โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๑. คนหลวง

 

 

          คนหลวงในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คือ ผู้ที่ได้ถวายดอกไม้ธูปเทียนเข้ารับราชการในพระราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ซึ่งมีทั้งโอรสธิดาของเจ้านาย บุตรธิดาของข้าราชการตลอดจนพ่อค้าประชาชน

 

          ผู้ที่ได้ถวายตัวเป็นคนหลวงแล้ว ถือว่าขาดการปกครองจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาอยู่ในความชุบเลี้ยงของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะได้รับพระราชทานเงินตราผ้านุ่งผ้าห่มตามฐานานุรูป และมีฐานะเป็นคนข้อมือขาว หรือผู้ที่ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานเข้ารับราชการ จึงไม่ต้องสักเลขหมู่กรมกองที่สังกัดไว้ที่ท้องแขนเช่นประชาชนทั่วไป

 

 

เสมาอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖ พระมหามงกุฎ

 

 

          คนหลวงที่ยังอยู่ในวัยเยาว์นั้นมีหน้าที่หลักคือการเรียนรู้ข้อราชการ เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติราชการทั้งในพระราชสำนัก หรือในส่วนราชการอื่นๆ สุดแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร บรรดาคนหลวงจึงต้องเป็นผู้ที่ต้องประพฤติดีและปฏิบัติชอบห้ต้องด้วยพระราชนิยม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัยก็มักจะถูกกริ้ว ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว "ผู้ที่ถูกกริ้วจริงๆ จะต้องสั่งย้ายให้ไปอยู่ที่อื่น เช่นกระทรวงวัง กรมมหรสพ กรมพระอัศวราช"  [] ซึ่งมีโอกาสเติบโตในราชการน้อยกว่าอยู่ในกรมมหาดเล็กรับใช้ หรือมีบางรายถึงกับต้องปลดเป็นกองหนุนรับพระราชทานเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญตามแต่กรณี "พอหายกริ้ว ก็ต้องได้รับเครื่องหมายส่วนพระองค์ มีเสมา ว.ป.ร. ลงยา เข็มพระปรมาภิไธยลงยา ดุมหน้าอกทอง ดุมเสื้อเชิ้ตแหนบปากกระเป๋า เหรียญรัตนาภรณ์ ฯลฯ"  [] เป็นเครื่องหมายว่า มิได้ทรงผูกใจเจ็บ แต่ต้องทรงลงพระราชอาญาเพื่อให้หลาบจำ

 

          อนึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีมหาดเล็กอีกจำพวกหนึ่งเรียกกันว่า "เวรถูกกริ้ว" ผู้ที่เป็นเวรถูกกริ้วนี้ล้วนเป็นมหาดเล็กกองตั้งเครื่อง ซึ่งอยู่ในข่ายได้รับพระราชทานพระมหากรุณาพิเศษ เช่น พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) และจมื่นเทพดรุณาธร (เปรื่อง  กัลยาณมิตร) เมื่อถึงเวรถวายงานรับใช้ที่โต๊ะเสวยทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นต้องถูกกริ้วทุกครั้ง เหตุที่ทรงกริ้วนั้นกล่าวกันว่า ไม่มีเรื่องผิดคิดร้ายอะไร แต่ไม่ว่าจะทำอะไรเป็นไม่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัยทั้งนั้น นอกจากไม่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัยแล้วยังทรงค่อนแคะต่างๆ นานา แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกเวรถูกกริ้วนี้ต้องย้ายออกจากกรมมหาดเล็กรับใช้ไปรับราชการที่กรมอื่นในพระราชสำนักเช่นผู้ที่ถูกกริ้วจริงๆ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศบรรดาศักดิ์ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งบำเหน็จความชอบในพระองค์ให้ตามควรแก่โอกาส จึงกล่าวกันว่า ที่ทรงกริ้วนั้นเหมือนจะทรงยั่วให้ผู้ที่ถูกกริ้วนั้นโกรธ เพื่อจะได้แสดงอุปนิสัยใจคอให้ทรงรู้จักโดยถ่องแท้

 

          ผู้ที่ปฏิบัติตนไม่ต้องด้วยพระราชนิยม เช่น ประพฤติตนเป็นนักเลงผู้หญิง หรือเสพสุราเป็นอาจิณ ก็มักจะได้รับพระอาญาหนักเบาต่างกันไปตามโทษานุโทษ เช่น ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ยังคงให้อยู่ในตำแหน่งราชการบ้าง ถอดจากยศบรรดาศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง เมื่อสำนึกผิดและถวายสัตย์ปฏิญญาจะไม่กระทำผิดอีก ก็มักจะได้รับพระมหากรุณาให้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง แต่หากยังขืนกระทำผิดซ้ำอีกก็อาจจะโปรดเกล้าฯ ให้ขับออกจากราชสำนัก เป็นอันว่าหมดเขตที่จะทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงอีกต่อไป ส่วนผู้ที่กระทำผิดอาญาบ้านเมืองนั้น นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตัวไปดำเนินคดีในศาลสนามสถิตยุติธรรมแล้ว ยังจะต้องรับพระราชอาญาขับพ้นจากราชสำนัก พร้อมกับถอดจากยศบรรดาศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์และของพระราชทานทั้งปวงด้วย

 

          นอกจากนั้นคนหลวงยังมีธรรมเนียมที่ต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด เช่น เมื่อจะทำการสมรสหรืออุปสมบทจะต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตในฐานะที่ทรงเป็นผู้ปกครอง เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ตามควรแก่กรณี เช่น โปรดให้จัดการสมรสพระราชทาน หรือพระราชทานผ้าไตรพร้อมวัตถุปัจจัยในการอุปสมบท และเมื่อลาสิกขาแล้วก็ต้องเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระราชกุศลตามประเพณี หรือในกรณีมีเหตุต้องไปจากพระนคร ไม่ว่าด้วยหน้าที่ราชการหรือส่วนตัว ก็ต้องเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลา ครั้นกลับเข้ามาถึงพระนครก็ต้องเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการประจำทุกครั้ง

 

          ในกรณีที่พระราชวงศ์หรือคนหลวงเดินทางออกไปจากพระนครโดยไม่กราบถวายบังคมลานั้น ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดกฎมณเฑียรบาลต้องรับพระราชอาญาตามควรแก่กรณี ดังเช่นเมื่อเกิดคดีพญาระกาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้วพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เสด็จออกไปประทับเสียที่ศาลเจ้าองครักษ์ปลายคลองรังสิต โดยมิได้กราบถวายบังคมลาตามพระราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าฯ ให้ทรงออกจากราชการ และมิได้เสด็จกลับเข้ารับราชการอีกเลย จนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ

 

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ

 

 

แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการใน พ.ศ. ๒๔๕๕ และได้ทรงดำรงตำแหน่งนั้นมาจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

 

          ส่วนพระราชวงศ์และข้าราชการในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น เมื่อ

 

"ถวายตัวเป็นคุณพนักงานแล้วจะออกไปไหนไม่ได้เพราะเป็นคนของหลวง คุณพวกนี้อยู่ในวังหลวงเป็นคุณพนักงานกินเบี้ยหวัดเงินปี รับราชการจัดโน้นจัดนี้เวลามีงานพระราชพิธี มีสิทธิมีที่อยู่อาศัยเป็นแห่งๆ ในวังหลวงจนตลอดชีวิต เมื่อถวายตัวแล้วจากพระมเหษีองค์ใดองค์หนึ่งของพระองค์ท่าน ถ้าพระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ คนใดเป็นพิเศษมากก็จะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็น "เจ้าจอม" หรือมิฉะนั้นก็อยู่ไปจนมีอายุได้รับตำแหน่งคุณเถ้าแก่ คุณท้าวอบรมสั่งสอนวิชาพิเศษแก่คุณพนักงานรุ่นต่อไป ถ้าเสียชีวิตก็จะได้รับพระราชทานหีบทอง ข้าราชการฝ่ายในขึ้นตรงต่อองค์เสด็จอธิบดีคือพระองค์เจ้าหญิงนภาพรฯ"  []

 

          พระราชวงศ์และคุณพนักงานที่เป็นคนหลวงฝ่ายใน เมื่อประสงค์จะออกไปนอกพระราชฐานต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงเสด็จหรือออกไปปฏิบัติกิจธุระตามพระประสงค์หรือความประสงค์ได้ โดยมีท้าวนางกับกรมวังทำหน้าที่ติดตามและกำกับข้างในที่เสด็จหรือไป ณ ที่ต่างๆ เพื่อให้กรมวังช่วยแก้ปัญหาในยามที่มีอุปสรรคในการเดินทาง ส่วนคุณเถ้าแก่นั้นก็ให้ไปรู้เห็นเป็นพยานว่า มิได้ประพฤติไปในทางที่เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน จึงทำ

 

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

 

 

ให้คนหลวง เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ซึ่งทรงได้รับการฝึกหัดมาอย่างตะวันตกตั้งแต่ก่อนจะทรงหมั้นกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรู้สึกว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับในพระราชฐานชั้นในภายหลังจากที่ทรงเลิกการหมั้นแล้วเป็นเสมือนการถูกส่งไป "ขังวังหลวง"

 

          นอกจากนั้นในกรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝ่ายหน้าเข้าไปปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชฐานชั้นใน เช่น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการนำภาพยนตร์จากโรงภาพยนต์พัฒนาการมาฉายถวายสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี [] ทอดพระเนตรพร้อมด้วยคุณพนักงานฝ่ายใน เนื่องจาก "คนฉายเป็นผู้ชายมาจากโรงหนัง จึงต้องมีกรมวังและโขลนขึ้นมาคุมอยู่"  []

 

          อนึ่ง ในหมู่พระราชวงศ์ฝ่ายในยังมีธรรมเนียมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พระราชวงศ์ฝ่ายในหากมิได้ถวายตัวเป็นพระมเหสีในพระมหากษัตริย์แล้ว ก็จะจะทรงเสกสมแต่เฉพาะในวงเจ้านายด้วยกัน หรือมิฉะนั้นก็จะไม่ทรงเสกสมรสเลยตลอดพระชนม์ชีพ ธรรมเนียมนี้เพิ่งจะเลิกไปภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยผลแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยกฎมณเฑียรบาลฉบับนี้มีบทบัญญัติให้ "พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ถ้าจะทำการสมรสกับผู้ใด ท่านว่าต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต"  [] และ "เจ้าหญิงองค์ใด ถ้าจะทำการสมรสกับผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าในพระราชวงศ์ อันเป็นการไม่ต้องด้วยพระราชประเพณีนิยมดั่งนั้นไซร้ ท่านว่า ต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน"  [] ในกรณีที่พระราชวังฝ่ายในละเมิดกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์ ดังรายหม่อมเจ้าอุบลพรรณี วรวรรณ ที่ทำการสมรสกับชายโดยมิได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ถอดหม่อมเจ้าอุบลพรรณี วรวรรณ ออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ เป็นการทรงขับพระราชวงศ์พระองค์นั้นออกจากการเป็นสมาชิกแห่งราชตระกูล

 

          แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงห้ามมิให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเสกสมรสกับสามัญชน ดังตัวอย่างเช่นเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า

 

"พระยาสุรบดินทร์  [] , อุปราชมณฑลภาคพายัพ, ได้มีจดหมายบอกมายังเจ้าพระยารามราฆพว่า เจ้าราชสัมพันธวงศ์เมืองเชียงใหม่ (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่, บุตรเจ้าแก้วนวรัฐ)ได้ชอบพอรักใคร่กันกับหม่อมเจ้าหญิงกังวาฬสุวรรณ ในกรมหลวงสรรพสาตร์ศุภกิจ [] , ว่าญาติฝ่ายผู้หญิงเต็มใจที่จะยกให้, และว่าหม่อมเจ้าหญิงกังวาฬจะขึ้นไป เชียงใหม่ ณ วันที่ ๒๕ เดือนนี้ เพื่อได้ไปพบปะกับญาติฝ่ายผู้ชาย. พระยาสุรบดินทร์ถามว่าจะควรตัดรอนหรือไม่, ถ้าจะตัดรอนก็ควรจัดการตัดรอนทางฝ่ายหญิงจะสดวกกว่า. ฝ่ายเราเองเห็นว่าถ้าจะตัดรอนก็เกรงจะไม่ได้ผลดี, แต่อาจจะมีผลร้ายได้; อย่างน้อยก็อาจที่จะตามกันไป, เปนการ เสื่อมเสียชื่อเสียง; แต่อีกอย่าง ๑ ซึ่งสำคัญกว่าคือ เรื่องนี้จะมีความในอย่างไรบ้างหรือไม่ก็ยังทราบไม่ได้, ฉนั้นถ้าฉวยว่าไปตัดรอนไม่ยินยอม พวกเจ้านายเมืองเชียงใหม่ (หรือผู้ใดๆ ที่เฃ้าสนับสนุนเพื่อใช้พวกนั้นเปน เครื่องมือ) อาจที่จะฉวยโอกาศเพื่อแค้นและคิดอะไรๆ ให้รำคาญใจยิ่งไปกว่าการยอมสละหม่อมเจ้าหญิงคน ๑. สรุปความว่า เราเห็นควรดำเนิน-การอย่าง "ตกบรรไดพลอยโจน", ยอมอนุญาตให้แต่งงานกันและจัดแต่งให้เสียด้วย,"  [๑๐]

 

          ส่วนข้าราชการในพระราชสำนักฝ่ายใน ซี่งเรียกว่า "นางห้าม" หรือ "ห้าม" นั้น แม้จะไม่มีข้อห้ามที่จะสมรสกับบุคคลอื่น แต่ก็มีธรรมเนียมว่า

 

"พวกห้ามนี้ถ้าใครอยากจะได้ก็ต้องทำหนังสือขอพระราชทาน มีจานเงินจานทอง ๑ คู่ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ๑ คู่ แล้วนำทูลเกล้าฯ ถวายเข้ามาตามลำดับ ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพระราชทานเสมอไป การที่จะพระราชทานหรือไม่นั้นย่อมสุดแต่พระบรมราชวินิจฉัย"  [๑๑]

 

 

นายจ่าเรศ (แจ่ม สุนทรเวช) และนางจ่าเรศ (อุทุมพร สุนทรเวช)

ภายหลังจากทรงเจิมและพระราชทานน้ำสังข์สมรสที่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

 

 

          ฉะนั้นเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า นายเล่ห์อาวุธ (แจ่ม สุนทรเวช) มหาดเล็กในพระองค์รักใคร่ชอบพออยู่กับนางสาวอุทุมพร วีระไวทยะ ธิดาของนายพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด วีระไวทยะ) อดีตแพทย์หลวงประจำพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง กับคุณหญิง แต่เมื่อพระยาดำรงแพทยาคุณถึงอนิจกรรมไปแล้ว มีข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งตกพุ่มม่ายเพราะคุณหญิงผู้เป็นภรรยาเสียชีวิต ได้ส่งเถ้าแก่มาสู่ขอและคุณหญิงสงวน ดำรงแพทยาคุณ ผู้เป็นมารดาของนางสาวอุทุมพร วีระไวทยะได้ตอบตกลงที่จะให้ธิดาของตนสมรสกับข้าราชการผู้ใหญ่ท่านนั้นแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินทสุริยา (เชื้อ พึ่งบุญ) พนักงานพระภูษาและพระสุคนธ์ไปรับคุณหญิงสงวนเข้าเฝ้าทูลทูลละอองธุลีพระบาท มีพระราชกระแสด้วยคุณหญิงสวน ดำรงแพทยาคุณว่า เมื่อคุณหญิงได้ถวายธิดาคนเดียวนั้นให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวงทรงชุบเลี้ยงมา ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว บรรดาคุณข้าหลวงในสมเด็จพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ซึ่งรวมถึงธิดาของคุณหญิงสงวนฯ ย่อมเป็นพระราชมรดกตกทอดเป็นคนของหลวง เรียกว่า "ห้าม" คุณหญิงฯ จึงหมดสิทธิ์ที่จะเอาไปยกให้ใครโดยไม่นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาก่อน

 

          นอกจากนั้นยังได้มีพระราชกระแสทรงอ้างสิทธิมนุษยชนที่ว่าบุคคลแม้จะเป็นใหญ่หรือบุพการีก็ตาม ไม่ควรบังคับกดขี่น้ำใจใคร มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ในตัวของตัวเองที่จะเลือกเคารพบูชาหรือรัก สรรเสริญบุคคล ชาติ ลัทธิ ศาสนาใดๆ ได้ ก็ควรที่ผู้เจริญแล้วจะเข้าใจและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยกัน จึงเป็นอันว่าคุณหญิงสวน ดำรงแพทยาคุณ ต้องแพ้คดีถึงสองกระทง แม้กระนั้นล้นเกล้าฯ ก็ทรงมีพระมหากรุณาปลอบคุณหญิงสงวนว่า ขออย่าเสียใจและเข้าใจผิด การครั้งนี้ไม่ได้ทรงกระทำอย่างเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ใช้พระราชอำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎร แต่เนื่องจากทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า นายเล่ห์อาวุธ (แจ่ม สุนทรเวช) มหาดเล็กในพระองค์ กับธิดาของคุณหญิงนั้นรักใคร่ขอบพอกันอยู่ จึงทรงรับเป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย ทรงสู่ขอนางสาวอุทุมพร วีระไวทยะให้สมรสกับนายเล่ห์อาวุธ และจะพระราชทานความช่วยเหลือทุกอย่าง ทรงรับรองว่า จะชุบเลี้ยงทั้งสองคนนั้นไม่ให้ต้องอับอายไปในภายหน้า

 

          ต่อมาเมื่อนายเล่ห์อาวุธได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายจ่ารง และนางสาวอุทุมพร วีระไวทยะ สำเร็จการศึกษาวิชาพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ จัดการสมรสพระราชทานเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ณ พระที่นั่ง

เทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท

 

 

 


[ ]  จมื่นเทพดรุณาธร (เปรื่อง กัลยาณมิตร). "เมื่อเป็นมหาดเล็ก ร.๖", อนุสรณ์ "ศุกรหัศน์", หน้า [๓๓].

[ ]  "เมื่อเป็นมหาดเล็ก ร.๖", อนุสรณ์ "ศุกรหัศน์", หน้า [๓๓].

[ ]  รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๑๕.

[ ]  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา

[ ]  รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ, หน้า ๑๙ - ๒๖.

[ ]  "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕", ราชกิจจานุเบกษา ๔๙ (๑๑ สิงหาคม ๒๔๗๕), หน้า ๒๕๖ - ๒๕๘.

[ ]  "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕", ราชกิจจานุเบกษา ๔๙ (๑๑ สิงหาคม ๒๔๗๕), หน้า ๒๕๖ - ๒๕๘.

[ ]  พระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย (พร จารุจินดา) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาไชย

[ ]  ในภายหลังความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า หญิงที่ชื่อกังวาฬสุวรรณนั้นเป็นธิดานอกสมรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตร์ศุภกิจ ซึ่งพระบิดาไม่ทรงรับเป็นพระธิดา และไม่ปรากฏนามในบัญชีรับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีพระราชวงศ์ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "ฉะนั้นเราจะรับรองรู้เห็นด้วยไม่ได้"

[ ๑๐ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖, หน้า ๒๓ - ๒๔.

[ ๑๑ ]  นางอมรดรุณารักษ์ (อุทุมพร สุนทรเวช). "พระเกียรติคุณของล้นเกล้าฯ ร.๖", อนุสรณ์งานฌาปนกิจ นายประวิตร บัณฑุรัตน์, หน้า ๑๓๖ - ๑๔๑.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |