โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๒. พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ()

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ทรงฉายพระรูปพร้อมด้วย โปรเฟซเซอร์ คอราโด เฟโรจี

ผู้ปั้นหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร

 

 

          เมื่อรัฐบาลรับธุระเป็นเจ้าภาพจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ ณ สวนลุมพินีก็ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ และมอบหมายให้โปรเพซเซอร์ คอราโด เฟโรจี (ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี) ประติมากรชาวอิตาเลียนซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ามารับราชการเป็นประติมากรประจำราชสำนักมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยเป็นผู้ปั้นหล่อพระบรมรูปโลหะในพระอิริยาบถประทับยืนเต็มพระองค์ ทรงเครื่องเต็มยศจอมพล จอมทัพบกสยาม ทรงพระมาลาเฮลเม็ต (Helmet) ที่เรียกกันเป็นสามัญว่า "ทรงกะโล่" ประดับพู่ขนนกขาวกับแดง (หมายทรงเป็นนายทหารพลรบ) ฉลองพระองค์ทูนิค (Tunic) สีขาว มีปลอกพระศอและข้อพระกรพื้นดำปักดิ้นทอง พระสนับเพลาแบบขี่ม้าติดแถบสีบานเย็นขนาดใหญ่มีริ้วสีบานเย็นขนาดเล็กพาดกลาง ฉลองพระบาทหนังสูง (Top Boot) พระหัตถ์ขวาทรงถือพระคทาจอมพล พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมด้ามพระแสงกระบี่

 

 

พระบรมรูปเมื่อแรกประดิษฐานที่แท่นฐาน ณ สวนลุมพินี

 

 

          ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์นั้นมีพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช ร. สุขยางค์) และหลวงบุรกรรมโกวิท (ล้อม บุรกรรมโกวิท) เป็นผู้ออกแบบ แต่เมื่อเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นฐานที่ด้านหน้าสวนลุมพินี ก็ให้เกิดความรู้สึกกันว่า พระบรมรูปที่ประดิษฐานเหนือแท่นฐานที่จัดเตรียมไว้นั้นค่อนข้างต่ำ ทำให้พรบรมราชานุสาวรีย์นั้นขาดความสง่างามไปมาก จึงได้มีดำริให้จัดสร้างเสริมฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ให้ได้สัดส่วนงดงามสมพระเกียรติยศ และในการปรับแต่งแท่นฐานพระบรมรูปนี้จะต้องจัดหาทุนดำเนินการเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง คณะกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๖ คน ประกอบด้วย นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หลวงเมธีนฤปกร นายกสมาคมฯ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) อุปนายกฯ นักเรียนเกามหาดเล็กหลวง หลวงสรรสารกิจ (เคล้า คชนันทน์) เลขานุการฯ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) กรรมการฯ และนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ศาสตราจารย์คำนึง ชาญเลขา นายทะเบียนฯ ซึ่งได้มาพบกันในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงได้หารือกันถึงแนวทางการรณรงค์จัดหาเงินทุนสมทบการก่อสร้างแท่นฐานพระบรมราชานุสรณ์นั้น

 

 

หลวงเมธีนฤปกร (สดวก บุนนาค)

อดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          ในการหารือกันครั้งนั้นหลวงเมธีนฤปกร นายกสมาคมฯ ได้เสนอให้จัดงานออกร้านในทำนองเดียวกับ "งานวัดเบญจมบพิตร" ในรัชกาลที่ ๕ และ "งานฤดูหนาว" ในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเงินรายได้จากการจัดงานฤดูหนาวมาพระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงอยู่เนืองๆ และคณะกรรมการสมาคมฯ ทั้ง ๖ คนต่างก็เห็นพ้องร่วมกัน ศาสตราจารย์คำนึง ชาญเลขา จึงได้เสนอให้ใช้ชื่องานนั้นว่า "งานวชิราวุธานุสรณ์"

 

 

ภาพเขียนฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          งานวัดเบญจบพิตรนั้นเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูหนาวของทุกปี เพื่อจัดหารายได้บำรุงวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระอารามหลวงประจำพระราชวังดุสิต ซึ่งในเวลานั้นยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์

 

 

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล

พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

 

          หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงความสนุกในงานวัดเบญจบพิตร ไว้ในเรื่อง "สารคดีที่น่ารู้" ว่า

 

 

          "งานที่สนุกที่ ๑ ในวัดเบญจมบพิตร คืองานออกร้านในวัดนี้ อันเป็นงานประจำปีในฤดูหนาว เพื่อเก็บเงินบำรุงวัดซึ่งยังไม่แล้วเรียบร้อยดี เรียกกันในสมัยนั้นว่า "งานวัด" ร้านต่างๆ มีตั้งแต่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านายทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สุดแต่ใครมีกำลังจะทำได้ จนถึงชาวต่างประเทศผู้เป็นนาห้างใหญ่ๆ บริเวณร้านอยู่ในเขตรั้วเหล็กแดงเท่านั้น ต่อมาทางตัวพระอุโบสถก็มีแต่พวกร้านขายธูปเทียนดอกไม้และทองเปลว สำหรับผู้จะไปบูชาพระและทำบุญ พวกเราเด็กๆ มิได้เคยไปทางนั้นเลย ซ้ำกลัวว่ามืดอีกด้วย เราพากันวิ่งวุ่นอยู่แต่ทางร้านต่างๆ ซึ่งเห็นในเวลานั้นว่าใหญ่โตมโหฬารสุดหล้าฟ้าเขียวซ้ำยังมีสถานที่ที่เรียกว่า สำเพ็ง อยู่นอกรั้วแดงทางถนนราชดำเนินอีกเมืองหนึ่ง มีทั้งโรงโขนชักรอกและเขาวงกฎที่เข้าไปแล้วออกไม่ได้ จนกว่าจะเดินถูกทาง ร้านในแถวสำเพ็งอย่างเดียวกับงานภูเขาทอง ผิดกับข้างในวัดอย่างเทียบไม่ได้ เพราะความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความนิยมผิดกัน

 

          ทุกคนที่ก้าวเข้าประตูเหล็กแดงเข้าไปแล้ว จะรู้สึกเหมือนเมืองๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ผู้คนแต่งตัวสวยๆ งามๆ ร้านจัดกันอย่างประณีตและเรียบร้อย ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม นอกจากเสียงดนตรีเบาๆ พอได้ยินพูดกันไม่ต้องตะโกน ไม่มีคนแน่นจนถึงเบียดเสียดกัน ไม่มีใครมาถ่มขากปล่อยเชื้อโรคข้างๆ ตัว และสิ่งที่วิเศษยิ่งก็คือ ไม่มีขโมยเลย ฉะนั้นทุกคนที่มีเพชรนิลจินดาก็แต่งกันได้วุบวับ (ที่ไม่มีอาจจะยืมเขามาบบ้างก็คงมี) ทุกคนหน้าตาเบิกบาน เสียงทักทายกันแต่ว่า "ร้านอยู่ไหน เดี๋ยวไป" เพราะร้านของใครก็พาครอบครัวไปนั่งเป็นเจ้าของร้าน เป็นผู้ชาย ทั้งนี้ก็เพราะทุกคนจะได้เฝ้าในหลวงของเขาทั่วกัน ใครอยากเฝ้าก็นั่งอยู่หน้าร้าน เวลาเสด็จผ่านทรงหยุดทอดพระเนตรและทักทายเจ้าของร้าน ทั้งครอบครัวก็ได้เฝ้า ใครอยากทูลอะไร อยากถวายอะไรก็ถวายได้

 

          อีกอย่างหนึ่งในสมัยนั้นพวกนักเรียนเมืองนอก กำลังเรียนจบทยอยกันมาทุกปี ท่านพวกนี้เปรียบเสมือนเทวดาตกลงมาจากสวรรค์ ความคิดของท่านไม่ยอมให้ คลุมถุงชน นั้นเป็นแน่ ฉะนั้น "งานวัด" นี้ จึงเป็นที่หนุ่มสาวเขาเลือกคู่กันเอง แต่เขาไปนั่งคุยกันตามร้าน ไม่มีไปไหนด้วยกันได้ พวกเราเด็กๆ ขนาด ๑๑-๑๒ ขวบ อยู่นอกเกณฑ์ ก็วิ่งเล่นสนุกแทบตาย ความสนุกนั้นคือ ไปเที่ยวตามเด็กรุ่นเดียวกัน ไปเที่ยวดูตุ๊กตา แม้จะแพงซื้อไม่ได้ เพียงไปนั่งดูก็สนุก ออกจากร้านตุ๊กตาไปร้านตกเบ็ด เขาทำเป็นสระและห่อสลากเป็นรูปสัตว์น้ำต่างๆ อยู่ในนั้น มีเบ็ดแม่เหล็กไว้ตรงปลาย ใครจะตกเบ็ดก็เสีย ๑ บาท แล้วยื่นเบ็ดลงไปในสระ ห่อสัตว์เหล่านั้นมีเหล็กอยู่ข้างใน ก็กระโดดขึ้นมาติดเบ็ดเรา ชอบเสียจริงๆ จังๆ

 

 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |