โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๙. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๑)

 

ด้านการกีฬา

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สถาปนากิจการเสือป่าและลูกเสือขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ก็ได้ทรงสังเกตเห็นประโยชน์อย่างหนึ่งของการฝึกหัดเสือป่า คือ ผู้ที่ได้รับการฝึกหัดนั้นล้วน “...มีกำลังวังชาขึ้นทันตาเห็น ผู้ที่เคยต้องคอยประคับประคองก็กลับแขงแรงขึ้นจนเลี้ยงตัวได้มากขึ้นเปนลำดับ ที่เคยอ่อนแอก็กลับแขงแรง ที่เคยตามใจอยู่เปนเนืองนิตย์ก็กลับคิดทรมานจิตรของตนให้นึกถึงผู้อื่นและนึกถึงคณ ที่เคยสำมะเลเทเมาอยู่ก็มาลดหย่อนลง และตั้งใจกลับตัวประพฤติให้เรียบร้อย...”  []

 

          การที่เสือป่าได้รับการฝึกหัดและมีการออกกำลังต่อเนื่องกันมานี้เอง เมื่อทรงนำเสือป่าและลูกเสือไปฝึกซ้อมวิธียุทธที่พระราชวังสนามจันทร์ร่วมกับทหารมหาดเล็ก และทหารรักษาวัง จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นายทหาร นายเสือป่า และลูกเสือที่ตามเสด็จไปในการซ้อมรบนั้นใช้เวลาว่างในตอนเย็น ภายหลังจากเสร็จการฝึกซ้อมวิธียุทธประจำวันไปในการเล่นกีฬาฟุตบอล (Association Football) ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างพลานามัยของผู้เล่นให้สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว การที่กีฬาชนิดนี้ต้องเล่นกันเป็นทีม ผู้เล่นทุกคนจึงต้องรู้จักใช้ไหวพริบและประสานประโยชน์ร่วมกันโดยตลอด จึงอาจกล่าวได้ว่า ทรงใช้กีฬาฟุตบอลนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างเสริมความสามัคคีในมวลหมู่สมาชิกเสือป่าและลูกเสือ ทั้งทรงมุ่งหวังให้กีฬาชนิดนี้เป็นเครื่องบ่มเพาะ “น้ำใจนักกีฬา” ขึ้นในหมู่พสกนิกรไทย

 

 

ถ้วยทองหลวง

ถ้วยรางวัลพระราชทานสำหรับการแข่งขันฟุตยอลของประเทศสยาม

 

 

          ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้นายทหารในกองทัพบกและกองทัพเรือเปลี่ยนจากการเล่นยุทธกีฬาตามที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เริ่มจัดระเบียบกองทัพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้มาเล่นกีฬาฟุตบอลเป็นลำดับแรก และเมื่อกีฬาฟุตบอลได้แพร่หลายออกไปตามหน่วยทหาร เสือป่าและลูกเสือแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแข่งขันฟุตบอลชิง “ถ้วยทองของหลวง” ระหว่างหน่วยทหารและเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ณ สนามสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต โดยทรงรับเป็นสภานายกจัดการแข่งขันด้วยพระองค์เอง ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแข่งขันเป็นประจำทุกครั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันรอบสุดท้ายในปีนั้นแล้วได้ “...พระราชทานถ้วยทองหลวงแก่นักเรียนนายเรือ ซึ่งเปนพวกที่ชนะได้พระราชทานรางวัลที่ ๑ ในการแข่งขันฟุตบอลปีนี้ แลแหนบสายนาฬิกาทองลงยามีพระมหามงกุฎแก่นักเรียนนายเรือพวกที่ชนะทุกคน...”  [] ส่วนเงินรายได้จากการจัดการแข่งขันจำนวน ๖,๐๔๙.๙๕ บาทนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปบำรุงราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง และสมทบสภากาชาดสยาม ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง

 

          อนึ่ง เมื่อการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองของหลวงจบลงในตอนปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกนักกีฬาที่ได้ลงแข่งขันชิงโล่ของกระทรวงธรรมการและถ้วยทองของหลวงในปีนั้น จัด เป็น "คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม" หรือทีมฟุตบอลทีมชาติชุดแรกของประเทศไทยลงแข่งขันครั้งแรกกับทีมราชกรีฑาสโมสร เป็นการแข่งขันหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘ จบการแข่งขันแล้ว “...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชถ้วยของราชกรีฑาสโมสรและเหรียญเครื่อง หมายแก่ผู้เล่นฝ่ายคณะฟุตบอลสยาม ซึ่งเป็นผู้ชนะในการแข่งขั้นครั้งนี้...”  []

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลขึ้นทั้งในกรมกองทหารและกรมกองเสือป่า รวมทั้งในสถาบันการศึกษาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จึงทรงพระราชดำริว่า “...ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะฟุตบอลแห่งชาติสยามกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยามและให้มีกรรมการอำนวยการมานั้น การงานได้ดำเนินขึ้นเปนลำดับมา สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายแลจัดระเบียบการให้เปนหลักถานมั่นคงและเจริญมั่นคงยิ่งขึ้น...”  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “ข้อบังคับลักษณปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม” ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงถือกันมาแต่บัดนั้นว่า สมาคมฟุตบอลแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ [] ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมาคมกีฬาแห่งแรกของประเทศสยามแล้ว และในปีเดียวกันนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มจัด “การแข่งขันฟุตบอลนักรบ” ขึ้น ณ สนามสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยนักกีฬาฟุตบอลสโมสรกรมเสือป่าม้าหลวงรักษาพระองค์

(ผู้ที่สวมหมวกแก๊ปคือผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติสยาม)

 

 

ถ้วยใหญ่ (ซ้าย) และถ้วยน้อย (ขวา)

ปัจจุบันคือ ถ้วยพระราชทานประเภท ก และ ข

 

 

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สโมสรฟุตบอลของกรมกองทหารบก ทหารเรือ และเสือป่า เข้าร่วมการแข่งขันในระหว่างเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายนของทุกปี และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ถ้วยทองนักรบ” [] หรือ “ถ้วยใหญ่” ให้เป็นรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศ นอกจากนั้นในระหว่างการซ้อมรบเสือป่าในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันฟุตบอลในระหว่างสมาชิกกรมกองเสือป่าและทหารรักษาวังที่ตามเสด็จไปในการซ้อมรบประจำปี ณ ค่ายหลวงพระราชวังสนามจันทร์ และค่ายหลวงบ้านโป่ง ทั้งยังได้โปรดพระราชทาน “ถ้วยน้อยนักรบ” [] หรือ “ถ้วยน้อย” ให้เป็นรางวัลสำหรับการแข่งขันประเภทนี้ด้วย

 

 

ทรงเปิดราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

          นอกจากกีฬาฟุตบอลแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงรับเป็นสภานายกพิเศษราชกรีฑาสโมสรมาแต่ต้นรัชกาล ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งราชตฤณมัยสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อการบำรุงพันธุ์ม้าและส่งเสริมการกีฬาของชาวไทย และเมื่อครั้งที่ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดสร้างโรมแรมรถไฟขึ้นที่ชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศชายทะเลของไทยใน พ.ศ. ๒๔๖๕ นั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวง

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์

และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ณะทรงเรือ “แหกตา” ในสระน้ำพระราชวังบางปะอิน

 

 

          ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะโปรดทรงกีฬาหลายชนิด ทั้งขี่ม้า กอล์ฟ แบดมินตัน เทนนิส บริดจ์ ยิงปืน แล้ว กีฬาที่โปรดทรงเล่นเพื่อออกพระกำลังเป็นประจำคือ ราวน์เดอร์ (Rounders) [] และกรรเชียงเรือ โดยเรือกรรเชียงที่โปรดทรงเป็นประจำชื่อ เรือ “แหกตา” [] ซึ่ง “กล่าวกันว่า เรือลำนี้งดงามมาก ผ่านไปทางไหนคนก็ต้องแหกตาดู” [๑๐]

 

 

 

 


[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๓๔.

[ ]  “ข่าวในพระราชสำนัก”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๘), หน้า ๑๘๑๕.

[ ]  “ข่าวในพระราชสำนัก”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๕๘), หน้า ๑๙๖๙.

[ ]  “ข้อบังคับลักษณปกครองคณะฟุตบอลแห่งสยาม”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๓๐ เมษายน ๒๔๕๙), หน้า ๒๔.

[ ]  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เปลี่ยนนามเป็น “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” เพื่อให้สอดคล้องกับนามประเทศที่เปลี่ยนจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย”

[ ]  ถ้วยรางวัลพระราชทานนี้ในสมัยต่อมาสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดเป็นถ้วยรางวัลการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรประเภท ก. ถ้วยพระราชทานนี้จึงรู้จักกันในนาม “ถ้วยพระราชทาน ประเภท ก”

[ ]  ถ้วยรางวัลพระราชทานนี้ในสมัยต่อมาสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดเป็นถ้วยรางวัลการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรประเภท ข. ถ้วยพระราชทานนี้จึงรู้จักกันในนาม “ถ้วยพระราชทาน ประเภท ข.”

[ ]  เป็นกีฬาที่กำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษ มีรูปแบบการเล่นคล้ายคลึงกับกีฬา เบสบอล (Baseball) ที่นิยมเล่นกันในสหรัฐอเมริกา

[ ]  ปัจจุบันเรือลำนี้เก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่ สภาคารราชประยูร พระราชวังบางปะอิน

[ ๑๐ ]  มีอะไรในอดีต (เมื่อ ๖๐ ปีก่อน), หน้า ๑๓.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |