โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๖๐. จากดุสิตธานีสู่โฮเต็ลพญาไท (๔)

 

 

หมู่พระราชมณเฑียร ณ พระราชวังพญาไท

(จากซ้าย) พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

 

 

          หมู่พระที่นั่งในพระราชวังพญาไทที่ทรงร่างแบบก่อสร้างด้วยพระองค์เองนั้น ประกอบด้วย พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี สององค์นี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก กับพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เป็นพระราชฐานชั้นใน แต่โดยที่พระที่นั่งทั้งสามองค์นั้นมีการจัดผังพื้นที่และลักษณะการใช้งานแตกต่างไปจากพระราชฐานอื่นๆ โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ พระที่นั่งที่เป็นที่ประทับโดยทั่วๆ ไปนั้น ปกติจะมีห้องพระบรรทมเพียงองค์ละห้องหรือสองห้อง แต่ที่พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี และพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส กลับมีห้องพระบรรทมและห้องสรงรวมกันอยู่ภายในห้องพระบรรทมรวมกันหลายห้อง และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลงตึกคลังราชการซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานเป็นพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักอุดมวนาภรณ์เดิมเป็น พระตำหนักเมขลารูจีแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องต่างๆ ในพระที่นั่งองค์นั้นเป็นห้องนอนถึงเกือบ ๒๐ ห้อง

 

 

โรงแรมรถไฟหัวหิน ปัจจุบันเป็นโรงแรมโซฟิเทลเซ็นทรัลหัวหิน

 

 

          การที่ทรงจัดวางรูปแบบของห้องต่างๆ ภายในหมู่พระที่นั่งในพระราชวังพญาไทไว้เป็นห้องๆ จำนวนมากเช่นนั้น น่าจะมีพระราชดำริที่จะจัดพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมมาแต่แรกสร้าง พยานที่สนับสนุนความคิดนี้ คือ การที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดสร้างโรงแรมรถไฟหัวหินขึ้นที่ชายหาดหัวหินพร้อมกันมากับการสร้างพระราชวังพญาไท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงเปิดดำเนินกิจการโรงแรมรถไฟหัวหินมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๖ และต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ก่อนเสด็จสวรรคตไม่นานนักก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นายพลเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเรียนพระราชปฏิบัติถึงการที่จะดัดแปลงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรม โดยมีพระราชประสงค์ให้ใช้ชื่อโรงแรมนี้ว่า "Phya Thai Palace Hotel"

 

          เมื่อนายพลเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน [] รับพระราชกระแสมาคำนวณรายรับและค่าใช้จ่าย เพื่อจัดทำประมาณการเบื้องต้นว่า หากแปลงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมตามพระราชประสงค์แล้ว โรงแรมแห่งนี้จะสามารถเลี้ยงตัวเองต่อไปได้ แต่การที่กรมรถไฟหลวงใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้นานถึง ๒ เดือน เมื่อจัดทำรายงานการศึกษาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็ประจวบกับทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตในเวลาเพียง ๒ สัปดาห์ ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงจึงได้นำกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นกราบบังตมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติต่อมา จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงดำเนินการจัดพระราชวังพญาไทเป็นโฮเต็ลพญาไทตามพระบรมราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ แล้วได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโฮเต็ลพญาไทนี้เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙

 

          การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะจัดพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมนั้น คงจะมีระราชดำริให้โอเต็ลพญาไทนี้เป็นสถานที่พักของนักธุรกิจที่จะเข้ามาชมและติดต่อสั่งซื้อสินค้าในงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ (The Kingdom of Siam Exhibition) ซึ่งกำหนดจัดเป็นงานแสดงสินค้าครั้งแรกของภาคพื้นเอเชียที่สวนลุมพินี โดยมีกำหนดจัดงานถึง ๑๐๐วัน นับแต่วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นต้นไป และในเมื่อนักธุรกิจไปเจรจาการค้าก็คงจะหวังประโยชน์ให้ภรรยาและบุตรธิดาที่ติดตามนักธุรกิจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศสยามนั้นได้เพลิดเพลินไปกับบ้านเล็กเมืองน้อยในดุสิตธานีที่ด้านหลังโฮเต็ลพญาไท ดังเช่นที่เคยเสด็จลงทอดพระเนตรบ้านเล็กเรือนน้อยเหล่านี้ ทุกๆ ยามเย็นที่ทรงว่างจากพระราชกิจ

 

 

พระราชวังพญาไท เมื่อเป็น "โฮเต็ลพญาไท" ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          แต่การหาได้เป็นไปดังพระราชประสงค์ เพราะเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ดุสิตธานีที่ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระปรีชาสามารถจัดการสั่งสอนทวยนาครให้มีความรู้ความเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไคยด้วยวิธี "ฝึกให้ทำ นำให้คิด" นั้นก็ถึงกาลสิ้นสุดลง เจ้าของอาคารต่างก็ยกเรือนของตนกลับบ้าน ส่วนอาคารที่เป็นของหลวงทั้งพระราชวัง เรือนของท่านราม ณ กรุงเทพ และเรือนของพระคลังข้างที่บางส่วนนั้น เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้านครลำพูนได้ขอพระราชทานนำไปจัดแสดงไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย ต่อมาในคราวฉลองวันพะบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้อยู่หัวครบ ๑๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งเวลานั้นเป็นประธานกรรมมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ไปตามเก็บซากอาคารเก่าจากดุสิตธานีมาได้จำนวนหนึ่ง แล้วได้มอบให้กรมศิลปากรจัดการบูรณะ ขณะนี้ได้นำมาจัดแสดงไว้ที่พระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในหอวชิราวุธานุสรณ์ชั้น ๔ เพื่อแสดงให้เห็นประจักษ์ถึงพระบรมราชปณิธานที่พระราชทานไว้เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานี เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ว่า

 

 

ศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานี

 

 

          "วิธีการดำเนินการในธานีเล็กๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจไว้ว่จะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดังธานีเล็กนี้ ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง

 

          เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอให้ข้าราชการทั้งหลายตลอดจนทวยนาคร จงตั้งใจกระทำกิจการของตนตามหน้าที่ให้สมกับธานีซึ่งได้จัดตั้งขึ้นนี้ ในไม่ช้าจะได้แลเห็นผลของประเทศสยามว่าจะเจริญไปได้เพียงไร"  []

 

          แม้ว่าดุสิตธานีจะล่มสลาย และโฮเต็ลพญาไทได้กลายไปเป็นโรงพยาบาลเสนารักษ์กรุงเทพ เป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า และขณะนี้กำลังเตรียมการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วก็ตาม แต่พระบรมราชปณิธานที่จะวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยนั้นยังคงเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ให้คนไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอยู่มิรู้เสื่อมคลาย

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

[ ]  จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). ดุสิตธานี เมืองประชาธิปไตย ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๗๘.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |