน้าแผนกกรีฑา ๒. หลวงอภิรักราชฤทธิ์ (เพียร ไตติลานนท์ - พระราชธรรมนิเทศ) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา
๓. พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ๔. พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) เจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ๕. พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - เจ้าพระยารามราฆพ) ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ๖. พระยาไชยนันทน์นิพัทธ์พงศ์ (เชย ไชยนันทน์) อาจารย์วิชามหาดเล็ก ... ๙. หม่อมพะยอม ในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ ครูแม่บ้านคณะเด็กเล็ก

(แถวยืนหน้าจากซ้าย) ๑. หลวงธรรมสารประศาธน์ (ศิลป์ ปริญญาตร) ผู้บังคับหมวดกรมนักเรียนเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ ... ๔. พระอภิรักษ์ราชฆทธิ์ (พ้อง รจนานนท์) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครอง ... ๖. หลวงหัดดรุณพล (จ้อย พลทา) ผู้บังคับหมวดกรมนักเรียนเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

 

 

เจ้าหน้าที่พะแนกต่างๆ

ซึ่งรับผิดชอบจากอาจารย์ใหญ่

 

*******************

 

หัวหน้าพะแนกวิชา [] หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ []
หัวหน้าพะแนกปกครองนักเรียน [] พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์  []
หัวหน้าพะแนกพนักงานและรักษาสถานที่ หลวงพิทักษ์ มานพ []
หัวหน้าพะแนกกรีฑา มิสเตอร์ซี. เอ. เอส. สิเวล
สมุหบาญชี นายแถม []
   

 

 

 

กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบ

ของเจ้าหน้าที่พะแนกต่าง ๆ

ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

*******************

 

เปนเรื่องภายใน สำหรับทราบกันแต่ในระหว่างเจ้าหน้าที่เท่านั้น

 

 

 

หน้าที่และความรับผิดชอบของอาจารย์ใหญ่ []

 

*******************

 

          ๑. เปนเจ้าบ้าน ปกครองรักษาการในหน้าที่ต่างๆ ทุกพะแนกให้เปนไปตามระเบียบหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสมุดเล่มนี้ รับผิดชอบให้การนั้นๆ เปนไปพอดี ไม่ขาดไม่เหลือ

 

          ๒. ปกครองและรักษาความสามัคคีทั่วไปในโรงเรียน เพื่อให้การต่างๆ ซึ่งย่อมอาศรัยกันและกัน สำเร็จไปโดยเรียบร้อยไม่มีรังเกียจเกี่ยงงอน หรือถึงวิวาทบาดหมางกัน

 

          ๓. รับเรื่องเสนอ พิเคราะห์ และสั่งการงานตามควร ถ้าเรื่องใดเกี่ยวข้องด้วยหน้าที่ใด ก็พูดทักหรือสั่งไปทางหน้าที่นั้น เพื่อเจ้าหน้าที่ต่างๆ จะได้รู้สึกการงานในหน้าที่ของตัวโดยเต็ม

 

          ๔. รักษาเงินของโรงเรียน สอบยันให้ถูกต้องกับบาญชีเงินซึ่งสมุห์บาญชีเปนผู้ทำ ถ้าเงินมากกว่าสี่พันบาทให้นำฝากพระคลังข้างที่ หรือฝากแบงก์สยามกัมมาจลไว้

 

          ๕. ตรวจและจัดการพยาบาลนักเรียนไข้ให้เรียบร้อย

 

          ๖. รวบรวมรายงานประจำเดือนเสนอกรรมการผู้อำนวยการไม่ให้ล่าช้า และรายงานในเหตุสำคัญต่างๆ ตามคราวที่มีเหตุควรรายงาน

 

          ๗. จดหมายเหตุการณ์งานต่างๆ ของโรงเรียนขึ้นสมุดไว้ เรียกว่าสมุดจดหมายเหตุ สำหรับจะได้เปนประวัติและพงษาวดารของโรงเรียนสืบไป

 

          ๘. ทำความติดต่อกับผู้ปกครองนักเรียนข้างบ้าน ในกิจธุระสามัญตามปรกติของโรงเรียนซึ่งเกี่ยวถึงผู้ปกครองด้วย แต่ในกิจธุระพิเศษนอกจากปรกติแล้ว ต้องทำโดยอนุมัติกรรมการผู้อำนวยการ

 

          ๙. ให้ผู้ที่อยู่ในปกครองทั้งสิ้น ได้รับบำเหน็จและโทษตามสมควรแก่ความชอบและความผิด ในชั้นที่จะต้องนำความเสนอกรรมการผู้อำนวยการ ก็ให้นำเสนอ 

 

 
 

 

[ ]   หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑ มกราคม ๒๔๕๓ - ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗)

[ ที่เดียวกัน.

[ ]  ในเวลานั้นเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้ช่วยอาจารย์ฝ่ายวิชา เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งอาจารย์ให้เป็นผู้บังคับการแล้ว จึงเรียกตำแหน่งนี้ว่า อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา

[ ]  นามเดิม ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา ต่อมาถูกเรียกตัวกลับไปรับราชการกระทรวงธรรม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประพนธ์เนติประวัติ พระปรีชานุศาสน์ และพระยาภะรตราชา ตามลำดับ

[ ]  ในเวลานั้นเรียกตำแหน่งนี้ว่า ผู้ช่วยอาจารย์ฝ่ายปกครอง เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งอาจารย์ใหเป็นผู้บังคับการแล้ว จึงเรียกตำแหน่งนี้ว่า อาจารย์ใญ่ฝ่ายปกครอง

[ ]  นามเดิม ศร ศรเกตุ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วเลื่อนเป็นเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

[ นามเดิม ผน อรชุนกะ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพิทักษ์มานพ เจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ต่อจากพระยาบริหารราชมานพที่ถึงอนิจกรรม

[ นายแถม อรัณยปาล ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนอักษรกิจชำนาญ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นสมุหนาญชีโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอักษรกิจชำนาญ

[ ]  ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่นี้คงใช้ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาจนได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์) ขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวง (รักษาพระองค์) และได้โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นผู้บังคับการกรมนักเรียนเสือป่าหลวงโดยตำแหน่ง เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๒๔๕๗ แล้ว ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่เป็น ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และคงใช้ชื่อตำแหน่งว่า ผู้บังคับการมาจนถึงปัจจุบัน

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |