โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๗. ระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่พระบรมมหาราชวัง และโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ที่สวนกระจัง ให้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนถาวรแล้ว

 

 

พระราชบันทึก “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่อง “วางระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง”

 

ต่อมาวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรก และได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิร ณ อยุธยา) ไปเรียบเรียงระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเพื่อออกประกาศให้ผู้สนใจที่จะนำบุครหลานมาเล่าเรียนที่โรงเรียนนี้ได้ทราบ และในวันเดียวกันนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่จ่ายเงินส่วนพระองค์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้เป็น “ทุนนอน” ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โปรดเกล้าฯ ให้นำเงินจำนวนนี้ไปฝากไว้ที่ แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด หรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน ซึ่งเงินพระราชทานจำนวนดังกล่าวนั้นต่อมาได้งอกเงยมาเป็นทุนอุดหนุนการจัดการศึกษาของวชิราวุธวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ร่างขึ้นโดยพระบรมราชโองการนั้น มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

 

 

““แจ้งความโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


*******************

 

          ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงการเล่าเรียนว่าเปนกิจสำคัญแลจำเปนอย่างหนึ่ง เพราะว่าความเจริญแห่งประเทศบ้านเมืองในสมัยต่อไปนี้ ที่จะเปนปึกแผ่นแน่นหนาได้แท้จริงก็ด้วยอาศรัยศิลปวิทยาเปนที่ตั้ง หรือเปนรากเง่าเค้ามูล จึงมีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงการศึกษาของชาติบ้านเมืองให้รุ่งเรืองทันเขาอื่น พระราชดำริห์เรื่องนี้ได้มีมาแต่ครั้งยังดำรงพระเกียรติยศอยู่ในตำแหน่งพระเยาวราช คือได้ทรงจัดโรงเรียนขึ้นในพระตำหนักสวนจิตร์ลดาแลวังสราญรมย์ แลที่ย้ายมาในพระบรมมหาราชวังในบัดนี้ ได้ทรงจัดการศึกษาด้วยพระองค์ แต่ในครั้งนั้นเปนแต่ทรงจัดขึ้นเล็กน้อย คือให้มีนักเรียนเฉภาะแต่มหาดเล็กข้าในกรม วิชาที่สอนก็เปนแต่ชั้นต่ำๆ เพื่อเปนการทดลองพอเปนทางที่จะได้ทรงพระราชดำริห์ต่อไป ก็เปนอันได้สมพระราชประสงค์ตามควรแก่การในครั้งนั้น มาบัดนี้จึงทรงพระราชดำริห์ว่า สมควรจะขยายการศึกษาของโรงเรียนนี้ให้กว้างขวางขึ้นได้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกรรมการขึ้นคณะหนึ่งสำหรับรับพระบรมราชโองการ มาจัดการตามกระแสพระราชดำริห์ แลโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินสวนดุสิตระหว่างถนนซางฮี้ใน ถนนดวงเดือนใน แลคลองเปรมประชากร ให้เปนที่โรงเรียน แลจะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ลงมือก่อสร้างโรงเรียนใหญ่อย่างงดงาม สำหรับเปนโรงเรียนนักเรียนอยู่ประจำ มีที่อยู่ที่เรียนที่เล่นแลที่ฝึกหัดศิลปวิทยาพร้อมสรรพ กับต่อไปจะได้พระราชทานทุนทรัพย์ให้เปนสมบัติของโรงเรียน สำหรับเก็บประโยชน์หรือดอกเบี้ยเลี้ยงโรงเรียนต่อไปชั่วกาลนาน การปลูกสร้างโรงเรียนใหญ่ได้เริ่มเขียนรูปแบบอยู่แล้ว แต่กว่าจะได้ปลูกสร้างสำเร็จบริบูรณ์คงเปนการแรมปี เพราะจะต้องทำให้มั่นคงงดงามเฉลิมพระราชศรัทธา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกโรงเรียนแลเรือนอยู่ชั่วคราวขึ้นด้วยก่อน เพื่อจะได้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กข้าหลวงเดิม ซึ่งตั้งสอนอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั่วคราวไปตั้งที่สวนดุสิตให้ทันคราวเปิดเทอมน่า ราวเดือนมิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ แล้วขยายการรับนักเรียนอื่นๆ เข้าเรียนตามสมัค จัดสอนตามหลักสูตร์หลวงตั้งแต่ชั้นมูล ประถม ตลอดจนมัธยมศึกษาพิเศษ ส่วนนักเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนนั้น ก็ให้เรียนข้อราชการในพระราชสำนักนิ์ สำหรับจะได้เข้ารับราชการในพระราชถานด้วยเปนิเศษอีกส่วนหนึ่ง พระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จางวางมหาดเล็ก ซึ่งมีน่าที่บังคับบัญชาการในกรมมหาดเล็กเปนกรรมการตามน่าที่ นอกนั้นจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งผู้ใดเปนกรรมการพิเศษอีก ก็แล้วแต่จะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควร ในบัดนี้กรรมการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นแล้ว คือ

 

 

พระยาวรพงษ์พิพัฒน์  []

พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ  []

พระยาเทพทวาราวดี  []

พระยาไพศาลศิลปสาตร์  []

นายขัน หุ้มแพร  []

ระเบียบการโรงเรียนซึ่งกรรมการได้รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดต่อไปนั้น คือ

การรับนักเรียน ไม่มีกำหนดวิชา แลอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นเปนรับได้ ในส่วนนักเรียนหลวงแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนเล่าเรียน แก่ผู้ใดที่ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กหลวงแล้ว แต่ส่วนนักเรียนสมัคจะต้องเสียค่าเล่าเรียน แลค่ากินอยู่ในโรงเรียนเดือนละ ๓๐ บาท ค่าเครื่องเรียนแลเครื่องนุ่มห่มนักเรียนต้องออกเอง ตามแต่โรงเรียนจะกำหนดให้ ว่าจะต้องมีอะไรเท่าไร กับจะต้องมีผู้รับรองซึ่งกรรมการโรงเรียนเห็นว่ามีหลักถานสมควรเชื่อได้คนหนึ่ง นักรียนสมัคเมื่อถึงเวลาสมควรจะถวายตัวเปนมหาดเล็กหลวงได้ โรงเรียนก็จะได้จัดการให้ตามปรารถนา

 นักเรียนหลวงกับนักเรียนสมัค จะได้รับความเสมอภาคเหมือนกันหมด ตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน ต่างกันอยู่อย่างเดียวที่ว่านักเรียนหลวงเมื่อออกจากโรงเรียนต้องแล้วแต่พระราชประสงค์ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการทางใด แลกรมมหาดเล็กจะเลือกให้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กเมื่อไรก็ได้ แต่นักเรียนสมัคนั้นแล้วแต่ความประสงค์ เมื่อได้เล่าเรียนเสร็จจากโรงเรียนนี้แล้ว จะเลือกเข้าโรงเรียนวิชาพิเศษอย่างไรต่อไปอีก หรือจะออกประกอบการเลี้ยงชีพทีเดียวก็ได้ตามปรารถนา

นักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องแต่งตัวสำหรับโรงเรียนทุกคน ตามพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวข้าราชการพลเรือน ซึ่งออกประกาศราชกิจจาเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๙ แลจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เปนตัวอย่างคนละสำรับ ต่อนั้นไปถ้าเปนนักเรียนสมัคจะต้องหาของตัวเอง แลเมื่อออกจากโรงเรียนแล้วจะใช้เครื่องแต่งตัวนี้ต่อไปอีกไม่ได้ เว้นไว้แต่ได้รับพระบรมราชานุญาตพิเศษ เวลานักเรียนอยู่ในโรงเรียนตามปรกติแต่งตัวนุ่งผ้าสรวมเสื้อตามธรรมดา

นักเรียนที่ได้เล่าเรียนสำเร็จออกจากโรงเรียน จะได้รับพระราชทานเครื่องระฦก รูปคล้ายแผ่นกำมะหยี่ติดคอเสื้อ สำหรับแขวนที่รังดุมต้นใต้คอเสื้อ ข้างหลังจาฤกนามแลปีที่ออกจากโรงเรียน กับเลขที่ที่สอบไล่ได้ตามลำดับที่ในปีนั้น นอกจากนี้ในระหว่างเวลาเล่าเรียนก็จะพระราชทานรางวัลพิเศษสำหรับชั้นต่างๆ ในการประกวดเฉภาะอย่างเฉภาะวิชาแลการประกวดทั่วไปด้วย แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

การรับนักเรียนสมัคนั้น โรงเรียนจะได้จัดสมุดไว้สำหรับให้เซ็นสมัคล่วงน่าเพื่อความสะดวกของผู้สมัค เมื่อเปิดโรงเรียนเทอมใหม่มีที่ว่างจะรับนักเรียนสมัคเข้าได้เท่าใด จะได้รับเข้าตามลำดับที่มาเซ็นสมัคไว้ก่อน แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ว่า บุตร์กรรมการก็ดี หรือต่อไปหากนักเรียนเก่าของโรงเรียนนี้จะมีบุตร์ขอสมัคเข้าเปนนักเรียนก็ดี ให้ได้เลือกรับเข้าตามลำดับก่อนผู้อื่น สมุดจดชื่อนักเรียนขอสมัคเข้านี้ได้มีไว้ที่โรงเรียนในพระบรมมหาราชวังแล้ว สำหรับผู้ที่จะขอสมัคเข้าเมื่อเปิดโรงเรียนเทอมใหม่ที่สวนดุสิตในศก ๑๓๐

 

พระยาไพศาลศิลปสาตร์

กรรมการจัดการ

โดยอนุมัติของกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมมหาราชวัง”  []

 

 
 

 

[ ]  นามเดิม ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรงพษ์พิพัฒน์

[ ]  นามเดิม นพ ไกรฤกษ์

[ ]  นามเดิม สาย ณ มหาชัย ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบำเรอบริรักษ์

[ ]  นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

[ ]  นามเดิม ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ ]  “แจ้งความโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๒ เมษายน ๑๓๐), หน้า ๑๕ - ๒๐.

 

 

  |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |