โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

 

๓. โรงเรียนเด็กเล็ก (๑)

 

          เมื่อศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์  สมุทวณิช ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๕๐ นั้น
ได้มีการสอบถามกันถึงใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยกันขึ้น แต่ก็ไม่มีผู้ใดเคยเห็น หรือทราบว่ามีอยู่หรือไม่ จึงได้ติดต่อสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วในที่สุดก็ได้รับใบแทนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ตามความในมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ มาฉบับหนึ่ง ซึ่งในใบแทนในอนุญาตดังกล่าวนั้นระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ที่บ้านเลขที่ ๙๖๓ ถนนสะพานแดง แขวงสะพานเจริญพาสน์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร จัดตั้งโรงเรียนเอกชนชื่อ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่เลขที่ ๑๙๗ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงฉลองพระองค์พลเรือน ทรงฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิตสยาม


 

          ความในใบอนุญาตดังกล่าวนี้ดูจะขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานทางราชการหลายประการ กล่าวคือ

 

          ๑) นามผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเสด็จสวรรคตไปตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ อีกทั้งโดยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ก็บัญญัติให้บรรดาทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ที่มิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ทรงมีอยู่แต่ก่อนเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ หรือทรัพย์สินที่รัฐบาลทูลเกล้า ฯ ถวาย หรือทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใด นอกจากที่ทรงด้มาในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ รวมทั้งดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย หรือมิได้เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า พระราชวัง ให้ถือว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

          ในเมื่อวชิราวุธวิทยาลัยหรือเดิมคือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติแล้ว โรงเรียนนี้จึงมีฐานะเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ฉะนั้นในการออกใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ จึงน่าจะออกในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งทรงดำรงสิริราชสมบัติอยู่ในเวลานั้น

 

          ๒) ที่อยู่ของผู้ใบอนุญาตตามที่ปรากฏในใบแทนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ซึ่งระบุไว้ที่ บ้านเลขที่ ๙๖๓ ถนนสะพานแดง แขวงสะพานเจริญพาสน์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมานครนั้น ก็เป็นที่อยู่ที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้

          นอกจากนั้นตาฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย ก็มีการระบุสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เป็นมาตรฐานมาช้านาน คือ เลขที่ ๑ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ฉะนั้น ที่อยู่ของผู้รับใบอนุญาตตามที่ปรากฏในใบแทนใบอนุญาตนั้นจึงออกจะผิดปกติวิสัยอยู่

 

          ๓) สถานที่ตั้งโรงเรียนตามใบอนุญาตดังกล่าวระบุว่า ตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๑๙๗ ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานครนั้น นอกจากจะแย้งกับทะเบียนราษฎรของโรงเรียน ที่ระบุสถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ที่ เลขที่ ๑๙๗ ถนนราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพมหานครแล้ว ยังขัดกับหลักฐานเดิมของกระทรวงธรรมการที่ระบุว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนซางฮี้ใน (ถนนราชวิถี) อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร

          อนึ่ง ใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนฉบับดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการออกให้ไว้เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ยังขัดกับข้อเท็จจริงในประเด็นอื่น ๆ อีก กล่าวคือ
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ดังมีพยานปรากฏใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ซึ่งทรงพระราชบันทึกไว้ด้วยลายพระราชหัตถ์

          ในเวลาที่พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนโรงเรียน จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงมีการตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ และตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๕ ในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้ “เสนาบดีกระทรวงธรรมการแจ้งความด้วยจดหมายแก่ผู้จัดการโรงเรียนทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในขณะที่ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ว่า ถ้ามีความประสงค์จะดำรงโรงเรียนนี้สืบไป จะต้องปฏิบัติตามบทพระราชบัญญัตินี้ให้บริบูรณ์ แลให้บอกความจำนงแก่เสนาบดีกระทรวงธรรมการภายในกำหนด ๒ เดือน นับแต่วันที่ได้ทราบจดหมายแจ้งความนั้นฯ”

 

 

เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ)
ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          ในคราวนั้นจางวางเอก พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ  พึ่งบุญ - ต่อมาเป็น เจ้าพระยารามราฆพ) อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้อำนวยการโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้ยื่นคำขอดำรงโรงเรียนในพระบรมราชูถัมภ์ทั้งสี่โรงเรียน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนพรานหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ซึ่งต่อมากระทรวงธรรมการ ก็ได้ออก
ประกาศอนุญาตให้โรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนพรานหลวง เป็นโรงเรียนราษฎร์หมายเลข ๑, ๒ และ ๔ ของมณฑลกรุงเทพฯ ส่วนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่เป็นลำดับที่ ๑ ของมณฑลพายัพ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว

          โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ โรงเรียนคงเปิดการเรียนการสอนสืบมาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมโรงเรียนและพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ผ่านมา

          เนื่องจากเรื่องการจดทะเบียนโรงเรียนราษฎร์และการออกใบแทนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ นั้น เป็นเรื่องที่มีประวัติความเป็นมาที่สลับซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับการจัดตั้งคณะเด็กเล็กหรือโรงเรียนเด็กเล็กขึ้นที่อีกฟากหนึ่งของถนนสุโขทัย จึงต้องขออนุญาตยกยอดไปกล่าวถึงโดยละเอียดในตอนต่อไป

 

 
 
 

 

|    |    |    |    |    |    |    |    |    |  ๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |