โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

 

๑๔๖. ประเพณีในวชิราวุธวิทยาลัย (๑๑)

 

การแข่งขันกีฬาและแห่ถ้วย

 

          ในการอบรมนักเรียนในพับลิคสกูลของอังกฤษนั้น นอกจากการเล่าเรียนวิชาในชั้นเรียนแล้ว ในพับลิคสกูลได้นำกีฬาโดยเฉพาะกีฬาประเภททีมมาให้นักเรียนเล่น เพื่อปลูกฝังการเล่นเป็นทีมอันเป็นรากฐานของความรักหมู่รักคณะ

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่นเทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นผู้นำกีฬาฟุตบอลเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นคนแรกเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๓ มาให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงฝึกหัดเล่นกีฬาชนิดนี้ และเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ก็ได้พระราชทานบทความเรื่อง “ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย” โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า “นิสิตออกซ์ฟอร์ด” ไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงเป็น “นิสิตออกซ์ฟอร์ด”

 

 

          “บรรดาผู้อ่านหนังสือพิมพ์ของท่าน คงจะได้สังเกตเห็นแล้วว่าฟุตบอลนั้น ในสมัยนี้มีคนพอใจชอบเล่นกันเปนอันมาก แลไม่ต้องสงสัยเลยคงจะเปนการเล่นที่จะยั่งยืนต่อไปในกรุงเทพฯ ข้อนี้ก็ไม่ปลาดอะไร แต่ท่านทั้งหลายคงจะได้สังเกตเห็นแล้วว่าฟุตบอลซึ่งเปนการเล่นของชาวอังกฤษโดยแท้นั้น พึ่งจะได้มีคนนิยมเล่นกันมากใน ๔ - ๕ ปีนี้เอง. ตามโรงเรียนต่างๆ นั้น ได้เล่นกันมานานแล้วจริงอยู่ แต่ในหมู่ทหารพึ่งจะได้มาแลเห็นเล่นกันหนาตาขึ้นในเร็วๆ นี้เอง. ผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารย่อมทราบอยู่ดีแล้วว่า เวลาใดที่คนหนุ่มๆ มาประชุมรวมกันอยู่ในที่แห่งเดียวกันเปนจำนวนมาก จะเปนทหารหรือพลเรือนก็ตาม ความคนองอันเปนธรรมดาแห่งวิสัยหนุ่มจำเปนต้องมีทางระบายออกโดยอาการอย่างใดอย่าง ๑ ในสมัยก่อนเมื่อครั้งกองทัพของเราได้เริ่มจัดระเบียบขึ้นตามแบบของกองทัพเยอรมันโดยเคร่งครัดนั้น การเล่นใดๆ และการกรีฑาทั้งปวงย่อมนับว่าเปนสิ่งที่ไม่สมควรแก่ทหาร เพราะฉนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่าด้วยเหตุนี้เองผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารของเรา ถึงจะไม่ห้ามปรามตรงๆ จึงไม่ใคร่จะได้อุดหนุนส่งเสริมการเล่นอย่างใดๆ ทั้งสิ้น จริงอยู่การกรีฑาได้มีมาแล้วเปนครั้งคราว และเราก็ยังจำได้ว่าได้เคยเห็นการกรีฑาของทหารที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว ๒ คราว แต่การกรีฑาอย่างที่จัดมาแล้วนั้นเปนแต่การชั่วคราว ความพยายามที่จะบำรุงการเล่นในหมู่ทหารเพื่อให้เปนทางออกกำลังกายและหย่อนใจนั้นนับว่าไม่มีเลย เพราะฉนั้นทหารไทยเราจึงล้วนเปนผู้ที่ได้เคยต้องประพฤติตนอย่างที่ชนเยอรมันเขาเห็นว่าสมควรแก่ทหาร แต่ซึ่งชาวเราเห็นว่าไม่สนุกอย่างยิ่ง

 

          ในกองทัพบกอังกฤษ เขาย่อมมีการเล่นแลกรีฑาต่างๆ ส่วนในกองทัพบกรัสเซียเขาก็อุดหนุนการเต้นรำและร้องเพลงเปนทางบรรเทิงใจในหมู่ทหาร ฝ่ายกองทัพเยอรมันนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าทหารมีทางบันเทิงใจโดยอาการอย่างไร ข้าพเจ้าได้ยินแต่กิติศัพท์เขาว่าวิธีเดินก้าวช้ายกขาสูงๆ ซึ่งฝรั่งเขาเรียกกันว่า “เดินตีนห่าน” นั่นแหละเปนวิธีที่เยอรมันเขาใช้สำหรับฝึกหัดกำลังกาย ซึ่งผู้บังคับบัญชาในกองทัพอันเปนเจ้าของแบบอย่างนั้นได้ให้อนุมัติเห็นชอบด้วย. การเดินชนิดนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะต้องใช้กำลังมากจริง แต่จะนับว่าเปนทางบันเทิงใจนั้นยังแลไม่เห็น แต่อย่างไรก็ดี วิธีเดินตีนห่านนี้ หาได้นำเอามาใช้เปน แบบอย่างในกองทัพไทยเราไม่ และเมื่อการเล่นอย่างใดๆ อื่นก็มิได้จัดให้มีขึ้น ทหารของเราจึงมิได้มีการเล่นเพื่อหย่อนใจและออกกำลังกายเลย เว้นไว้แต่การฝึกหัดดัดตนและหัดกำลังกาย ซึ่งทหารของเราก็ถือว่าเปนการงาน มิใช่การเล่น. ทางหย่อนใจนี้แหละเปนสิ่งที่ทหารเราต้องการ ก็เมื่อทหารเหล่านี้ไม่มีทางที่จะระบายความคนองซึ่งมีอยู่โดยธรรมดานั้นโดยอาการอันปราศจากโทษและสนุกสนาน คือ มีการเล่นชนิดที่ออกกำลังกายอย่างลูกผู้ชาย อีกประการหนึ่งการดื่มเหล้าเบียร์ฤาก็มิใช่เปนทางหย่อนใจที่จะหาได้ด้วยราคาถูกเหมือนอย่างในเมืองอื่นบางเมือง ทหารของเราตามทางราชการ จึงนับว่าไม่มีทางสนุกสนานหย่อนใจอะไรเลย แต่ในทางซึ่งมิใช่ราชการหรือทางส่วนตัวนั้น เขาทั้งหลายบางทีก็ระบายความคนองของเขาโดยวิธีไม่สนุกแก่พลเรือนเลย (เพราะพลเรือนมักต้องหัวแตก) และไม่ขันสำหรับพลตระเวนด้วย ส่วนนายผู้มีน่าที่บังคับบัญชา ก็ต้องใช้ความระวังระไวอยู่เสมอ เพื่อควบคุมคนที่อยู่ในบังคับของตน.

 

          ต่อมาความนิยมอย่างใหม่ได้ปรากฏขึ้นทีละเล็กละน้อย. ในโรงเรียนนายร้อยและนายเรือ ได้เกิดเล่นฟุตบอลกันขึ้น ฟุตบอลได้เกิดมีขึ้นด้วยอาการอย่างไรนั้น ก็หาได้มีปรากฏในจดหมายเหตุแห่งใดไม่ และข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาจะได้เปนผู้ชักนำเข้ามาหรืออย่างไร แต่การเล่นของอังกฤษชนิดนี้ย่อมมีลักษณอยู่อย่าง ๑ คือ ว่าถ้าได้เข้าไปถึงแห่งใดแล้ว แม้ทางราชการจะแสดงกิริยาเม้ยเมินสักเท่าใดก็ดี คงไม่สามารถจะบันดาลให้สูญหายไปได้ เพราะฉนั้นในไม่ช้าการเล่นฟุตบอลนี้จึงได้กลายมาเปนวิธีหย่อนใจแลออกกำลังกายของนักเรียนนายร้อยแลนายเรือ ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชานั้น ก็เออ อวยอุดหนุนไปตามควร. เมื่อในเร็วๆ นี้ได้มีการเล่นแข่งขันกันหลายคราวอย่างฉันมิตร์ ในระหว่างนักเรียนนายร้อยทหารบกแลเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์ ซึ่งอยู่ใกล้กันในบริเวณสวนดุสิต ส่วนนักเรียนนายเรือก็ได้มาเล่นกับนักเรียนมหาดเล็กหลวงหลายคราว.

 

          ต่อนั้นมาฟุตบอลจึงได้เข้าไปถึงโรงทหาร ผู้ใดได้เปนผู้นำเข้าไปนั้น ข้าพเจ้าหาทราบไม่ แต่จะเปนใครก็ตาม เขาเปนผู้สมควรที่จะได้รับความขอบใจแห่งเราทั้งหลาย และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าพวกทหารเองคงจะรูสึกขอบคุณเขาเปนอันมาก. เวลานี้พวกทหารมีทางที่จะหย่อนใจด้วยความร่าเริงและไม่มีโทษ ส่วนการเล่นนั้นเองก็เปนที่บันเทิงไม่เฉภาะแต่ส่วนผู้เล่น ทั้งคนดูก็พลอยรู้สึกสนุกสนานด้วย. ท้องสนามหลวงเวลานี้เปนสนามที่ฝึกหัดเล่นฟุตบอลสำหรับทหาร ดังที่เราเห็นอยู่แทบทุกวันเวลาบ่ายๆ เต็มไปด้วยเพื่อนทหารที่ล้อมคอยดูตะโกนบอกและล้อกันฉันเพื่อนฝูง. สนามหญ้าในพระบรมมหาราชวังหลังวัดพระแก้ว ก็เปนที่สำหรับเล่นของกรมทหารรักษาวัง ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ก็ไปเล่นที่สวนมิสกะวันใกล้โรงโขนหลวงที่สวนดุสิต แลได้เล่นแข่งขันกับเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์เนืองๆ เปนการบำรุงความสามัคคีให้ดีขึ้น ตั้งแต่ฟุตบอลได้เข้าไปถึงในกองทัพบกแล้ว ความรู้สึกเปนเกลอกันในหมู่ทหาร สังเกตเห็นได้ว่าดีขึ้นเปนอันมาก ในห้องรักษาการแลห้องขังก็มีคนน้อยลงกว่าแต่ก่อน การออกนอกบริเวณแลการหนีก็มีน้อยลงมาก ความรู้สึกเปนมิตรเปนเกลอในหมู่ทหารและเสือป่าก็ได้เกิดขึ้นจากการเล่นฟุตบอลเปนปฐม ทั้งนี้ส่อให้เห็นว่า นิสัยของทหารเราไม่ถูกกับวิธีปกครองตามแบบของเยอรมัน (ซึ่งไม่ให้มีการเล่น).”  []

 

          การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมสนับสนุนการกีฬาฟุตบอลเป็นพิเศษนี้เอง จึงทำให้กีฬาชนิดนี้แพร่ขยายออกไปยังหัวเมืองต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว ดังมีพยานปรากฏในบทพระราชนิพนธ์ “ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย” ว่า เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ใน พ.ศ. ๒๔๕๘ นั้น

 

          “คิดจะจัดโดยปัจจุบันให้มีการเล่นฟุตบอลถวายตัวน่าพระที่นั่ง ที่สนามสโมสรเสือป่านครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนนี้   [] ในวันแรกมีผู้สมัครขอเล่นมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๖ สำรับ และเมื่อคนทั้ง ๖ สำรับนี้ แสดงความปรารถนาที่จะเล่นเช่นนี้แล้ว จึงต้องคิดจัดการเปนพิเศษ เพื่อให้มีโอกาสได้เล่นทั่วถึงกัน ตกลงได้จัดขึ้นให้เล่นเปน ๓ ชุดๆ ๑ ให้เล่นสลับกันชุดละ “กึ่งเวลา” หรือจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้ “โกล” ชุดที่ ๑ นั้นกรมพรานหลวงรักษาพระองค์กับเสือป่านครศรีธรรมราช ชุดที่ ๒ นักเรียนเสือป่าหลวงกับลูกเสือนครศรีธรรมราช ชุดที่ ๓ ราบหลวงรักษาพระองค์กับเสือป่านครศรีธรรมราชอีกพวก ๑. พวกเสือป่าหลวงและนักเรียนเสือป่าหลวง ซึ่งชำนาญมามากแล้วนั้นชนะ แต่เสือป่าและลูกเสือนครศรีธรรมราชก็ได้ต่อสู้โดยแข็งแรง. ในชุดที่ ๑ พรานหลวงรักษาพระองค์ กับเสือป่านครศรีธรรมราชนั้น พรานหลวงชนะ ๒ โกลต่อสูญ. ชุดที่ ๒ นักเรียนเสือป่าหลวงชนะ ๒ โกลต่อสูญ. และชุดที่ ๓ ราบหลวงชนะ ๒ โกลต่อสูญเหมือนกัน ในที่สุดพวกเล่น ๒ สำรับในกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ คือราบหลวงแลพรานหลวงนั้นได้เล่นแข่งขันกันกึ่งเวลา ด้วยตวันจวนจะตกอยู่แล้ว พรานหลวงแสดงการเล่นรวมกันดีกว่า พรานหลวงจึงชนะ ๑ โกลต่อสูญ.

 

 

ชุดฟุตบอลโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พ.ศ. ๒๔๖๓

(แถวหลังจากซ้าย)

น.ร.ม.ผล  ศิวเสน [] , น.ร.ม.แม่น  ชลานุเคราะห์, น.ร.ม.จรัส  เหมวัฒนะ []

(แถวกลางจากซ้าย) น.ร.ม.ประโยชน์ , บุรณศิริ น.ร.ม......, น.ร.ม สำอาง  นิลประภา
(แถวหน้าจากซ้าย) น.ร.ม.จรูญ  ตุลยานนท์, น.ร.ม.ชวน  ไชยเสวี, น.ร.ม.สวัสดิ์  ผลัญไชย [], น.ร.ม.ม.ล.ยาใจ  อิศรเสนา, น.ร.ม.ม.ล.แวด  อิศรเสนา

 

 

          เมื่อวันที่ ๒๒ ได้มีพวกเล่นมาอีก ๖ สำรับ. ชุดที่ ๑ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กับตำรวจภูธร ทหารมหาดเล็กชนะ ๑ โกลต่อสูญ ด้วยอาศรัยการเล่นรวมดีกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง. ชุดที่ ๒ นักเรียนเสือป่าหลวง กับลูกเสือมณฑลภูเก็จ ลูกเสือมณฑลภูเก็จชนะ ๓ โกลต่อสูญ เพราะการเล่นรวมของเขาดีมากแต่ค่อนข้างใหญ่กว่านักเรียนเสือป่าหลวง ส่วนนักเรียนเสือป่าหลวงนั้น ถึงแม้ว่าเล็กกว่ามากก็จริง ก็ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญแขงแรงซึ่งถึงแพ้ก็ได้รับความชมเชยตามที่สมควรจะได้รับโดยแท้. ในที่สุดชุดที่ ๓ ราบหลวงกับพรานหลวงได้เล่นกันอีกกึ่งเวลา พรานหลวงชนะอีกในวันนี้ ๒ โกลติดๆ กัน จึงรวมคะแนนทั้งเมื่อวันก่อนเปน ๓ โกลต่อสูญ

 

          วิธีเล่นของสำรับพรานหลวงรักษาพระองค์นั้นนับว่าเปนอย่างดีที่สุดที่ได้เห็นในนครศรีธรรมราช เพราะว่าได้เล่นอยู่เสมอและมีหัวหน้าดี คือ นายแพทย์ในกรมพรานหลวงนั้นเองซึ่งเล่นเปน “ฟอรวาด” อย่างคล่องแคล่วดีมาก
วิธีเล่นซึ่งเราได้เห็นที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้จะนับว่าเปนอย่างดีทีเดียวไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่ย่อมส่อให้เห็นว่า การเล่นของอังกฤษชนิดนี้เปนที่พอใจแห่งคนไทยรุ่นใหม่เพียงใด การที่ในมณฑลปักษ์ใต้นี้มีคนเล่นรวบรวมได้หลายสำรับเช่นนี้ ก็เปนพยานที่แสดงให้เห็นซึ่งความนิยมในฟุตบอล และความนิยมอันนี้นับวันจะมีแพร่หลายขึ้นทุกที”
 []

 

 
 
 

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ บ.๘/๑ เรื่อง ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๕๘).

[ ]  วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายพินัยราชกิจ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวิเศษพจนกรณ์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พันตำรวจเอก นายรองพลพ่าห์

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ บ.๘/๑ เรื่อง ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๕๘).

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๔๑  |  ๑๔๒  |  ๑๔๓  |  ๑๔๔  |  ๑๔๕  |  ๑๔๖  |  ๑๔๗  |  ๑๔๘  |  ๑๔๙  |  ๑๕๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |