โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๖. เงินพระบรมราชโองการ (๓)

 

          ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลในยุคนั้นได้ยึดทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และของพระบรมวงศ์หลายพระองค์ไปใช้เพื่อประโยชน์ของรัฐ บางส่วนก็ถูกทุบทำลายเ เช่น พระตำหนักวังกลางทุ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ก็ถูกทุบทิ้งเพื่อสนามศุภชลายศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ และโรงโขนหลวงสวนมิสกวันซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโรงละครโอเปราที่สวนและทันสมัยที่สุดในภาคพื้นเอเซียในยุคนั้นก็ถูกทำลายลง โดยอ้างว่าจะสร้างโรงละครแก่งชาติขึ้นใหม่แต่ก็ไม่มีการก่อสร้าง นอกจากนั้นยังมีศาลสนามสถิตยุติธรรมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างไว้ในโอกาสฉลองกรุงเทพฯ ครบ ๑๐๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ เพื่อเป็นพยานสำคัญให้นานาชาติเห็นว่าประเทศสยามได้เริ่มปฏิรูปกิจการศาลยุติธรรมตามแบบนานาอารยประเทศ อันจะเป็นหนทางในการทวงคืนเอกราชทางการศาลก็ถูกทุบทำลายลงในช่วงเวลาเดียวกันนั้น

 

          สำหรับวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ก็ตกอยู่ในสภาพที่ต่างกันนัก ท่านผู้บังคับการพระยาภะรจราชาเคยเล่าให้ฟังว่า ในช่วงเวลานั้นมีความพยายามที่จะเลิกโรงเรียนนี้เสียให้ได้ แต่ติดขัดด้วยข้อกฎหมายที่ว่า โรงเรียนนี้ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช การจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือกนะทำการใดๆ ต่อโรงเรียนนี้จำจะต้องเสนอรัฐสภาออกเป็นพระราชบัญญัติ ความคิดที่จะยึดโรงเรียนนี้จึงเป็นอันระงับไป

 

          ในเมื่อไม่สามารถกระทำการใดๆ กับโรงเรียนได้ตามอำเภอใจ รัฐบาลในยุคนั้นจึงหันมาใช้วิธีปรับเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการไปเป็นนายกรัฐมนตรี และปรับลดเงินอุดหนุนโรงเรียนตามพระบรมราชโองการจากปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท ลงมาเหลือเพียงปีละ ๓๕,๐๐๐ บาท ติดต่อกันมาหลายปี จนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลจึงได้ยินยอมเพิ่มเงินอุดหนุนวชิราวุธวิทยาลัย เริ่มจากพ.ศ. ๒๔๙๐ เพิ่มเป็นปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท และถัดมาในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๕๘ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ พลเอก มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในตำแหน่งนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ได้แถลงในที่ประชุมว่า

 

          "ยอดเงินรายได้ของวชิราวุธวิทยาลัยไม่พอกับรายจ่ายยังขาดอีกหลายหมื่นบาท ถ้าได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกสัก ๑๐๐,๐๐๐ บาท ก็จะเพียงพอกับรายจ่าย ที่จริงรัฐบาลควรจะให้ได้ เพราะในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ และยังทรงอุทิศทรัพย์มฤดกอีกมากให้ไว้เป็นสมบัติของโรงเรียนอีกด้วย และทรัพย์สินที่พระราชทานให้วชิราวุธวิทยาลัยนี้ เก็บผลประโยชน์ได้เท่าใดก็บำรุงโรงเรียนทั้งหมด หักไว้เลี้ยงเจ้าหน้าที่เพียง ๑๐ เปอร์เซนต์ รัฐบาลควรจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอุทิศทรัพย์สินของพระองค์ไว้บำรุงการศึกษาของประเทศชาติสืบมาเช่นนี้ และรัฐบาลควรถือว่าเป็นกำไร เพราะรัฐบาลมีหน้าที่จะต้องให้การศึกษาแก่ประชาชนอยู่แล้ว ถ้าไม่มีใครอุทิศเงินบำรุงการศึกษา รัฐบาลก็ต้องบำรุง เพราะเป็นหน้าที่อันหนึ่งของรัฐบาล และวชิราวุธวิทยาลัยนี้ปรากฏว่าผลประโยชน์ที่ได้ไม่เพียงพอ รัฐบาลก็ควรจะรับเป็นภาระอุดหนุน"  []

 

          ด้วยแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ วชิราวุธวิทยาลัยจึงได้รับเงินรัฐบาลอุดหนุนเพิ่มเป็นปีละ ๓๕๐,๐๐๐ บาท และเนื่องจากรัฐบาลในเดียวกันนั้นรัฐบาล

 

          "มีนโยบายที่จะไม่ให้นักเรียนที่ยังไม่จบการศึกษษชั้นมัธยมปีที่ ๖ ไปเรียนต่อยังต่างประเทศ นักเรียนไทยที่ประสงค์จะไปเรียนต่อยังต่างประเทศจะต้องเรียนสำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๖ ก่อนจึงจะไปได้ และโรงเรียนที่อบรมแบบปับลิคสกูลของต่างประเทศ ก็มีโรงเรียนนี้โรงเรียนเดียวเท่านั้น เมื่อได้รับการศึกษาและอบรมจากโรงเรียนนี้แล้วย่อมจะเป็นการง่ายในการที่จะไปศึกษาอบรมต่อยังต่างประเทศ"  []

 

          จากเหตุผลเรื่องการอนุญาตให้นักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศดังกล่าว ประกอบกับการที่คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยมีความเห็นว่า "การศึกษาในปับลิคสกูล ต่างประเทศยกย่องว่าเป็นการศึกษาอบรมนักเรียนดีที่สุด"  [] คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงมีความเห็นร่วมกันว่า "รัฐบาลควรหาทางสนับสนุนในทางการเงินเพื่อจรรโลงโรงเรียนนี้ให้มั่นคงวัฒนาถาวรสืบไป"  [] ในการนี้คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้มีมติ "ให้ตั้งเงินรัฐบาลอุดหนุนเพิ่มขึ้นเป็น ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาท) ในปี ๒๔๙๔" และเพิ่มเป็นปีละ ๗๕๐,๐๐๐ บาท มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘

 

 

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

นายกรัฐมนตรี ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑

 

 

          จากนั้นมาวชิราวุธวิทยาลัยคงได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปีละ ๗๕๐,๐๐๐ บาทติดต่อกันมาหลายสิบปี จนราว พ.ศ. ๒๕๓๐ ในสมัยผู้บังคับการ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เงินผลประโยชน์ที่พระคลังข้างที่จัดสรรให้แก่โรงเรียนไม่เพียงพอแก่การที่จะดำเนินกิจการโรงเรียนให้เป็นไปโดยราบรื่น ท่านผู้บังคับการจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมราชูปถัมภ์วชิราวุธวิทยาลัยทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมีพระราชกระแสด้วยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นให้ช่วยจัดสรรเงินรัฐบาลอุดหนุนเพิ่มเติมแก่วชิราวุธวิทยาลัย เมื่อนายกรัฐมนตรีเชิญพระราชกระแสเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีๆ จึงได้มีมติให้จัดสรรเงินรัฐบาลอุดหนุนให้แก่วชิราวุธวิทยาลัยเป็น ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท แต่วชิราวุธวิทยาลัยก็คงได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเพียงปีเดียว เมื่อพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ของวชิราวุธวิทยาลัยทวงถามไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้รับคำตอบว่า มติคณะรัฐมนตรีคราวนั้นมิได้กำหนดให้ปรับเพิ่มเงินรัฐบาลอุดหนุนเป็นปีละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทตลอดไป ปีถัดๆ มากระทรวงศึกษาธิการจึงคงจัดสรรงบประมาณอุดหนุนวชิราวุธวิทยาลัยเพียงปีละ ๗๕๐,๐๐๐ บาท เท่าปีก่อนหน้าต่อมาอีกกว่า ๑๐ ปี จนถึงยุค ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ยินยอมปรับเพิ่มเงินรัฐบาลอุดหนุนให้แก่วชิราวุธวิทยาลัยเป็นปีละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท มาจนถึงปัจจุบัน

 

          อนึ่ง เนื่องจากเงินรัฐบาลอุดหนุนตามกระแสพระบรมราชโองการหรือเงินพระบรมราชโองการนี้ เป็นเงินที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดถวายมาตั้งแต่ครั้งโอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงธรรมการไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม และเมื่อกระทรวงยุติธรรมถวายโรงเรียนราชวิทยาลัยมาเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ เงินพระบรมราชโองการหรือเงินรัฐบาลอุดหนุนนี้ก็ถูกโอนมาให้พระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลจัดการเบิกจ่ายให้แก่โรงเรียนราชวิทยาลัย จนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย" ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรเงินรัฐบาลอุดหนุนนั้แก่วชิราวุธวิทยาลัยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ เงินรัฐบาลอุดหนุนแก่วชิราวุธวิทยาลัยนี้จึงเป็นเงินอุดหนุนตามพระบรมราชโองการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นกฎหมาย เป็นเงินคนละยอดกับเงินรัฐบาลอุกหนุนโรงเรียนราษฎร์ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ซึ่งตลอดมาวชิราวุธวิทยาลัยไม่เคยได้ใช้สิทธิขอรับเงินอุดหนุนโรงเรียนราษฎร์จากกระทรวงศึกษาธิการเลย เพราะในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๖๒ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ อธิบดีกรมวิสามัญศึกษาในตำแหน่งกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยได้เสนอต่อที่ประชุมว่า "วชิราวุธวิทยาลัยไม่ควรจะขอเงินประเภทอุดหนุนโรงเรียนราษฎร์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะว่าเราได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลโดยตรงอยู่แล้ว ถ้าเอาเงินจากประเภทอุดหนุนโรงเรียนราษฎร์อีก บางทีจะเป็นเหตุให้ถูกตัดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้ ดังนั้นเมื่อเงินที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐบาลไม่พอ เราก็ควรขอเพิ่มจากรัฐบาลอีก"  [ เมื่อที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของอธิบดีกรมวิสามัญศึกษาแล้ว วชิราวุธวิทยาลัยก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการรับเงินอุดหนุนโรงเรียนราษฎร์ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

          แต่ถึงแม้วชิราวุธวิทยาลัยจะมิได้รับเงินอุดหนุนโรงเรียนราษฎร์ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ก็ตาม แต่ในช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๑๖ ซึ่งเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก้ความในมาตรา ๔๔ ว่าด้วยการอุดหนุนโรงเรียนราษฎร์ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการอุดหนุนและส่งเสริมโรงเรียนราษฎร์ โดย "(๓) ให้เงิน ทั้งนี้เฉพาะแก่โรงเรียนการกุศล"  [] บทบัญญัติดังกล่าวจึงกลายเป็นประเด็นให้นักการเมืองใช้เป็นเหตุผลที่จะตัดเงินอุดหนุนก้อนนี้แก่วชิราวุธวิทยาลัย โดยอ้างว่า ตามกฎหมายนี้กระทรวงศึกษาธิการอาจไม่มีอำนาจเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่วชิราวุธวิทยาลัยดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาได้

 

          เมื่อมีความเห็นขัดแย้งในเรื่องข้อกฎหมายดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยกรรมการร่างกฎหมาย กองที่ ๖ ได้พิจารณาและมีความเห็นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยมีฐานะเป็นโรงเรียนสถาบันการศึกษาที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายพิเศษ เพราะได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช และวัตถุประสงค์การจัดตั้งโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยตามที่ปรากฏในประกาศพระบรมราชโองการ ก็ถือได้ว่าเป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อการกุศล ฉะนั้นการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจึงไม่ขัดกับบทบัญญัติมาตรา ๔๔ (๓) แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๘" ฉะนั้นเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยเป็นดังที่กล่าวมา เรื่องเงินรัฐบาลอุดหนุนวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาแต่ครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงเป็นอันยุติลงนับแต่บัดนั้น.

 

 
 
 

 

[ ]  รายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๕๘ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

[ ]  รายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๕๙ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  รายงานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย ครั้งที่ ๖๒ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕

[ ]  "พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๘", ราชกิจจานุเบกษา ๙๒ ตอนที่ ๔๘, ฉบับพิเศษ หน้า ๔๘.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |