โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๒. การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ()

 

 

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย

 

 

          เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัยชนะในสงครามโลกครั้งนั้นแล้ว กรุงสยามซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสัมพันธมิตรที่ได้ส่งทหารไปร่วมรบในมหาสงครามนั้น ก็ได้รับน้ำใจจากมหาประเทศที่เป็นราชสัมพันธมิตรเชื้อเชิญ "ให้ส่งอรรคราชทูตพิเศษไปเข้านั่งในที่ชุมนุม ๒ คนเท่ากับประเทศสัมพันธมิตร์ในยุโรปบางประเทศ, เช่น รูเมเนีย กรีสและโปรตุเกส เปนต้น ที่ได้ชื่อว่า ได้ร่วมมือกระทำการจริงในมหาสงคราม"  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส และหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล [] ซึ่งทรงเคยดำรงตำแหน่งอัครราชทูตสยาม ณ กรุงเบอร์ลินเมื่อก่อนประกาศสงคราม ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลสยามเข้าร่วมในที่ชุมนุมสันติสมาคม ณ กรุงปารีส พร้อมกันนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่อัครราชทูตพิเศษที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งไปในที่ประชุมสันติภาพครั้งนั้นว่า

 

           "ให้อรรคราชทูตพิเศษถือการชุมนุมนี้เปนโอกาศที่จะคิดขอแก้สัญญาเก่ากับนาๆ ประเทศ, เพื่อกรุงสยามจะได้มีอิศระภาพเต็มเสมอเหมือนกับชาติอื่นทั้งปวง, โดยคิดอ่านขอให้มหาประเทศยอมทำสัญญาใหม่ ซึ่งจะใช้เปนแบบสำหรับทำกับชาติอื่นทั่วไป. การอันนี้เปนการสำคัญยิ่งนัก. เพราะฉนั้นอรรคราชทูตพิเศษต้องเอาใจใส่ให้จงมาก และช่วยกันจัดการตามเวลาอันสมควร, แต่จะกระทำการสิ่งใด ต้องดำริห์ดูให้รอบคอบประกอบด้วยความไหวพริบทุกประการ, จงระวังอย่าให้เขาเกิดมีความระอาหรือความหมางขึ้น ซึ่งอาจเปนเหตุให้เสียประโยชน์ของเราได้."  []

 

          ในการดำเนินการให้เป็นไปตามพระบรมราโชวาทข้างต้น อัครราชทูตผู้แทนทั้งสองพระองค์ได้ทรงร่วมกันดำริว่า

 

          "การที่จะขอแก้สัญญาเก่านั้น เห็นว่าไม่ควรจะนำความขึ้นเสนอในที่ชุมนุมสันติสมาคม, เพราะเปนเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับมหาสงครามโดยเฉภาะ, ถ้าจะนำความขึ้นเสนอในที่ชุมนุมแล้ว เขาอาจจะเห็นเป็นการรบกวนโดยใช่เหตุและเกิดมีความหมางขึ้น, ซึ่งตามพระบรมราโชวาทต้องระวังมิให้เกิดขึ้นเลย เพราะอาจกระทำให้เสียประโยชน์ของเราได้. เห็นว่าทางที่ดีที่สุดก็ควรจะร้องขอตรงต่อทูตพิเศษฝ่ายมหาประเทศที่มีประโยชน์ใหญ่ยิ่งในกรุงสยาม, คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา. และเมื่อได้รับความอุดหนุนจากมหาประเทศเหล่านี้ โดยที่เขายอมทำสัญญาแบบใหม่แล้ว, จึ่งคิดทำกับประเทศอื่นต่อไป.

 

          เมื่อได้ตกลงดังนี้, อรรคราชทูตพิเศษจึ่งได้ไปพูดจาตรงกับทูตพิเศษที่เปนเสนาบดีว่าการต่างประเทศของมหาประเทศทั้ง ๓ ที่กล่าวนามมาแล้ว, และทำบรรทึกชี้แจงเหตุผลที่ร้องขอแก้สัญญาเก่าพร้อมด้วยร่างสัญญาใหม่ที่จะใช้เปนแบบสำหรับทำกับชาติอื่นไปยื่น. ทูตพิเศษฝ่ายมหาประเทศทั้ง ๓ ได้รับรองโดยอัธยาศัยอันดี, และชี่แจงว่าโดยเหตุที่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการสงครามโดยเฉภาะจะส่งไปพิจารณาและคิดอ่านปฤกษากันที่กระทรวงการต่างประเทศ ในประเทศของเขาต่อไป. การที่ไม่ได้นำความเสนอต่อที่ชุมนุมนั้น อย่าว่าแต่เรื่องนี้เลย, แม้แต่เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกรุงสยามและประเทศราชศัตรูโดยเฉภาะ, เช่น เรื่องที่คิดจะจัดการให้ประเทศราชศัตรูยอมรับว่า สัญญาเก่าระหว่างกรุงสยามและประเทศราชศัตรู ที่ตัดอิศระภาพของกรุงสยามเปนอันลบล้างกันไปแล้วตั้งแต่กรุงสยามได้ประกาศสงคราม, และเรื่องให้ยอมรับว่าการต่างๆ ที่กรุงสยามได้กระทำไปเกี่ยวกับชนชาติศัตรูและทรัพย์สมบัติของพวกเหล่านี้ เปนอันถูกต้องทั้งสิ้น เปนต้น. อรรคราชทูตพิเศษก็ไม่ได้นำเสนอต่อที่ชุมนุม, ได้ขอให้คณะทูตพิเศษฝ่ายมหาประเทศทั้ง ๓ ช่วยเปนธุระจัดการให้แทน"   []

 

          ผลจากการที่อัครราชทูตพิเศษผู้แทนรัฐบาลสยามได้ดำเนินไปในที่ชุมนุมสันติภาพโดย "ไม่ได้รบกวนจู้จี้เหมือนประเทศอื่น, ซึ่งวุ่นร้องขอจะเอาประโยชน์ต่างๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด" นั้น เมื่อมีการลงนามในสัญญาสันติภาพกับเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการีแล้ว สยามจึงได้รับประโยชน์อันใหญ่ยิ่งจากผลของการเข้าร่วมในมหาสงครามครั้งนั้น กล่าวคือ

 

          "ได้ลบล้างสัญญาเก่ากับเยอรมันที่ตัดอิศระภาพกรุงสยาม; ตั้งแต่บัดนี้เปนต้นไปกรุงสยามคงมีอิศระภาพเต็มต่อเยอรมันทุกประการ. จริงอยู่, เมื่อประกาศสงคราม, ฝ่ายเราได้ถือว่าสัญญานี้ได้ลบล้างไปแล้ว, แต่ข้อสำคัญต้องให้เยอรมันยอมรับว่าการเปนเช่นนั้น ตามสัญญาสันติภาพข้อ ๑๓๕. ราชสัมพันธมิตร์ได้จัดการให้เยอรมันอย่างแน่นอน, มีความบ่งลงไปชัดเจนว่า เยอรมันยอมรับว่าบรรดาสัญญาที่ได้ทำกับกรุงสยาม, ทั้งสิทธิที่พึงมีในส่วนอำนาจศาลกงสุล, เปนอันยกเลิกทั้งสิ้นตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม, พ.ศ. ๒๔๖๐ เปนต้นไป. การที่ลงข้อความไว้เช่นนี้ สำคัญยิ่งนัก, เพราะนอกจากที่จะกันไม่ให้เยอรมันมาร้องคัดค้านขึ้นอย่างไรในภายน่า, ยังเปนการที่แสดงให้เห็นว่าราชสัมพันธมิตร์ถือว่า กรุงสยามมีความเจริญพอที่จะยอมให้ชนชาติฝรั่งมาขึ้นอยู่ในอำนาจศาลไทย, ซึ่งไม่ได้ยอมให้ในส่วนประเทศจีนดังปรากฏตามสัญญาสันติภาพในตอนที่ว่าด้วยการของประเทศจีน, ซึ่งไม่มีข้อความบ่งไว้เช่นนั้น. จึ่งเห็นได้ว่าประโยชน์ที่กรุงสยามได้รับในส่วนนี้ย่อมเปนประโยชน์สำคัญอันใหญ่ยิ่ง.

 

          นอกจากนั้น, กรุงสยามยังได้รับประโยชน์ในส่วนเรือเยอรมันที่ได้ริบเปนพระราชภัทยา, โดยที่เยอรมันยอมรับว่าตามที่ศาลทรัพย์เชลยตัดสินไปนั้นเปนอันถูกต้องทุกประการ, ไม่คิดเรียกร้องค่าเสียหายอย่างไร. และในการที่กรุงสยามได้จัดการไปในส่วนชนชาติศัตรูและทรัพย์สมบัติของชนชาติศัตรู, เยอรมันก็ยอมรับว่าถูกต้องเช่นเดียวกัน ไม่คิดเรียกร้องค่าเสียหายอย่างไร, เปนแต่ส่วนทรัพย์สมบัติของชนชาติศัตรูต้องส่งคืน, เมื่อได้หักใช้ณี่ที่เยอรมันจะต้องเสียให้แก่เราแล้ว."

  []

 

          ส่วนประโยชน์ที่กรุงสยามได้รับจากออสเตรียและฮังการีนั้น ก็มีข้อความเช่นเดียวกับที่สยามได้รับจากเยอรมัน ผิดกันอยู่แต่ในเรื่องเรือ ซึ่งไม่มีข้อความในสัญญาสันติภาพ เพราะออสเตรียและฮังการีไม่ได้มีเรือที่กรุงสยามได้ยึดไว้

 

          ในขณะที่อัครราชทูตผู้แทนพิเศษทั้งสองพระองค์ ทรงดำเนินวิเทโศบายทางการทูต ณ ที่ประชุมสันติสมาคม ณ กรุงปารีสนั้น ในประเทสยามก็มีการดำเนินการคู่ขนานพร้อมกันไป ดังมีความปรากฏในบันทึกความทรงจำของศาสนาจารย์ วิลเลียม แฮรืริส อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทรงวางศิลารากโรงเรียนแห่งใหม่ของคณะมิชชันนารีอเมริกันที่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๔๘ว่า "นายเจมส์   []ได้ขอร้องให้ฉันช่วยเตรียมบันทึกเกี่ยวกับสนธิสัญญาฉบับแก้ไขใหม่ กับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยปรารถนาจะให้มีการแก้ไขสนธิสัญญาฉบับเก่า บันทึกฉบับนี้ นายชาร์ล เฮนรี บัทเลอร์ ลูกพี่ลูกน้องของฉันได้ยื่นต่อนายแลนซิง ที่กรุงวอชิงตัน"  []

 

 

สามชาวอเมริกันผู้มีส่วนร่วมเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างสยามและสหรัฐอเมริกา

(จากซ้าย)

๑. ศาสนาจารย์ วิลเลียม แฮร์รีส (Rev.William Harris) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนปรินส์รอยแนลส์วิทยาลัย

๒. นายเอลดอน เจมส์ (Eldon R. James) ที่ปรึการาชการกระทรวงการต่างประเทศ

๓. นายโรเบิร์ต แลนซิง (Robert Lansing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

 

 

          การที่ศาสนาจารย์ วิลเลียม แฮร์ริส ได้เข้ามามีบทบาทในการเตรียมการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ และคณะนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปสอบค้นเอกสารหลักฐานที่ Mudd Libraly และ Princeton Archive ของมหาวิทยาลัยพรินสตัน (Princeton University) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งนอกจากจะได้ "ค้นพบประวัติของพ่อครูวิลเลียม แฮรีส, นายชาลส์ เฮนรี บัทเตอร์  [], นายโรเบิร์ต แลนซิง  [] ประธานาธิบดีวูดโร วิลสัน และนายฟรานซิส บี. แซร์  [๑๐] ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศต่างๆ ในเอเชียทั้งสิ้น"  [๑๑] แล้ว คณะผู้ศึกษาค้นคว้ายังได้พบหลักฐานเกี่ยวกับการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกาอีกว่า

 

 

          "หลังจากปฏิบัติภารกิจศึกษาปัญหาสัญญาฉบับเก่าและหาทางแก้ไข นายเอลดอน เจมส์ ได้เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ได้ชี้แจงให้ฝ่ายอเมริกันเห็นว่า ประเทศเล็กๆ อย่างสยามเสียเปรียบอย่างมากจากสนธิสัญญา ประเทศมหาอำนาจควรปลดปล่อยให้สยามพ้นจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือให้มีอิสระในอำนาจอธิปไตยทางการศาล และมีสิทธิในการกำหนการเก็บอัตราภาษีการค้าต่างประเทศเอง เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาประเทศหลังสงครามโลกซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

 

          รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตระหนักถึงความสำคัญของผลประโยชน์และสภาพปัญหาของประเทศจีน และญี่ปุ่นในเอเชียมากกว่าประเทศเล็กๆ อย่างสยาม เมื่อมีการขอแก้ไขสนธิสัญญาสยามกับสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจึงต้องสอบถามข้อมูลรายละเอียดจากมิชชันนารีอเมริกัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่นายเอลดอน เจมส์ เดินทางมาหาข้อมูลขากพ่อครูวิลเลียม แฮรีส ผู้มีสายสัมพันธ์กับผู้นำสหรัฐเพราะเป็นผู้สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินสตัน และคณะศาสนศาสตร์จากพระคริสตธรรมพรินสตัน รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับ วูดโร วิลสัน อดีตประธานมหาวิทยาลัยพรินสตัน (พ.ศ. ๒๔๔๕ - พ.ศ. ๒๔๕๓) และเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. ๒๔๕๖ - พ.ศ. ๒๔๖๔) ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ และเป็นผู้ประกาศยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้สยามเป็นประเทศแรก" [๑๒]

 

 

 


[ ]  "กรุงสยามในที่ชุมนุมสันติสมาคม", ดุสิตสมิต เล่ม ๖ ฉบับที่ ๖๕ (๒๐ มีนาคม ๒๔๖๒), หน้า ๑๗๑.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย

[ "กรุงสยามในที่ชุมนุมสันติสมาคม (ต่อ)", ดุสิตสมิต เล่ม ๖ ฉบับที่ ๖๖ (๒๗ มีนาคม ๒๔๖๒),หน้า ๑๘๖.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘๖ - ๑๘๗.

[ "กรุงสยามในที่ชุมนุมสันติสมาคม (ต่อ)", ดุสิตสมิต เล่ม ๗ ฉบับที่ ๖๗ (๓ เมษายน ๒๔๖๓),หน้า ๑๐ - ๑๑.

[ นายเอลดอน อาร์ เจมส์ (Eldon R. James) ชาวอเมริกัน ก่อนที่จะเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศและกรรมการศาลฎีกาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ต่อจากพระยากัลยาณไมตรี (เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด) ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๖๗ นั้น เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยซินซินเนติและมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กับเป็นคณบดีโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี

[ ]  ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, โรงเรียน. ฉันพร้อมที่จะเดินฝ่ากำแพงหิน, หน้า ๑๙๓.

[ เป็นบุตรของ Benjamin F. Butler อดีตอัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ในเวลานั้นเป็น reporter of decisions แห่งศาลสูงสหรัฐอเมริกา

[ เวลานั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศแล้ว ได้ประกอบอาชีพเป็นลอบบี้ยิสต์ เก่ยวกับการแก้ไขสนธิสัญญาที่ประเทศต่าง ได้ทำไว้กับสหรัฐอเมริกา เพือจะได้สนธิสัญญาฉบับใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ อาทิ ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น โดยยึดเอาสนธิสัญาที่สยามทำกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นต้นแบบ

[ ๑๐ ]  ศาสตราจารย์วิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยพรินสตัน ซึ่งต่อมาได้รับราชการเป็นที่ปรึกษาราชการกระทรวงการต่างประเทศสยาม และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยากัลยาณไมตรี

[ ๑๑ ฉันพร้อมที่จะเดินฝ่ากำแพงหิน, หน้า ๑๙๕.

[ ๑๒เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๙๖ - ๑๙๗.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |