โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

 

๑๕๙. คำพิพากษาศาลรับสั่งกระทรวงวัง

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ ประทับเหนือพระแท่นมนังคศิลารัตนสิงหาสน์
ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช
วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกึฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับรัชทายาทเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แก่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ทรงแยกราชการส่วนพระองค์ออกจากราชการแผ่นดิน

 

          เมื่อทรงอนุโลมให้แยกราชการในพระราชสำนักออกจากราชการแผ่นดินแล้ว ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกแผนกฎีกาในกรมราชเลขานุการ กับศาลรับสั่งกระทรวงวังเดิม มารวมตั้งขึ้นเป็นกรมพระนิติศาสตร์ จัดเป็นกรมในพระราชสำนักสังกัดกระทรวงวัง

 

          ศาลรับสั่งกระทรวงวังนั้นมีเขตอำนาจเช่นเดียวกับศาสทหาร ที่มี “อำนาจที่จะพิจารณา และวางบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายทหาร หรือพระราชกำหนดกฎหมายในทางอาญาหลวง ซึ่งผู้กระทำผิดนั้น เปนบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารบก ในขณะที่กระทำความผิด”  [] แต่ศาลรับสั่งกระทรวงวังนั้นมีเขตอำนาจเฉพาะในเขตพระราชฐาน โดยผู้กระทำผิดนั้นเข้าราชการในพระราชสำนัก รวมทั้งบุคคลพลเรือนทั้งปวงซึ่งทำการอยู่ในพระราชสำนักทั้งที่สังกัดกระทรวงวัง และกรมมหาดเล็ก ที่กระทำผิดต่อกฎหมายลักษณะอาญาและกฎมณเฑียรบาลซึ่งบังคับใชอยู่ในเวลานั้น และเมื่อศาลรับสั่งกระทรวงวังมีคำพิพากษาในคดีใดแล้ว เป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงวังต้องนำความกราบบะงคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นที่สุด

 

 

แผนที่แสดงแนวเขตพระราชวังดุสิต

 

 

          คดีที่สำคัญที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ที่ศาลรับสั่งกระทรวงวังได้รับว้พิจารณา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ คือ คดีลักทรัพย์และยักยอกทรัพย์ของหม่อมพยอม ในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ ครูแม่บ้านคณะเด็กเล็ก โรงเรียนมหาดแล็กหลวง คดีนี้ศาลรับสั่งกระทรวงวังได้มีคำพิพากษาไว้ดังนี้

 

 

“คดีที่ ๑๗/๒๔๕๙

ศาลรับสี่งกระทรวงวัง

 

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙

 

          ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ ได้นั่งพร้อมกัน ณ ศาลรับสั่งกระทรวงวัง พิจารณาคดีอาญา

 

 

                    อัยการวัง (ขุนฤทธิเดชพลขันธ์ แทน)

จท

 

 

          ในระหว่าง

 

 

 

                    อำแดงกุหลาบ

จำเลย

 

 

เสร็จสำนวนแล้ว  ขอพระราชทานนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

 

 

 

 

          ในคดีเรื่องนี้โจทฟ้องว่า อำแดงกุหลาบเปนผู้ร้ายลักผ้าพื้น ๓ ผืน ผ้าลาย ๓ ผืนกับผ้าเช็ดหน้า ๑๒ ผืนรวมราคา ๑๐ บาทของหม่อมพยอมซึ่งเปนนายจ้างของจำเลย เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เขตรพระราชวังดุสิต และจำเลยได้ยักยอกสร้อยข้อมมือทองคำ ๒ สายทองคำหนัก ๓ สลึงเศษ ราคา ๒๕ บาท ของหม่อมพยอมไปด้วย จำเลยกระทำผิดแล้วหลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจพระนครบาลจับตัวจำเลยพร้อมทั้งของกลางบางอย่างได้ส่งมายังกระทรวงวัง ขอให้ศาลลงโทษฐานลักทรัพย์และยักยอกทรัพย์

 

          อำแดงกุหลาบอายุย่างเข้า ๑๕ ปี จำเลยให้การรับว่าเมื่อหนีไปได้เอาผ้านุ่งผ้าเช็ดหน้าที่หม่อมพยอมให้ไว้สำหรับใช้ไปด้วย ผ้าที่ไม่ได้คืนมาเปนของกลางได้นุ่งขาดเสียแล้ว ผ้าเช็ดหน้า ๓ ผืนได้ให้ผู้อื่นไป สร้อยข้อมือถอดห่อกระดาษเก็บไว้แล้วเลยหาย
ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยเคยอยู่กับหม่อมพยอมเจ้าทรัพย์ณะโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในบริเวรพระราชวังดุสิตมาตั้งแต่เล็ก เคยหลบหนีไปครั้งหนึ่งและเก็บเอาผ้าผ่อนที่ให้ใช้หนีไปเสียด้วย เพราะฉนั้นเมื่อกลับมาอยู่คราวนี้ หม่อมพยอมจึงคิดจ้างจำเลยเป็นเงินเดือนๆ ละ ๔ บาท ส่วนผ้านุ่งห่มเครื่องแต่งตัวสัญญาไม่ให้แก่จำเลยเปนสิทธิ ให้สำหรับตบแต่งเท่านั้น เมื่อจะไปอยู่ที่อื่นต้องคืนแต่ถ้าใช้สรอยสึกหลอขาดวิ่นไปไม่เอาใช้ ในครั้งนี้จำเลยหลบหนีไปตามวันเวลาที่โจทหาแลเอาทรัพย์คือผ้านุ่ง ๕ ผืนราคา ๗ บาท ผ้าเช็ดหน้า ๑ โหล ราคา ๓ บาท กับสร้อยข้อมือ ๒ สายราคา ๒๐ บาท ซึ่งหม่อมพยอมนายจ้างมอบไว้ไปด้วย ในวันที่จับจำเลยได้ๆ ผ้าคืนมาบ้าง ส่วนสร้อยข้อมือจำเลยจำหน่ายว่าหาย

 

          ตามทางพิจารณาซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า จะลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ไม่ถนัด จำเลยมีความผิดแต่เพียงฐานยักยอกทรัพย์ตากฎหมายประมวลอาญา มาตรา ๓๑๙ ข้อ ๑ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ควรวางโทษจำคุกจำเลยมีกำหนดเพียง ๑ ปี แต่จำเลยอายุยังไม่ครบ ๑๖ ปีตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๕๘ ตอน ๓ ให้ลงอาญาแต่กึ่ง ๑ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพเปนประโยชน์แก่การพิจารณาควรได้รับพระมหากรุณาลดโทษตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๕๙ ลงอีกครึ่งหนึ่ง โทษที่จะต้องรับพระราชอาญาจึ่งคงเหลือ ๓ เดือนนับแต่วันที่จำเลยต้องขังมาแล้วเปนต้นไป กับให้ใช้ทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเปนราคา ๒๐ บาท ๗๕ สตางค์ ถ้าไม่มีใช้ให้จำเลยไถ่โทษตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๑๘ ของกลางที่จับได้ให้คืนเจ้าทรัพย์ไป

 

          ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมพร้อมกันดังนี้ การจะควรประการใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

 

 

ข้าพระพุทธเจ้า

เสวกเอก พระศรีวิกรมาทิตย์

 

 

ขุนตำรวจเอก พระยาราชสงคราม

 

 

เสวกเอก พระเทพศาสตร์ราชสภาบดี

 

 

มหาเสวกโท พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์”

 

 

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล)
เสนาบดีกระทรวงวัง

 

 

          ต่อมาวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาเรียนพระราชปฏิบัติมีความตอนหนึ่งว่า

 

 

          “ในคดีระหว่างอัยการวังโจทย์ อำแดงกุหลาบจำเลย โจทย์ฟ้องกล่าวว่า เมื่อวันที่ ๘ กันยายนศกนี้ จำเลยเปนผู้ร้ายลักทรัพย์แลยักยอกทรัพย์ของพยอมหม่อมห้ามในพระราชวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาศ ผู้เปนนายจ้างที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เขตรพระราชวังดุสิต แล้วหลบหนีไป เจ้าน่าที่จับจัวได้พร้อมของกลางบางอย่างส่งมายังกระทรวงวัง จึงขอให้ศาลรับสั่งลงโทษ

 

          จำเลยมีอายย่างเข้า ๑๕ ปีให้การรับว่า เมื่อหนีได้อาทรัพย์ที่กล่าวนี้ไปด้วย เพราะพยอมให้ไว้สำหรับใช้

 

          ศาลรับสั่งกระมรวงวังพิจารณาเสร็จสำนวนแล้วคงได้ความว่า จำเลยอยู่กับพยอม ณ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงในบริเวณพระราชวังดุสิตมาแต่เล็ก เคยหนีไปครั้งหนึ่งแลเก็บทรัพย์ที่ให้ใช้ติดตัวไปด้วย เมื่อมาอยู่คราวนี้พยอมคิดจ้างเปนเงินดือนๆ ละ ๔ ลาท มีข้อสัญญาว่าเครื่องแต่งตัวไม่ให้เปนสิทธิ์ เมื่อไม่อยู่ด้วยต้องคืน ครั้งนี้จำเลยหนีเก็บเอาทรัพย์ที่ให้ใช้ติดตัวไปด้วย ได้ความดังนี้ จึงปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า จะลงโทษจำเลยถานลักทรัพย์ยังไม่ถนัด มีความผิดแต่เพียงฐานยักยอกทรัพย์ตากฎหมายประมวลอาญา มาตรา ๓๑๙ ข้อ ๑ ระวางโทษจำคก ๑ ปี จำเลยมีอายุไม่ครบ ๑๖ ปี ตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๕๘ ตอน ๓ ให้ลงอาญากึ่งหนึ่ง ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพเปนประโยชน์แก่การพิจารณาควรได้รับพระมหากรุณาลดโทษตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๕๙ ลงอีกครึ่งหนึ่ง โทษที่จะต้องรับพระราชอาญาจึงคงเหลือ ๓ เดือนนับแต่วันที่จำเลยจ้องขังมาแล้วเปนต้นไป กับให้ใช้ทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเปนราคา ๒๐ บาท ๗๕ สตางค์ ถ้าไม่มีใช้ให้จำไถ่โทษตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๑๘ ของกลางที่จับได้ให้คืนเจ้าทรัพย์ไป

 

          ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูเกล้าฯ ถวายคำปฤกษษของศาลรับสั่งเรียนพระราชปฏิบัติ”

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาของเสนาบดีกระทรวงวังและคำพิพากษาศาลรับสั่งกระทระทรวงวังในคดีดังกล่าวแล้ว ได้มีพระบรมราชซินิจฉียเป็นที่สุดว่า “พอควรแล้ว” คดีนี้จึงเป็นที่สุด

 

          แต่ประเด็นสำคัญในคำพิพากษาศาลรับสั่งคดีนี้ คือ ข้อที่ระบุว่า “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เขตรพระราชวังดุสิต” ดังนี้จึงเป็นพยานสำคัญที่ชี้ชัดว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือปัจจุบัน คือ วชิราวุธวิทยาลัย ตั้งอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน

 

 
 
 

[ ]  “พระธรรมนูญศาลทหารบก รัตนโกสนินทรศก ๑๒๖”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๔ (๒๙ ธันวาคมคม ๑๒๖), หน้า ๑๐๑๕ - ๑๐๒๙.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๕๑  |  ๑๕๒  |  ๑๕๓  |  ๑๕๔  |  ๑๕๕  |  ๑๕๖  |  ๑๕๗  |  ๑๕๘  |  ๑๕๙  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |