โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๒๑ | ๑๒๒ | ๑๒๓ | ๑๒๔ | ๑๒๕ | ๑๒๖ | ๑๒๗ | ๑๒๘ | ๑๒๙ | ๑๓๐ | ถัดไป |

 

๑๒๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑)

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ ๒ ในพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี [] เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ [] เวลา ๘ นาฬิกา ๕๕ นาที ต่อมาในคราวสมโภชเดือนขึ้นพระอู่เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบเดือนแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ” และโดยที่ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โต ในสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนีจึงทรงออกพระนามว่า “ลูกโต” และทรงเป็น “ทูลกระหม่อมโต” ของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร

 

 

(จากซ้าย) ๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย)
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา)
๓.นายพันโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
๔. นายร้อยเอก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโกประชานาถ)
๕.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

 

 

          ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี ดังนี้

                    ๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์

                    ๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

                    ๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง

                    ๔. จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ []

                    ๕. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

                    ๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง []

                    ๗. นายพลเรือเอก นายพลตรี สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

                    ๘. จางวางตรี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย []

                    ๙. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า “...สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งมีพระชนมายุเป็นที่ ๒ รองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  [] ทรงเจริญพระวัยสมควรที่จะได้รับสุพรรณบัฏ ก็ควรที่จะได้รับพระเกียรติยศ เป็นชั้นที่ ๒ รองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชลงไป...”  [] จึงมีพระบรมราชโองการ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวูธ เอกอัครมหาบุรุษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณ์นาถราชวโรรส มหาสมมตขัตติยพิสุทธิ บรมมกุฎสุริยสันตติวงศ์ อดิศัยพงศ์วโรภโตสุชาติ คุณสังกาศวิมลรัตน์ ทฤฆชนมสวัสดิขัตติยราชกุมาร” มุสิกนาม ทรงศักดินา ๕๐๐๐๐ [] ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม และให้ทรงตั้ง

เจ้ากรม เป็น ขุนเทพทวาราวดี []
ปลัดกรม เป็น หมื่นบุรีนวราษฐ [๑๐]
สมุหบาญชี เป็น หมื่นชาญชาติเกไดศวริย์ [๑๑]

                

          ครั้นทรงเจริญพระชนมายุครบกำหนดในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีมหามงคลการโสกันต์พระราชทาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เริ่มการพระราชพิธีในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคมเป็นวันกำหนดพระฤกษ์จรดพระกรรบิดพระกรรไกรเจริญพระเกศา แล้วมีการสมโภชต่ออีก ๒ วัน ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม จึงเสร็จการ

 

การทรงศึกษา

          ในชั้นต้นทรงเริ่มการศึกษาสรรพวิทยาการต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) พระยาอิศรพันธุ์โศภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) และหม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรวิชาภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษได้ทรงศึกษากับพระอาจารย์ชาวอังกฤษ ชื่อนายโรเบิรต มอแรนต์ (Robert Morant) [๑๒] ผู้เป็นหลานของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ในการถวายพระอักษรภาษาอังกฤษนั้นกล่าวกันว่า นายมอแรนต์ได้จัดถวายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง แม้ในเวลาที่เสด็จประพาสหัวเมืองก็จัดให้ทรงแปลอุปรากร “มิกาโด” (Mikado) ของ กิลเบอร์ต (William S. Gilbert) เป็นภาษาไทย เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ๑๐ พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษาร่วมกับเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง และภายหลังจากที่ฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรียกกันว่า “วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒” เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

 

 

ทรงฉายที่กรุงปารีส คราวเสด็จออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖

(จากซ้าย) ๑. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี
๒. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ
๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

 

 

          อนึ่ง ก่อนที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ [๑๓] เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์  [๑๔ ไป “...สู่สถานที่จะทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ แลจัดการตามสมควร ที่จะให้ทรงเล่าเรียนได้อย่างดีที่สุด...”  [๑๕] นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ณ พระอุโบสถวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ แล้ว “...โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเฉพาะน่าพระที่นั่ง ทรงสรวมสร้อยทองคำลงยาราชาวดีบรรจุพระไชยวัฒน์องค์เล็ก  [๑๖] แลทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทรงเจิมพระราชทาน...”  [๑๗]

 

          จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ทรงนำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ซึ่งจะเสด็จออกไปประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยพระมนตรีพจนกิจ (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) [๑๘]  พระอภิบาล หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ [๑๙] บุตรหม่อมเจ้าอลงกรณ์ ในพระเจ้าบรมไอยกาเธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ซึ่งจะออกไปประจำอยู่กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี ล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าราชวรดิษฐ์แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จขึ้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี และพระเจ้าลูกยาเธอ พะองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กับคณะผู้ตามเสด็จกราบถวายบังคมลา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือหลวงมกุฎราชกุมารใช้จักรแล่นออกไปส่งเสด็จถึงสิงคโปร์ แล้วจึงเปลี่ยนไปประทับเรือเดินสมุทรเสด็จไปขึ้นฝั่งที่เมืองเนเปิล (Naples) ประเทศอิตาลี

 

          สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดีและคณะเสด็จถึงประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ แล้วได้ประทับ ณ สถานอัครราชทูตสยาม เลขที่ ๒๓ แอชเบิร์น เพลส ลอนดอน หรดี ๗ (23 Ashburn Place, London S.W.7) ก่อนที่จะเสด็จไปประทับที่เมืองไบรตัน ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ครั้นนายเบซิล ทอมสัน (Basil Thompson) [๒๐] ซึ่งราชาธิปไตย [๒๑] มอบหมายให้มาจัดการถวายพระอักษรร่วมกับพระมนตรีพจนกิจ ได้ตกลงเลือกแนวทางการถวายพระอักษรโดยวิธีจัดหาครูมาถวายการสอนที่ตำหนักที่ประทับ ในรูปแบบที่เรียกกันในปัจจุบันว่า Home School แทนการจัดให้เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนสามัญเช่นเดียวกับนักเรียนทั่วไปแล้ว จึงได้มีการเช่าบ้านที่นอร์ธ ลอดจ์ (North Lodge) ถนนเฟิร์นแบงค์ (Fernbank Road) เมืองแอสค็อต (Ascot) ถวายเป็นที่ประทับ ในขณะเดียวกันนายทอมสันซึ่งถวายอารักขาอยู่ห่างๆ ก็ได้จัดให้นายฮาโรลด์ เมยัลส์ (Harold Mayall) มาเป็นผู้จัดตารางสอนถวาย โดยวิชาที่จัดถวายนั้นเป็นวิชาระดับมัธยมศึกษา รวมทั้งภาษาละติน (Latin) และยูคลิด (Euclid) หรือวิชาเรขาคณิต ๓ มิติ การออกกำลังกายและฝึกระเบียบแถว รวมทั้งเวลาศึกษาตามลำพัง บ่ายวันพุธว่างไว้สำหรับให้พระมนตรีพจนกิจเฝ้า และบ่ายวันพฤหัสบดี นายร้อยเอก มิเชล ธอมัส ยาร์ (Captain Michael Thomas Yarr) แพทย์ประจำพระองค์เฝ้าเป็นประจำ

 

 

 


[ ]   ต่อมาทรงได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระนางเธอเสวาภาผ่องศรี พระวรราชเทวี, พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ตามลำดับ ต่อมาในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และได้ทรงมอบหมายให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครตราบจนเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระมหานครในปลายปีเดียวกันนั้น และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเสวยสิริราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้วได้ทรงรับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

[ ]  การเปลี่ยนปีทั้งทางจันทรคติและสุริยคติของไทยในอดีตนั้น คงใช้วันที่ ๑ เมษายน ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคม ตามแบบสากลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีแรก

[ ]  ทรงเป็นต้นราชสกุล จักรพงษ์

[ ]  สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ

[ ]  ทรงเป็นต้นราชสกุล จุฑาธุช

[ ]  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

[ ]  ราชบัณฑิตยสภา. เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป, หน้า ๒๐๖.

[ ]  นับเป็นกรณีพิเศษ เพราะในพระราชบัญญัติตำแหน่งศักดินาพระบรมวงษานุวงษ์กำหนดศักดินาสำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าที่ทรงกรมไว้เพียง ๔๐,๐๐๐

[ ]  ธรรมเนียมการเฉลิมพระยศเจ้านายของไทยแต่โบราณนั้น มีที่มาจากการที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้รวบรวมคนเข้าสังกัดหมวดหมู่ตั้งขึ้นเป็นกรมใหญ่ ๒ กรม ให้เจ้ากรมเป็นหลวง มีชื่อว่า หลวงโยธาทิพ กรม ๑ หลวงโยธาเทพ กรม ๑ กรมหลวงโยธาทิพให้ขึ้นในสมเด็จสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาเทพให้ขึ้นในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี คนทั้งหลายจึงเรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์นั้นว่า “เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ” เรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอว่า “เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ” หมายความว่า ผู้เป็นเจ้าของกรมหลวงโยธาทิพและกรมโยธาเทพ ไม่ใช่เป็นนามส่วนพระองค์ ด้วยเหตุนี้ชื่อเจ้ากรมจึงเหมือนกับพระนามเจ้าต่างกรมมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

          นามกรมของเจ้านายแต่ละพระองค์นั้นล้วนเป็นนามที่ไพเราะและมักจะมีความหมายถึงพระปรีชาสามารถในเจ้าต่างกรมพระองค์นั้นๆ แต่นามกรมที่เป็นชื่อหัวเมืองมณฑลต่างๆ ในพระราชอาณาจักรเพิ่งจะเริ่มพระราชทานเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชโอรสพระราชธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจะได้รับพระราชทานพระนามกรมเป็นอดีตราชธานีหรือเป็นชื่อเมืองลูกหลวงชั้นเอก ส่วนปลัดกรมและสมุห์บัญชีซึ่งเป็นตำแหน่งรองจากเจ้ากรมลงไปก็จะมีชื่อเป็นหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ส่วนพระราชโอรสพระราชธิดาชั้นพระองค์เจ้านั้น ต่างก็ได้รับพระราชทานพระนามกรมเป็นนามมณฑลและจังหวัด ส่วนปลัดกรมและสมุห์บัญชีก็จะได้รับพระราชทานนามเป็นชื่อเมืองในมณฑลที่เป็นพระนามกรม หรือชื่ออำเภอในจังหวัดที่เป็นพระนามกรม ลดหลั่นกันลงมาตามพระชันษา

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกทรงกรมนั้น ทรงได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็น “กรมขุนเทพทวาราวดี” เจ้ากรมจึงมีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนเทพทวาราวดี ซึ่งนาม “เทพทวาราวดี” นี้มีความหมายถึง “กรุงเทพทวาราวดี ศรีอยุธยา” หรือ “กรุงศรีอยุธยา”

[ ๑๐ ]  หมายถึง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ หรือ นครเชียงใหม่

[ ๑๑ ]  หมายถึง เมืองเคดาห์ หรือไทรบุรี

[ ๑๒ ]  ท่านผู้นี้เป็นผู้แต่งแบบเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กไทยที่เรียกว่า “บันได เล่ม ๑ - ๔” ภายหลังเดินทางกลับไปรับราชการที่ประเทศอังกฤษแล้วได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษ และได้รับสถาปนาเป็นอัศวินของประเทศอังกฤษ มีนามว่า Sir Robert Morant

[ ๑๓ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์

[ ๑๔ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

[ ๑๕ ]  “ข่าวสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จประเทศยุโรป”, ราชกิจจานุเบกษา ๑๐ (๒๗ สิงหาคม ๑๑๒), หน้า ๒๕๗ - ๒๕๘.

[ ๑๖ ]  พระไชยวัฒน์ทองคำองค์เล็กนี้ มีความปรากฏใน “ข่าวพระราชทานพระไชยวัฒน์ทองคำองค์เล็ก” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันเสาร์ เดือนสิบ แรมแปดค่ำ ปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีระกา จ.ศ. ๑๒๔๗ (พ.ศ. ๒๔๒๘) เนื่องในการที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศยุโรปซึ่งเป็นหนทางไกล แต่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งสำคัญอันใดอันหนึ่งที่เนื่องในพระพุทธศาสนาให้ทรงไว้เป็นเครื่องระลึกบูชา ในเวลาที่ต้องเสด็จไปจากประเทศสยามช้านาน ครั้นจะโปรดเกล้าฯ พระพุทธรูปหรือสิ่งที่มีอยู่แล้วในหอหลวง ก็ล้วนแต่เป็นของโตใหญ่เป็นการลำบากที่นำไปนำมาทุกสิ่งทุกอย่าง จึ่งทรงพระราชดำริให้หล่อพระพุทธรูปอย่างที่เรียกว่าพระไชยวัฒน์องค์หนึ่ง ทองคำหนักเฟื้อง ๑ (กึ่งสลึง) ตั้งการพระราชพิธีสวดมนต์ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ วันเสาร์ เดือนแปด ขึ้นเก้าค่ำ ปีระกาสัปตศก (๒๐ มิถุนายน ๒๔๒๘) สวดครบ ๓ วันแล้ว ณ วันอังคาร เดือนแปด ขึ้นสิบสองค่ำ ปีระกาสัปตศก (๒๓ มิถุนายน ๒๔๒๘) เป็นวันทรงเททองคำหล่อพระไชยวัฒน์องค์เล็ก จำนวน ๕๐ องค์ และได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตลับสำหรับทรงพระไชยนี้ด้วยทองคำลงยา ตลับนั้นทำเป็นรูปและลวดลายคล้ายกับดวงตรารูปปทุมอุณาโลมประจำแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ตลับนี้ที่ตรงกลางเป็นแก้วเปล่าไม่มีอุณาโลมเหมือนปทุมอุณาโลม และมีสร้อยสำหรับสวมคอด้วย บรรดาผู้ที่ได้รับพระไชยวัฒน์ทองคำนี้ไปแล้ว ถ้าไม่มีตัวลงแล้ว ถ้ามีบุตรที่สมควรจะรักษาได้ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ระลึกบูชาสืบไป แต่ต้องนำกลับมาทูลเกล้าฯ ถวาย ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระบรมราโชวาททั้ง ๓ ข้ออีกครั้งหนึ่ง ทั้งต้องรับพระราชทานต่อพระราชหัตถ์ พระบรมราโชวาท ๓ ข้อนั้นมีใจความสำคัญ ดังนี้

                    ๑) ผู้ที่จะได้รับพระราชทานต้องเป็นผู้มีความเชื่อถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาโดยมั่นคง

                    ๒) เป็นผู้มีความรักใคร่ต่อบ้านเมืองและวงศ์ตระกูลของตน

                    ๓) เป็นผู้มีความกตัญญูซึ่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

[ ๑๗ ]  “ข่าวสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ เสด็จประเทศยุโรป”, ราชกิจจานุเบกษา ๑๐ (๒๗ สิงหาคม ๑๑๒), หน้า ๒๕๗ - ๒๕๘.

[ ๑๘ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ แล้วเลื่อนเป็นมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการตามลำดับ

[ ๑๙ ]  หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์ ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร

[ ๒๐ ]  ท่านผู้นี้เป็นบุตรของอาร์ชบิชอพแห่งยอร์ค (Archbishop of York) ซึ่งมีอาวุโสเป็นลำดับที่สองของศาสนจักรอังกฤษ (Church of England) รองจากอาร์ชบิชอพแห่งแคนเตอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury) ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นอัศวินของประเทศอังกฤษ มีนามว่า Sir Basil Thompson

[ ๒๑ ]  หมายถึงรัฐบาลอังกฤษ คำว่าราชาธิปไตยนี้ เป็นคำที่รัฐบาลสยามใช้ในเอกสารต่างๆ เมื่อกล่าวถึงประเทศอังกฤษหรือรัฐบาลอังกฤษในเวลานั้น

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |