โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๔. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๖)

 

ด้านการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย

 

          สืบเนื่องมาจากการที่ได้เสด็จไปประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลานานถึง ๙ ปี ประกอบกับการที่ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระยุพราชซึ่งจะต้องทรงรับรัชทายาทสืบสนองพระองค์สมเด็จพะบรมชนกนาถในกาลข้างหน้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงศึกษารูปแบบและระบอบการปกครองที่ใช้กันอยู่ในนานาประเทศในเวลานั้นจนถ่องแท้ ด้วยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยเป็นอย่างดีว่า การที่ “...ต้องรับภาระในการปกครองอยู่คนเดียวเปนภาระหนักกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่มีปาร์ลีเมนต์เปนที่ปรึกษานั้นเปนอันมาก, เพราะถ้าทำอะไรพลาดพลั้งไปใครๆ ก็ต้องซัดฉันคนเดียวทั้งนั้น, และฉันจะซัดใครต่อไปอีกก็ไม่ได้เลย....” และภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ “ร.ศ. ๑๓๐”   [] ขึ้นแล้ว ก็ยังได้ทรงพระราชปรารภถึงระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย ซึ่งได้ใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองสืบมาแต่โบราณไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน รัตนโกสินศก ๑๓๐ เล่ม ๒ วันที่ ๑๓ มกราคม ถึง วันที่ ๓๑ มีนาคม” ว่า

 

 

          “...การที่มอบการปกครองไว้ในมือเจ้าแผ่นดินคนเดียวผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดนั้น ดูเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่ ถ้าเจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่มีสติปัญญาสามารถและมีความตั้งใจมั่นอยู่ว่า จะทำการให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองฉนี้แล้วก็จะเปนการดีที่สุด จะหาลักษณปกครองอย่างใดมาเปรียบปานได้โดยยาก แต่ถ้าแม้เจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา ฃาดความสามรถ ฃาดความพยายาม เพลิดเพลินไปแต่ในความศุขส่วนตัว ไม่เอาใจใส่ในน่าที่ของตน ฉนี้ก็ดี ฤาเปนผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดานหยาบดุร้ายและไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบ ฉนี้ก็ดี ประชาชนก็อาจจะได้รับความเดือดร้อน ปราศจากความศุข ไม่มีโอกาสที่จะเจริญได้ ดังนี้จึงเห็นได้ว่าเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม

 

          ...ส่วนการมีคอนสติตูชั่นนั้น เปนอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือคนๆ เดียว ซึ่งถึงแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้มีเสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง เสนาบดีผู้รับตำแหน่งน่าที่ปกครองก็รับผิดรับชอบต่อประชาชน จำเปนต้องทำการให้ เปนไปอย่างดีที่สุดที่จะเปนไปได้ เพราะถ้าแม้ว่าทำการในน่าที่บกพร่อง ประชาชนไม่เปนที่ไว้วางใจต่อไป ก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกันมากๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาสเข้ารับตำแหน่งน่าที่ ทำการงานให้ดำเนินไปโดยทางอันสมควรและถูกต้องตามประสงค์แห่งประชาชน เช่นนี้เปนการสมควรอย่างยิ่ง และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลย คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น แต่แบบอย่างใดๆ ถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ เมื่อใช้จริงเฃ้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏขึ้น ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เปนไปในนานาประเทศ เพราะเหตุหลายประการ...”   []

 

 

จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

 

 

          นอกจากนั้นในพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่ทรงตอบคำกราบบังคมทูล ของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกในเรื่องการจัดตั้งรัฐมนตรีสภา ก็ได้ทรงกล่าวถึงแนวพระราชดำริในการปกครองในรูปแบบรัฐสภาไว้ดังนี้

 

 

          “...ขอตอบเปนข้อๆ ตามความเห็นดังต่อไปนี้ แลจะพูดตามความจริงไม่อำพราง

 

               ข้อ ๑ ขอให้เข้าใจว่า ในส่วนตัวฉันไม่มีความตั้งใจที่จะเกี่ยงหรือหวงอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใดเลย, แลฉันเองก็รู้ดียิ่งกว่าใครๆ ว่าราชการในสมัยนี้มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเปนอันมาก, แลสมัยที่จะใช้แบบปกครองอย่างที่เคยมาแล้วใกล้จะล่วงเลย

 

               อีกประการ ๑ ฉันขอบอกตามตรงแลได้บอกเธอ เปนคนแรกด้วยว่า อาศรัยเหตุที่ฉันได้เคยไปศึกษาในสำนักนิ์อังกฤษ, ได้เรียนลัทธิปกครองตามแบบอังกฤษ, แลลัทธิอันนั้นฝังอยู่แน่นในใจ, จนรู้สึกว่าเปนลัทธิดีที่สุดที่จะใช้ได้สำหรับเมืองราชาธิปตัย, แลไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้นเช่นนี้, ได้คิดมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แล้ว

 

               ข้อ ๒ ฉันได้เคยรำพึงมามากแล้ว ว่าเมื่อไรจะควรจัดให้เมืองไทยมีปาร์ลิเมนต์ขึ้นได้, ถ้าฉันจะดันเอาตามลัทธิ ( )   [] ไม่เหลียวดูทางการ ( ) ฉันคงจะประกาศ ( ) เสีย ๕ ปีมาแล้ว, แต่มีปัณหาสำคัญอยู่อย่างหนึ่งซึ่งจะหลับตาเสียไม่คำนึงดูไม่ได้, คือ คนไทยเราโดยทั่วไป (ไม่จำเภาะคนหมู่ ๑ ซึ่งชอบเล่นกับหนังสือพิมพ์) พร้อมอยู่หรือยังที่จะใช้อำนาจเลือกผู้แทนของตัวองทำการปกครองตนเอง, มีความเสียใจที่ยังแลไม่เห็นว่าจะทำการเช่นนั้นสำเหร็จได้, เพราะแม้แต่เลือกกรรมการศุขาภิบาลประจำตำบลซึ่งเปนคั้นแรกแห่งการเลือกผู้ปกครองตนเองก็ยังทำไปไม่ได้จริงจัง, เจ้าน่าที่ฝ่ายเทศาภิบาลต้องคอยเซี่ยมสอนอยู่ทุกแห่งไป, การเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งต่ำลงไปกว่านั้นแลทำได้ง่ายกว่านั้น, ก็ยังทำกันเหมือนเล่นละครตลก...”   []

 

 

พระยากัลยาณไมตรี (เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด)

 

 

          ส่วนการที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงตั้งรัฐมนตรีสภาเพื่อทำหน้าที่ตรวจพิจารณาและกลั่นกรองร่างกฎหมายในทำนองเดียวกับสภาผู้แทน ราษฎรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้น ก็ทรงมีแนวพระราชดำริไปในทางเดียวกับกับความเห็นของพระยากัลยาณไมตรี (Janes Iverson Westengard) ที่ปรึกษาราชการราชการทั่วไป ดังที่ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาตอบคำกราบบังคมทูลนั้นว่า “...ถ้ายังจะมีปาร์ลิเมนต์ไม่ได้แล้ว, ก็ไม่ควรจะมีอะไรที่เปนของเลียน ( ) ขึ้นไว้สำหรับตบตา, เพราะคนที่เขารู้จริงว่าปาร์ลิเมนต์เปนอย่างไร, เขาก็ไม่เชื่อว่าของนั้นจะแทนปาร์ลิเมนต์ได้, และผู้ที่ไม่เข้าใจเสียเลยถึงวิธีปกครองอย่างคอนสติตูชั่นก็คงไม่เข้าใจเช่นนั้น, ว่าประโยชน์ของรัฐมนตรีนั้นอะไร...”  []

 

          จากแนวพระราชดำริที่ปรากฏในพระราชบันทึกและพระราชหัตถเลขาดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะจัดให้มีคอนสติตูชั่นหรือรัฐธรรมนูญ และปาร์ลิเมนต์หรือรัฐสภาขึ้นในสยามประเทศมาตั้งแต่ประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกันก็มีพระราชดำริว่า “...I did not say that, what applies to England will equally apply to Siam. On the contrary it would be a very grave mistake to adopt English methods in tots without alteration,...”  [] จึงได้ทรงศึกษารูปแบบและลัทธิการปกครองของประเทศต่างๆ จนถ่องแท้ แล้วได้ทรงจัดให้มีการเล่นการปกครองในรูปแบบต่างๆ ในทำนอง Play Way [] มาแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เพื่อทรงพระราชวิจารณ์ถึงข้อดีและข้อบกพร่องของระบอบการปกครองต่างๆ อันจะเป็นทางให้ทรงนำไปสู่การปฏิบัติจริงในเวลาที่เหมาะสม

 

          ครั้นเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติแล้ว การเล่นเพื่อทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ได้ทรงดำเนินมาเป็นระยะๆ นั้น ก็ต้องหยุดลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เนื่องมาจากต้องทรงทุ่มเทเวลาไปในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอื่นๆ ตราบจนได้ทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า พสกนิกรชาวสยามในเวลานั้นยังขาดวามรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิและหน้าที่ อันเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงได้มีพระราชดำรัสสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔” ในทุกหัวเมืองมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร ด้วยมีพระราชปรารภว่า “...เรามีความปรารถนาจะให้ประชาราษฎรของเราได้มีความรู้ถึงคั่นประถมศึกษาโดยทั่วถึงภายใน ๑๕ ปี นับแต่เราได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ เพราะความตั้งใจของเรามีอยู่ว่า เมื่อเราครองราชย์ครบ ๑๕ ปี เราจะมอบสิทธิ์ปกครองบ้านเมือง ให้ประชาชนของเรามีส่วนมีเสียง แต่ถ้าเขายังไม่มีความรู้พอแก่การดำเนินการได้ ให้ไปก็เสื่อมประโยชน์ได้ไม่เท่าเสีย...”   [] พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงเริ่มจัดทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทรงเน้นหนักไปที่การปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานรากของการปกครองในระดับชาติ

 

          เริ่มจากเมื่อครั้งแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี ตามคำแนะนำของนายแพทย์ประจำพระองค์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ซึ่งได้ทรงใช้เวลาว่างนั้นจัดให้คุณมหาดเล็กที่ตามเสด็จไปในคราวนั้นเป็น “กุลีหลวง” ช่วยกันสร้าง “เมืองทราย” ขึ้นที่ชายหาดเจ้าสำราญ ทรงสอนให้กุลีหลวงเหล่านั้นสร้างน้ำตกที่เมืองทราย และทรงสอนวิธีลำเลียงน้ำลอดลำคลองที่เรียกว่า “ไซฟ่อน” (Siphon) รวมถึงการสูบน้ำดับเพลิงและเพื่อการทำเหมืองแร่ และก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินกลับยังได้ทรงแนะนำให้กุลีหลวงทำ “ท่อล้าง สิ่งโสโครก” สำหรับเมืองทรายอีกด้วย

 

 

แผนผังเมืองจำลองดุสิตธานีที่พระราชวังดุสิต

 

 

          ในขณะเดียวกันก็ได้ทรงติดตามข่าวจากทวีปยุโรปโดยตลอด จนทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยแล้วว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรจะมีชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว ก็ทรงเริ่มเตรียมการที่จะปลดเปลื้องภาระผูกพันตามสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ เริ่มจากโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้นในพื้นที่ราว ๒ ไร่ครึ่ง โดยรอบพระที่นั่งอุดรภาค ภายในพระราชวังดุสิตเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่ว่างกว่า ๔ ไร่ ที่ด้านหลังพระตำหนักพญาไท []  เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

 

 

ดุสิตธานีที่พระราชวังพญาไท (ในกรอบสีแดง)

 

 

 


[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๑, หน้า ๕๕.

[ ]  จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๔๙ - ๕๐.

[ ]  ต้นฉบับเว้นว่างไว้.

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.๐๐๑/๖ เรื่อง ความเห็นเรื่องควรจัดให้สมาชิกรัฐมนตรีได้มีการทำและออกพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่ของสภาใหม่ (๒๑ - ๓๐ เมษายน ๒๔๖๐).

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

[ ]  พระราชบันทึกนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไปยังเจ้าพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และพระยาศาลศิลปสาตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แปลความในพระราชบันทึกดังกล่าวเป็นภาษาไทย โดยมีคำแปลสำหนับพระราชบันทึกข้างต้นนั้นว่า “...ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์...”

[ ]  การเล่นเพื่อเรียนรู้ หรือ “Play Way” นี้ ต่อมาศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ราชบัณฑิต อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ได้คิดบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ว่า “เพลิน” (Plearn) โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า Play + Learn และได้นำเสนอเป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาในวชิราวุธวิทยาลัย โดยให้ผู้เรียนรู้ได้สนุกสนานกับการเล่นแต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับสาระความรู้พร้อมกันไปกับการเล่นนั้น

[ ]  อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๓๒๗.

[ ]  ปัจจุบันคือ บริเวณสนามหญ้าต่อจากสวนโรมันที่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี ไปจนจรดศาลท้าวหิรัญพนาสูรที่ริมคลองสามเสน ด้านหลังพระราชวังพญาไท

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |