โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๘. กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ()

 

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๕ พระตำรวจโท พระยาอนุชิตชาญชัย กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพราะชราภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลตรี พระยาราชวัลภานุสิษฐ [] (อ๊อด ศุภมิตร) อดีตราชองครักษ์ประจำพระองค์ครั้งประทับทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ย้ายจากตำแหน่งกรมวังประจำพระองค์มาดำรงตำแหน่งสมุหพระตำรวจ และได้ดำรงตำแหน่งนี้ตลอดมาตราบจนยุบเลิกตำแหน่งนี้ในคราวจัดระเบียบราชการในพระราชสำนักตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          กรมพระตำรวจเมื่อยกมารวมเป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงวังแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบราชการในกรมพระตำรวจเป็น ๒ ส่วน คือ

               ๑. กองบัญชาการกลางกรมพระตำรวจ จัดเป็น ๓ แผนก คือ

                         ๑.๑ แผนกผู้ช่วยสมุหพระตำรวจ มีผู้ช่วยสมุหพระตำรวจเป็นหัวหน้า มีนายเวรหรือเลขานุการและเสมียนพนักงานประจำแผนกตามสมควร มีหน้าที่ในการโต้ตอบ รับส่ง และเก็บหนังสือราชการต่างๆ ที่มีไปมาในระหว่างกรมพระตำรวจ ทั้งมีหน้าที่ในการวางระเบียบดำเนินคำสั่งของสมุหพระตำรวจไปสั่งการ

                         ๑.๒ แผนกสมุห์บัญชีกรมพระตำรวจ มีสมุหบาญชีพระตำรวจเป็นหัวหน้ารับผิดชอบราชการในแผนก กับมี

                                   ก. เจ้าพนักงานคลังเงินกรมพระตำรวจ ๑

                                   ข. ยกระบัตร์กรมพระตำรวจ ๑

รวมขึ้นอยู่ในแผนกนี้ มีหน้าที่ในการเบิกจ่ายสรรพสิ่งของและเงินที่จะต้องใช้ในกรมพระตำรวจ ตลอดจนการโยธาดูแลรักษาสถานที่และเครื่องใช้ในกรมพระตำรวจ

                         ๑.๓ แผนกตำรวจประจำกองบัญชาการกลาง มีนายตำรวจต่างๆที่เหลือจากเข้าประจำกองต่างๆ ในกองประจำการมาประจำในกองกลางนี้ เพื่อใช้เข้ารับราชการในแผนกหนึ่งแผนกใดที่ขาดเหลือบกพร่องไม่มีตัวนายตำรวจที่จะรับราชการ

 

               ๒. กองตำรวจประจำการ จัดเป็น ๔ หมวด คือ

                         หมวดที่ ๑ หมวดพระยามหาเทพ มีขุนตำรวจเอก พระยามหาเทพ เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย เป็นผู้บังคับหมวด

                         หมวดที่ ๒ หมวดพระยามหามนตรี มีขุนตำรวจเอก พระยามหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา เป็นผู้บังคับหมวด

                         สองหมวดนี้มี ขุนตำรวจโท พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา และขุนตำรวจโท พระอินทรเดช เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย เป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวด

                         หมวดที่ ๓ หมวดพระพิเรนทรเทพ มีขุนตำรวจเอก พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา เป็นผู้บังคับหมวด

                         หมวดที่ ๔ หมวดพระอินทรเทพ มีขุนตำรวจเอก พระอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้ายขวา เป็นผู้บังคับหมวด

                         สองหมวดนี้มีขุนตำรวจโท พระสุริยภักดี เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารซ้าย และขุนตำรวจโท พระพรหมบริรักษ์ เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารซ้าย เป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวด

 

                         หมวดพระตำรวจทั้ง ๔ หมวดนั้น ต่างก็มีขุนตำรวจและนายตำรวจประจำหมวดๆ ละ ๑๐ นาย ส่วนกำลังพลในแต่ละหมวดนั้นโปรดให้ใช้ข้าราชการกรมมหรสพสมทบเข้าเป็นพลพระตำรวจ

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมพระตำรวจหลวงมาสังกัดกระทรวงวังแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนเครื่องแบบพระตำรวจหลวงจากเดิมที่เคยใช้เสื้อสีเทาและกางเกงสีน้ำเงินแก่อย่างทหารบก มาใช้เครื่องแบบอย่างนักรบไทยในอดีตผสมกับเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก คือ

 

 

พระตำรวจ ขุนตำรวจ และนายตำรวจ แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ในงานบรรจุพระอังคาร

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ณ วัดราชาธิวาส

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓

 

 

เครื่องแบบเต็มยศ

หมวก

ทรงประพาสกำมะหยี่สีดำขลิบแถบทอง ยอดเกี้ยวโลหะสีทอง หน้าหมวกติดตราพระมหามงกุฎวชิราวุธเหนือพระครุฑพาห์โลหะสีทอง พระตำรวจหลวงยศชั้นพระตำรวจ (เทียบยศชั้นนายพล) เพิ่มขนนกขาวสลับแดงปักที่ยอดหมวก

 

 

เสื้อ

สักหลาดสีน้ำเงินอ่อนรูปทูนิค (Tunic) คอตั้ง คอและข้อมือสีบานเย็น

นายตำรวจ

มีแถบทองใหญ่ขลิบรอบคอ ข้อมือ ต้นแขน และรอบชายขอบเสื้อ

ขุนตำรวจ มีแถบทองใหญ่ขลิบรอบคอ ข้อมือ ต้นแขน และรอบชายขอบเสื้อ กับมีแถบทองเล็กขลิบใต้แถบทองใหญ่ที่คอและข้อมือเสื้อ
พระตำรวจ เปลี่ยนแถบไหมทองที่รอบคอ ข้อมือ ต้นแขน และรอบชายขอบเสื้อเป็นลายถักปักไหมทอง บ่าทั้งสองข้างติดอินทรธนูไหมเกลียวสีทอง กับมีดาราทองหมายยศ ติดที่ข้อมือเสื้อตามลำดับชั้นยศ คือ เอก ๓ ดวง โท ๒ ดวง ตรี ๑ ดวง

 

 

รัดประคต

ไหมแดงขลิบทอง มีพู่แดงสลับทอง พระตำรวจเปลี่ยนเป็นประคตไหมทอง

 

 

ผ้านุ่ง

ไหมสีน้ำเงินแก่เชิงทอง

 

 

ถุงเท้า

ยาวสีขาว

 

 

รองเท้า

หนังดำผูกเชือก

 

 

กระบี่

ไทย ฝักเงินเครื่องทอง ผูกพู่กระบี่ไหมทอง มีสายกระบี่แถบทองใช้สะพายเฉียงบ่าขวา

 

 

สี่พระตำรวจแต่งเครื่องแบบครึ่งยศนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

เครื่องแบบเต็มยศขาว ครึ่งยศ และปกติ

หมวก

ทรงประพาสเหมือนเต็มยศ

 

 

เสื้อ

ผ้าขาวแบบราชการ (ราชปะแตน) มีดุมทองตราพระมหามงกุฎ ๕ ดุม กับมีแผ่นติดคอเสื้อกว้าง ๔ เซนติเมตรครึ่ง หุ้มกำมะหยี่หมายสีบานเย็น รูปสี่เหลี่ยมรีปลายเสี้ยม ยาวไม่เกินกว่าขอคอเสื้อถึงตะเข็บเสื้อกลางบ่า ติดที่คอเสื้อตามลำดับชั้นยศ คือ

พระตำรวจ ปักไหมทองเป็นลายที่ริมขอบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นทาบแถบไหม
ทองเต็มทั้งแผ่น
ขุนตำรวจ ทาบแถบทองกว้าง ๑ เซนติเมตรที่ริมขอบ กับมีแถบทอง กว้างกึ่งเซนติเมตรพาดกลางตามทางยาวของแผ่นคอ
นายตำรวจ ทาบแถบทองกว้าง ๑ เซนติเมตรที่ริมขอบ ที่บนแผ่นทาบคอ เสื้อทุกชั้นยศติดเครื่องหมายประจำการรูปอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร.พระมหามงกุฎต่อมาเปลี่ยนเป็นพระมหามงกุฎทองมีรัศมี กับติดดาราทองหมายยศบนแผ่นคอ ตามลำดับชั้นยศ คือ เอก ๓ ดวง โท ๒ ดวง ตรี ๑ ดวง

 

 

รัดประคต

ไหมแดง พู่ไหมแดง

 

 

ผ้านุ่ง

ไหมสีน้ำเงิน

 

 

ถุงเท้า

ยาวสีขาว

 

 

รองเท้า

หนังดำมันแบบค๊อตชู (Court Shoe) มีเข็มทอง

 

 

กระบี่

ไทย ฝักเงินเครื่องทอง ผูกพู่กระบี่ไหมทอง
 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาราชศุภมิตร

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |