โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๙. คณะ (๒)

 

 

          แม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พร้อมกับพระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” แล้วก็ตาม การเรียกชื่อคณะก็ยังคงใช้ตามราชทินนามของครูกำกับคณะต่อมา จนถึงยุตก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน สภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยได้ประชุมปรึกษาและเห็นพ้องกันว่า การเรียกชื่อคณะตามราชทินนามของครูกำกับคณะนั้น ชวนให้สับสนยิ่ง เพราะเมื่อเปลี่ยนครูกำกับคณะเมื่อไรชื่อคณะก็ต้องเปลี่ยนตาม ยิ่งคณะตะวันออกด้านเหนือ (ปัจจุบันคือคณะพญาไท)

 

 

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
อดีตเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ และสภานายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

ที่มีการเปลี่ยนแปลงครูกำกับคณะแทบจะทุกปีตามนโยบายของะระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ [] เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีพระดำริว่า ข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการที่จะเติบโตในราชการต่อไปในนั้น จำจะต้องหมุนเวียนให้มาเรียนรู้งานในวชิราวุธวิทยาลัยเสียก่อนแล้วจึงกลับออกไปรับราชการในกระทรวง ฉะนั้นเพื่อป้องกันความสับสนสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัย จึงได้มีดำริพร้อมกันนำความกราบบังคมพระกรุณาขอพระราชทานนามคณะทั้ง ๔ ให้เป็นการถาวร โดยในเมื่อโรงเรียนนี้มีนามว่า "วชิราวุธวิทยาลัย" ซึ่งเป็นพระบรมนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว นามคณะทั้ง ๔ จึงควรเป็นพระนามในสมเด็จพระอนุชาทั้ง ๔ พระองค์เรียงตามลำดับพระชันษา คือ

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาทั้ง ๔ พระองค์

(จากซ้าย)

๑. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

 

๒. สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

 

๓. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

๔. สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

 

๕. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

 

 

          จักรพงษ์ หมายถึง จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

          อัษฎางค์ หมายถึง นายพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

          จุฑาธุช หมายถึง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย

          ประชาธิปก หมายถึง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

 

 

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
เมื่อครั้งเป็นนักเรียนมหาดเล็กรับชั้นใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          แต่ยังมิทันที่จะทรงมีพระราชกระแสเป็นอย่างไร ก็พอดีเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เสียก่อน และไม่ช้าก็เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ที่ต่างประเทศ จนได้ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ การขอพระราชทานชื่อคณะนั้นจึงค้างมาตราบจนสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้มอบหมายให้นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยเป็นผู้ไปคิดชื่อคณะทั้งสี่เพื่อใช้แทนราชทินนามของครูผู้กำกับคณะ

 

          ชื่อคณะที่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล คิดจขึ้นในคราวนั้นประกอบด้วย

                    คณะผู้บังคับการ

                    คณะดุสิต

                    คณะจิตรลดา

                    คณะพญาไท

 

          ชื่อคณะผู้บังคับการนั้นมีที่มาจาก School House ใน Public School ซึ่งคณะนี้มีอาจารย์ใหญ่เป็นผู้กำกับคณะโดยอนุโลม เมื่อนำมาใช้ที่วชิราวุธวิทยาลัยที่มีผู้บังคับการเป็นผู้บริหารสูงสุด จึงเรียกคณะนี้ว่า คณะผู้บังคับการ ส่วนอีก ๓ คณะนั้นเป็นการขนานนามตามชื่อพระราชฐานที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จเสวยสิริราชสมบัติแล้ว คือ

 

 

พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

 

 

          คณะดุสิต มาจาก พระราชวังดุสิต

 

 

 

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในรัชสมัยพระบาทสมเดจพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          คณะจิตรลดา มาจาก พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 

 

หมู่พระที่นั่งในพระราชวังพญาไท

 

 

          คณะพญาไท มาจาก พระราชวังพญาไท

 

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๘ คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยมีดำริว่า ในเมื่อคณะเด็กโตได้ขนานนามตามพระราชฐานที่ประทับแล้ว สมควรที่จะได้ขนานนามคณะเด็กเล็กที่เรียกกันมาแต่เดิมว่า คณะเด็กเล็ก ๑ เด็กเล็ก ๒ และเด็กเล็ก ๓ ให้มีนามสอดคล้องกับนามคณะเด็กโต คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้ขอให้ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยเป็นผู้คิดชื่อคณะเด็กเล็กขึ้นใหม่ โดยนามคณะที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ขนานขึ้นใหม่นั้นประกอบด้วย

 

          คณะเด็กเล็ก ๑ เป็น คณะสนามจันทร์

          คณะเด็กเล็ก ๒ เป็น คณะนันทอุทยาน

          คณะเด็กเล็ก ๓ เป็น คณะสราญรมย์

 

          นามคณะเด็กเล็กทั้ง ๓ คณะนั้น มีที่มาจากนามพระราชฐานที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ต่างจากนามคณะเด็กโตตรงที่นามคณะเด็กเล็กนี้ล้วนเป็นพระราชฐานที่ประทับมาตั้งแต่ก่อนก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ คือ

 

 

หมู่พระที่นั่งพิมาน และพระที่นั่งวัชรีรมยา ในพระราชวังสนามจันทร์

 

 

คณะสนามจันทร์

มาจาก

พระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินและปลูกสร้างพระที่นั่งและพระตำหนักมาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช

     

คณะนันทอุทยาน

มาจาก

พระตำหนักนันทอุทยาน ใกล้พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประทับแรมในระหว่างทรงเป็นผู้อำนวยการบูรณะพระปฐมเจดีย์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

 

พระราชวังสราญรมย์

 

 

คณะสราญรมย์

มาจาก

พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ประทับเมื่อแรกเสด็จพระราขดำเนินกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ประโยชน์เป็นศาลาว่าการต่างประเทศ

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |