โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๗. โรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่

จากโรงเรียนสอนหนังสือไทย

สู่มหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยามประเทศ ()

 

 

          การที่พระยาทรงสุรเดชเปิดโรงเรียนฝึกหัดราชการขึ้นที่เมืองนครเชียงใหม่นี้ ทำให้ "...เจ้าผู้ครองเมืองแลเจ้านายบุตรหลานเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน ได้นำบุตรหลานสมัคมาเล่าเรียนฝึกหัดวิชาเพิ่มเติมขึ้นอีก..."  [] และเมื่อ "...เจ้านายลาวที่ได้เข้ามาเล่าเรียนในที่ว่าการข้าหลวงนับแต่ปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๓ เปนต้นมา มีนายน้อยบุญโสมบุตร์เจ้าอุตรการหนึ่ง นายขันแก้วหลานเจ้าบูรีรัตน์หนึ่ง นายน้อยเมืองชื่น [] บุตร์นายน้อยสิงค์หนึ่ง..."  [] จนสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยแล้ว พระยาทรงสุรเดชก็ได้จ่ายเจ้านายทั้งสามนั้นเข้ารับราชการในหน้าที่หกตำแหน่งของเมืองนครเชียงใหม่ตามที่เจ้านายหกตำแหน่งได้ร้องขอมาตั้งแต่ปี ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๙) และในปีเดียวกันนั้นพระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงใหญ่ฯ ก็ได้มีใบบอกไปยังกระทรวงมหาดไทยขอพระราชทาน

 

          "...นักเรียนหนุ่ม ๆ ที่มีคุณวุฒิพอเขียนได้อ่านได้เสมอปีละ ๒ นาย... จะได้ฝึกหัดนักเรียนให้เข้ารับราชการเปนชั้น ๆ ตามลำดับทั้งนักเรียนไทยแลนักเรียนลาว ถ้านักเรียนผู้ใดสอบไล่วิชาได้แล้วจะได้จ่ายให้ไปรับราชการในหกตำแหน่งเมืองนครเชียงใหม่กำหนดให้ทำการอยู่เสมอปีหนึ่งหรือหกเดือน แล้วจะได้ถอนออกมาให้ไปรับราชการในข้าหลวงประจำเมือง มีเมืองนครลำปางเมืองนครลำพูนเปนต้น ให้นักเรียนเหล่านี้มีคุณวุฒิขึ้นเปนลำดับจนถึงทำการแทนข้าหลวงประจำเมืองได้ ถ้าเจ้าพนักงานในน่าที่ใดใดขาดว่างลงหรือจะมีพักผ่อนกลับลงมาเยี่ยมเยียนบ้านเรือนณะกรุงเทพฯ เปน ครั้งเปนคราว ก็จะได้จัดนักเรียนเหล่านี้เข้าทำการแทนผลัดเปลี่ยนกันไปตามควรแก่เวลาที่จำเปน ต้องมีราชการเกิดขึ้น ถ้านักเรียนคนใดที่เหลือนิไศรย์จะฝึกหัดให้ดีได้แล้วจะได้ส่งตัวคืนมาขอคนใหม่ต่อไป และนักเรียนเหล่านี้ใช่ว่าจะฝึกหัดแต่เฉภาะการข้าหลวงหรือแบบอย่างธรรมเนียมเมืองลาวเฉียงก็หาไม่ ควรจะฝึกหัดให้รู้ทั้งทางพิจารณาความศาลต่างประเทศแลการไปรสนีย์โทรเลขด้วย คือเมื่อเวลานักเรียนเหล่านี้สอบไล่ได้แล้วแต่ยังไม่มีช่องทางที่จะเข้าทำการก็จะได้จัดส่งนักเรียนไปทำการในศาลต่างประเทศหรือออฟฟิศไปรสนีย์โทรเลขเพื่อจะได้ฝึกหัดวิชาความรู้ไว้ ถ้าเจ้าพนักงานในศาลต่างประเทศหรือออฟฟิศไปรสนีย์โทรเลขจะต้องการนักเรียนไว้รับราชการแล้วก็จะได้ยกให้ไปรับราชการเปนฝ่ายหนึ่ง แต่บรรดานักเรียนไทยลาวที่ได้ฝึกหัดไว้ในเวลานี้มีที่เมืองนครเชียงใหม่แห่งหนึ่ง เมืองนครลำปางแห่งหนึ่ง เมืองนครลำพูนแห่งหนึ่ง... อนึ่งการฝึกหัดนักเรียนคนไทยกับคนลาวนี้เปนการผิดกันมาก เพราะคนไทยนั้นถึงจะเลวทรามเพียงใดถ้าได้ตั้งใจจะรับราชการอยู่แล้ว ก็สามารถที่ฝึกหัดบอกเล่าเข้าใจกันได้ง่ายแลมีความกล้าหาญอดเหนียว คนลาวนั้นถ้าแม้ว่าฝึกหัดได้ดีมีคุณวุฒิเท่ากับคนไทยก็ดีแต่ความอดเหนียวกล้าหาญไม่มีมักจะเกียจคร้านเสียมาก ถึงอย่างนั้นก็ดีพระยาทรงสุรเดชจำต้องฝึกฝนนักเรียนคนลาวให้เปนกำลังราชการขึ้นจงได้ไม่ให้เสียเปล่า อนึ่ง ถ้าโปรดเกล้าฯ พระราชทานนักเรียนคนไทยขึ้นไปรับราชการได้แล้วนักเรียนชั้นเก่า ๆ ก็มีคุณวุฒิพอจะเปนผู้ช่วยของข้าหลวงประจำเมืองได้แทบทุกคนจะได้จัดส่งนักเรียนเหล่านี้เข้ารับราชการแทนไปทุกน่าที่..." []

 

          เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงได้รับใบบอกดังกล่าวแล้ว ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท มีความตอนหนึ่งว่า

 

          "...การเรื่องนี้ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเค้าที่พระยาทรงสุรเดชคิดจะจัดการตามความเห็นซึ่งชี้แจงมาในใบบอกฉบับนี้เปนความคิดดีอยู่แต่ยังไม่ดีเท่าคิดจัดโรงเรียนพลเรือนให้มีขึ้นในกรุงเทพฯ แลจัดการรับแลจ่ายคนราชการให้เปนแบบทั่วไปในพระราชอาณาเขตร์ แต่การนั้นย่อมเปนการต้องคิดนานวัน ในชั้นนี้เกล้าฯ ได้มีตราตอบไปยังพระยาทรงสุรเดชว่าที่พระยาทรงสุรเดชคิดจัดการในเรื่องนี้เปนการชอบแล้วส่วนนักเรียนที่ขอปีละ ๒ นายนั้นจะจัดหาส่งขึ้นมาให้ตามที่พระยาทรงสุรเดชขอไปนั้นทุกประการ..."  []

 

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

 

 

          ครั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบความตามใบบอกนั้นแล้ว ได้มีพระราชกระแสดำรัสสั่งว่า "...การเรื่องโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเหนว่า รพี  [] จะไปหัวเมือง ได้สั่งให้กิติยากร  [] คิดการต่อไปแล้ว..." []

 

          อนึ่ง ในระหว่างที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการกำลังทรงพระดำริจัดวางวางหลักสูตรโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นโรงเรียนหนึ่งของกรมศึกษาธิการ ให้เหมาะสมแก่กำลังเงินของรัฐบาลในเวลานั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา "พระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่" ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ซึ่งทำให้เกิดการจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็น เมือง [] อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน และจากการที่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองหัวเมืองดังกล่าว จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดโรงเรียนฝึกหัดวิชาราชการพลเรือนดังที่พระยาทรงสุรเดชได้ริเริ่มไว้ที่เมืองนครเชียงใหม่

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์

พร้อมด้วยนายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

และข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ที่มาร่วมประชุมเทศาภิบาลที่พระราชวังบางปะอิน

เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖

 

 

          ในการประชุมเทศาภิบาลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์ [๑๐] ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า (อยุธยา) และพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร [๑๑] (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก จัดตั้งโรงเรียนการปกครอง "...ให้มีการฝึกสอนความรู้สำหรับเป็นกรมการอำเภอ..."  [๑๒] ขึ้นที่มณฑลกรุงเก่า (อยุธยา) และมณฑลพิษณุโลกขึ้นก่อน เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ทรงย้ายไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจิณ และพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรย้ายไปเป็นข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพ ก็ได้ไปเปิดสอนโรงเรียนการปกครองนี้ขึ้นอีกที่มณฑลปราจิณและมณฑลพายัพตามลำดับ

 

 

ตึกยาวริมประตูพิมานไชยศรี ที่ตั้งสำนักฝึกหัดราชการฝ่ายพลเรือนของกระทรวงมหาดไทย

 

 

          แต่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยแม้จะได้ขยายการฝึกสอนของโรงเรียนการปกครองออกไปยังมณฑลต่างๆ เพิ่มเติมแล้วก็ตาม แต่ข้าราชการที่ได้รับการฝึกหัดจากโรงเรียนการปกครองตามมณฑลต่างๆ นั้น ยังมีจำนวนน้อย "...เพียงแต่จะได้บรรจุตำแหน่งในมณฑลนั้น ๆ เอง หากจะแบ่งไปให้ต่างมณฑลใช้บ้าง ก็ยังไม่พอ เป็นอันยังไม่ได้คนคงแก่เรียนแท้ทันความต้องการ..."  [๑๓] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน หรือ "สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน" ขึ้นที่ตึกยาวริมประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ โดยมี

 

          "...ห้องเรียนชั้นต้นเรียกว่า "ชั้นเสมียนเอก" ชั้นกลางและต่อจากชั้นกลางขึ้นไปเรียก "นักเรียนปกครอง" ต้องไปศึกษาวิชาการปกครองท้องที่ ณ มณฑลที่มีการสอน คือ มณฑลอยุธยา หรือมณฑลพิษณุโลก ถ้านักเรียนคนใดไม่สมัครออกไปศึกษาที่มณฑล และกรมใดในกระทรวงต้องการไว้ให้รับราชการในกรมนั้น ก็ให้ไปฝึกงานในกรมที่ต้องการ จนกว่าจะมีความรู้พอที่ทำการได้ จึงจะได้รับราชการเป็นชั้นเสมียนหรือสูงกว่า สุดแล้วแต่ควรแก่ความรู้..."  [๑๔]

 

          เนื่องจากมีนักเรียนสนใจสมัครเข้าเล่าเรียนในสำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการและโรงเรียนการปกครองเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวง มหาดไทยจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเรียนพระราชปฏิบัติว่า

 

          "...ประเพณีโบราณซึ่งให้กุลบุตรที่จะเป็นขุนนาง ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงเสียก่อนนั้น เป็นการดีมีคุณมาก เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงรู้จัก ย่อมเป็นปัจจัยให้ทรงพระเมตตาไว้วางพระราชหฤทัย ส่วนตัวผู้เป็นข้าราชการเล่า เมื่อได้ทราบพระราชอัธยาศัยแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความจงรักภักดี เมื่อได้รับราชการก็จะไม่ประพฤติตัวให้ฝืนพระราชอัธยาศัย และมหาดเล็กได้เข้าสังคมชั้นดีอยู่เสมอ มีโอกาสได้ศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณี และฝึกหัดกิริยามารยาทให้ชอบด้วยประเพณีไปในตัว ทั้งได้รู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่ในที่ควรรู้จัก ได้คุ้นเคยกับพวกมหาดเล็กซึ่งต่างก็จะได้ไปรับราชการด้วยกัน มีโอกาสผูกไมตรีจิตต่อกันไว้สำหรับวันข้างหน้า เป็นประเพณีซึ่งมีประโยชน์น่ารักษาไว้..."  [๑๕]]

 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วยกับพระดำริดังกล่าว จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนในโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน "...ถวายตัวเปนมหาดเล็ก มีตำแหน่งรับราชการ ใกล้ชิดพระองค์ต่อมา..."  [๑๖] ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" เพื่อให้ "...สมกับประเพณีอันมีมาแต่โบราณ ที่ข้าราชการโดยมากย่อมได้ถวายตัวศึกษาราชการ ในกรมมหาดเล็กก่อนไปรับตำแหน่ง ในราชการกรมอื่น..."  [๑๗]

 

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) ขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาลแล้ว ต่อมาวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยทรงพระราชดำริว่า ในรัชสมัยของพระองค์นั้น การฝึกหัดราชการฝ่ายพลเรือน สำหรับส่งคนออกไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียวนั้น หาพอเพียงแก่ราชการปกครองพระราชอาณาจักร "...สมควรจะขยายการโรงเรียนให้กว้างขวางออกไป สำหรับส่งคนไปรับราชการทุกกระทรวงทะบวงการ จัดการโรงเรียนให้เปนแพนกวิทยาต่างๆ เช่น กฎหมาย ปกครอง การต่างประเทศ การ เกษตร การช่าง แลการแพทย์ เปนต้น.." และเมื่อกระทรวงธรรมการได้จัดการเรียนการสอนจนมีผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยนั้น มีต้นเค้าการก่อกำเนิดมาจากโรงเรียนเมืองนครเชียงใหม่และโรงเรียนฝึกหัดราชการเมืองนครเชียงใหม่นั่นเอง

 

 

 


[ ]  ที่เดียวกัน

[ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าราชภาคินัย นครเชียงใหม่

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ม.๕๘/๖๓ เรื่อง จัดนักเรียนฝึกหัดรับราชการมณฑลลาวเฉียง (๑ กรกฎาคม ๑๑๓ - ๑๙ ตุลาคม ๑๑๕)

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ม.๕๘/๖๓ เรื่อง จัดนักเรียนฝึกหัดรับราชการมณฑลลาวเฉียง (๑ กรกฎาคม ๑๑๓ - ๑๙ ตุลาคม ๑๑๕)

[ เรื่องเดียวกัน

[ คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

[ ]  คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศ
เป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ ม.๕๘/๖๓ เรื่อง จัดนักเรียนฝึกหัดรับราชการมณฑลลาวเฉียง (๑ กรกฎาคม ๑๑๓ - ๑๙ ตุลาคม ๑๑๕)

[ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาเรียกว่า "จังหวัด"

[ ๑๐ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์

[ ๑๑ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ และเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ ตามลำดับ

[ ๑๒ พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา). เทศาภิบาล, หน้า ๒๕๗.

[ ๑๓ เทศาภิบาล, หน้า ๒๖๔.

[ ๑๔ เทศาภิบาล, หน้า ๒๖๔ - ๒๖๕.

[ ๑๕ เทศาภิบาล, หน้า ๒๖๕.

[ ๑๖ "ประกาศตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก", ราชกิจจานุเบกษา ๑๙ (๖ เมษายน ๑๒๑), หน้า ๑๖.

[ ๑๗ ที่เดียวกัน

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |