โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒๓. พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ()

 

พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนลุมพินี เมื่อเสริมแท่นฐานแล้วเสร็จ

 

 

          เมื่อการสร้างเสริมฐานพระบรมราชานุสาวรีย์แล้วเสร็จ แต่เนื่องจากเวลานั้นสถานการณ์ภายในประเทศยังอยู่ในสภาวะสงคราม รัฐบาลในเวลานั้นจึงได้จัดให้มีพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนลุมพินีโดยไม่มีการเฉลิมฉลอง เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ และในการพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปคราวนั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานตรารัตนวราภรณ์และเหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. เป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่ได้ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สวนลุมพินี ดังนี้

 

รัตนาภรณ์ ว.ป.ร.ชั้นที่ ๒

เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค)

นายวิจิตร  วิจิตรวาทการ []

นายพันตรี วิลาศ โ อสถานนท์

พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์)

หม่อมราชวงศ์โป้ย  มาลากุล []

 

รัตนาภรณ์ ว.ป.ร.ชั้นที่ ๓

นายสาโรช  รัตนนิมมานก์ สุขยางค์ []

นายล้อม  บุรกรรมโกวิท []

หลวงสรรสารกิจ (เคล้า คชนันทน์)

 

รัตนาภรณ์ ว.ป.ร.ชั้นที่ ๔

หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม  กฤดากร

หลวงเมธีนฤปกร (สดวก บุนนาค)

นายเฟโรจี []

 

รัตนาภรณ์ ว.ป.ร.ชั้นที่ ๕

นายสอาด สิงหพรรค

 

          ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงและสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยก็ได้กลับมาจัดงานวชิราวุธานุสรณ์เพื่อรวบรวมเงินรายได้จากการจัดงานส่งไปสมทบสาธารณกุศลที่เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมาจนมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ ทำให้สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ต้องถูกยุบเลิกไปตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐

 

 

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ จอมพล ประภาส จารุเสถียร

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธ

ในคราวเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณัรัตนปฏิมากร

ในการทรงประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย - ฮังการี

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

 

 

          เมื่อสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธต้องถูกยุบเลิกไป การจัดงานวชิราวุธานุสรณ์จึงต้องว่างเว้นไปในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๐๒ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธขึ้นอีกครั้ง โดยมีนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ พลเอก ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นนายกสมาคมฯ และนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย คำนึง ชาญเลขา ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นเลขานุการสมาคมฯ จึงได้มีการรื้อฟื้นการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ และคณะกรรมการสมาคมฯ ในยุคนั้นได้ประชุมพร้อมกันมีมติให้รื้อฟื้นความคิดเดิมในการที่จะจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ ณ วชิราวุธวิทยาลัย เพื่ออาจารย์ ครู นักเรียน นักเรียนเก่า และผู้จงรักภักดีได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานกำเนิดสถานศึกษานี้มา

 

          จากนั้นสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบหมายให้นายอนิก สมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับมอบหมายจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้เป็นผู้สอนวิชากายวิภาคคน กายวิภาคสัตว์ วิชาวาดเส้น และวิชาประติมากรรม เป็นประติมากรปั้นหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธขนาดเท่าพระองค์ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเนื่องในการทรงประกาศสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย – ฮังการี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรีเสด็จแทนพระองค์ทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพิธีหน้ากองอำนวยการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ เนื่องในการทรงปิดงานวชิราวุธานุสรณ์ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕

 

 

พระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าหอประชุม

 

 

          พระบรมรูปที่ปั้นหล่อในคราวนั้น สมาคมนักเรียนเก่าฯ ได้มอบหมายให้ประติมากรปั้นหล่อไว้ ๒ พระองค์ๆ หนึ่งหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ ประดิษฐานไว้เป็นที่เคารพของนักเรียนเก่าและผู้จงรักภักดี ณ ที่ทำการสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกพระองค์หล่อด้วยสำริดรมดำ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในการประดิษฐานพระบรมรูปพระองค์นี้ที่แท่นฐานหินอ่อนซึ่งนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย เจือรวี ชมเสวี เป็นผู้ออกแบบ ประดิษฐานแท่นฐานนี้ในสนามภายในวงเวียนหน้าหอประชุม มีฉากหลังเป็นมุขหน้าหอประชุม เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ในงานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าหอประชุม

 

 
 
 

 

[ ]  พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ

[ ]  พระยาเทวาธิราช สมุหพระราชพิธี

[ ]  พระสาโรชรัตนนิมมานก์

[ ]  พันตรี หลวงบุรกรรมโกวิท

[ ]  ศาสตราจารย์สิลป์ พีรศรี

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๒๑  |  ๑๒๒  |  ๑๒๓  |  ๑๒๔  |  ๑๒๕  |  ๑๒๖  |  ๑๒๗  |  ๑๒๘  |  ๑๒๙  |  ๑๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |