โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๔. ตำนานวชิราวุธ (๑)

 

          เมื่อกล่าวถึง "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย" เชื่อว่าหลายท่านคงนึกถึงพระบรมนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระนามเมื่อแรกพระราชสมภพว่า "มหาวชิราวุธ"

 

          เหตุที่ในพระบรมนามาภิไธยมีคำว่า "มหา" นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการเมื่อแรกเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ว่า

 

          "ตามที่ได้พูดกันในที่ประชุมเมื่อวันที่ ๒๕ ในเรื่องอักษรพระนามย่อ จะให้ใช้เปน ม.ป.ร.ต่อไปนั้น ได้มาตริตรองดูอีกต่อไปแล้ว มาเกิดมีความคิดขลึกขลักในใจขึ้น คือประการ ๑ ตามที่ได้ใช้เซ็นชื่อมาตั้งแต่ปี ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙ - วรชาติ) ได้เคยใช้ว่า "วชิราวุธ" ดังนี้ ได้งด  "มหา" มาเสียหลายปีแล้ว ได้พยายามจะเซ็น "มหาวชิราวุธ" ใหม่ มือไปไม่คล่องเลย เพราะเคยอย่างโน้นมาเสียมากแล้ว

 

 

สามเณรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี

 

 

          การที่จะทิ้ง "มหา" นั้น คือเมื่อจะบวช ทูลกระหม่อม (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วรชาติ) ได้มีพระราชดำรัสว่า ให้ใช้ชื่อบวชว่า "วชิราวุโธ" เพื่อจะมิให้เยิ่นเย้อ และได้ทรงอธิบายว่า "มหา" นั้นก็คือใหญ่ฤาโต เพราะฉนั้นใครไม่ได้เปนองค์ใหญ่จึ่งไม่ใช้มหานำชื่อ ยังได้ทรงยกตัวอย่างว่า ทูลกระหม่อมปู่ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - วรชาติ) มีพระนามว่า  "มหามงกุฎ" พระองค์เองเปน "มหาจุฬาลงกรณ" เพราะเหตุเช่นเดียว ยังได้ทรงอธิบายด้วยว่า คือเท่ากับเรียกว่า "ใหญ่มงกุฎ"  "ใหญ่จุฬาลงกรณ" และในชั้นรัชกาลที่ ๕ ก็มี "ใหญ่วชิรุณหิศ" กั "โตวชิราวุธ" ดังนี้

 

 

อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. พระมหามางกุฎ

 

 

          เพราะฉนั้นถ้าไม่เปนการขัดข้องมากมายอย่างไร อยากจะใคร่คงใช้เซ็นชื่อว่า "วชิราวุธ" อย่างเดิม และถ้าเช่นนั้น อักษรย่อก็คงต้องใช้เปน ว.ป.ร. ขอให้ปฤกษากรมหลวงเทววงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ - วรชาติ)และท่านองค์อื่นๆ ที่ได้มาประชุมวันนั้นด้วยกันว่าจะเห็นอย่างไร"  []

 

 

อักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. พระมหามงกุฎ

บนแผ่นคอนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          จากพระบรมราชาธิบายข้างต้น ครูและนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทุกคนจึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ติดอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร.พระมหามงกุฎ บนแผ่นคอกันทุกคน

 

          อนึ่ง พระบรมนามาภิไธย วชิราวุธ นั้น เป็นคำสมาสระหว่างคำ "วชิระ" หรือ "วัชระ" กับคำว่า "อาวุธ"
คำว่า "วัชระ" นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ใน "อภิธาน ในหนังสือนารายณ์สิบปาง" ว่า "วัชระ [ส.] - แก้ว; "ก้อนฟ้าผ่า" อีกนัย ๑ เรียกว่า "อศะนี". เปนอาวุธของพระอินทร์."   []

 

 

พัดรองที่ระลึกงานคราวพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระอิสริยยศ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวารวดี

เมื่อปีชวด สัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๕๐ (พ.ศ. ๒๔๓๑)

ลายกลางพัดเป็นตราประจำพระองค์รูปเพชรเปล่งรัศมี

 

 

          เพราะคำว่า "วัชระ" แปลว่า "แก้ว" เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผูกตราประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รูปเพชรเป็นสัญลักษณ์แทนพระนาม และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระองค์นั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เติม "อุณาโลม" เหนือรูปเพชรที่พระราชทานไว้เดิม

 

 

ตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

รูปเพชรเปล่งรัศมี มีอุณาโลมอยู่เหนือ

 

 

          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงใช้ตราประจำพระองค์มีอุณาโลมอยู่เหนือมาจนเสด็จนิวัตพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ก็พบว่า ทรงใช้พระลัญจกรจุลมงกุฎขนนกซึ่งพระราชทานเป็นตราตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มาแต่ครั้งทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ แทนตรารูปเพชรเปล่งรัศมี มีอุณาโลมอยู่เหนือในบางโอกาสด้วย

 

 

พระลัญจกรจุลมงกุฎขนนก สำหรับตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

ด้านล่างเป็นแพรแถบมีอักษร ร.จ.ย.ต.ว.ห.จ. ซึ่งย่อมาจาก เราจะบำรุงตระกูลวงษ์ให้เจริญ

 

 

          นอกจากนั้นในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชันษาครบ ๒๔ พรรษา เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพัดรองที่ระลึกในงานดังกล่าว ๒ เล่ม เล่มหนึ่งปักเป็นรูป เพชรมีจุลมงกุฎอยู่เหนือ กับอีกเล่มเป็นอักษรพระนามาภิไธย ม.ว. มีจุลมงกุฎอยู่เหนือ

 

 

พัดรองที่ระลึกงานฉลองพระชันษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ครบ ๒ รอบ มโรงนักษัตร (๒๔ พรรษา)

๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗)

 

 

 

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ว. ๑/๑ เรื่อง พระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. (๒๗ ตุลาคม ๒๔๕๓)

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. อธิบายและอภิธาน ในหนังสือนารายณ์สิบปาง, หน้า ๑๐๙.

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |