โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๗. เรื่องของกรมหลวงชุมพรฯ (๒)

 

 

          นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าในหมู่ทหารเรืออีกว่า เมื่อแรกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัตินั้น พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม และจัดถวายพระกระยาหารค่ำ ทุกอย่างดำเนินไปโดยเเรียบร้อย จนเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วถึงได้เกิดเรื่องขึ้นมา เมื่อนักเรียนนายเรือหนุ่มบางคนไม่ระวังปาก พูดจาพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในทำนองล้อเลียนว่าพระเกศาบางบ้าง อวดว่าเจ้านายตนเก่งกว่าบ้าง พูดจากันเสียงดังไปหน่อย สันนิษฐานว่าเสียงลอยลมข้ามคลองวัดแจ้งไปถึงบ้านพระยานรฤทธิ์ราชหัช ความจึงทราบถึงพระเนตรพระกรรณ เพราะเป็นไปได้ว่าพระยานรฤทธิ์ราชหัชนำความขึ้นกราบบังคมทูล ไม่ใช่ว่าเป็นคนช่างฟ้อง แต่ทว่าเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี่ถ้ารู้แล้วอุบเงียบไว้ก็เท่ากับสมรู้ร่วมคิด ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นอาจจะถึงกับติดคุกหัวโต หรือไม่ก็ต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตกันทั้งครอบครัว กล่าวกันว่า พระยานรฤทธิ์ราชหัชนั้นก็ต้องระวังตัวกลัวทหารเรือเอาเรื่อง ประตูหน้าบ้านจึงต้องตีไม้ทับปิดตายเอาไว้ ต้องเดินเข้าออกทางหลังบ้านทะลุตรอกไปทำงาน

 

          เรื่องนี้พวกทหารเรือเชื่อกันว่า น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มืทรงไว้วางพระราชหฤทัยในพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ว่าอาจจะทรงคบคิดกับนายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมกลวงนครสวรรค์วรพินิต (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ชิงราชสมบัติ เรื่องนี้กลายเป็นข่าวลือกันหนาหู เพราะเจ้าจอมมารดาโหมดและพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี พระชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตนั้นต่างก็สืบเชื้อสายสกุลบุนนาคมาด้วยกัน และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง ๖ เดือนก็ทรงปลดพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์จากกองทัพเรือแบบสายฟ้าแลบ

 

          เมื่อทรงถูกปลดจากราชการแล้ว เล่ากันฝนแวดวงทหารเรือว่า ข่าวลือทำท่าจะเป็นข่าวจริง แต่หลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า พระอาจารย์ทรงห้ามไว้ โดยเตือนสติว่า "ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อย่าไปขัดท่านเลย" พระเจ้าพี่ยาเธอ กรงหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์จึงทรงได้สติ ถึงกับก้มลงกราบถวายบังคมแทบเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้กลับเข้ารับราชการในทันที ต้องทรงอยู่นอกราชการถึง ๖ ปี จึงได้เสด็จกลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง ภายหลังจากที่สยามประกาศสงครามกับเยอรมันแล้ว โดยระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการนั้นได้ทรงหาเลี้ยงชีพเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า "หมอพร" และในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งอยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย

 

 

 

 

          แต่เหตุและผลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลดพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นี้ ที่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒" กลับมีความที่ต่างไปจากคำบอกเล่าดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ความในพระราชบันทึกนั้น มีดังนี้

 

 

          ในตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้มีเรื่องขึ้นเรื่อง ๑, ซึ่งฉันเองก็ตัดสินใจไม่ใคร่จะถูกได้ว่าฉันได้ประพฤติผิดหรือถูก, ฉะนั้นจะต้องเล่าไว้ในที่นี้ตามเหตุผลที่ได้เปนไป. เรื่องนี้คือเรื่องกรมชุมพรออกจากประจำการในกองทัพเรือ, ซึ่งเฃ้าใจว่าจะมีคนน้อยคนที่รู้ความในตลอด. เพื่อให้เฃ้าใจเรื่องนี้โดยแจ่มแจ้ง ฉันจำจะต้องกล่าวข้อความย้อนขึ้นไปในอดีตสักหน่อย.

 

          ตามที่เธอได้รู้อยู่แล้ว, แต่เดิมมากรมชุมพรกับฉันได้เคยเปนผู้รักใคร่ชอบพอกันอย่างสนิธ, เพราะนอกจากที่เกิดปีเดียวกัน ยังได้ออกไปศึกษาพร้อมๆ กัน, และเมื่อกลับเฃ้ามากรุงเทพฯ แล้ว ฉันก็ยังได้ช่วยเหลือในกิจธุระส่วนตัวกรมชุมพรเปนหลายคราว. ฉะนั้นต่อๆ มาฉันจึ่งรู้สึกประหลาดใจและเสียใจเปนอันมากที่ได้สังเกตเห็นว่า, จำเดิมแต่เวลาที่หญิงทิพสัมพันธ์  [] ตายไปแล้ว, กรมชุมพรดูตีตนห่างจากฉันออกไปทุกที. ในชั้นต้นฉันเฃ้าใจเอาเองว่า คงจะเปนเพราะกรมชุมพรกับพระยาราชวังสัน (ฉ่าง แสง-ชูโต,จ่อมาเปนพระยามหาโยธา) ได้เกิดผิดใจกันขึ้น, และพระยาราชวังสันเปนผู้ไปมาหาสู่ฉันอยู่เสมอ, กรมชุมพรจึ่งพลอยไม่ชอบฉันไปด้วย. แต่ฉันรู้สึกว่าสาเหตุเพียงเท่านั้นยังไม่พอที่จะทำลายความไมตรีระหว่างกรมชุมพรกับฉัน, ฉันจึ่งตั้งต้นแสวงหาสาเหตุต่อไป. ฉันรู้อยู่ดีว่า กรมชุมพรนั้น, ถึงแม้ท่าทางและปากพูดเก่งก็จริง, แต่ที่แท้มิใช่คนที่มีใจหนักแน่นปานใดนัก, เปนคนที่ลังเลและเชื่อคนง่าย, ฉะนั้นฉันจึ่งเริ่มต้นมองหาตัวผู้ที่เปน "ครู" ของกรมชุมพร. ฉันได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า กรมชุมพรเคยฝากตัวเปนศิษย์กรมราชบุรี  [], และมีความนิยมตามกรมราชบุรีหลายประการ, มีสำแดงตนเปน “ผู้ชอบเปนอิศระ” และถือพวกถือก๊กเปนที่ตั้ง. โดยนิสสัยของพระองค์เอง กรมชุมพรชอบพูดอวดดีแสดงความกล้าหาญและมีวิทยาอาคมอย่างแบบเก่าๆ, สักลายไปทั้งตัว, และ "ขลัง" อะไรต่างๆ, มีพวกหนุ่มๆ นิยมอยู่บ้างแล้ว: ครั้นได้ไปฟังคำสั่งสอนของกรมราชบุรีเฃ้าด้วยก็เลยบำเพ็ญเปนหัวโจกมากขึ้น. แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เปนสาเหตุที่จะทำให้พร่าไมตรีกับฉัน, เพราะกรมราชบุรีเปนผู้ที่ชอบพอกับฉันโดยสม่ำเสมอตลอดมา, คงไม่ยุให้กรมชุมพรแตกกับฉัน. ฉันได้สืบแสวงไปจนได้ความว่า กรมชุมพรได้เกิดชอบพอกับกรมหลวงประจักษ์, ก็เฃ้าใจได้ทันทีถึงเหตุที่กรมชุมพรเกิดไม่ชอบฉัน, เพราะกรมหลวงประจักษ์เปนผู้ที่ไม่ชอบฉันอย่างยิ่ง, และพยายามให้ร้ายแก่ฉันอยู่เสมอๆ. ที่ฉันรู้ได้โดยแน่นอนว่ากรมชุมพรตกไปอยู่ในอำนาจของกรมหลวงประจักษ์นั้น เพราะได้เกิดคดีขึ้นเรื่อง ๑ ซึ่งถาเปนแต่โดยลำพังตัวกรมชุมพรคงมิได้เปนการใหญ่โตเลย. เหตุมีนิดเดียวที่พวกเด็กๆ ของฉันได้พาไปเล่นกันอยู่ที่สนามหน้าวังสราญรมย์, มีนักเรียนนายเรือ ๒ คนเดิรผ่านไปทางถนนสนามชัย, อยู่ดีๆ ก็ตรงเฃ้าไปขู่พวกเด็กๆ ของฉันว่า ห้ามไม่ให้หัดทหาร, จึ่งเกิดเปนปากเสียงกันขึ้น. ฉันจึ่งให้พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล), วึ่งเวลานั้นเปนหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ตำแหน่งเลฃานุการส่วนตัวของฉัน, มีจดหมายต่อว่าไปยังผู้บังคับการโรงเรียยนายเรือ, และขอให้สั่งสอนว่ากล่าวพวกศิษย์ให้เฃ้าใจเสียว่า การที่เด็กอื่นๆ ปรารถนาจะฝึกหัดให้อกผายไหล่ผึ่งบ้าง ไม่ใช่กงการอะไรของนักเรียนนายเรือจะมาห้ามปราม. ฉันเฃ้าใจว่าเมื่อให้มีจดหมายไปเช่นนั้นแล้วก็คงเปนอันจบเรื่องกัน. ฉะนั้นฉันประหลาดใจมากเมื่อวัน ๑ ฉันได้ถูกพระเจ้าหลวงรับสั่งให้หาเฃ้าไปในที่รโหฐานและทรงต่อว่าเรื่องที่ให้เลฃานุการมีหนังสือไปขู่ผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ. นัยว่ากรมชุมพรตกใจและเกรงกลัวภยันตราย จึ่งได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล, เพื่อขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง. ทูลกระหม่อม [] ทรงสั่งสอนว่า ฉันจะได้เปนใหญ่เปนโตต่อไป, ต้องระวังอย่าทำให้ผู้น้อยนึกสดุ้งหวาดหวั่นต่ออำนาจอาชญาอันอาจต้องรับกรรมความดาลโทษะของฉัน. ฉันก็รับพระบรมราโชวาทใส่เกล้าฯ โดยมิได้แก้ตัวว่ากระไร, เพราะเห็นว่าพระเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์จะให้เรื่องสงบไป. ในวันเดียวกันนั้นเอง บริพีตร์  [], ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ, ได้ตามออกมาจากวังสวนดุสิตไปหาฉันถึงที่วังสราญรมย์, แสดงความเสียใจ และขอโทษในการที่ฉันต้องถูกกริ้วโดยไม่มีมูลอันควรเลย, และออกตัวว่า เธอเองมิได้รู้เห็นในคดีนั้นจนนิดเดียว, เพราะกรมชุมพรมิได้นำเรื่องเสนอเธอก่อนที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล. ต่อเมื่อองค์อุรุพงศ์  [] เล่าใฟ้ฟังว่าฉันถูกกริ้ว บริพัตร์จึ่งได้รู้เรื่อง, และรับว่าจะต่อว่ากรมชุมพร และจะขอให้สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีกเปนอันฃาด. เมื่อฉันได้ทราบเรื่องตลอดแล้วก็รู้แน่ว่าแก่ใจว่า กรมชุมพรคงได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, ผู้ชอบก่อเหตุน้อยเปนใหญ่เช่นนี้เสมอ.

 

          นับจำเดิมแต่เมื่อได้ตกไปอยู่ในอำนาจกรมหลวงประจักษ์แล้วไม่ช้า กรมชุมพรได้ทอดทิ้งการงานทางทหารเรือมากขึ้นเปนลำดับ, จนนับว่าไม่มีเยื่อใยอะไรในกองทัพเรือ นอกจากยังคงเปนหัวโจกของทหารหนุ่มๆ บางคนอยู่เท่านั้น. ในยุคนั้นกรมชุมพรได้ริอ่านทำการค้าฃาย, คือตั้ง “บริษัทชุมพร”, มีพวกนายทหารเรือหนุ่มๆ ถือหุ้นอยู่หลายคน; บริษัทนั้นกระทำกิจไม่เปนผลสมปรารถนา, เกิดมีหนี้สินรุงรังขึ้น, จึ่งต้องขอพระราชทานกู้เงินพระคลังฃ้างที่ไปใช้, และพระเจ้าหลวงทรงยึดที่ดินไว้เปนประกัน, รับสั่งว่าถ้าประพฤติเรียบร้อยต่อไปจึ่งจะพระราชทานคืนให้. โดยความแนะนำของกรมหลวงประจักษ์, กรมชุมพรจึ่งได้ริอ่านหาความชอบในส่วนพระองค์พระเจ้าหลวงโดยอาการ... ในชั้นต้น, เมื่อทรงเริ่มจัดสร้างที่สวนพญาไท, กรมชุมพรรับอาสาปลูกผักที่นั้น, ทุกๆ เดือนได้มีผักเฃ้าไปถวายคราวละหลายถาด, ซึ่งกราบทูลว่าผักที่ปลูกที่พญาไท, แต่ซึ่งที่แท้เที่ยวหาซื้อเอาดื้อๆ. การหลอกพระเจ้าหลวงเช่นนี้อย่างไรๆ ก็คงเปนความคิดของ “ครู”, เพราะตัว “ครู” ก็ประพฤติเปน “ลิงหลอกเจ้า” อยู่เช่นนั้นเสมอ, และสำคัญเสียว่าพระเจ้าหลวงท่านไม่ทรงรู้เท่า; แต่ฉันเชื่อแน่ว่าพระเจ้าหลวงท่านทรงรู้เท่าดีทีเดียว, ความชอบจึ่งไม่ได้แก่กรมชุมพรสมปรารถนา. ต่อนั้นจึ่งกลายเปนช่าง, รับอาสาเขียนรูปภาพต่างๆ ติดผนังห้องเฝ้าในพระที่นั่งอัมพร, แต่ก็ไม่เห็นได้ทำอะไรเปนชิ้นเปนอันเหลือไว้เลย. นอกจากเปนช่างเขียนเกิดเปนนักดนตรี, มีน่าที่สำคัญคือกะวางลำสำหรับลคอนนฤมิตร์ของกรมนราธิป. กิจการอันท้ายนี้เปนเหตุให้กรมหลวงประจักษ์กับกรมนราธิปเกิดบาดหมางกันจนเปนเหตุใหญ่โต, ดังได้แสดงมาแล้ว ณ แห่งอื่น

 

          การที่กรมชุมพรไม่ไปทำงานทางทหารเรือเลย แต่ก็คงได้รับเงินเดือนอยู่เต็มที่นั้น, นับว่าเปนตัวอย่างไม่ดีอย่างยิ่งสำหรับนายทหารผู้น้อยผู้ไร้สติ. ประการ ๑ พวกศิษย์พากันเห็นไปเสียว่าครูของตนเปนคนสำคัญเหลือประมาณ, อย่างไรรัฐบาลก็ต้องง้อไว้ใช้. อีกประการ ๑ ทำให้พวกหนุ่มตีราคาตนสูงเกินควรไป, คือพากันเฃ้าใจเสียว่าถ้าเปนผู้มีวิชาแล้วจะทำงานหรือมิทำก็ต้องเลี้ยง. ข้อที่ร้ายคือกรมชุมพรชอบพูดฟุ้งสร้านต่างๆ ให้พวกศิษย์ฟังอยู่เนืองๆ, ชอบนินทาผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปให้ผู้น้อยฟัง, จึ่งทำให้พวกหนุ่มพากันฟุ้งสร้านไปเปนอันมาก.

 

 

นายพลเรือเอก พระยามหาโยธา (ฉ่าง แสง – ชูโต)

แต่งเครื่องแบบเต็มยศใหญ่เมื่อครั้งเป็น นายพลเรือโท

 

 

ผลร้ายของการสอนไม่ดีของกรมชุมพรได้มากระทบหูฉัน, คือเมื่อวันที่ ๓ เมษายน  [] พระยาราชวังสัน, ซึ่งเวลานั้นเปนผู้บัญชาการเรือกลและป้อม, ได้เล่าให้ฉันฟังว่า ในการที่ฉันได้สั่งอนุญาตให้จ่ายเงินเพิ่มค่าเดิรทเล, ซึ่งได้คั่งค้างมาหลายปีแล้วนั้น, ได้มีนายทหารเรือผู้ ๑ กล่าวว่า ฉันต้องสั่งอนุญาตเช่นนั้นเพราะกลัวว่า ถ้าไม่จ่ายพวกเฃาจะ "เอาเรือไปลอยเสียที่ปากน้ำ", ซึ่งตีความกันว่าพวกเฃาจะ "สไตร๊ก". พระยาราชวังสันว่าจะไปขออนุญาตทำโทษนายทหารผู้นั้นให้เปนตัวอย่าง. แต่ฉันรับสารภาพว่าในเวลานั้นฉันยังหวาดหวั่นอยู่ด้วยเรื่องฃ้าราชการกระทรวงยุติธรรมหยุดงาน, เกรงว่าถ้าทหารเรือหยุดงานบ้างจะทำความลำบากมากกว่าอีก. ความฟุ้งสร้างต่างๆ ของทหารเรือหนุ่มๆ มีอยู่เปนเอกนกประการ, และปรากฏว่ากรมชุมพรแทนที่จะจะตักเตือนห้ามปราม, กลับพอใจส่งเสริมพวกหนุ่มอยู่เสมอ, ฉันจึ่งทำใจว่าต้องให้กรมชุมพรออกจากประจำการเสียคราว ๑ เพื่อกำราบให้ลพยดลง, และจะขะได้เปนการรักษายุทธวินัยในกองทัพเรือได้ดีกว่าทางอื่น เสนาบดีทหารเรือนั้น, แม้ได้รู้เรื่องอวดดีฟุ้งสร้านต่างๆ ของพวกศิษย์กรมชุมพร และรู้ความบกพร่องของกรมชุมพรอยู่ดีก็จริง, แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรให้แตกหักลงไปได้เลย, เพราะเปนคนขี้วิตกและขี้เกรงใจ. ถ้าขืนทอดทิ้งช้าไว้ฉันเกรงอยู่ว่าความสำเร็จเด็ดฃาดและอำนาจในกองทัพเรือจะไปตกอยู่ในมือกรมชุมพร, ซึ่งในเวลานั้นยังคงชอบกับกรมหลวงประจักษ์, ซึ่งน่ากลัวอันตรายมาก.

 

 

 


[ ]  หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ภาณุพันธุ์ พระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

[ ]  พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

[ ]  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  นายพลเรือโท สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็นจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

[ ]  พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช

[ ]  วันที่ ๓ เมษายน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔).

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |