โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๑. ทรัพย์สินและเงินผลประโยชน์วชิราวุธวิทยาลัย (๑)

 

          ในบันทึกเรื่อง "สถานภาพวชิราวุธวิทยาลัย" ที่ครูจิต พึ่งประดิษฐ์ อดีตรองผู้บังคับการ และเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ได้สรุปเรื่องทรัพย์สินและเงินผลประโยชน์ที่วชิราวุธวิทยาลัยได้รับพระราชทานสมทบเป็นงบประมาณประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัยมาบ้างแล้ว

 

          ในตอนนี้จึงจะขอกล่าวในรายละเอียดถึงที่มาของทรัพย์สินอันเป็นแหล่งที่มาของเงินผลประโยชน์ที่วชิราวุธวิทยาลัยได้รับพระราชทานในแต่ละปี

 

          ทรัพย์สินก้อนแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นทุนประเดิมของโรงเรียน นอกเหนือจากเงินพระราชทานเป็นค่าใช้จ่ายประจำของโรงเรียน คือเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งทรงพระราชบันทึกไว้ใน "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" ว่า

 

 

พระราชบันทึก "ประวัติรัชกาลที่ ๖" เรื่อง วางระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          เมื่อแรกได้รับพระราชทานเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาทนั้น สภากรรมกรรมกลางมหาดเล็กซึ่งทำหน้าที่เป็นสภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากประจำไว้กับแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ ๔.๕ ต่อปี โดยมีเงื่อนไขการฝากเงินโดยไม่เบิกถอนเลยตลอด ๑๐ ปีนับแต่วันฝากเงินวันฝากเงิน

 

          ต่อจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินรายได้จากการจัดงานฤดูหนาว การจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์ ฯลฯ เป็นส่วนเงินบำรุงโรงเรียน รวมทั้งได้มีพระบรมวงศานุวงศ์และผู้จงรักภักดีทรงบำเพ็ญพระกุศลและบำเพ็ญกุศลโดยบริจาคเงินบำรุงโรงเรียนอีกหลายคราว เงินพระราชทานและเงินบริจาคนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลรักษาในบัญชี "โรงเรียนมหาดเล็กหลวง"

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาขึ้นกับสภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้จัดการดูแลรักษาบัญชีเงินการกุศลของโรงเรียนราชวิทยาลัยและโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ด้วย

 

          บัญชีการกุศลของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ มีรายละเอียดปรากฏใน "รายงานกิจการของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์" ซึ่งพิมพ์แจกในงานประจำปีของโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ ดังนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          อนึ่ง เมื่อเงินทุนพระราชทานจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่ฝากไว้กับแบงก์สยามกัมมาจลใกล้จะครบกำหนดฝาก ๑๐ ปี และปรากฏว่าได้รับดอกผลถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นจำนวนเงิน ๔๔,๗๑๙.๖๐ บาท เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กและผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานถอนเงินฝากจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกผลซึ่งครบกำหนดฝากแล้วไปจัดสร้างตึก ๓ หลังขึ้นในที่ดินริมถนนราชดำริที่พระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียน

 

          เมื่อตึกทั้ง ๓ หลังนั้นสร้างเสร็จ มีผู้เช่าเต็มทั้ง ๓ หลังได้รับค่าเช่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารหลายเท่าตัว ผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างตึกในที่ดินพระราชทานริมถนนถนนราชดำริโดยใช้เงินจากบัญชีการกุศลของโรงเรียนอีก ๕ หลัง ดังปรากฏรายจ่ายในบัญชีการกุศลข้างบน

 

          อนึ่ง ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายในพระราชสำนัก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนัก ประกอบกับทรงพระราชดำริว่า ในเวลานั้นรถไฟสายเหนือได้เปิดเดินรถขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว หากยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เสีย ชาวมณฑลภาคพายัพยังสามารถเดินทางลงมาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ได้โดยสะดวก จึงมีพระบรมราชโองการให้ยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เสียตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘

 

          แต่ยังมิทันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงจะปิดลงตามพระบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติต่อมา มีพระราชดำริให้ปรับปรุงส่วนราชการในพระราชสำนัก ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วต่อมาวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใหม่ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย"

 

          เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ต้องยุบเลิก และมีพระบรมราชโองการให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว บรรดาทรัพย์สินของทั้งสองโรงเรียนนั้นถูกขนย้ายมารวมเก็บรักษาที่วชิราวุธวิทยาลัย ส่วนบัญชีการกุศลของโรงเรียนทั้งสองซึ่งกรมพระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลนั้น ก็ถูกรวมเข้าในบัญชีของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
แต่ที่แปลกคือ แม้จะมีพระบรมราชโองการพระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว กรมพระคลังข้างที่ก็ยังคงดำรงบัญชีของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไว้ และตั้งบัญชีของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นอีกบัญชีหนึ่ง

 

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |