โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๖๘. ตึกพยาบาล (๑)

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงวิรัชเวชกิจ (สุ่น สุนทรเวช) [] แพทย์ประจำพระองค์มา เป็นแพทย์ประจำโรงเรียนเป็นคนแรก ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้หลังคาจากที่สวนกระจังในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนพยาบาลนักเรียนป่วยเจ็บไว้รวมในหมู่เรือนไม้หลังคาจากนั้นด้วย

 

          เรือนพยาบาลในหมู่เรือนไม้หลังตาจากนั้นคงจะได้ใช้เป็นสถานที่พยาบาลนักเรียนที่ป่วยเจ็บมาจนรวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกับราชวิทยาลัยเข้าด้วยกันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือนพยาบาลนั้นคงจะอยู่ในสภาพทรุดโทรมเกินกว่าจะซ่อมแซม โรงเรียนจึงได้จัด "พระตำหนักสมเด็จ" หรือพระตำหนักเดิมในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี พันปีหลวง เป็นสถานที่พยาบาลนักเรียนที่ป่วยเจ็บ

 

 

พระตำหนักพญาไท ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องปกติจอมพลเรือ จอมทัพเรือสยาม

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยพระราชโอรส ณ พระตำหนักพญาไท

เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓

(ประทับยืนจากซ้าย) ๑. นายร้อยโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา (นายพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา) ๒. นายพันเอก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ๓. นายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)
(ประทับพื้น) ๑. นายร้อยตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย) ๒. นายร้อยตรี หม่อมเจ้าพงษ์จักร จักรพงษ์ (พันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) ๓. นายร้อยตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

 

 

          "พระตำหนักสมเด็จ" นั้น เดิมเป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เป็นแม่กองสร้างขึ้นที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ภายหลังจากเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ สำหรับเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในเวลาเสด็จพระราชดำเนินประพาสทุ่งนาพญาไทและที่ตำหนักพญาไทนั้นเสมอ ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้ย้ายมาประทับที่พระตำหนักพญาไทนี้เป็นการถาวรตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

 

 

พระตำหนักสมเด็จ
ที่สนามข้างหอประชุมด้านคณะจิตรลดา

 

 

          ภายหลังจากเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพระตำหนักพญาไท แล้วมีพระราชกระแสให้กรมศิลปากรจัดการรื้อย้ายพระตำหนักพญาไท มาปลูกสร้างที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเรือนไม้หลังคาจากที่ใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระราชทานให้เป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์และคณะเด็กเล็ก โดยโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามพระตำหนักนี้ว่า "พระตำหนักสมเด็จ" ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระตำหนักเมื่อวันอังคารที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ และในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลประจำปีแก่นักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ในบ่ายวันเดียวกันนั้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี [] ทรงเหยียบพระตำหนักนี้ด้วย

 

          โรงเรียนมหาดเล็กหลวงคงจะได้ใช้พระตำหนักพญาไทเป็นหอเรียนวิทยาศาสตร์ต่อเนื่องมาจนถึงคราวยุบรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๔๖๘ ต่อกับต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงพบความตอนหนึ่งในรายงานการประชุมกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ว่า

 

 

พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุ)

ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๔๗๕

 

 

          "...การที่พระยาปรีชาฯ จะขอยกครอบครัวเข้ามาอยู่ในโรงเรียน และพระยาปรีชาฯ มีครอบครัวใหญ่ ได้ปรารภกันว่า ถ้าอยู่ที่สถานพยาบาลเดี๋ยวนี้ก็จะสดวกดี แต่มีอยู่ข้อหนึ่งซึ่งรู้สึกตะขิดตะขวงใจในการที่จะให้เป็นที่อยู่ ความรู้สึกนี้มีมาตั้งแต่ครั้งวางรูปการโรงเรียนในชั้นแรก โดยเหตุที่สถานที่นี้เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ที่รื้อมาจากพระราชวังพญาไท จึงตกลงจัดเป็นสถานพยาบาล, ห้องที่เสด็จสวรรคตจัดเป็นห้องที่บูชาไว้

 

          กรรมการเห็นว่า ถ้าให้ผู้บังคับการอยู่ในที่นี้ และย้ายสถานพยาบาลไปไว้ที่โรงเรือ [] จะเป็นการสดวก แต่มีปัญหาต่ำสูงอยู่บ้าง ควรนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา..."  []

 

 
 

 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น จางวางตรี พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี

[ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

[ โรงเรือนี้ตั้งอยู่ที่ริมสระน้ำทางด้านทิศเหนือของเนินหอนาฬิกาในปัจจุบัน เดิมโรงเรือนี้เป็นสถานที่เก็บเรือสำหรับนักเรียนใช้พายในสระน้ำกลางโรงเรียน และเป็นสถานที่ฝึกหัดว่ายน้ำของนักเรียน กับจัดเป็นบ้านพักของผู้บังคับการโรงเรียนด้วย ต่อมาในสมัยที่พระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนพักผู้บังคับการขึ้นใหม่เป็นเรือนไม้สองชั้น ที่ฝั่งตรงข้ามคณะปรีชานุสาสน์ (ปัจจุบันคือคณะผู้บังคับการ) ขนานกันไปกับแนวคูรอบโรงเรียนด้านทิศเหนือ

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๗ ศ.๔/๙๘ เรื่อง โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย (๑๒ มิถุนายน - ๑๔มีนาคม๒๔๖๙)

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |