โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

 

๑๖๖. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๘)

 

          อนึ่ง ตลอดระยะเวลานับแต่พระบาทสมเด็จสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีฯ เป็นเจ้าจอมจนได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนั้น

 

 

          “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระราชหฤทัย ไม่เห็นมีวี่แววว่าโปรดผู้หญิงคนใดอีก ทรงเป็นพระสามีที่หาไม่ได้ง่ายๆ ดังเขาเล่ากันว่า จะเสด็จไปไหนแม้เวลาแต่งแฟนซีก็ต้องทรงคอยพระมเหสีตั้งชั่วโมงก็ไม่กริ้ว และเวลามีท้องก็เสด็จไปเยี่ยมบ่อยๆ และเอาหนังสือดีๆ ไปอ่านให้ฟัง คุยเล่นเอาใจสารพัด...

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงเป็น นายมั่น ปืนยาว

และเจ้าพระยารามราฆพ แสดงเป็นพระร่วง ในเรื่องพระร่วง

ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พ.ศ. ๒๔๖๖

 

 

          ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ เสด็จไปประทับพระราชวังมฤคทัยวันในระดูร้อน มีการซ้อมละคอนเรื่องพระร่วงสำหรับงานวันประสูตร์สมเด็จอินทร์ฯ ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน แต่คราวนี้มีละคอนหลวงผู้หญิงขึ้นไปเป็นตัวนางในเรื่อง เพราะต้องรำเป็นด้วย เจ้าพระยารามฯ เป็นตัวพระร่วง ในหลวงทรงเป็นนายมั่นพรานป่า คุณหญิงกิมไล้  [] เป็นนางจันทร์ มารดาพระร่วง และแม่ติ๋วกับแม่ตุ๋ยเป็นหลานหม่อมแก้ว  [] ครูละคอนเป็นสาวใช้นางจันทร์ ตอนหนึ่งในเรื่องมีการจับระบำ firting ในระหว่างละครผู้ชายกับผู้หญิง แม่ติ๋วก็ผลักไสได้เห็นจริงกับนายมั่น... รุ่งขึ้นสมเด็จอินทร์ฯ ก็ทูลต่อว่าในหลวงๆ ตรัสตอบว่า “อะไรหึงจนคนอย่างนั้น! ไม่เชื่อก็ไปดูเอาเองซี” แล้วก็ทรงหนังสือให้ฟังต่อไปตามเคย ถึงวันซ้อมอีกครั้งสมเด็จอินทร์ก็ขึ้นรถไสไปดูเอง แต่ปวดตาทนไม่ได้กลับมา แต่นั้นก็ขุ่นเคืองสะบัดสบิ้งอยู่เรื่อย... จนงานวันที่ ๑๐ มิถุนายนได้มีสำเร็จไปแล้วโดยเรียบร้อย แม้คนกรุงเทพฯ ที่ขึ้นไปช่วยงานก็ไม่รู้อะไรกลับมา เขาเล่ากันว่า พอเสร็จงานแล้ว... เจ้าพระยารามฯ ก็จูงมือแม่ติ๋วขึ้นไปเฝ้ารับพระราชทานชื่อใหม่ว่า สุวัทนา พร้อมด้วยเสมาผูกคอชั้นที่ ๒ แล้วตีเพลงโอดกราบถวายบังคมลากลับกรุงเทพฯ กับคณะละคอนหลวงด้วยกัน อีก ๒-๓ วันก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ทางรถไฟแต่พระองค์เดียว เพราะสมเด็จอินทร์ฯ ยังแท้งอยู่มาไม่ได้ แล้วกลับมาทางเรือกับวงษ์ญาติอันต้องพลอยหงอยเหงาไปตามกัน พอถึงกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้วก็ทรงโปรดให้คุณสุวัทนาไปอยู่ที่วังปารุสกวันกับท่านยาย คือ หม่อมแก้ว”  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินลอดซุ้มกระบี่

แห่งราชองครักษ์ทหารบก ทหารเรือ เสือป่าและพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ จำนวน ๔๐ คู่ ๘๐ นาย

พร้อมด้วยเจ้าจอมสุวัทนา ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗

 

 

          ต่อมาวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ทรงราชาภิเษกสมรสด้วย “แม่ติ๋ว” หรือ คุณสุวัทนา อภัยวงศ์ ธิดาพระยาอภัยภูเบศร [] (เลื่อม อภัยวงศ์) กับคุณเล็ก บุนนาค [] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง

 

 

          “อ่านประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอม ชั้นพระสนมเอก แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิม ทรงสวมพระพระธำมรงค์พระราชทาน แล้วพระราชทานหีบกับกระโถนทองคำลงยาเป็นเครื่องยศ อีกทั้งพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๒ และเครื่องเพชรส่วนพระองค์ จากนั้นทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดทะเบียนราชาภิเษกสมรสโดยมีผู้ลงนามเป็นพยานหลายคน เช่น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เจ้าพระยาอภัยราชา  [] เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี ท้าวศรีสุนทรนาฏ เจ้าพระยารามราฆพ พระยาอนิรุทธเทวา พระยาอุดมราชภักดี  [] พระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงทรงคล้องพระกรนำไปนมัสการพระพุทธปฏิมา ณ พระพุทธรัตนสถาน โดยทรงลอดซุ้มประสานดาบแห่งราชองครักษ์ทหารบก ทหารเรือ เสือป่าและพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ จำนวน ๔๐ คู่ ๘๐ นาย ซึ่งร้อง ไชโย ตลอดทาง”  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์

พร้อมด้วยเจ้าจอมสุวัทนา และข้าราชบริพารฝ่ายหน้าฝ่ายใน

ที่บ้านอัษฎางค์ เมืองปีนัง ของนายคอยู่ต๊อก ณ ระนอง มหาดเล็ก

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๗

 

 

          เมื่อได้ทรงราชาภิเษกสมรสด้วยเจ้าจอมสุวัทนาแล้ว ในคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสสิงคโปร์และสหพันธ์มลายาของอังกฤษในระหว่างวันที่ ๒๑ กันยายน - ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนาโดยเสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวนเสด็จในฐานะ “Queen” และเมื่อแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันในระหว่างวันที่ ๑๒ เมษายน - ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดที่ประทับเดิมในเขตพระราชฐานฝ่ายหน้าให้เป็นที่พำนักของเจ้าจอมสุวัทนา ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงย้ายไปประทับที่หมู่พระวิมานที่โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นใหม่ทางตะวันออกของหอเสวย ใกล้กับพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ที่เป็นท้องพระโรงและโรงละคร โดยมีเฉลียงทางเดินมีหลังคาคลุมแล่นถึงกันทั้งหมด

 

          ในระหว่างที่ประทับ ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวันนั้น ถ้าเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีพระราชกรณียกิจที่จะต้องทรงปฏิบัติ เมื่อตื่นพระบรรทมแล้วก็จะเสด็จประทับทรงพระอักษร ณ ห้องเขียนซึ่งอยู่ติดกับห้องพระบรรทม จนใกล้เวลาเสวยพระกระยาหารกลางวันจึงเสด็จพระราชดำเนินไปเสวยเครื่องไทยพร้อมด้วยเจ้าจอมสุวัทนา ที่หอเสวยพระที่นั่งพิศาลสาคร ในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งสมุทพิมานซึ่งเป็นที่ประทับ โดยประทับราบบนพระที่นั่งและเสวยด้วยพระหัตถ์เช่นเดียวกับเวลาที่ประทับ ณ พระราชวังพญาไท เสวยแล้วมักจะเสด็จลงทรงกีฬาแบดมินตัน หรือ คริกเกต พร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายหน้า หรือเสด็จลงสรงน้ำทะเล นอกจากนั้นในตอนบ่ายเกือบทุกวันยังได้โปรดเกล้าฯ

 

 

          “ให้เจ้าจอมสุวัทนาซึ่งกำลังตั้งครรภ์พระหน่อ มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาลงสรงฝ่ายหน้า เพื่อมีพระราชกระแสรับสั่งกับพระราชกุมารในพระครรภ์ ส่วนตอนกลางคืน เวลา ๒๑ นาฬิกา จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับเจ้าจอมสุวัทนา ณ พระที่นั่งสมุทรพิมานหมู่เดิม แล้วทรงคล้องพระกรมาร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารค่ำแบบฝรั่ง ณ หอเสวยของพระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นประจำเกือบทุกคืน ในบางครั้งมีพระบรมวงศ์เสด็จร่วมโต๊ะเสวย”  []

 

 

          ครั้นเป็นที่ตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยแล้วว่า เจ้าจอมสุวัทนาจะได้ถวายพระประสูติการพระหน่อในพระครรภ์ในเวลาไม่ช้านานนัก ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี เสียใหม่ว่า “สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา” และถัดมาวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ก็ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี “เพื่อผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า”   [๑๐]

 

          อนึ่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น เคยทรงพระประชวรพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ ซึ่งกล่าวกันว่า ทรงเป็นรายที่ ๒ ของโลกที่ทรงได้รับการถวายการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ในขณะที่วิทยาการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพิ่งจะเริ่มมีขึ้นก่อนหน้านั้นไม่นาน ครั้นทรงหายจากพระประชวรคราวนั้นแล้ว ยังได้ “ทรงกีฬาและทรงม้าอย่างหักโหม”  [๑๑] มาโดยตลอด จนทรงเริ่มมีพระอาการประชวรครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงทรงผ่อนการออกพระกำลังลงตามคำแนะนำของแพทย์ ด้วยทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่า “รอยเย็บเมื่อทรงผ่าตัดไส้ตันในเมืองอังกฤษนั้น, หลุดจากกันด้วยการเย็บยังไม่ดีพอเกิดเป็นช่องทางให้พระลำไส้ใหญ่เลื่อนลงมา”  [๑๒] และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลงแล้วแพทย์ที่อังกฤษได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จไปทรงรับการผ่าตัดซ้ำอีกครั้ง แต่ก็มิได้เสด็จไปจนท้ายที่สุด “เห็นได้ชัดว่าพระนาภีข้างขวาโตขึ้นและโป่งออกมามากกว่าเดิมทุกที บางทีถึงทรงเอาผ้าคาดรัดไว้เสมอๆ”  [๑๓] และเมื่อเสร็จงานพระราชพิธีฉัตรมงคลในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว คืนวันนั้นก็เริ่มมีอาการพระประชวร “ปวดพระนาภีอย่างที่เรียกว่า (acute appendicitis) ไส้ตันกำเริบ”  [๑๔]

 

          เมื่อพระนางเธอลักษมีลาวัณทรงทราบข่าวพระประชวรในตอนดึกของคืนวันนั้นแล้ว ก็รีบเสด็จเข้าไปฟังพระอาการ โดยได้ประทับ “พระเก้าอี้ตัวหนึ่งใกล้ประตูห้องพระบรรทม”  [๑๕] และได้ “ประทับอยู่ในห้องนั้นเป็นส่วนใหญ่ในอีกหลายวันต่อมา”  [๑๖] แต่สำหรับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ที่เวลานั้นประทับอยู่ที่พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ตะวันออกของท้องพระโรงหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนั้น “คณะแพทย์หลวงต่างลงความเห็นว่าเป็นการดีที่สุดที่ยังไม่ทูลความจริงเรื่องนี้ให้ทรงทราบ เพราะเวลาของพระนางฯ ใกล้ถึงเวลาที่เจ้าฟ้าองค์ใหม่จะประสูติแล้ว หากทรงทราบเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรร้ายแรง อาจทำให้เกิดพระอาการพระหทัยวายเป็นอันตรายต่อพระทารกในพระครรภ์ของพระนางได้”  [๑๗]

 

          ครั้นวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๒.๕๕ น. “พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ประสูติพระธิดาโดยสวัสดิภาพ นายแพทย์ตรวจพระอาการรายงานว่า พระอาการดีอยู่ทั้งพระวรราชเทวีและพระกุมาร”  [๑๘]

 

          อนึ่ง นายแพทย์แมนเดลสัน (R. W. M. Mendelson) ศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาลกลางซึ่งเป็นผู้ถวายผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวทรงพระประชวรครั้งหลังสุดนี้ ได้บันทึก ไว้ใน “PROFESIIONAL RECORD OF THE LAST ILLNESS OF HIS MAJESTY RAMA VI, KING OF SIAM” ซึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลไว้ในชื่อ “บันทึกของหมอแมนเดลสัน ผู้ถวายการผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ใกล้จะมีพระประสูติการ “ทางราชการเตรียมการไว้อย่างเต็มที่ ถ้าพระนางเจ้าฯ มีพระประสูติการเป็นพระราชโอรส ทหารปืนใหญ่ที่ท้องสนามหลวงจะยิงสลุต ๑๐๑ นัด พระสงฆ์จะชยันโตทั่วประเทศ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าองค์เล็กเป็นพระราชธิดา เรื่องเหล่านั้นจึงระงับไป มีประโคมด้วยดนตรีเพียง ๘ นาที อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พอพระราชหฤทัยรับสั่งกับหมอว่า “The next time it would be a boy”  [๑๙]

 

          แต่ภายหลังจากที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ถวายพระประสูติการสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าได้เพียง ๓๖ ชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่ง “ทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเปนพิษในพระอุทรมาแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน นายแพทย์ทั้งหลายทั้งฝ่ายอายุรแพทย์และศัลยแพทย์ได้ปฤกษาพร้อมกันรักษา แต่พระอาการหาคลายไม่ ถึง ณ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤศจิกายนเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เวลาเช้า ๑ นาฬิกา กับ ๔๕ นาที”  [๒๐]

 

 

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดา

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า

สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

 

 

 

          ต่อมาวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่สมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนาม โดยพระราชหัดถเลขาผนึกไว้ที่ทองคำรูปแผ่นอิฐหนัก ๑๐๘ บาท ๕๖ กล่ำว่า สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระราชทานตรารัตนวราภรณ์ฝ่ายใน กับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๑ แด่สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี”  [๒๑] แล้ว

 

 

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ทรงฉลองพระองค์ครุยอาจารย์วชิราวุธวิทยาลัย

 

 

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ก็ทรงพระอภิบาลบำรุงสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาที่พระพลานามัยไม่สมบูรณ์มาโดยลำพังพระองค์ ตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔.

 

 

 


[ ]  ท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล) ชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี และพระสุจริตสุดา

[ ]  หม่อมแก้ว พนมวัน ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น ท้าวศรีสุนทรนาฏ

[ ]  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖, หน้า ๒๗๔.

[ ]  เป็นบุตรชายคนโตองเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ลุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองคนสุดท้าย กับ คุณหญิงสอิ้ง คฑาธรธรณินทร์ (อภัยภูเบศร)

[ ]  เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)และท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)

[ ]  เจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

[ ]  นามเดิม โถ สุจริตกุล

[ ]  เฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๒.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๙.

[ ๑๐ ]  “ประกาศสถาปนาพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๑๑ ตุลาคม ๒๔๖๘), หน้า ๑๙๑ - ๑๙๓.

[ ๑๑ ]  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖, หน้า ๓๑๐.

[ ๑๒ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๑.

[ ๑๓ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

[ ๑๔ ]  ที่เดียวกัน.

[ ๑๕ ]  บันทึกท่านหญิง ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ, หน้า ๑๔๐.

[ ๑๖ ]  ที่เดียวกัน.

[ ๑๗ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๓๙.

[ ๑๘ ]  “ข่าวในพระราชสำนัก”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๖๘), หน้า ๒๖๒๑.

[ ๑๙ ]  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล. “บันทึกของหมอแมนเดลสัน ผู้ถวายการผ่าตัดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”, มานวสาร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๗ (กรกฎาคม ๒๕๒๙), หน้า ๒๓ - ๓๖.

[ ๒๐ ]  “ประกาศ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘), หน้า ๒๓๐ - ๒๓๑.

[ ๒๑ ]  “การสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่เจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๘ ที่ในพระบรมมหาราชวัง”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๑๐ มกราคม ๒๔๖๘), หน้า๓๐๙๔ - ๓๐๙๖.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |