โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๔. การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ()

 

 

          อนึ่ง เนื่องจากในสนธิสัญญาฉบับใหม่ระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้น ได้มีการตกลงกำหนดไว้ในสนธิสัญญาฉบับนั้น ให้อำนาจศาลกงสุลต้องสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ภายในเวลาไม่เกิน ๕ ปี หลังจากที่สยามได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบทั้ง ๔ ฉบับแล้ว ฉะนั้นเพื่ออนุวัตรให้การเป็นไปตามข้อสัญญาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ "กรรมการชำระประมวลกฎหมาย" หรือที่ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก "กองกรรมการชำระประมวลกฎหมายกฎหมาย" ขึ้นเป็นกรมร่างกฎมาย ให้มีหน้าที่ "รับผิดแลชอบในราชการชำระประมวลบทพระราชบัญญัติแลประเพณีเมือง"  [] จัดการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จนสามารถประกาศใช้ บรรพ ๑ หลักทั่วไป และบรรพ ๒ หนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ กับบรรพ ๓ เอกเทศสัญญา เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗

 

          แต่เมื่อได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และบรรพ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ กับบรรพ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ แล้ว "ได้มีความเห็นแนะนำมากหลาย เพื่อยังประมวลกฎหมายนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น"  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ "ยกกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นเปนกรมชื่อว่า "กรมร่างกฎหมาย" "  [] ให้มีหน้าที่ร่างพระราชกำหนดกฎหมาย และได้โปรดเกล้าฯ ให้กรรมการร่างกฎหมายที่มีเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นนายกกรรมการ จัดการตรวจชำระ "บทบัญญัติเดิมในบรรพ ๑ และ ๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์"  [] จนได้ประกาศใช้บทบัญญัติที่ตรวจชำระใหม่นั้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นต้นมา ส่วนบรรพ ๓ ก็ได้ตรวจชำระใหม่และเริ่มใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ส่วนบรรพ ๔ ทรัพย์สินนั้น กรรมการร่างกฎหมายก็ได้พิจารณายกร่างต่อมา และได้ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕

 

          ส่วนบรรพ ๕ ครอบครัว และบรรพ ๖ มฤดกนั้น กรรมการร่างกฎหมายยังยกร่างไม่ทันแล้วเสร็จ ก็พอดีมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เสียก่อน จึงตกเป็นภาระของสภาผู้แทนราษฎรตรวจพิจารณาร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และ ๖ ต่อมาจนแล้วเสร็จ และได้ให้ความเห็นชอบจนได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ ซึ่งเป็นบรรพสุดท้าย พร้อมกับประมวลวิธีความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีความแพ่งเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม

 

 

เนื่องจากศาลต่างประเทศแห่งแรกในประเทศสยามเริ่มขึ้นที่นครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗

เมื่อเลิกศาลต่างประเทศใน พ.ศ. ๒๔๗๘ จึงมีการสร้างศาลจังหวัดเชียงใหม่ไว้เป็นอนุสรณ์การเลิกศาลต่างประเทศนั้น

 

 

          พ.ศ. ๒๔๗๘ และในวันเดียวกันนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ "พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พระพุทธศักราช ๒๔๗๗" มีผลบังคับใช้ ซึ่งส่งผลให้ศาลต่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาคดีตามสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับเก่าเป็นอันต้องยุบเลิกไปตั้งแต่วันนั้น ส่วนคดีที่ยังค้างการพิจารณาในศาลต่างประเทศนั้นก็ได้โอนไปพิจารณาต่อในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แทน
อนึ่ง เมื่อรัฐบาลสยามได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบทั้ง ๔ ฉบับ คือ กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาฉบับใหม่ที่ได้ลงนามและให้สัตยาบันกันไว้ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๓ - ๒๔๖๙ แล้ว และเพื่อให้ชาติคู่สัญญาเดิมให้การยอมรับอย่างเป็นทางการว่า บรรดาชาติคู่วัญญาเหล่านั้นได้เลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในแผ่นดินสยามโดยสมบูรณ์แล้ว รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงได้ดำเนินการสนธิสัญญาฉบับใหม่เพื่อรับรองเอกราชทางการศาลของสยามกับชาติคู่สัญญาเดิมทั้ง ๑๓ ชาตี

 

          การลงนามและให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาในครั้งหลังนี้ได้แล้วเสร็จลงโดยสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงได้มี "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเป็นผลสำเร็จเป็นความชอบในราชการของชาติควรตราไว้เป็นสำคัญ" เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ว่า

 

          "ด้วยบัดนี้ประเทศสยามได้แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้นแล้ว ชาติไทยเราได้รับสิทธิเสมอภาคทุกประการ ซึ่งย่อมจะเป็นเกียรติและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอันมาก

 

          จากผลอันนั้น เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ศกนี้ กระทรวงการคลังได้สั่งให้เปิดด่านศุลกากรบางแห่งตามชายแดนแม่น้ำโขงแล้ว

 

          ในการแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติรวม ๑๓ ชาติด้วยกันนี้ หลวงประดิษฐมนูธรรม [] เมื่อยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นผู้ดำเนินการเจรจาตั้งแต่ต้นจนเป็นผลสำเร็จเรียบร้อย และในการนี้ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ [] ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาฝ่ายไทยในกระทรวงการต่างประเทศ

 

 

หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

 

 

          สนธิสัญญาฉะบับใหม่กับนานาประเทศนั้น นอกจากคืนเอกราชและความเสมอภาคอันสมบูรณ์ให้แก่สยามแล้ว ยังเป็นความตกลงซึ่งสงวนสิทธิและเสรีภาพที่จะดำเนินนโยบายตามความต้องการของชาติไว้ได้ตามสมควร และเป็นความตกลงแบบเดียวกัน ซึ่งแสดงมาตรฐานความสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศไว้โดยสม่ำเสมอกัน

 

          การที่จะได้มาซึ่งสนธิสัญญาเช่นนี้ นอกจากจะอาศัยไมตรีจิตต์ซึ่งนานาประเทศมีอยู่แล้วเป็นอย่างดีนั้น ยังจะต้องได้รับความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาประเทศในนโยบายของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญด้วย

 

          การที่ได้ทำสนธิสัญญาใหม่จนเป็นผลสำเร็จดั่งกล่าวแล้ว นับว่าเป็นความชอบในราชการของชาติซึ่งควรตราไว้เป็นสำคัญ จึ่งขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

 

          ประกาศมา ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๑

 

 

 พิบูลสงคราม []

นายกรัฐมนตรี"  []

 

 

 

นายนาวาเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเจิมหนังสือสนธิสัญญาฉบับใหม่

โดยมี นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (นั่งทางซ้ายภาพ)

ร่วมในพิธี ณ โรงพระราชพิธีพระลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒

 

 

          นอกจากจะมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีสรรเสริญเกียรติคุณหลวงประดิษฐมนูธรรม ในฐานะผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่แล้ว ในเวลาต่อมานายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งบังคับบัญชาสำนักพระราชวังยังได้รับบัญชาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงการที่รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้นไปแล้วด้วยดี จึ่งโปรดให้มีงานฉลองสนธิสัญญาใหม่ที่โรงพระราชพิธีที่พระลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒

 

          ในงานนั้นเจ้าพนักงานพระราชพิธีได้เชิญหนังสือสนธิสัญญาเข้าเสนอให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการทรงเจิมหนังสือสนธิสนสัญญาแล้ว

 

          "พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๔ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานเจริญชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ พนักงานพระแสงในแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย แตรงอนแตรฝรั่ง เครื่องดุริยางค์ ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประเคนธูปเทียนหมากพลูแด่พระสงฆ์ แล้วโปรดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่มีหน้าที่ในการทำหนังสือสนธิสัญญานั้นประเคนต่อไป พระสงฆ์ถวายพระพร คณะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์กลับ เป็นเสร็จการ"  []

 

 

 


[ ]  "ประกาศตั้งกรรมการชำระประมวลกฎหมาย", ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๗ พฤษภาคม ๒๔๕๙), หน้า ๔๐.

[ "พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่", ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘), หน้า ๑ - ๑๔๔.

[ "ประกาศตั้งกรมร่างกฎหมาย", ราชกิจจานุเบกษา ๔๐ (๒๘ ตุลาคม ๒๔๖๖), หน้า ๑๒๘ - ๑๓๐.

[ ]  "พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่", ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘), หน้า ๑ - ๑๔๔.

[ นามเดิม ปรีดี พนมยงค์

[ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

[ ]  นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ต่อมาได้รับะระราชทานยศเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม

[ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเป็นผลสำเร็จเป็นความชอบในราชการของชาติควรตราไว้เป็นสำคัญ", ราชกิจจานุเบกษา ๕๕ (๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑), หน้า ๓๗๘๙ - ๓๗๙๐.

[ "หมายกำหนดการ ฉลองสนธิสัญญาใหม่ ๒๔๘๒", ราชกิจจานุเบกษา ๕๖ (๑๙ มิถุนายน ๒๔๘๑), หน้า ๘๐๐ - ๘๐๑.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |