โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๗. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๙)

 

ด้านศิลปวัฒนธรรม

 

          เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยูหัวเสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น ได้ทราบฝ่าละอองพระบาทว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม นาฏดุริยางศิลป์ และวรรณศิลป์ ล้วนถูกวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งเข้ามาพร้อมกับชาวต่างประเทศและนักเรียนไทยที่จบการศึกษามาจากยุโรปกลืนกินไปจนเกือบจะหมดสิ้น หากไม่ทรงเร่งสนับสนุนและจัดให้มีการสืบทอดงานศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นไว้ มรดกวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสมกันมาช้านานก็จะถึงกาลสิ้นสูญเพราะไร้ผู้สืบทอด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารในพระองค์ได้ฝึกซ้อมโขนละครจนเกิดความชำนาญ สามารถออกโรงแสดงได้จริงในนาม “โขนสมัครเล่น” มาแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช

 

          ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมมหรสพขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดีในสังกัดกรมมหาดเล็กหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ เพื่อรับผิดชอบราชการด้านนาฏดุริยางคศิลป์ คือ กรมโขนและพิณพาทย์มหาดเล็ก กรมปี่พาทย์หลวง รวมทั้งกองเครื่องสายฝรั่งหลวงซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเป็นวงดุริยางค์ชนิดออร์เคสตรา (Orchestra) วงแรกของประเทศไทยและภาคพื้นเอเชียอาคเนย์

 

          ในส่วนงานช่างศิลปกรรม ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกงานประณีตศิลป์ซึ่งกระจายกันอยู่ในกระทรวงโยธาธิการ และกรมพิพิธภัณฑ์ กระทรวงธรรมการ มารวมขึ้นในกรมศิลปากรที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงวัง ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนทหารกระบี่หลวง [] ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นฝึกหัดกุลบุตรให้มีความรู้ความชำนาญในวิชานาฏดุริยางคศิลป์ เพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามิให้ต้องเสื่อมสูญไป นักเรียนพรานหลวงที่ได้ร่วมสืบทอดศิลปวิทยาการนาฏดุริยางคศิลป์ไทยมาจนถึงปัจจุบัน มีอาที นายรงคภักดี (เจียร จารุจรณ) ศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรทัย ศาสตราจารย์มนตรี ตราโมท นายเอื้อ สุนทรสนาน และนายอาคม สายาคม เป็นต้น

 

          ส่วนงานด้านสถาปัตยกรรมนั้น นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมและพระที่นั่งศรเพชรปราสาท ที่ค้างมาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนแล้วเสร็จ ในส่วนพระองค์ก็ทรงมีพระราชดำริว่า

 

 

          “...เมื่อเราต้องดำเนิรตามสมัยใหม่ วิชาช่างของเราก็จะชวนจะลืมเสียหมด ไปหลงเพลินแต่จะเอาอย่างของคนอื่นเขาถ่ายเดียว ผลในที่สุดก็คือกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยสถานที่อันเป็นเครื่องรำคาญตาต่างๆ แท้จริงวิชาช่างเปนวิชาพื้นเมือง จะคอยแต่เอาอย่างของคนอื่นถ่ายเดียวไม่ได้ เพราะงามของเขาไม่เหมาะแก่ตาเรา แลฐานะของเขากับของเราต่างกัน ที่ถูกนั้นควรเราจะแก้ไขพื้นวิชาของเราให้ดีขึ้นตามความรู้ แลวัตถุอันเกิดขึ้นใหม่ตามสมัย...”   []

 

 

พระที่นั่งวัชรีรมยา และ พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ในพระราชวังสนามจันทร์

 

 

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระที่นั่งและพระตำหนักภายในพระราชวังสนามจันทร์หลายองค์ด้วยศิลปสถาปัตยกรรมไทยอันงดงาม เช่น พระตำหนักทับขวัญเป็นหมู่เรือนคหบดีไทยภาคกลาง พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย เป็นศาลาโถงทรงไทยขนาดเล็ก พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เป็นท้องพระโรงโถง และพระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นพระที่นั่งทรงไทยสองชั้นที่เชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานปฐมซึ่งก่อให้เกิดการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกและตะวันตกอย่างลงตัว และเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว [] กับหอสวดและหอนอนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง [] เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งอาคารที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกนั้นด้วยลวดลายอย่างแบบไทย ทำให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า “สถาปัตยกรรมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ฝรั่งแต่งเครื่องไทย” และในตอนปลายรัชสมัยยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนิกชาวอิตาเลียนออกแบบก่อสร้าง“บ้านนรสิงห์” [] และ “บ้านบรรทมสินธุ์” [] พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปอีกด้วย

 

 

หอสวดหรือหอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งมีโครงสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค

แต่โปรดเกล้าฯ ให้แปลงหลังคาและซุ้มหน้าต่างเป็นแบบไทย

 

 

ภาพล้อฝีพระหัตถ์ “มหาปริญญามาตย์นายก”

ทรงล้อ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เปรียญ เสนาบดีกระทรวงนครบาล

 

 

          ในด้านงานจิตรกรรมและประติมากรรมนั้น นอกจากจะทรงรับเป็นพระบรมราชูปถัมภกงานด้านจิตรกรรมและประติมากรรมของชาติแล้ว ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดการวาดภาพ ทั้งยังได้ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์หลายชุดพระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิตอยู่เสมอ เฉพาะอย่างยิ่งภาพล้อฝีพระหัตถ์ซึ่งทรงวาดเป็นภาพบุคคลในเครื่องแบบและอิริยาบถต่างๆ นั้น บุคคลในภาพนั้นได้ขอพระราชทานซื้อภาพนั้นไปด้วยราคาสูง ส่วนเงินรายได้จากการจำหน่ายภาพนั้นได้พระราชทานไปสมทบกิจการสาธารณกุศลทั้งสิ้น ทั้ง ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ว่าจ้าง นายกาลิเลโอ คีนิ (Galileo Chini) และนายคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียนมาสรรสร้างงานจิตรกรรมแบบปูนเปียก (Fresco) ภาพพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาลที่ ๑ - ๖ ไว้ที่โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ทั้งยังได้พบหลักฐานเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างนายมาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกผู้ออกแบบก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม กับนายคีนิซึ่งเวลานั้นเดินทางกลับไปอิตาลี โดยมีความตอนหนึ่งกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำแนะนำให้

 

 

          “...ริโกลีร่างภาพที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่งเติมในจิตรกรรมฝาผนังนั้นลงบนกระดาษ แล้วจึงนำภาพลงสีที่ว่านี้ไปทดลองวางในตำแหน่งจริงเพื่อตรวจดูผลก่อน ผมสามารถรับรองกับอาจารย์ได้ว่า การดัดแปลงที่ทำนี้ หาได้ทำให้ภาพเฟรสโกเปลี่ยนไปแต่อย่างใดไม่ ตลอดจนลักษณะรวมของภาพ สี น้ำหนักสี แสงเงา ลักษณะทั่วๆ ไป หรือแม้กระทั่งรายละเอียดของภาพ ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ...”  []

 

 

          นอกจากงานจิตรกรรมแบบปูนเปียกที่โดมพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้นายริโกลีสรรสร้างผลงานอันเป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางศิลปกรรมของชาติไว้อีกหลายชิ้น อาทิ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้โปรดพระราชทานไว้ ณ สถานที่ต่างๆ หลายองค์ ภาพพระอาทิตย์ชักรถไว้ที่โดมพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมหาราชวัง ภาพเทพบุตรน้อยสี่ตนดีดสีตีเป่าเครื่องดนตรีสี่ชิ้นที่เพดานห้องพระบรรทม พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน รวมทั้งภาพสมุดไทยที่เพดานพระที่นั่งพิมานจักรี และภาพหญิงท้องพร้อมเด็กน้อยที่เพดานพระที่นั่งศรีสุทธนิวาศ ภายในพระราชวังพญาไท ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรไทยจากกรมช่างโยธามหาดเล็กร่วมกันเขียนภาพเทพชุมนุมไว้ที่ห้องพระเจ้า ภายในพระที่นั่งพิมานปฐม พระราชวังสนามจันทร์ รวมทั้งพระวิหารหลวงวัดพระปฐมเจดีย์ด้วย

 

          อนึ่ง ในระหว่างรัชสมัยนั้นนอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้จ้างนายแอร์โคเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi) [] สถาปนิกชาวอิตาเลียนมาประจำรับราชการเป็นนายช่างสถาปัตยกรรมประจำพระราชสำนัก เพื่อสืบสนอง พระบรมราชปณิธานในการสนับสนุนงานศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยมี “...พระราชประสงค์จะให้ผสมผสานความประณีตงดงามตามแบบไทย เข้ากับพลังและความสมจริงของศิลปะตะวันตก...”  []

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ทรงฉายพระรูปพร้อมด้วยศาสตราจารย์ ซี. เฟโรจี (ศิลป์ พีรศรี)

ที่หน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งต่อมาได้เชิญไปประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร

 

 

          ในตอนปลายรัชสมัยยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จ้างศาสตราจารย์ ซี. เฟโรจี (Prof. Corrado. Feroci) [๑๐] ประติมากรชาวเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ผู้ชนะการประกวดออกแบบเหรียญเงินของประเทศสยามเข้ามารับราชการ เป็นประติมากรประจำพระราชสำนัก และต่อมาได้เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาทางด้านศิลปะของประเทศไทยจนพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 


[ ]  ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมเสือป่าพรานหลวงขึ้นในทำนองกรมทหารราบเบาของอังกฤษแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนี้ใหม่ว่า “โรงเรียนพรานหลวง” และได้ถูกยุบเลิกไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๖๘

[ ]  “พระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงเรียนเพาะช่าง”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ (๒๕ มกราคม ๒๔๕๖, หน้า ๒๔๙๙ - ๒๕๐๐.

[ ]  ปัจจุบันคือ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ (ตึก ๑ คณะอักษรศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[ ]  ปัจจุบันคือ หอประชุม และอาคารคณะผู้บังคับการ ดุสิต จิตรลดา และพญาไท โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

[ ]  ปัจจุบัน คือ ทำเนียบรัฐบาล

[ ]  ปัจจุบัน คือ บ้านพิษณุโลก

[ ]  หนึ่งฤดี โลหผล. “แด่พระบรมสาทิสลักษลักษณ์รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๙๐) โดยศิลปินอิตาเลียนผู้ออกแบบตกแต่งเพดารโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม”, เมืองโบราณ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒ (เมษายน - มิถุนายน) ๒๕๔๑, หน้า ๕๐.

[ ]  ต่อมาได้แปลงสัญชาติเป็นไทย และเปลี่ยนนามสกุลเป็น “หมั่นเฟ้นดี”

[ ]  พระอัครสังฆราชลุยจี เบรสซาน (เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย). “แอร์โคเล มันเฟรดี หนึ่งในสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของกรุงเทพฯ (๒๔๒๖ - ๒๕๑๖)”, เมืองโบราณ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒ (เมษายน - มิถุนายน) ๒๕๔๑, หน้า ๖๕.

[ ๑๐ ]  ต่อมาได้โอนสัญชาติเป็นไทย และเปลี่ยนนามเป็น “ศิลป์ พีระศรี”

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |